Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

13 มกราคมที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการจากไปของมาร์ค ฟิชเชอร์ ( 1968-2017) นักวิจารณ์ดนตรีและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมชาวอังกฤษ ที่น่าสนใจผลงานทั้งงานเก่าและใหม่ของเขาได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง มีการทอดเทปบันทึกการสอนช่วงสุดท้ายของเขาที่ Goldsmiths (ช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2516) รวบรวมตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ Postcapitalist Desire : The Final Lectures (2000, Repeater Books) ก่อนหน้านั้นวารสาร Mediations : Journal of the Marxist Literary Group ก็ได้มีการตีพิมพ์บทความของนักวิชาการ 6 คนที่นำเอาหนังสือ Capitalist Realism ของมาอ่านใหม่หลังจาก 10 ปีของการตีพิมพ์ (Volume 33, Numbers 1-2, Fall 2019-Spring 2020, pp.139-187) และในเดือนมกราคมนี้ก็ได้มีการจัดงานเปิดตัวหนังสือผ่านการเสวนาออนไลน์หลายครั้งตามสถานที่ต่างๆทั่วโลก รวมทั้งมีบทรีวิวหนังสือใหม่เล่มนี้เผยแพร่ในสื่อออนไลน์อยู่หลายชิ้น ผู้เขียนได้ชมคลิปและอ่านงานรีวิวดังกล่าวอยู่พอควร พร้อมกับมีข้อสังเกตุว่าประเด็นหลักของงานยังอยู่กับคำถามที่ว่า “เราควรจะก้าวไปเป็นซ้ายในแบบมาร์ค ฟิชเชอร์หรือกลับไปเป็นซ้ายในแบบคาร์ล มาร์กซ” ผู้เขียนเองแอบตั้งข้อคำถามอยู่ในใจว่า หากงานเหล่านี้แทนที่จะกล่าวถึงมาร์ค ฟิชเชอร์แต่เปลี่ยนเป็นกล่าวถึง “K-punk” (เคพังค์) สมญานามที่สร้างชื่อเสียงอันโด่งดังให้เขา ข้อสังเกตุของผู้เขียนอาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็นว่า “เราควรจะเป็นโพสต์พังค์ในแบบมาร์ค ฟิชเชอร์หรือกลับไปเป็นพังค์ในแบบคาร์ล มาร์กซ”  

(1)

มาร์ค ฟิชเชอร์ เป็นรู้จักในนามของ“เคพังค์”นักเขียนบล็อก K-Punk ในช่วงปี ค..ศ. 2003-2008 ยุคที่บล็อกกำลังเป็นที่นิยมต้นศตวรรษที่ 2000 อาจกล่าวได้ว่าเคพังค์เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกการเขียนบล็อก ด้วยความนิยมการเขียนบล็อกข้อเขียนสั้นๆแต่สอดแทรกด้วยข้อวิจารณ์ด้วยทฤษฏีทางวัฒนธรรมของฝ่ายซ้ายอย่างเฟรดดริก เจมส์สัน, สลาวอย ชิเชค, สจ๊วต ฮอลล์, พอล กิลรอย, ไซมอน เรย์โนลด์ ฯ ได้ทำให้งานของเคพังค์เป็นที่ติดตามในแวดวงนักศึกษา นักวิจารณ์ นักวิชาการ และผู้อ่านทั่วไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคอินเตอร์เน็ต อย่างไรก็เคพังค์มาถือกำเนิดในแวดวงวิชาการด้วยนามมาร์ค ฟิชเชอร์จากหนังสือเล่มบางๆที่โด่งดังเป็นอย่างมากอย่าง Capitalist Realism: Is There No Alternative? (2009) และตามด้วยงาน Ghost of My Life (2014) ที่แม้จะมีเนื้อหาไม่ต่างกันแต่กลับได้รับการกล่าวถึงน้อยกว่า หากเล่มแรกโด่งดังจากแนวคิด Capitalist Realism ที่วิพากษ์อุดมการณ์ทุนนิยม เล่มหลังก็น่าจะเป็น Hauntology ที่วิพากษ์วัฒนธรรมทุนนิยม ที่จริงหนังสือทั้งสองเล่มเป็นการรวบรวมงานเขียนช่วง ค.ศ. 2003 ถึง ค.ศ. 2013 จากบล็อก สื่อสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงงานที่เขียนที่ไม่เคยตีพิมพ์ของเขามาก่อน ผู้เขียนคิดว่าหากเอาทั้ง 2 มารวม ก็น่าจะได้หนังสือน่าอ่านเล่มบางๆที่ควรจะมีชื่อว่า Ghost of Capitalist Realism 

ฟิชเชอร์เคยกล่าวว่ามักมีคนถามเขาบ่อยๆว่าอะไรคือ “Capitalist Realism”ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอเป็นอีกคนหนึ่งที่ตั้งคำถามดังกล่าว สิ่งผู้เขียนสนใจคือที่มา ที่ไป และจริตทางความคิดของมันมากกว่า ผู้เขียนคิดว่าแนวคิด Capitalist Realism (2009) ของมาร์ค ฟิชเชอร์ ที่ผู้เขียนขอแปลว่า “สัจจะทุนนิยม” น่าจะเริ่มเค้าโครงในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 ช่วงท้ายๆของยุค“โพสต์พังค์” ( post-punk) ในอังกฤษ ยุคที่เทคโนโลยีคืออนาคตของโลก และความหวังกับพรรคแรงงาน โพสต์พังค์ไม่ใช่แค่ดนตรี หากมันหมายถึงของทัศนคติ และจริตที่มีต่อโลกปัจจุบัน ต่อสังคมรอบข้าง ต่อความหวัง ต่อโลกในอนาคต เราจะเห็นว่าในปี ค.ศ. 1994 ฟิชเชอร์กับเพื่อนอีก 2 คน ทำวงอิเลคโทรโพสต์พังค์ชื่อ D- Generation และออกอัลบั้ม Entropy in England เพียงชุดเดียวก่อนที่แยกย้ายกันไป ที่น่าสนใจในแทรคแรกที่ชื่อว่า 73-93 มีประโยคว่า “No future” ร้องวนไปวนมาในช่วงกลางเพลง จริงๆแล้วคำนี้เป็นที่จดจำจากเนื้อร้องในท่อนจบของเพลง God save the queen โดยวง Sex Pistols พังค์ร็อกตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 ก่อนช่วงที่จะทำวงดนตรีนั้นฟิชเชอร์เข้าเรียนระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวัฒนธรรมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ยุคนั้นวัฒนธรรมศึกษาที่นี่อยู่ในระหว่าง “ขาลง”ดังนั้นเขาจึงไม่ถือว่าเป็นหนึ่งในศิษย์รุ่นหลานของ “สำนักสจ๊วต ฮอลล์” ( Stuart Hall School) หากย้อนไปในทศวรรษที่ 80 ฟิชเชอร์ก็ยังเด้กไปที่จะเข้าร่วมขบวนการรื้อฟื้นซ้ายใหม่ในยุคแทรตเชอร์ครองอำนาจ กับฮอลล์ สหาย และ อย่างไรก็ดีฟิชเชอร์ย้ายตามแซลลี่ แพลนต์ ( Shelly Plant) อาจารย์ที่ปรึกษาจากเบอร์มิงแฮงไปเรียนต่อด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยวอร์วิค ที่นั้นเขาได้พบนักปรัชญาอย่างนิค แลนด์ ( Nick Land) หนึ่งในปรัชญาที่ให้ความสนใจแนวคิด Accelerationism และที่มหาวิทยาลัยวอร์วิค แลนด์และแพลนต์ ได้ร่วมกันตั้ง The Cybernetic Culture Research Unit ( Ccru) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านวัฒนธรรมดิจิตอลรุ่นแรกๆในยุคนั้น ศูนย์ฯนี้มุ่งทำงานให้ทฤษฏีทางวิชาการเดินทางออกนอกตำราไปสู่การปฏิบัติการได้จริง ในขณะที่โลกดนตรีของอังกฤษในทศวรรษที่ 90 เป็นยุคของการกลับมาร็อกแบบ High modernism วงร็อกแบบวง Oasis, Blur, Radiohead, Pulp วงเหล่านี้แสดงตัวตนแบบอีโก้ เป็นขบถต้านโลก โหยหาซาวน์ดนตรีแบบยุค 70 พร้อมกับออกตัว”ความเป็นอังกฤษ”อย่างแรง แต่อาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาวิจัยที่ศูนย์ (แน่นอนฟิชเชอร์คือหนึ่งทีมนั้น) กลับหันไปทดลองเทคโนโลยี่แซมปลิงผสานกับชาติพันธุ์เทคโนผ่านสไตล์ดนตรีใหม่แบบ Jungle Music ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น แน่นอนเนื้อหาเพลงวิพากษ์สังคมอังกฤษ ฟิชเชอร์ประทับใจกับเหล่าสมาชิกของศูนย์ฯที่เขาร่วมงานด้วย เขาบอกว่าที่ศูนย์ฯไม่เคยเรียกว่ามีการรวมตัวแบบเป็นทางการ ดังนั้นสมาชิกจึงไม่เคยมีการสลายตัว หลายคนกลายเป็นเพื่อนสนิทของเขาจนถึงวันที่เขาเสียชีวิต ฟิชเชอร์จบปริญญาเอกด้วยวิทยานิพนธ์ Flatline Constructs: Gothic Materialism and Cybernetic Theory-Fiction ในปี ค.ศ. 1999 ส่วนศูนย์ฯยุบไปในต้นปี 2000 “หมดอนาคต”ที่จะเผชิญกับ“อนาคตของโลก”แพลนต์เลิกสอนหนังสือเป็นนักเขียน แลนด์ไปสอนที่อเมริกาก่อนจะเลิกสอนหนังสือ ทำงานวิจัยอิสระ และมาพำนักอยู่ในประเทศจีน ส่วนสมาชิกคนอื่นๆเติบโตในแวดวงวงวิชาการ ศิลปะและสื่อดิจิตอล


(2)

ใน Capitalist Realism คือภาพฉายที่ฟิชเฟอร์มองจากต้นทศวรรษที่ 2000 ย้อนกลับไปวิพากษ์เสรีนิยมใหม่ยุคท้ายสุด ( late Neoliberalism) ที่เขาเห็นว่าเกิดในปลายทศวรรษที่ 70 ทุนนิยมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกในชีวิตประจำวันที่เราไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ในอีกด้านหนึ่งงานนี้ฟิชเชอร์ได้เขียนวิพากษ์การเมืองของฝ่ายซ้ายเก่า พวกซ้ายใหม่หรือพวกสังคมนิยมประชาธิปไตย เขายังเห็นว่างสำนึกหลักของการขับเคลื่อนสังคมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสังคมการเมือง ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยี ที่ยังวนเวียนกับกรอบคิดและคำนิยามเดิมในเรื่องของการ “การต่อต้านทุนนิยม” ไม่สามารถทำความเข้าใจและวิพากษ์ปรากฎการณ์ ณ ยุคนั้นๆได้ หรือไม่อาจสร้าง “ความหวังถึงอนาคต” อาจกล่าวสั้นๆฟิชเชอร์เขียนประวัติศาสตร์ย่อของเสรีนิยมใหม่ยุคท้ายสุดด้วยแว่นตา “สัจจะทุนนิยม” หากใครที่เคยอ่านงานหนังสือ New Times ที่สจ๊วต ฮอลล์และมาร์ติน จาร์คส เป็นบรรณาธิการร่วมกัน (คัดบทความของนักเขียนกว่า 30 ชิ้นจากวารสาร Marxism Today) ช่วงทศวรรษที่ 80 ที่วิพากษ์เสรีนิยมใหม่ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และการเมืองแบบ “ไร้สังคม”ยุคแทรตเชอร์ ก็จะรู้สึกว่างาน Capitalist Realism และ Ghost of My Life ของฟิชเชอร์เหมือนย่อความจากหนังสือหนา 400 กว่าหน้า New Times อย่างไรก็ดี ฟิชเชอร์เติบโตมาในยุคกำแพงเบอร์ลินทะลายไปแล้ว อุดมการณ์คอมมิวนิสต์กลายเป็นของแสลง เขากล้าตั้งข้อสังเกตที่หาความเป็นไปได้ได้มากกว่าในยุค New Times ว่าสำนึกในเรื่องการเมืองของชนชั้นยังเกิดขึ้นกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวามากกว่า เอาเข้าจริงอุดมกาณ์ของฝ่ายซ้ายก็ไม่ได้ให้ (จิตนาการ) “ทางเลือก”หรือ”อนาคต”ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่จะดำเนินต่อจากทุน (หรือทุนนิยม) ยุคของ“การปฏิวัติ”อันเป็นเป้าหมาย “สูงสุด”ของขบวนการปฏิวัติตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 ต้นมาหมดไปแล้ว การเมืองของวัฒนธรรมย่อยไม่ได้คือพลังก้าวหน้าหากแต่เป็นได้เพียงการผลิตซ้ำตัวเอง ฟิชเชอร์ยังอธิบายถึง Capitalist Realism กับโรคซึมเศร้าซึ่งไม่ใช่อาการของปัจเจกชน หากแต่เป็นอาการของสังคม อันเป็นผลจากโลกของการทำงาน โลกของการใช้ชีวิตในยุคหลังฟอร์ดดิสซึม ที่ไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความมั่นคง คนหมดความหวัง หรือความปรารถนาใดๆ ซึ่งประเด็นนี้ฟิชเชอร์อธิบายจากประสบการณ์ของเขาเองด้วย 

ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำถามสำคัญต่อทั้งฟิชเชอร์หรือเคพังค์ ก็คือความคิดสัจจะทุนนิยมคือวิพากษ์ทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่ และความตีบตันของอุดมการณ์การเมืองแบบฝ้ายซ้าย แต่หากไม่เอาอุดมการณ์แบบซ้าย/ขวา ไม่เอาจิตสำนึกทางชนชั้นหรือมวลชนแล้ว ไม่เอาจริตการเมืองแบบพังค์ ไม่เอาพรรคปฏิวัติแล้ว ฟิชเชอร์จะเอาอะไร? หรือจะไม่เอาอะไร ฟิชเชอร์มาหาคำตอบขึ้นในช่วงต้น 2010 ซึ่งผู้เขียนจะขอให้ภาพเพียงบางส่วน 


(3)

ในปี ค.ศ. 2012 ฟิชเชอร์ได้เริ่มใช้คำว่า Postcapitalist Desire และ Digital Psychedelic ในข้อเขียนสั้นๆ ที่ตั้งคำถามถึงการผูกขาดแรงปรารถนาของระบบทุนนิยม และข้อจำกัดของการแสวงความสุขแบบคอมมิวนิสต์ Postcapitalist future คือคำเรียกขานอนาคตที่ฟิชเชอร์คาดหวัง ในปี ค.ศ. 2014 เขาเป็นผู้ร่วมจัดงานซีรี่ส์สัมมนา Post-punk then:now ที่ Goldsmiths งานนี้ได้เชิญนักดนตรี ผู้ผลิตสื่อ นักวิชาการมาร่วมถกเรื่องอิทธิพลของโพสต์พังค์ยุค 80 กับการเมือง ศิลปวัฒนธรรมและความคิดของสังคมอังกฤษ ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นฟิชเชอร์เป็น 1 ในนักวิชาการรุ่นหนุ่มหลายคนที่เขียนแผนงานด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมของพรรคเลเบอร์ในยุคที่มีเจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) เป็นผู้นำพรรค แต่พรรคแรงงานก็ไม่ชนะการเลือกตั้ง แผนงานดังกล่าวจึงไม่ได้ปรากฏตัวต่อการสร้างแรงปรารถนาให้กับคนอังกฤษ ผู้เขียนคิดว่าโครงร่างของหนังสือ Acid Communism น่าจะเขียนขึ้นในช่วงนี้ แต่มีเพียงบทนำยังที่เขียนไม่เสร็จที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตในปี ค.ศ. 2017 หลังจากที่เขาเสียชีวิต อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่างานทอดเทปการสอนช่วงสุดท้ายของเขาที่บันทึกโดยนีซ ซาวิค (Nace Zavrl) ที่กลายมาเป็นหนังสือเล่มใหม่ Postcapitalist Desire น่าจะเป็นรูปธรรมของต้นฉบับ Acid Communism ที่เราสามารถจับต้องได้ อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้นี้คือความคิดอีกชุดหนึ่งของมาร์ค ฟิชเชอร์ หรือเคพังค์ ที่ต่างไปจาก Capitalist Realism และ Ghost of My Life เค้าโครงความคิดในชุดนี้ไม่ได้อธิบายอดีตจากมุมมองปัจจุบัน หากแต่ไปหาแรงปรารถนาของอนาคต ณ ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามหลังจากอ่าน Postcapitalist Desire ใน 2 บทแรก ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจ เมื่อฟิชเชอร์ให้ความสนใจของงานสายทฤษฏีวิพากษ์อย่างเฮอร์เบิร์ต มาร์คูเส ( Herbert Macurse) ในเล่ม Eros and Civilization ไม่ใช่เพราะเนื้อหาทางทฤษฏี ที่เขาเอามาสอน หากเป็นเพราะความเป็นคัมภีร์ยุค 60 ของงานเล่มนี้มากกว่า การทำความคิดของมาร์คูเสให้เป็น “ปัจจุบัน”เป็นเรื่องฟิชเฟอช์ควรจะตระหนก (หนัก) อยู่ เพราะมาร์คูเสเปรียบได้กลับงานร็อกแบบ high modernism ที่มาจากยุคฮิปปี้ 60 ด้วยการเป็นคนที่เติบโตกับทัศนคติแบบ popular modernism ยุคโพสพังค์ 80 ที่ไม่เอาอะไรที่เป็นเหตุผลหรืออารมณ์เกิน ไม่ยึดหลักการแบบกอดคัมภีร์ ไม่หลงตัวเอง ยึดอัตลักษณ์ ในขณะโพสต์พังค์การอยู่กับสถานการณ์ การสร้างทางเลือก การรู้จักล้อตัวเอง รู้จักที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง นี้คือจริตแบบโพสต์พังค์ที่ไม่น่าจะเข้ากันได้กับเหตุผลแบบไซเคดีลิค (ร็อก) อาจสรุปภาพแบบง่ายๆแบบวงศาคณาญาติร็อก ก็คือ “ร็อกแอนโรลล์สร้างโลก ไซเคดีลิค (ร็อก) ต้านโลก โพสต์พังค์กู้โลก” ผู้เขียนคิดว่าแม้โพสต์พังค์จะ“กู้”แต่ไม่มีอะไรต้องจ่ายเป็น “ดอกเบี้ย”ให้พวกไซเคดิลิก (ร็อก)

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนค่อนข้างประหลาดใจเมื่อเห็นงานของโจดิ ดีน ( Jodi Dean) และงานมิเชล เบาเว่น ( Michel Bauwen) อยู่ในลิสต์หนังสืออ่านประกอบในสัปดาห์ที่ 13 ดีนที่กลับไปให้ความสำคัญการนำของสหาย ในขณะที่เบาเว่นที่เป็นอนาธิปัตย์ใหม่ให้ความสำคัญแบบไร้การนำ แม้ว่างานของ 2 คนปรากฏอยู่ในลิสต์ของ ซึ่งเขาไม่มีโอกาสได้สอน และเราก็ไม่มีโอกาสได้อ่านบันทึกการสอนของเรา หากจะให้คาดเดาจากเนื้อหาของคอร์ส Postcapitalist Desire หรือความปรารถนาหลังทุนนิยม ผู้เขียนคิดว่านี่คือ Acid Communism ไม่ใช่อนาคตที่จะเกิดหลังทุนนิยมล้มสลาย ประโยคที่ว่า ประโยคของชิเชกที่มาร์คมาใช้ในชื่อบทใน Capitalism “It is easier to imagine an end to the world than an end to capitalism,” ได้ดักทาง (อนาคต) เอาไว้แล้ว ดังนั้น การเกิดขึ้นของจิตสำนึกใหม่ของกลุ่ม ( group consciousness) ที่ไม่ใช่จากวัฒนธรรมต่อต้าน ( ยุคฮิปปี้) หรือวัฒนธรรมย่อย (ยุคพังค์) อันจะนำไปสู่การเมืองของชนชั้น การปฏิวัติที่ไร้ (พรรค) แกนนำ การแก้สมการอันซับซ้อนของทางทฤษฎีของวัฒนธรรมการบริโภค สำนึกทางชนชั้น/วัฒนธรรมกลุ่มย่อย อุดมการณ์แบบซ้าย ซึ่งตอนนี้เป็นเสมือน black box ในความคิดของฟิชเชอร์หรือเคพังค์ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ผู้เขียนเห็นว่าเราคือเค้าโครงความคิดอีกชุดหนึ่งของฟิชเชอร์ หากเขายังมีชีวิตอยู่ ฟิชเชอร์ยังคงไม่หยุดที่จะตั้งคำถาม และหาคำอธิบายถึงสิ่งที่ควรจะเกิดหรือเป็นไปด้วยไปพร้อมกันๆ

(4)

แม้เรือนร่างของมาร์ค ฟิชเชอร์หรือเคพังค์ได้สูญสลายไปแล้ว แต่แนวความคิดของเขาไม่ได้สูญสลายไปด้วย เราจะเห็นถึงความคึกคักที่ผู้ได้กล่าวไว้ตอนต้น ผู้เขียนขอเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า“The Fisher Project” หลังจากมาร์ค ฟิชเชอร์หรือ เคพังค์ เสียชีวิตไปเราจะเห็นว่างานชิ้นสำคัญของเขาตั้งแต่ยุคแรกที่เขียนลงในบล็อคจนถึงงานที่เขียนไม่เสร็จอย่าง Acid Communism ได้รวบรวมตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ K-Punk ( 2018) และงานในยุคที่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยวอร์วิครวบรวมไว้ใน Egress: On Mourning, Melancholy, and Mark Fisher (2020) นักศึกษาในคอร์สเรียน Postcapitalist Desire ที่ Goldsmiths ได้จัดกลุ่มเรียนกันเองจากการสอนต้องยุติไปจนครบ 15 สัปดาห์ แม้เนื้อหาจะปรับเปลี่ยนไปบ้าง และเอกสารการเรียนจัดกลุ่มเรียนกันเองนี้เหล่านี้ได้เผยแพร่ในบล็อก และด้วยการสนับสนุนจากทั้งผู้ที่สนใจ นักวิชาการในและนอกมหาวิทยาลัย และได้มีการจัด Summer School อีก 4 ครั้งในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน รวบรวมตีพิมพ์ใน The Fisher-Function ( 2017) กลุ่ม Plant C ที่ฟิชเชอร์เป็นสมาชิกอยู่ก็ยังเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอยู่หลายเมืองในอังกฤษ

หากคำว่า “Lost future” เป็นหนึ่งคำจากต่อท้ายชื่อหนังสือ Ghost of My Life ที่ฟิชเชอร์ใช้ใน ค.ศ. 2014 “ Is there no Alternative ”คือประโยควางอยู่หลัง Capitalist Realism ในปี ค.ศ. 2009 หากจะหาคำหรือประโยคต่อท้ายให้กับหนังสือ Postcapitalist Desire ผู้เขียนก็คิดว่าน่าจะเป็น Another future is possible ไม่ใช่ The Final lectures แน่นอน!!

 

เอกสารประกอบ
Mark Fisher
Capitalist Realism Is There No Alternative? (2009, Zerobook)
Ghost of My Life. Writings on Depression, Hauntology and Lost Futures (2014, Zerobook)
What We Are Fighting For: A Radical Collective Manifesto. (2012, Pluto Press) .
K-Punk:The Collected and Unpublished Writings of Mark Fisher (Repeaters 2018)
Postcapitalist Desire: The Final Lectures (Repeaters 2020)

เว็บไซต์
http://k-punk.abstractdynamics.org/
https://www.youtube.com/watch?v=IIRE67S7Ydg
https://www.youtube.com/watch?v=J6o7KyxcsPo&t=309s
https://fisherfunction.persona.co/
https://postcapitalistdesire.wordpress.com/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net