Skip to main content
sharethis

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 'รุ่งศิลา' คดีม.112 เหตุโพสต์บทกลอนและภาพล้อเลียนการเมือง 6 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์เหลือ 4 ปี 6 เดือน สิรภพชี้ม.112 เป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามยืนยันอุทธรณ์ต่อเพื่อทำให้สังคมเห็น และเห็นว่าตอนสู้คดีในศาลทหารไม่ได้รับความเป็นธรรมอยากให้อัยการพิจารณาคดีที่ย้ายจากศาลทหารว่ามีเหตุสมควรสั่งฟ้องหรือไม่

สิรภพ และทีมทนายความ

18 ม.ค.2564 ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ สิรภพ (สงวนนามสกุล) หรือ ‘รุ่งศิลา’ (นามปากกา) ที่ถูกทหารจับกุมหลังรัฐประหารและดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการโพสต์บทกวีและภาพล้อเลียนการเมืองทั้งหมด 3 ชิ้น จนติดคุกอยู่ 4 ปี 11 เดือน ก่อนได้ประกันตัว

วันนี้นอกจากสิรภพและครอบครัวแล้วยังมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรระหว่างประเทศและสถานทูตได้แก่ เยอรมัน ออสเตรีย และลักเซมเบิร์ก มาติดตามฟังการพิพากษาครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกสิรภพในข้อหาตามมาตรา 112 จากการโพสต์บทกวีและภาพล้อเลียน 2 กรรม กรรมละ3 ปี รวมเป็น 6ปี แต่เนื่องจากสิรภพให้การเป็นประโยชน์ให้ลดโทษ 1ใน 4 เหลือลงโทษจำคุกรวมเหลือ 4 ปี 6 เดือน โดยยกฟ้อง 1 กรรม โดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นโพสต์ของจำเลยจริง แต่สิรภพได้ติดคุกมาเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือนก่อนได้ประกันตัวในคดีนี้ จึงถือว่าครบกำหนดโทษแล้ว

สิรภพให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาว่า ยืนยันจะอุทธรณ์คดีต่อเพราะต้องการพิสูจน์ความจริงและเพื่อให้เห็นว่ามีการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เพราะก่อนการรัฐประหารมีคนออกมาต่อต้านการรัฐประหารชัดเจนเขาจึงใช้มาตรานี้เป็นอาวุธสำคัญ โดยมาตรา 112 นี้เปรียบเทียบ พ.ร.บ.การกระทำที่เป็นคอมมิวนิสต์ในสมัยก่อน ซึ่งก็ถูกยกเลิกไปแล้วจึงต้องมีกฎหมายอื่นมาทดแทน

สิรภพกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมานอกจากเขาแล้วยังมีคนอื่นๆ ที่ถูกจับกุมด้วยข้อหานี้ในช่วงหลังการรัฐประหารใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างของการรัฐประหารด้วยว่ามีขบวนการหมิ่นสถาบันฯ มีองค์กรเครือข่าย อย่างเช่นเรื่องผังล้มเจ้าที่ตอนนี้ก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องอุปโลกขึ้นมา และเขาเป็น 1 ในหลายคนที่ถูกจับกุมแล้วถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลานานๆ ด้วยข้อหานี้โดยที่ไม่สามารถประกันตัวได้ แต่เขาเป็นคนที่ถูกขังอยู่นานที่สุดเท่าที่มีการกล่าวหาฟ้องร้องกันมา

“ผมต่อสู้คดีอยู่ในเรือนจำ 4 ปี 11 เดือน 18 วัน พูดง่ายๆ ว่าขาดแค่ 12 วันครบห้าปี แล้วก็ได้รับการประกันตัวช่วงเตรียมการเลือกตั้งปี 62 ประกอบกับยูเอ็นก็มีรายงานเรื่องการคุมขังโดยพลการออกมา ก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวง่ายๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก”

สิรภพกล่าวต่อว่าในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ถึงสิ่งที่ตนกล่าวถึงจนทำให้ปัจจุบันเกิดการต่อต้านกฎหมายนี้ในหมู่ประชาชนทุกชนชั้นทุกวัย เกิดความแตกแยก และความหวาดกลัวก็มีต่อเนื่องมาตั้งแต่ตอนที่มีการรัฐประหารทำสังคมระส่ำระสาย ปีที่แล้วเหมือนจะเบาลงแต่ว่าพอเข้าเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็มีการเอากฎหมายมาตรานี้มาใช้กับนักศึกษา 30-40 เคส แม้จะมีความต่างอยู่บ้างเมื่อเทียบกับการจับกุมแล้วไม่ได้ประกันเลยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหากย้อนกลับไปถึงปี 53

“ผมรู้สึกบนศาลทหารผมไม่ได้รับความยุติธรรม ผมถูกมัดมือเพื่อสู้คดี ผมสู้คดีในชุดนักโทษ เพราะฉะนั้นผมยังเป็นสุจริตชนอยู่” สิรภพกล่าวถึงการต่อสู้คดีของในห้าปีที่ผ่านมา แม้จะมีการย้ายคดีจากศาลทหารมาศาลยุติธรรมภายหลัง แต่เขาก็อยากร้องขอให้ยกเลิกคดีที่มีการดำเนินการจับกุมโดยทหารแล้วมีการพิจารณาคดีในศาลทหาร ให้มีการตั้งต้นสำนวนคดีใหม่โดยให้อัยการพลเรือนเป็นผู้พิจารณาว่ามีเหตุสมควรสั่งฟ้องหรือไม่อย่างไร

ศาลใช้หลักฐานจากชั้นจับกุมของทหารพิจารณา

เมื่อ 9.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาสรุปความได้ว่า ตามที่โจทก์ฟ้องสิรภพว่ามีการกระทำความผิด 3 กรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 โดยทั้งสามโพสต์นี้มีการแสดงผลอยู่จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2557

  • จากการเขียนบทกลอนลง “เว็บอร์ด ประชาไท” เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2552
  • โพสต์ข้อความและภาพล้อเลียน ลงในเพจเฟซบุ๊กเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2556 ที่เป็นภาพชายชราใส่แว่นสวมชฎาโดยมีการกล่าวว่าเป็นเทวดาเดินดิน ซึ่งย่อมเข้าใจได้ว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9
  • โพสต์ข้อความและภาพล้อเลียนลงในเว็บไซต์ Blogspot หัวข้อ "เชื้อไขรากเหง้า "กบฏบวรเดช" ที่ยังไม่ตาย ของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป" โดยใช้นามแฝงว่า "รุ่งศิลา" เผยแพร่เมื่อ 22 ม.ค.2557

จำเลยให้การปฏิเสธ สิรภพเคยให้การว่าได้โพสต์จริงแต่เนื้อหาไม่ได้กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ศาลเห็นว่าจากการสืบพยานของฝ่ายโจทก์มีความเห็นว่าบทกลอนและภาพล้อเลียนเป็นการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองและสิรภพมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสถาบันฯ

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานจากชั้นจับกุมของทหารทั้งข้อความสนทนาทางเมสเสจเฟซบุ๊กและการสอบสวนทำให้ทราบว่าสิรภพมีแนวคิดปรับปรุงบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 84 ระบุไม่ให้รับฟังพยานหลักฐานชั้นจับกุม แต่ศาลเห็นว่าไม่ใช่การห้ามเด็ดขาด จึงรับฟังเพื่อประกอบข้อเท็จจริงอื่น ศาลจึงเชื่อว่าบทกลอนและภาพล้อเลียนเป็นการพาดพิงสถาบันกษัตริย์จริง คำให้การของจำเลยจึงไม่สามารถรับฟังได้

คดีนี้เบื้องต้นมีการพิจารณาในศาลทหาร ก่อนที่ คสช.จะมีคำสั่งยุติการใช้พิจารณาคดีพลเรือนและให้โอนย้ายคดีที่อยู่ในระหว่างกรพิจารณามาพิจารณาต่อในศาลยุติธรรม ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 เรื่องยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น

ศาลจึงพิพากษาให้ลงโทษจำเลยจากการโพสต์ภาพล้อเลียนในเฟซบุ๊กและบทกลอนในเว็บไซต์ blogspot รวม 2 กรรม หนึ่งกรรมผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามบทกฎหมายที่มีโทษมากที่สุดคือ มาตรา 112 กรรมละ 3 ปี รวม 6 ปี ส่วนบทกลอนในเว็บบอร์ดประชาไทนั้นเนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้และเป็นการเผยแพร่ในขณะที่เว็บอบร์ดกำลังจะปิดตัวลงจึงอาจเป็นการตีความตามที่จำเลยเบิกความได้ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยให้ยกฟ้องกรรมนี้

แต่คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ให้ลดโทษลง 1 ใน 4 เหลือโทษจำคุกรวมกัน 4 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากสิรภพจำคุกมาเกินกว่าโทษจึงไม่ต้องขังอีก

ทหารอาวุธครบมือล้อมจับ

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า คดีนี้สิรภพถูกจับกุมตั้งแต่ 25 มิ.ย.2557 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารได้เดือนเศษๆ ในขณะที่เขากำลังเดินทางอยู่ในเมืองกาฬสินธุ์เขาถูกขับรถปาดหน้าก่อนผู้จับกุมเป็นชายฉกรรจ์สวมโม่งกว่าสิบคนพร้อมอาวุธสงครามตั้งท่าพร้อมลั่นไกจะสั่งให้เขาลงจากรถแล้วนำตัวไปคุมตัวที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จังหวัดขอนแก่น 1 วัน ก่อนจะส่งตัวมาควบคุมต่อที่กรุงเทพฯ จนครบ 7 วัน

แต่ก่อนหน้าสิรภพจะถูกจับกุม 1 วันมีทหารพร้อมอาวุธครบมือกว่า 30 นายเขาตรวจค้นบ้านพักที่มีเพียงลูกๆ และหลานวัย 10 เดือนที่อยู่กัน 4 คน และยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ไปและยังเอาตัวลูกและหลานของเขาไปเข้าค่ายทหารด้วย

สิรภพ(ขวา) และครอบครัวที่ไปเยี่ยมขณะที่คดียังอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

หลังจากทหารคุมตัวสิรภพครบ 7 วันได้ส่งตัวให้กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) ดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. แต่ถึงจะได้ประกันในคดีนี้ แต่ตำรวจจากกองบังคับปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าอายัดตัวต่อทันทีในคดีข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 ซึ่งเป็นเหตุแห่งคดีนี้และหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวอีกเลยจน 11 มิ.ย.2562

ในส่วนของคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวสิรภพได้ต่อสู้ว่าที่ไม่ไปรายงานตัวเนื่องจากต้องการทำอารยขัดขืนเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและไม่ยอมรับอำนาจของ คสช.ในฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่าถึงเป็นการอารยขัดขืนก็เป็นความผิดทางกฎหมาย จึงพิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 18,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์เหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net