วัฒนธรรมการเมืองของไต้หวันมีส่วนทำให้จำกัดการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างไร

ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากในเรื่องการแก้ไขปัญหา COVID-19 นอกจากบทเรียนจากอดีตและเทคโนโลยีแล้ว วัฒนธรรมทางการเมืองที่รัฐบาลมีความโปร่งใส เป็นประชาธิปไตยที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในมติมหาชน ล้วนแต่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับการสอดส่อง-ติดตามโรค เรื่องนี้มีการนำเสนอผ่านบทความของมาร์ค มาร์นิโม นักศึกษาวิจัยด้านบทบาทของจีนกับไต้หวันต่อวัฒนธรรมการเมืองเรื่องการยอมรับการสอดส่องทางดิจิทัล

วัฒนธรรมการเมืองของไต้หวันมีส่วนทำให้จำกัดการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างไร
เจ้าหน้าที่ประจำด่านกักโรค สนามบินนานาชาติเถาหยวน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ภาพถ่ายเมื่อ 7 เมษายน 2020 | ที่มา: Wang Yu Ching / Office of the President, Republic of China, Taiwan

ไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการยกย่องด้านความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศ พวกเขาปราศจากผู้ติดเชื้อรายใหม่มาตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. จนถึง 22 ธ.ค. 2563 ช่วงที่โลกกำลังเผชิญการระบาดรอบที่สอง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่ไต้หวันมีสถิติผู้ติดเชื้อน้อยมากเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ คือ 843 ราย และมีกรณีเสียชีวิต 7 ราย มี 746 กรณีเป็นผู้ติดเชื้อจากที่อื่น แต่ไต้หวันก็ประสบความสำเร็จในเรื่องการควบคุมจัดการได้โดยไม่มีการสั่งล็อกดาวน์เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้นักวิชาการต่างประเทศที่อภิปรายกันว่าทำไมประเทศเอเชียตะวันออกถึงประสบความสำเร็จมากกว่าประเทศตะวันตกในการสกัดกั้น COVID-19 และไต้หวันดูจะมีความพิเศษกว่าที่อื่นๆ ในเรื่องนี้

เป็นที่รู้กันว่าประเทศที่สำเร็จในการควบคุมโรคนั้นมีทั้งประเทศเผด็จการอย่างเวียดนาม และประเทศประชาธิปไตยอย่างไต้หวันและนิวซีแลนด์ ทำให้ระบอบการเมืองหลักๆ ไม่น่าจะเป็นตัวตัดสินในเรื่องความสำเร็จนี้ สภาพพื้นที่ที่เป็นเกาะของไต้หวันก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องเพราะประเทศเกาะอย่างสหราชอาณาจักรก็ยังประสบปัญหาโรคระบาดนี้

สิ่งที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อความสำเร็จของไต้หวันจริงๆ คือการที่พวกเขาเรียนรู้บทเรียนจากการระบาดของโรคระบาดในอดีต อย่างซาร์ส, เมอร์ส และไข้หวัดหมู สิ่งเหล่านี้ทำให้มีการจัดวางสวรรถภาพทางสาธารณสุขให้เตรียมพร้อมกับวิกฤตและ รวมถึงมีการวางระบบทางการเมือง การสื่อสาร กฎหมาย และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการรับมือเรื่องเหล่านี้ได้

หนึ่งในการเตรียมความพร้อมเหล่านี้มาจากการที่ไต้หวันเป็นประเทศที่ตุนเครื่องมือป้องกันโรคระบาดทางการหายใจเอาไว้อยู่แล้ว ทำให้เมื่อมีการระบาดของไวรัสที่ผ่านทางละอองเหลวจากลมหายใจได้ทำให้พวกเขามีหน้ากากอนามัยเตรียมพร้อมแจกในประเทศรวมถึงส่งออกนอกประเทศ การปฏิบัติตามการป้องกันการแพร่เชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัยก็เป็นสิ่งที่คนปฏิบัติตามโดยไม่ถูกสกัดด้วยข้อถกเถียงทางการเมือง เรื่องเหล่านี้ทำให้การล็อกดาวน์อย่างเต็มที่ไม่มีความจำเป็น

การเตรียมพร้อมรับมือเหล่านี้เป็นแค่หนึ่งในปัจจัยความสำเร็จเท่านั้น เรื่องต่อมาที่เป็นปัจจัยความสำเร็จของไต้หวันคือการใช้เทคโนโลยี คือเทคโนโลยีการเฝ้าระวังและติดตามผลของผู้มีโอกาสติดเชื้อ ซึ่งได้รับการชื่นชมว่ามีประสิทธิภาพอยู่ในระดับโลก พวกเขาสามารถป้องกันคนเข้าประเทศไม่ให้แพร่กระจายเชื้อในประเทศได้ ระบบการเฝ้าระวังและติดตามผลของพวกเขานั้น มีการเชื่อมโยงกับผู้ที่ได้รับการตรวจว่าติดเชื้อแล้วขยายผลไปอีก 20-30 กรณีและขอให้มีการกักบริเวณตัวเองเพื่อควบคุมโรค จากระบบนี้ทำให้มีผู้ที่เคยกักบริเวณตัวเองเพื่อควบคุมโรคแล้ว 340,000 ราย

ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคติดต่อของไต้หวัน (CECC) มีการให้ผู้เข้าประเทศรายใหม่ต้องอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังติดตามผลผ่านการส่งข้อความและการโทรเพื่อเช็คอินรวมถึงคอยติดตามอาการต่างๆ ของผู้เดินทางเข้าประเทศรายใหม่อยู่ตลอดเวลา เมื่อใครก็ตามที่ขาดการติดต่อจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดต่อโดยตรงที่ห้องพัก ผู้ที่ฝ่าฝืนการกักบริเวณเพื่อป้องกันโรคติดต่อจะถูกสั่งปรับในวงเงินที่สูงมากแต่ก็มีกรณีที่ฝ่าฝืนและถูกสั่งปรับรวมแล้วน้อยกว่า 1,000 ราย มีผู้ปฏิบัติตามมากถึงร้อยละ 99.7

ในเรื่องนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศเอเชียตะวันออกมักจะให้ความร่วมมือกับการสอดส่องติดตามผลโรคระบาดของรัฐบาลมากกว่าในโลกตะวันตก เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมแบบขงจื้อและวัฒนธรรมการตามผู้นำ แต่ก็เป็นแนวคิดที่ถูกวิจารณ์ตีตกไป สาเหตุที่ไต้หวันประชาชนให้ความร่วมมือในเรื่องนี้มากนั้นกลับเป็นเพราะความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวันที่เคารพในสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน

ได้หวันไม่เคยมีประวัติการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนในระดับใหญ่ๆ เลย เทคโนโลยีที่ใช้กับการติดตามผลก็ใช้วิธีการตรวจสอบระยะความใกล้ไกล (triangulation) แทน GPS ที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากกว่า อีกประการหนึ่งคือวัฒนธรรมการเมืองของไต้หวันเองที่มีรัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งโปร่งใส ทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจที่จะปฏิบัติตามการติดตามผลของรัฐบาล

วัฒนธรรมการเมืองไต้หวันนี้ได้มาจากการขับเคลื่อนของประชาชนและความสัมพันธ์ของไต้หวันกับจีน ในช่วงยุคสมัยประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วจากพรรคก๊กมินตั๋งที่อยู่ในตำแหน่งช่วงปี 2551-2559 นั้น เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใสในการพยายามสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ในเวลาต่อมามีขบวนการประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ชื่อขบวนการดอกทานตะวันในปี 2557 หลังจากนั้นไต้หวันก็มีการเลือกตั้งและได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือไช่อิงเหวินจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าผู้มีนวัตกรรมในการรับฟังเสียงของประชาชนและมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มร่วมกัน

ในขณะที่ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหม่มาก พวกเขาเพิ่งจะจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อปี 2539 แต่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็เชื่อว่าประเทศควรจะคำนึงถึง "มติของมหาชนโดยไม่มีการเติมแต่ง" หรือ "ประชาธิปไตยในฐานะการหารือระหว่างกลุ่มที่มีค่านิยมหลากหลาย ...ไม่ใช่การห้ำหั่นกับระหว่างค่านิยมต่างขั้ว" นั่นทำให้วัฒนธรรมการเมืองของไต้หวันอยู่ในรูปแบบของการพยายามสร้างตลาดเสรีทางความคิดที่จะใช้ประชาธิปไตยในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้

สิ่งที่รัฐบาลไช่อิงเหวินทำคือสไตล์การปกครองแบบเน้นมติมหาชนส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการหาทางออกกับรัฐบาล วัฒนธรรมการเมืองแบบนี้ได้ส่งผลมาถึงการป้องกัน COVID-19 ด้วยเมื่อมีชาวไต้หวันช่วยกันออกแบบแผนที่หน้ากากอนามัยเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งหน้ากากอนามัยที่ใกล้ตัวที่สุดได้

ออเดรย์ ถัง ผู้ที่เคยเข้าร่วมขบวนการดอกทานตะวันในปี 2557 ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีลอยของกระทรวงดิจิทัล เธอมองว่าเทคโนโลยีเป็นทางออกทางการเมืองและพยายามทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตยที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างการหารือแลกเปลี่ยนกันอย่างแท้จริง และทำให้เกิดการสร้างมติมหาชน โดยที่ถังยังเน้นหลักการเรื่องที่เขาเรียกว่า "ความโปร่งใสอย่างสุดขั้ว" และการเปิดกว้างทางดิจิทัล ที่เปิดให้ประชาชนได้รับรู้พฤติกรรมและถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างๆ ถังใช้วิธีการจัดให้มีการพบปะกับประชาชนในวันใดวันหนึ่งของทุกๆ สัปดาห์และเผยแพร่ข้อความการประชุมหารือออกไป

ความโปร่งใสของรัฐบาลในระดับนี้หาได้ยากแม้แต่กับประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยอื่นๆ การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรูปแบบประชาธิปไตยดิจิทัลสร้างมติมหาชนในประเด็นต่างๆ และความโปร่งใสตรวจสอบรัฐบาลได้ส่งผลให้รัฐบาลก็เชื่อมั่นในประชาชนและประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล กลายมาเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการแก้ไขปัญหา COVID-19

เรียบเรียงจาก
The Role of Political Culture in Taiwan’s COVID-19 Success, The Diplomat, 25-01-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท