ทำไมเราต้องประท้วงการยึดอำนาจในพม่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภายหลังจากกองทัพพม่าทำการยึดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 อย่างสิ้นเชิงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาหลายประการสำหรับประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย อย่างเช่นข้อพิพาทระหว่างความคิดที่ว่าควรประท้วงหรือประณามการยึดอำนาจของกองทัพพม่า และความคิดที่ว่าเป็นเรื่่องของประเทศเขา เราไม่เกี่ยว สำหรับผมเห็นว่าถึงแม้จะเป็นการเมืองของต่างประเทศ แต่พม่าเป็นเพื่อนบ้านเรา ดังนั้นการทำรัฐประหารครั้งนี้ของทหารพม่าอันอาจนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่และความวุ่นวายทางการเมือง

นอกจากนี้การได้ทหารมามีอำนาจก็จะส่งผลถึงประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ และย่อมส่งผลกระทบถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกินอกจากนี้ที่สำคัญเราควรมีความคิดคำนึงถึงการปกครองของประเทศอื่นบ้างไม่ใช่แค่นึกถึงแต่ประเทศตัวเอง ดังความคิดของหลายคนที่ปากบอกว่านิยมประชาธิปไตยแต่ไม่ใส่ใจประเทศอื่น เป็นเรื่องจริงที่ว่าเราคงไม่สามารถโวยวายเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของฝ่ายเผด็จการอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในทุกประเทศบนโลก แต่สำหรับบางประเทศที่ไม่ไกลจากเราก็เป็นเรื่องต้องทำเพราะส่งผลถึงการสร้าง mentality โดยรวมของภูมิภาคอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) อันจะส่งผลต่อประชาธิปไตยรวมไปถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนของทุกประเทศในปัจจุบันและอนาคต ในขณะที่องค์กรสำคัญในภูมิภาคนี้อย่างอาเซียนนั้นดีแต่ใช้คำพูดจาอ่อนหวาน ร้องเพลงสรรเสริญประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนบ่อยครั้ง แต่ไม่กล้าใช้พลังขององค์กรในการกดดันประเทศที่นำพาประชาธิปไตยสู่ความถดถอยโดยข้ออ้างว่าไม่แทรกแซงการเมืองภายในขอประเทศสมาชิก ซึ่งถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาหลายปีก่อน บางทีการยึดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในปี 2014 อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรก็เป็นได้ เพราะครั้งนั้นมีแรงกดดันคือแค่ประเทศห่างไกลออกไปอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อียู (ซึ่งในที่สุดก็ยอมรัฐบาลของลุงในระดับหนึ่งเมื่อมีการเลือกตั้งแม้ว่าจะมีการโกงและไม่เป็นประชาธิปไตยแค่ไหนก็ตาม) 

การที่สมาคมเอเซียนและประเทศต่างๆ ไม่ประณามการยึดอำนาจในพม่า ก็ย่อมมีเหตุผลเพราะองค์กรต้องอาศัยเสียงของประเทศสมาชิกทุกประเทศในการลงมติต่างๆ และที่สำคัญรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นเกรงว่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความเสียหายต่อตัวเอง เพราะประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น มีคนบอกว่าที่ไทยทำเป็นเฉยๆ กับการยึดอำนาจในพม่าเพราะผู้นำเป็นเผด็จการคล้ายกัน ตรงนี้อาจไม่จริงเสมอไปเพราะถึงแม้เราจะมีรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย แต่ก็อาจวางท่าทีไม่ต่างกับรัฐบาลของลุงก็ได้ ดังเช่นที่เกิดมาแล้วในช่วงรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ นอกจากนี้การประณามนั้นอาจหันกลับมาหาประเทศผู้ประณามเองซึ่งมีลักษณะเป็นเผด็จการอยู่แล้ว จนดูกลายเป็นมือถือสาก ปากถือศีล ดังนั้นปรากฎการณ์ดังกล่าวจึงเป็นลูกโซ่ไปนั่นคือประเทศต่างๆ ในอาเซียนเป็นเผด็จการ จึงไม่กดดันกันเอง ก็เลยเป็นการส่งเสริมทางอ้อมให้ประเทศสมาชิกเป็นเผด็จการต่อไป หรืออาจจะ backslide หรือเลวร้ายกว่าเดิม อาเซียนจึงไม่อาจเทียบได้กับสหภาพแอฟริกา (African Union) ที่กดดันประเทศที่มีรัฐประหารจนได้ผลแล้ว มีเพียงแต่บางประเทศอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ส่งสารในเชิงรุกต่อการยึดอำนาจในพม่า แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงก่อให้เกิดข้อมูลอันน่าตกใจว่า 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9 ประเทศเป็นเผด็จการชัดเจน แม้จะในดีกรีและลักษณะอันแตกต่างกันดังนี้ 

พม่าเป็นเผด็จการทหาร 

ไทยเป็นเผด็จการทหารจำแลงผสมเผด็จการเชิงเครือข่าย (มีหลายกลุ่มอำนาจรวมกลุ่มกันปกครองประเทศภายใต้ฉากนอกคือประชาธิปไตย)

เวียดนามกับลาวเป็นเผด็จการพรรคการเมืองเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนสิงคโปร์เป็นเผด็จการพรรคเดียวคือพรรค PAP

กัมพูชาและฟิลิปปินส์เป็นเผด็จการบุคคล (ฮุนเซ็น และดู เตอเต้) และพรรคการเมืองเดียวในกรณีของกัมพูชา

มาเลเซียนั้นเคยเป็นเผด็จการพรรคการเมืองเดียว แต่เมื่อพรรคอัมโนต้องแพ้ให้กับการเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล และปัจจุบันนายกรัฐมนตรีคือ Muhyiddin Yassin ประกาศภาวะฉุกเฉินในการให้อำนาจแก่รัฐบาลด้วยข้ออ้างเรื่องโควิด -19 จึงเป็นการถดถอยของประชาธิปไตยอีกครั้ง

บรูไนเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช

ส่วนประเทศที่มีพัฒนาการทางประชาธิปไตยอย่างเช่นอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดก็ถูกโจมตีและประท้วงจากการมีนโยบายบางประกาศค่อนไปทางเผด็จการ มีเพียงติมอร์ เลสเต้ที่มีประชาธิปไตยอันน่าพอใจ แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ที่ยากจน

ถ้าจะให้ทำนายถึงแนวโน้มของประชาธิปไตยของภูมิภาคนี้ในอนาคตก็ถือว่าหม่นหมองเลยทีเลย ดังนั้นหากว่าเราหันมาหาประชาชนของแต่ละประเทศแทนรัฐซึ่งเป็นแกนหลักของสมาคมอาเซียน ให้มีการส่งเสียงดังๆ ก็ย่อมทดแทนความบกพร่องของอาเซียนและตัวรัฐบาลได้บ้างพอสมควร และอาจได้พันธมิตรเช่นรัฐสภาของแต่ประเทศและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐอื่นๆ อีก แม้ว่าในท้ายที่สุดแล้วจะถูกรัฐบาลของแต่ละประเทศพยายามปิดปากเพราะกลัวว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ามากๆ นอกจากจะทำให้รัฐบาลทหารพม่าไม่พอใจ ก็จะทำให้มีการตีแผ่ภาพอันไม่งามของตัวเองและอาจก่อให้เกิดกระแสคลื่นของการประท้วงในประเทศเพื่อนบ้านเป็นระลอกๆ ดังที่เกิดมาแล้วใน Arab Spring เมื่อปี 2011 กระนั้นมีความพยายามเสียบ้างก็ดีกว่าไม่มีเลย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท