ถ้าการเมืองดี จะไม่มีรัฐประหาร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มักมีคนบอกว่าถ้าการเมืองดี จะไม่มีรัฐประหาร ปัญหาก็คือนิยามของคำว่า 'การเมืองดี' นั้นมักถูกนิยามในเชิงอุดมคตินั้นเป็นอย่างไร จะด้วยอิทธิพลของแนวคิดพุทธศาสนาเช่นนักการเมืองเป็นคนดี ทำเพื่อบ้านเมือง ไม่แย่งอำนาจกันและไม่คอรัปชัน ฯลฯ การจะหารัฐที่มีการเมืองเช่นนั้นทุกประการจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

หากเราลองไปดูการเมืองทั่วโลก ล้วนแต่มีปัญหาเช่นการแย่งอำนาจกันในกลุ่มทางการเมืองและผลประโยชน์ทั้งนั้น อย่างเช่นประเทศในย่านสแกนดิเนเวียอย่างฟินแลนด์ นอร์เวย์ ที่มีระดับขั้นประชาธิปไตยสูงและโปร่งใส ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีก็มีการเล่นเกมการเมืองในรัฐสภาและเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีกันบ่อยครั้งไป

ส่วนการเมืองสหรัฐอเมริกากับยุโรปตะวันตกก็พบกับปัญหาและความบกพร่องดังกล่าวเสียยิ่งกว่า แม้แต่ประเทศเผด็จการในอุดมการณ์ของพวกอนุรักษ์นิยมหรือสลิ่มไทยอย่างจีนก็มีปัญหาในการแย่งชิงอำนาจเช่นกันอย่างเช่นพรรคคอมมิวนิสต์มีกลุ่มก๊วนภายในที่แย่งอำนาจกัน เพียงแต่ว่าการประชุมของพรรคปกปิดจากการรับรู้ของสาธารณชน คงมีแต่เปิดเผยให้เห็นการประชุมของสภาประชาชนแห่งชาติซึ่งไม่ดุเดือดเหมือนรัฐสภาเกาหลีใต้หรือหลายที่ซึ่ง สส.ทะเลาะเบาะแว้งกันถึงขั้นลงไม้ลงมือ เพราะสภาดังกล่าวของจีนเป็นแค่หุ่นเชิดของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้การเมืองจีนดูดีมีระเบียบวินัย 

สำหรับรัสเซีย ประเทศในอุดมคติหมายเลข 2 ของสลิ่ม วลาดิมีร์ ปูตินก็เป็นเผด็จการมาตั้งแต่ปี 1999 ในการสร้างอำนาจให้กับตัวเอง จนมาถึงปัจจุบัน ใช้อำนาจของตัวเองในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองดำรงอยู่ในตำแหน่งนานๆ ถึงกลับสลับตำแหน่งกับลูกน้องคือดมิตรี เม็ดเดเวฟขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนและตัวเองก็ไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีบทบาทในการเมืองนานๆ อันกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ว่านายกฯ มีอำนาจมากแฝงกว่าประธานาธิบดีเสียอีก และก่อนหน้านี้ปูตินก็ใช้อำนาจในการจัดการกับฝ่ายค้านและศัตรูทางการเมืองเสมอมา ส่วนเศรษฐกิจของรัสเซียก็เป็นแบบปรสิตนั้นคือความมั่งคั่งร่ำรวยกระจุกตัวอยู่กับพวกชนชั้นนำไม่กี่คนซึ่งอยู่รอบตัวปูตินเป็นต้น

แต่ว่าสื่อมวลชนของจีนและรัสเซียถูกผูกขาดโดยรัฐ จึงทำให้สลิ่มไทยมองไม่ค่อยเห็นการเมืองที่ไม่ดีของสองประเทศนี้เท่าไรนักในเรื่องเกมการเมืองและการทุจริตคอรัปชันจึงกลายเป็นภาพที่จะเอามาเปรียบเทียบในการสร้างนักการเมืองในอุดมคติของตัวเอง

ดังนั้นถ้าเอาอุดมคติดังกล่าวมาจับ ก็ไม่มีประเทศใดมีการเมืองดีสักประเทศ แต่ประเทศเหล่านั้นไม่มีปัญหาเรื่องรัฐประหาร เพราะประเทศประชาธิปไตยในสแกนดิเวีย สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก กองทัพมีความโปร่งใสและอยู่ใต้อำนาจของผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและการตรวจสอบจากรัฐสภา เช่นเดียวกับรัสเซียถึงกองทัพจะไม่โปร่งใส แต่ก็อยู่ใต้อำนาจอย่างแนบแน่นของประธานาธิบดีชนิดที่ว่าไม่มีใครกล้าทำรัฐประหารเพื่อยุติปูตินในเรื่องสงคราม แม้ทหารรัสเซียจะเสียชีวิตเป็นหมื่นๆ ก็ตามกับสงครามที่ดูไม่มีประโยชน์อะไรกับคนรัสเซียจริงๆ ส่วนจีนนั้นมีวิธีการให้พรรคคอมมิวนิสต์ปกครองกองทัพอย่างแนบแน่นเช่นกองทัพจีนคือกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนอันเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ นายพลระดับสูงก็เป็นสมาชิกของพรรค และท่านสียังมีวิธีสารพัดในการเข้าควบคุมกองทัพเช่นจัดตั้งคณะกรรมการในรูปแบบต่างๆ เกี่ยวกับความมั่นคงโดยตัวท่านสีจะเป็นประธาน

สำหรับการเมืองไทยมีความซับซ้อนกว่านั้น การปกครองของประยุทธ์ซึ่งมาจากการยึดอำนาจโดยกองทัพเมื่อวันที่ 22 พฤษาภาคมของเมื่อ 8 ปีที่แล้วห่างจากอุดมคติของ 'การเมืองดี'เป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลไม่ได้ทำการเมืองไทยให้ดีขึ้น ไม่มีการปฏิรูปใดๆ ทั้งสิ้น ตัวอย่างชัดเจนคือดัชนีความโปร่งใสของไทยตกอันดับลงกราวรูดในยุคของประยุทธ์ รวมไปถึงความไร้เอกภาพของพรรคการเมืองและเรื่องอื้อฉาวต่างๆ ของคนในรัฐบาล (ยกเว้นลุงเพราะแกไม่ยอมให้ตรวจสอบ) แต่กองทัพไม่ทำรัฐประหารสักที มีคนเสนอทฤษฎีว่าเพราะกองทัพเป็นหนึ่งในเครือข่ายอำนาจที่สนับสนุนประยุทธ์ตามแบบรัฐซ้อนรัฐหรือ deep state อันแตกต่างจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่ได้กล่าวมา และก่อนหน้านี้รัฐบาลค่ายทักษิณโดยเฉพาะยุคยิ่งลักษณ์แทบไม่มีอำนาจสั่งการกองทัพจึงถูกทำรัฐประหาร 

สิ่งนี้แสดงว่าคำว่า 'การเมืองดี' ไม่ใช่ตัวแปรหลักในการนำไปสู่รัฐประหาร แต่เป็นเรื่องของเกมอำนาจที่อยู่นอกเหนือจากระบอบประชาธิปไตยเสียมากกว่า ดังนั้นต่อให้รัฐบาลค่ายทักษิณ ปกครองประเทศจนได้ระดับขั้นประชาธิปไตยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกหรือไทยกลายเป็นประเทศโลกที่หนึ่งก็ถูกทำรัฐประหารอยู่ดี เพราะอย่างไรก็ต้องมีปัญหาไม่ว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยการเมืองรัฐสภาที่ต้องมีความขัดแย้งและการจัดสรรผลประโยชน์กันไม่ลงตัวเป็นเรื่องธรรมดา ถ้ากองทัพรวมถึงเครือข่ายทางอำนาจจะยึดอำนาจก็หาเรื่องมาขยายให้เล่นได้หมด ผ่านวาทกรรมที่ขยายโดยกลุ่มพันธมิตรและ กปปส.อย่างเรื่องคอรัปชันและเรื่องล้มเจ้า (ซึ่งข้อหลังนี้ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังยิ่งและน่าจะเป็นปัจจัยหลักเลย)

ในทางกลับกันถ้ารัฐบาลค่ายทักษิณคุมกองทัพและอยู่ร่วมโดยต่อรองผลประโยชน์กับเครือข่ายทางอำนาจได้ ต่อให้มีเรื่องทุจริตมากมายหรือแม้แต่เรื่องล้มเจ้าก็ถูกสื่อนำเสนอให้เบาลง (downplay) เหมือนที่รัฐบาลประยุทธ์ทำกับตัวเองมาตลอดเวลา รัฐบาลก็สามารถอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีรัฐประหาร แม้จะมีมวลชนออกมาประท้วงเป็นระยะๆ ก็ตาม

ตามทฤษฎีนี้ถ้าหากประยุทธ์สูญเสียอำนาจในการควบคุมหรือว่าไม่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทัพและเครือข่ายอำนาจต่างๆ รัฐบาลประยุทธ์อาจโดนทำรัฐประหารประมาณ 3 รอบมาแล้วเป็นอย่างน้อย (ยกเว้นว่าจะมีการที่ประยุทธ์สั่งทำรัฐประหารตัวเองหรือ self-coup ซึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกยาว)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท