Skip to main content
sharethis

3 ธ.ค. 2564 เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 ม.ค. 2564 เกิดอุบัติเหตุ 383 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 384 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 2563 –2 ม.ค. 2564) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,748 ครั้ง ผู้เสียชีวิต รวม 316 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,741 คน ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มข้นการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนถนนสายหลักเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดควบคู่กับการอำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง เพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 ม.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 383 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 384 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.29 ขับรถเร็ว ร้อยละ 28.98 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.85 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 67.10 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.38 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.86 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 33.94 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 30.84 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,930 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,655 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 529,869 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 117,106 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 31,305 ราย ไม่มีใบขับขี่ 28,884 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด (20 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด (21 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 2563 – 2 ม.ค. 2564) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,748 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 316 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,741 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (97 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (16 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (99 คน)

นายชยธรรม์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลปีใหม่ คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับเป็นจำนวนมาก ทำให้เส้นทางสายหลักจากภูมิภาคต่าง ๆ ที่มุ่งเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด มีปริมาณรถหนาแน่น และบางเส้นทางอาจมีการจราจรติดขัด ประกอบกับผู้ขับขี่อาจมีอาการอ่อนล้าจากเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่  จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่วงหลับใน ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของจุดตรวจ บนเส้นทาง สายหลัก ถนนสายรอง เส้นทางลัด และเส้นทางเลี่ยงเมือง โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด คุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว รวมถึงเรียกตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุง่วงหลับใน นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน ทั้งความพร้อมด้านรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนที่ใช้บริการสาธารณะให้เดินทางกลับอย่างปลอดภัยและไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า ศปถ.ได้เน้นย้ำให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดใช้กลไกของด่านชุมชน จุดสกัด และด่านตรวจในพื้นที่ระหว่างอำเภอ ชุมชน หมู่บ้าน เข้มข้นการปฏิบัติเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน โดยให้ทุกภาคส่วนยังคงเฝ้าระวังและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง เน้นการกวดขันการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่าในวันนี้บางเส้นทางอาจมีการจราจรคับคั่งและใช้ระยะเวลาในการเดินทางนาน จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด มีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง ไม่ขับรถเร็ว ง่วงไม่ขับ หยุดพักรถเมื่อมีอาการเมื่อยล้าหรือง่วงนอน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่ปฏิบัติหน้าที่สร้างความปลอดภัยบนเส้นทางสายต่าง ๆ เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net