Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักการเมืองไทยชอบประกาศเป้าหมายของประเทศ ที่ทำให้คนไทยไม่รู้สึกว่าตัวเองกระจอก (ซึ่งแสดงว่าลึกๆ ลงไปคนไทยรู้สึกว่าตนเองกระจอก จึงมักพร่ำพูดถึงความยิ่งใหญ่ของตนเองไม่หยุดปาก)

ก่อนหน้ากองทัพญี่ปุ่นยกขึ้นยึดครอง นักการเมืองบางคนประกาศว่าไทยจะเป็นมหาอำนาจ อีกบางคนประกาศว่าหากเราสามารถรวมชนเผ่าไทยไว้ด้วยกันได้หมด เราก็จะเป็นมหาประเทศ ไม่นานมานี้เอง อีกคนประกาศว่าเศรษฐกิจไทยจะเป็น 4.0 มาครั้งนี้ คุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประกาศว่าไทยจะขึ้นสู่ดวงจันทร์ใน 7 ปี เพราะไทยไม่ใช่ชาติด้อยพัฒนา

แต่เป้าหมายอันน่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้จะบรรลุไปเพื่อใคร กลับไม่มีนักการเมืองคนใดอธิบาย เช่น ถ้าเราเป็นมหาอำนาจแล้ว ใครจะได้อะไรบ้าง ใครจะไม่ได้อะไรเลย และใครจะเสียอะไรบ้าง เป็นคำถามที่จะถามกับ 4.0 ก็ได้ กับการส่งจรวดไปดวงจันทร์ก็ได้ และยังมีคำถามที่สำคัญซึ่งไม่มีคำตอบอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะบรรลุเป้าหมายนั้นๆ ได้อย่างไร และบรรลุไปทำไม

คุณเอนกยืนยันว่าคนไทยนั้นเก่ง นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยก็เก่ง ผมก็เห็นด้วยตามนั้นว่าคนไทยเก่ง เหมือนคนจีน, อเมริกัน และนามิเบีย ก็เก่งเท่าคนไทย แต่การมีคนเก่งเฉยๆ อาจไม่ช่วยให้ประเทศพัฒนาก็ได้

ผมนึกถึงคุณกอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ส่งจรวดไปถึงดวงจันทร์ได้ก่อนใคร เขายอมรับว่า ถ้าเอาอาวุธนิวเคลียร์ออกไปเสียอย่างเดียว โซเวียตก็คือประเทศด้อยพัฒนาดีๆ นี่เอง (อันที่จริงเขาใช้คำว่า “กำลังพัฒนา” ซึ่งเราถูกจัดอยู่ในหมวดนี้ด้วยความภาคภูมิใจ)

พูดให้กว้างกว่าความเก่งไม่เก่งของบุคคลก็คือ การบรรลุถึงเทคโนโลยีระดับสูงขึ้นนั้น ไม่ได้อาศัยแต่ความเก่งไม่เก่งของคนในสังคมนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แน่นอน ถ้าไม่มีคนศึกษาค้นคว้าและหมกมุ่นกับการประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็คงไม่เกิดการสร้างสรรค์อะไรขึ้นได้

แต่คนประเภทนั้น ไม่ว่าจะเก่งสักแค่ไหน สามารถมีเวลามานั่งค้นคว้าและหมกมุ่นกับอะไรสักอย่างหนึ่งได้ ก็เพราะสังคมอนุญาตหรือมีเงื่อนไขให้ทำได้ ขวานหินขัดในยุคหินใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าสังคมยุคหินใหม่ไม่หยุดเร่ร่อนและผลิตอาหารเอง จึงมีอาหารเหลือพอจะเลี้ยงคนที่ไม่ได้ผลิตอาหาร และนั่งคิดปรับปรุงขวานหินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งนั่งขัดหินเป็นวันๆ ด้วย

เงื่อนไขทางสังคมนี่แหละครับที่ชนชั้นนำไทยซึ่งมีอำนาจในการจัดการศึกษา, การวิจัย และการลงทุน มักจะมองข้าม แต่ไปคิดเพียงว่า เทคโนโลยีพัฒนาได้เพราะมีคนเก่งเพียงอย่างเดียว จึงลงทุนไปกับการสร้างคนเก่งทางวิทยาศาสตร์ตลอดมา เพราะไปคิดว่าถ้าเรามีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเก่งๆ จำนวนมากเมื่อไร เทคโนโลยีไทยก็จะพัฒนาขึ้นเอง อย่างรวดเร็วเสียด้วย

น่าเสียดายที่คนเก่งซึ่งสังคมไทยเพาะเลี้ยงขึ้นมา สิ้นอายุขัยลงก่อนที่จะได้ทันสร้างสรรค์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใดๆ และตราบเท่าที่เรายังไม่คำนึงถึงเงื่อนไขทางสังคมเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่ง (ซึ่งอาจสำคัญกว่าความเก่งของบุคคลด้วย) คนเก่งๆ ก็คงสิ้นอายุขัยไปตามลำดับละครับ

ตราบเท่าที่นายทุนไทยยังหากำไรจากการรับจ้างทำของ เหตุใดเขาจึงจะอยากลงทุนกับ “อุตสาหกรรมความรู้” เล่าครับ รัฐเคยมีนโยบายอย่างเข้มแข็งบ้างไหมที่จะเอื้อให้ความเสี่ยงในการลงทุนเช่นนั้นลดลง ในระดับที่จะจูงใจให้คนหน้าใหม่เข้ามาสร้างอุตสาหกรรมความรู้

(ที่หวังกับนายทุนหน้าใหม่ เพราะนายทุนหน้าเก่าเคยชินเสียแล้วกับการเพิ่มกำไรด้วยการติดสินบนมากกว่าลงทุนกับความรู้ และอาจเคยชินเสียจนหมด “กึ๋น” ไปแล้วด้วย ในขณะนักการเมืองจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหารก็เคยชินกับการรับสินบนเสียจนหมด “กึ๋น” ด้วย)

การพิมพ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อประมาณ 3,720 ปีมาแล้วบนเกาะครีต แต่ไม่ได้พิมพ์บนกระดาษด้วยหมึก หากพิมพ์ลงบนดินเหนียวเป็นลายลักษณ์ (ซึ่งปัจจุบันยังอ่านได้ไม่หมด) แล้วนำไปเผาไฟ แต่เราก็พบแผ่นดินเหนียวเช่นนั้นบนเกาะครีตน้อยมาก แสดงว่าถึงมีการพิมพ์ สังคมก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะในสังคมของพวกมิโนอัน (Minoan) คงแทบไม่มีใครอื่นนอกจากพวกอาลักษณ์เท่านั้นที่อ่านหนังสือออก

อีก 2,500 ปีต่อมา จึงเกิดการพิมพ์ขึ้นในจีน และพัฒนาต่อจากการแกะไม้ประทับบนกระดาษด้วยหมึกไปจนในหลายร้อยปีต่อมาก็สามารถทำเป็น “ตัวเรียง” ได้ แต่กระบวนการทั้งหมดก็ยังต้องทำด้วยมือทั้งหมด ซึ่งก็พอเหมาะพอดีกับสังคมจีนโบราณ เพราะถึงแม้มีผู้อ่านหนังสือออกจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่หนังสือมีราคาแพงเกินกว่าที่ชาวบ้านร้านช่องจะมีเงินซื้อหาได้ ตลาดของสิ่งพิมพ์จีนจึงจำกัดอยู่เฉพาะราชสำนักและชนชั้นบัณฑิต ซึ่งเป็นเพียงส่วนย่อยๆ ส่วนเดียวของสังคม

แท่นพิมพ์ของกูเทินแบร์กเกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่สังคมยุโรปกำลังต้องการหนังสือจำนวนมากพอดี นอกจากคนอ่านหนังสือออก (หรือแม้แต่เขียนได้อย่างผิดๆ ถูกๆ) จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมโหฬารแล้ว ระบบปกครองที่รวมศูนย์กว่าเดิมต้องการเอกสารตัวเขียนมากขึ้น เช่น จะประกาศขึ้นภาษีให้รู้ทั่วกันได้อย่างไร, การค้าที่ขยายตัวขึ้นต้องการเอกสารจำนวนมากเหมือนกัน, พัฒนาการทางวรรณกรรมก็รองรับการอ่านมากขึ้น, ความขัดแย้งทางศาสนาทำให้ต้องโฆษณาหลักการของศาสนาแก่คนหมู่มาก และ ฯลฯ

เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ก้าวหน้าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีคนเก่งคิดพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่มีเงื่อนไขปัจจัยทางสังคมเร่งเร้าและรองรับด้วย

ในโลกปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอาจซื้อหาหรือลงทุนสร้างขึ้นเองได้ สิ่งที่น่ากลัวกลับกลายเป็นว่า โดยปราศจากเงื่อนไขปัจจัยรองรับเลย เทคโนโลยีอาจถูกซื้อหาหรือสร้างขึ้นเพื่อจุดหมายแคบๆ ที่ไม่ตอบสนองชีวิตของคนส่วนใหญ่เลยก็ได้ เช่น โซเวียตส่งจรวดไปดวงจันทร์ได้ ท่ามกลางที่อยู่อาศัยซึ่งคับแคบอึดอัดของคนงาน อาหารการกินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ของประชากรส่วนใหญ่ สุขอนามัยที่ไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างเพียงพอ ฯลฯ หรือเศรษฐกิจ 4.0 อาจไม่ได้ทำให้เทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้าขึ้นเลย นอกจากสามารถลดจำนวนแรงงานลง เพื่อสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านซึ่งยังมีแรงงานราคาถูกเหลืออยู่

ทั้งนี้ เพราะสังคม-เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ “รองรับ” เทคโนโลยี 4.0 น่ะสิครับ

ในที่ใดซึ่งปล่อยให้รัฐเป็นผู้ตัดสินใจด้านเทคโนโลยีแต่ผู้เดียว เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะไม่ตอบสนองให้ชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นเลย และที่รัฐสามารถคุมเทคโนโลยีได้เช่นนี้ ก็เพราะไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่รัฐจะมั่งคั่งและมีอำนาจมากอย่างในปัจจุบัน

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีสังคมเร่งเร้าและรองรับ จะเกิดการ “ต่อยอด” ไปทำให้ความรู้ด้านอื่นงอกงามขึ้น แล้วยังกระทบต่อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งก็รองรับชีวิตของผู้คนด้วย คงจำกันได้ว่าปากกาลูกลื่นนั้นเกิดขึ้นจากการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ต้องหาเครื่องมือเขียนหนังสือที่ไม่ต้องอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงยา, อาหาร และความรู้ทางวัสดุศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น

ขวานหินขัดตอบสนองความต้องการของสังคมสมัยหินใหม่ที่หยุดเร่ร่อน แต่ปักหลักตั้งถิ่นฐานถาวร ย่อมต้องการเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อสร้างอะไรที่สมัยยังเร่ร่อนไม่ต้องสร้าง เช่น บ้านเรือนที่คงทนถาวร ไปจนถึงเล้าหมูและเล้าควาย

และเพราะขวานหินขัดตอบสนองความต้องการได้ดี จึงทำให้เกิดการหลอมโลหะจำนวนมากๆ เพื่อผลิตขวานและเครื่องมือเกษตรที่เป็นโลหะ ซึ่งทำให้การเพาะปลูกให้ผลผลิตอาหารเพิ่มขึ้นสำหรับเลี้ยงดูประชากรที่เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน

นี่แหละครับที่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปได้ ก็ต้องมีสังคมเร่งเร้าและรองรับ

หากเราลงทุน (ซึ่งรวมถึงระดมพลังสมองของคนและเวลาจำนวนมาก) ไปกับการส่งจรวดไปดวงจันทร์ สังคมไทยพร้อมจะต่อยอดเทคโนโลยีอวกาศนี้ได้เพียงใด พร้อมในที่นี้หมายถึงเงื่อนไขปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคมที่จะผลักดันให้เก็บเกี่ยวนะครับ เทคโนโลยีอวกาศหลายอย่างกลายเป็นสินค้า ซึ่งซื้อเอาจะได้ราคาถูกกว่าผลิตเอง หรือแม้แต่รอให้คนอื่นสร้างแล้วค่อยซื้อก็ยังถูกกว่าสร้างเอง ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าสังคมไทยต้องการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นหรือไม่ต่างหาก

ผมไม่สงสัยแต่อย่างไรเลยว่า หากจะทำให้ได้ ประเทศไทยย่อมสามารถส่งจรวดไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ใน 7 ปีแน่ ไม่สงสัยในความสามารถของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทย ไม่สงสัยในกำลังทางเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นแม้เทคโนโลยีที่จำเป็นใดๆ ซึ่งเรายังไม่มี ก็สามารถซื้อหาได้ในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นวัสดุสิ่งของหรือความเชี่ยวชาญของคน

แน่นอน เมื่อลงทุนลงแรงกันไปขนาดนั้น ก็ต้องงดลงทุนลงแรงในเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เพื่อมุ่งที่จะส่งบั้งไฟไปให้ได้ อย่างที่กล่าวข้างต้นแหละครับ การลงทุนกับอะไร ย่อมมีคนได้ มีคนไม่ได้ไม่เสีย และมีคนเสีย เมื่อประเมินจำนวนของคนสามประเภทนี้แล้ว ยังคิดว่ายังคุ้มอยู่หรือกับการไม่ได้ชื่อว่าด้อยพัฒนา

การจมปลักกับเผด็จการทหาร ทั้งเปิดเผยและจำแลงต่อเนื่องกันมา 7 ปี เป็นความด้อยพัฒนาทางการเมืองอย่างแทบจะเปรียบเทียบกับใครไม่ได้เลยทั้งโลก เผด็จการก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจรวดไทยจะหมุนรอบดวงจันทร์สักกี่รอบ

การจมปลักกับความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้ว ซ้ำยังออกนโยบายให้นายทุนเพียงไม่กี่รายสะสมทุนได้ง่ายขึ้นและมหาศาลขึ้น เป็นการกระทำที่แม้แต่ประเทศด้อยพัฒนาอีกหลายประเทศก็ยังไม่ทำ ไม่ว่าธงไทยจะอยู่ห่างหรือใกล้ดวงจันทร์เท่าไร ประเทศไทยก็ยังโคตรด้อยในบรรดาประเทศด้อยพัฒนาด้วยกันอยู่นั่นเอง

อุดมศึกษาไทยที่ล้าหลัง แม้แต่ในประเทศด้อยพัฒนาด้วยกัน ทำให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า แม้ด้วยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรแนวหน้าที่สามารถใช้เทคโนโลยีอวกาศสุดยอดได้เช่นนี้ อุดมศึกษาไทยจะพัฒนาขึ้นได้อย่างไร

ภาพลักษณ์ของประเทศด้อยพัฒนานั้นแก้ได้ด้วยวิธีอื่นอีกหลายวิธี และต่างก็ก้าวหรือกำลังก้าวผ่านภาพลักษณ์เช่นนั้นไปแล้ว เช่น เกาหลีใต้, สิงคโปร์ อีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออก ส่วนมาเลเซีย, เวียดนาม และอินโดนีเซีย กำลังก้าวตามไป ทิ้งไทยไว้กับดวงจันทร์

เงื่อนไขปัจจัยหลายอย่างในสังคมไทยทำให้ดวงจันทร์ไม่เป็นจุดหมายปลายทางของสังคม เพราะไม่มีทั้งแรงเร่งเร้าและรับรองจากสังคม ประโยชน์จากดวงจันทร์ที่เราใช้ได้อยู่ในปัจจุบันคือเป็นความเปรียบถึงความผ่องใสของใบหน้าสตรี แสงจันทร์ซึ่งมีเสน่ห์ลึกลับอันชวนให้ระลึกถึงสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจ ดังเช่นบรรยายไว้ในเพลงเดือนเพ็ญ ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นว่าเสียหายอะไรนะครับ เป็นความงดงามเสียอีก

ดังนั้น ถ้าอยากส่งจรวดไปดวงจันทร์จริง ก็ควรสร้างเงื่อนไขปัจจัยในสังคมไทยให้พร้อมจะเร่งรัดและรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา, การอุตสาหกรรม, การค้า, การลงทุน, วัฒนธรรม ฯลฯ เราไปดวงจันทร์แน่ เพราะระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยีสูงขนาดนั้น อย่างไรเสียก็ปฏิเสธเทคโนโลยีอวกาศไม่ได้

เริ่มต้นด้วยการไล่รัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ก่อนดีไหมครับ ออกมาร่วมต่อต้านกับกลุ่มราษฎรก็ยิ่งดี เพราะอย่างที่เขาว่าแหละครับ “ถ้าการเมืองดี ป่านนี้เราไปดวงจันทร์กันแล้ว”

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_384574

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net