Skip to main content
sharethis

รุ้ง ปนัสยา-ทราย เจริญปุระ และกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกจัดกิจกรรมบริจาคผ้าอนามัยและชุดชั้นในให้นักโทษหญิงในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ พร้อมเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ใส่ใจสิทธิและสวัสดิภาพของนักโทษ

26 ม.ค. 2564 11.40 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จากกลุ่มราษฎร และอินทิรา เจริญปุระ หรือทราย นักแสดง ร่วมกับตัวแทนกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เดินทางมาบริจาคผ้าอนามัยและชุดชั้นในให้นักโทษหญิงในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ เรือนจำกลางคลองเปรม พร้อมกล่าวถึงปัญหาด้านสิทธิและสวัสดิภาพของนักโทษในเรือนจำ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย ซึ่งเป็นของใช้จำเป็นสำหรับนักโทษหญิง

ทั้งนี้ เมื่อกลุ่มผู้จัดกิจกรรมเดินทางมาถึงบริเวณหน้าเรือนจำ เจ้าหน้าที่กลับไม่อนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ โดยอ้างเหตุผลเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 จึงต้องเปลี่ยนมาจัดกิจกรรมบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมแทน

อินทิรา กล่าวว่า นักโทษหญิงสมควรได้รับการดูแลด้านสุขอนามัยพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งผ้าอนามัยและชุดชั้นในถือเป็นสิ่งของจำเป็น เพราะในหลาย ๆ ที่สิ่งของเหล่านี้จัดเป็นสวัสดิการที่ผู้หญิงได้รับฟรี แต่ในไทย ยังมีผู้หญิงหลายคนที่เข้าไม่ถึงสิ่งของจำเป็นเหล่านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่จำกัด เช่น ในเรือนจำ ซึ่งมีนักโทษหญิงจำนวนมากติด 5 อันดับแรกของโลก แต่การดูแลสวัสดิภาพต่างๆ ของนักโทษกลับอยู่ในอันดับรั้งท้าย

ด้าน ปนัสยา เผยว่า ขณะอยู่ในเรือนจำ ตนเห็นปัญหาหลายอย่าง เช่น นักโทษหญิงหลายคนไม่มีชุดชั้นในใส่ โดยเฉพาะกางเกงในไซส์ใหญ่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้คำตอบว่าไม่มีผู้บริจาคชุดชั้นในไซส์ใหญ่ เมื่อออกจากเรือนจำ ตนจึงตั้งใจจะบริจาคผ้าอนามัยและชุดชั้นในให้แก่นักโทษหญิง

“คนที่รุ้งเจอในคุก เขาตัวใหญ่มากแต่ไม่มีกางเกงในใส่ ทั้งที่อยู่มาแล้วปีกว่า ซึ่งวิธีที่เขาใช้ผ้าอนามัย คือ พับผ้าอนามัยด้านกาวติดกัน แล้วเหน็บเอา ซึ่งมันก็เลอะเทอะ เป็นภาพที่เห็นแล้วอนาถใจมาก หดหู่มาก นักโทษถึงเขาจะอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะทำผิดอะไรมาก็ตาม กรมราชทัณฑ์ต้องดูแลเขาอย่างที่เขาเป็นมนุษย์” ปนัสยากล่าว

ปนัสยากล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ต้องปรับวิธีคิดที่มองว่าคนเหล่านี้กระทำผิดมา จึงต้องได้รับบทลงโทษ จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่ดี ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้ไม่ถูกต้อง โดยปนัสยามองว่าคุกไม่ควรเป็นที่ลงโทษ แต่ควรเป็นที่ที่ให้คนเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้าสู่สังคมอีกครั้ง

ชุดชั้นในและผ้าอนามัยที่กลุ่มราษฎรและเฟมินิสต์ปลดแอกนำมาบริจาค

“ผ้าอนามัยมีให้นะคะในเรือนจำ แต่การให้แต่ละครั้ง ผู้ที่ต้องการต้องร้องขอ แล้วหลายๆ ครั้ง[คนที่ร้องขอ]ก็ไม่ได้ด้วย ทั้งๆ ที่มีของกองกลางอยู่ แต่แค่กั๊กไว้ โดยไม่มีเหตุผล ก็แค่จะไม่ให้แล้วยังไง” ปนัสยากล่าว

ปนัสยา กล่าวว่า วันนี้เตรียมชุดชั้นในมา 500 ตัว และกางเกงในไซส์ใหญ่อีก 916 ตัว โดยตอนแรกตั้งใจจะนำกางเกงในมาทั้งหมด 1,200 ตัวแต่โรงงานยังผลิตไม่เสร็จ ซึ่งจะนำมาบริจาคเพิ่มเติมในวันหลัง ส่วนผ้าอนามัยก็นำมา 8-9 หลัง

ปนัสยาเสนอข้อเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง กรมราชทัณฑ์ควรดูแลคนตั้งแต่เข้ามาจนออกไป ให้คนที่เคยติดคุกสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคมได้ ไม่ใช่ปล่อยให้มีคนเข้าออกคุกเป็นประจำ โดยที่เขาไม่ได้เรียนรู้ใดๆ

“จริงๆ อยากให้กรมราชทัณฑ์ปรับมาตรฐานของคุก และปรับวิธีคิดทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าคนที่เข้ามาในคุกทุกคนจะเป็นคนที่กระทำความผิดมา หรือไม่ใช่ทุกคนที่มีความเลวบริสุทธิ์ ซึ่งส่วนตัวรุ้งเองไม่เชื่อในเรื่องความเลวบริสุทธิ์ ทุกคนที่ทำผิดไม่ว่าจะเป็นฉ้อโกง ลักทรัพย์ หรืออะไรก็ตาม มันมีปัจจัยแวดล้อม มีปัจจัยทางสังคมที่บีบให้เขาต้องทำอย่างนั้น มันคือสังคมที่หล่อหลอมให้เขาเป็นคนอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าสังคมไม่ดีแล้วเอาเขาเข้ามาอยู่ในนี้ แล้วยังดูแลเขาเยี่ยงสัตว์ คิดว่าคนออกไปแล้วเขาจะมีพฤติกรรมอย่างไร เขาจะมีพฤติกรรมแย่ๆ อย่างเดิมเพราะการดูแลของกรมราชทัณฑ์หรือเปล่า” ปนัสยากล่าว

อินทิรา เจริญปุระ

อินทิรากล่าวเสริมว่า ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเอาอกเอาใจนักโทษเป็นพิเศษ แต่นี่คือเรื่องพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม การกักขังไม่ให้มีอิสรภาพก็ถือเป็นบทลงโทษในตัวเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปจำกัดเรื่องพื้นฐานในชีวิตหรือเรื่องสุขอนามัยของเขา เขาจะได้มีวิธีคิดที่เปลี่ยนไปด้วยว่าเมื่อมาอยู่ในนี้ บทลงโทษที่เขาได้รับมันสมควรแก่เหตุแล้ว เขาจะได้มีเวลาทบทวนตัวเอง ไม่ใช่ว่ายังต้องมาต่อสู้อีกในคุก ซึ่งถือว่ามากเกินไปในความเป็นคนเสมอกัน

“มันจะเป็นที่สำหรับปรับพฤติกรรมอย่างที่รุ้งบอก มันเป็นบทลงโทษในตัวเองอยู่แล้ว คุณจะอบรม คุณจะลงโทษอย่างไร นั่นก็อีกเรื่องนึง แต่เรื่องนี้พื้นฐานแบบนี้ยังต้องมาร้องขอกันอีก ร้องขอแล้วยังไม่ได้ เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ากรมราชทัณฑ์ไม่มีงบ แล้วทำไมถึงไม่มาดูแลตรงนี้” ทรายกล่าว

ผ้าอนามัยควรเป็นสวัสดิการ

อินทิรา ตอบว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเรื่องผ้าอนามัย ประจำเดือน เป็นเรื่องลึกลับ ไม่ควรพูดออกสื่อ ทั้งที่จริงๆ ก็เป็นเรื่องร่างกายปกติ หลายประเทศก็ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นสวัสดิการไปแล้ว แต่ในสังคมไทย พอเราไม่พูด คนก็ทำเป็นลืมๆ กันไป ยิ่งเป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในคุก ยิ่งไม่ได้รับการพูดถึงเรื่องสุขอนามัยเพศหญิง

“มันไม่เกี่ยวหรอกคะว่าจะอยู่ในวงการอะไร แต่ในฐานะที่เราคิดถึงชีวิตคนที่เสมอกัน เรื่องนี้มันควรจะมีมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว” อินทิรากล่าวกับผู้สื่อข่าว

เฟมินิสต์ปลดแอกเรียกร้องสวัสดิการยาให้นักโทษ

นอกจากสิทธิและสวัสดิการด้านสุขอนามัยเพศหญิงแล้ว กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้เสนอว่า กรมราชทัณฑ์ควรเพิ่มสวัสดิการด้านยารักษาโรคให้แก่นักโทษหญิง ไม่ใช่ให้แต่ยาพาราเซตามอล ทั้งยังต้องการยกระดับสุขอนามัยของนักโทษที่เป็นกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เช่น กลุ่มคนข้ามเพศที่จำเป็นต้องกินยาปรับระดับฮอร์โมนเป็นประจำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จัดให้ยาเหล่านี้เป็นยาเพื่อการศัลยกรรม ไม่ใช่ยาเพื่อการรักษาสุขภาพ หรือแม้แต่การขอพบจิตแพทย์เพื่อรับยารักษาอาการทางจิตเวช เจ้าหน้าที่หลายคนก็มองว่าเป็นบ้า ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาสุขภาพกายและใจของนักโทษยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก

ทรายกล่าวว่าหากใครสนใจบริจาคผ้าอนามัยหรือชุดชั้นในให้แก่นักโทษหญิงก็สามารถติดต่อไปยังเรือนจำแต่ละแห่งโดยตรงได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยเหลือนักโทษหญิง

“โครงการราชทัณฑ์ปันสุขอาจจะไม่พอ เราเลยทำราษฎรปันสุข เขาจะได้มีของใช้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่นามธรรม” รุ้งกล่าวทิ้งท้าย

ผู้จัดกิจกรรมยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนจัดกิจกรรมได้ติดต่อองค์กรสงเคราะห์ผู้ต้องขังแห่งประเทศไทย รวมถึงศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ หรือศูนย์แคร์ของกรมราชทัณฑ์แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าสามารถนำสิ่งของเข้ามาบริจาคได้ จึงแจ้งวันและเวลาเพื่อนำสิ่งของมาบริจาคตามขั้นตอน แต่เมื่อมาถึงตามนัด เจ้าหน้าที่กลับไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ แม้จะพยายามเจรจาให้เจ้าหน้าที่ออกมารับของบริจาคแล้วก็ตาม โดยปนัสยากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ยืนยันผ่านทางโทรศัพท์ว่าไม่สามารถรับได้ และให้ติดต่อมาอีกครั้งเมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เบาบางลง ซึ่งตนและผู้จัดกิจกรรมร่วมมีแผนจะนำของมาบริจาคใหม่ แต่อาจจะมาในนามส่วนตัว หากมีอะไรคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net