อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์: การปกครองภายใต้ตาลีบัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เห็นมีนักวิชาการท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านรายการของสุทธิชัย หยุ่น และกล่าวสนับสนุนกลุ่มตาลีบันแล้วทำให้รู้สึกแปลกใจมาก เพราะเท่าที่ผมเห็นมาในโลกตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 การปฏิวัติ ยึดอำนาจด้วยใช้ความรุนแรงโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ค่อยนำไปสู่การปกครองที่ประชาชนมีความสุขเท่าไรนัก (และผมคิดว่าอาจารย์คนนั้นคงไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตย ด้วยจุดยืนและมุมมองที่ผ่านมาของเขาน่าจะโปรไปทางเผด็จการมากกว่า) ดังเช่นเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ก็คือคอมมิวนิสต์ที่ฝ่ายยึดอำนาจคือกองโจรฝ่ายซ้ายยึดอำนาจจากรัฐบาลขวาที่มักได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ตอนแรกอาจอ้างได้ว่าเป็นประชาธิปไตยสังคมนิยม ต่อมาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเช่น ผู้นำเกิดหลงใหลในอำนาจ หรือทางพรรคกลัวการลุกฮือของประชาชนซึ่งไม่พอใจชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงหรืออาจมีสายลับจากต่างชาติ ก็จะใช้วิธีเผด็จการมากขึ้น

ที่สำคัญคือสู่การใช้ความโหดเหี้ยมแบบสุ่ม (random terror) หรือการจัดการกับประชาชนโดยไม่เลือกหน้า อาจเป็นคนที่บริสุทธิ์ ขลาดกลัวคือพร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อเอาตัวเองรอดก็ได้ แต่เพราะรัฐบาลใหม่ถือคติว่า 'รู้หน้าไม่รู้ใจ' ด้วยไม่รู้ว่าใครกันที่เสแสร้งภักดีแต่อาจคิดขบถต่อตัวเอง วิธีการก็มีเช่นยัดเยียดข้อหาการต่อต้านการปฏิวัติให้อย่างเช่นเป็นพวกนายทุนเจ้าที่ดินเก่า หรือพวกปัญญาชนบนหอคอยงาช้าง อย่างเช่นตอนเขมรแดงเรืองอำนาจก็จะสั่งให้ชาวกัมพูชาไปเข้านารวมกันเป็นล้านๆ เพื่อไม่ให้สามารถรวมตัวกันต่อต้านตัวเองได้ และพยายามหาคนที่มีแนวโน้มจะบั่นทอนอำนาจตน เช่นหลอกให้ปัญญาชนแสดงตนโดยบอกว่าจะขอให้ช่วยกันพัฒนาชาติ เสร็จแล้วก็จับไปฆ่า วิธีการเหล่านี้จะมีพร้อมไปกับการ indoctrinate หรือการฝังหัวอุดมการณ์แบบสุดโต่งให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน 

นอกจากนี้ ยิ่งกองโจรทียึดอำนาจได้นั้นมีจำนวนไม่สมดุลกับประชากร และขาดความสามัคคี จึงหวาดระแวงไปหมดทุกอย่างแม้แต่พวกเดียวกันเอง ความโหดเหี้ยมเช่นนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการทำให้ประชากรเกิดความหวาดกลัว อย่างเช่นยุคสตาลินนั้นทั้งจับคนโซเวียตเข้าคุกและฆ่าชาวโซเวียตหลายสิบล้านหรือแม้แต่สหายร่วมปฏิวัติของสตาลินก็โดนกำจัดไปจนเกือบหมด ถ้าแกไม่ตายไปก่อนตอนปี 1953 ผู้ทีที่รับช่วงต่อจากแกอย่างเช่น นิกิต้า ครุสชอฟ ก็คงจะหายไปเสียก่อนคล้ายๆ กับเหมา เจ๋อตง ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อปี 1966 และเหตุการณ์นี้ก็ซ้ำกับในเกาหลีเหนือ คิวบา ลาว เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งการกวาดล้างอาจไม่รุนแรงหรือชัดเจนนักเพราะสื่อไม่ได้กล่าวถึงเท่ากับโซเวียตหรือจีน 

พวกตาลีบันไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่ก็เป็นพวกตีความศาสนาอิสลามแบบสุดโต่ง หรือ radical (หรือถ้าเลี่ยงภาษาของตะวันตกก็คือตามแบบของตัวเอง) คล้ายกับคอมมิวนิสต์ เมื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลของอัฟกานิสถานได้ ตาลีบันก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขมรแดงและพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ นั่นคือรู้สึกไม่มีความมั่นคงทางการเมือง จึงพยายาม consolidate หรือทำให้อำนาจของตัวเองอยู่ตัวหรือเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยการแสดงตนหรือโฆษณาชวนเชื่อว่าไม่สุดโต่งเท่ากับตัวเองเมื่อทศวรรษที่ 90 แต่พฤติกรรมหลายอย่างในสองทศวรรษที่ผ่านมาอันให้ตัวเองได้ชัยชนะในครั้งนี้คือการลอบสังหารข้าราชการระดับสูง (ที่อาจารย์ท่านนั้นไม่ได้กล่าวถึง) รวมถึงการข่มขู่ ละเมิดสิทธิประชาชนและการทำธุรกิจผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาคงไม่ได้ทำให้ชาวอัฟกันเชื่อเท่าไรนักเพราะเห็นว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เหมือน คสช.เมื่อหลายปีก่อน และอาจารย์ท่านนั้นก็พยายามนำเสนอแต่ภาพข้างนอกที่ตาลีบันบอก

นอกจากนี้ การพยายามทำให้ตัวเองของตัวตาลีบันดูมีอารยธรรมเช่นบอกว่าจะให้สิทธิสตรี หรือสิทธิเสรีภาพก็เหมือนตลกร้ายเพราะไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ เพราะนอกจากจะมีข่าวเกี่ยวกับการละเมิดสิ่งเหล่านี้แล้วตามมาเรื่อยๆ ตามจุดต่างๆ ของประเทศ การอ้างเหมือนจะบอกว่าป็นประชาธิปไตยตามแบบตัวเอง นั่นคือถูกปกครองโดยสภาและอาจมีผู้หญิงได้เข้าร่วมบ้างดังภาพที่มีคนเชียร์ตาลีบันบางคนเอามาลงในเพจของไทย แต่ก็ไม่มีวันที่ผู้หญิงเหล่านั้นจะมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย ก็คือพวกเธอก็เหมือนเอามาเป็นไม้ประดับ (แน่จริงต้องให้ผู้หญิงได้อยู่ในตำแหน่งสูงๆ หรือเป็นถึงหัวหน้าของตาลีบันสิ) และแม้เป็นความจริงว่าแม้ว่าในช่วงแรกผู้หญิงอาจได้เสรีภาพในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่าหากรัฐบาลของตาลีบันมีอำนาจอยู่ตัวหรือได้รับการยอมรับจากนานาชาติแล้วแล้วจะไล่พวกเขาออกจากที่ทำงานหรือมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนในตอนหลังหรือไม่ เพราะอุดมการณ์อันเคร่งครัดที่พวกเขาต้องรักษาเอาไว้ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งสร้างอำนาจให้ตัวเอง

ในทางกลับกัน อัฟกานิสถานตอนนี้มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง และน่าจะมีสงครามกลางเมืองที่เริ่มจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับตาลีบันอีกหลายกลุ่ม พวกเขาก็จะแสดงตัวเหมือนเขมรแดงเร็วขึ้นเพื่อไม่ให้ประชาชนให้การสนับสนุนฝ่ายตรงกันข้าม นั่นคือใช้ความรุนแรงแบบสุ่มดังที่ได้กล่าวมาเช่นการไปเคาะประตูบ้าน ตามหาคนที่ตาลีบันไม่ชอบ หรือ ปัญญาชนหรือคนมีการศึกษาที่เคยทำงานให้กับรัฐบาลเก่าหรือสหรัฐฯ ย่อมเป็นเหยื่อของตาลีบันเหมือนช่วงเขมรแดงนั้นเองเพราะพวกเขาถือว่าไม่สามารถเก็บพวกนี้ไว้ได้เพราะเป็นหอกข้างแคร่ จะล้างสมองก็ยาก

และจากการที่ประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงอัฟกันแสดงท่าทีหมดหวังและเกลียดกลัวตาลีบันมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งไม่ไว้ใจประชาชนมากเท่านั้น ความพยายามสร้างภาพว่าคนดีหรือ nice guy ก็จะสิ้นสุดลง พวกเขาก็จะเข้มงวดกับอุดมการณ์ของตัวเองมากขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมของตัวเองเหนือกลุ่มอำนาจอื่น ๆ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้หญิงก็ไม่เหลืออะไรแม้แต่จะดูหนังฟังเพลง ในประเด็นนี้หากพยายามซื่อสัตย์กับความเป็นจริงแล้ว แม้แต่คนชอบเผด็จการยังไม่ชอบเรื่องจำกัดสิทธิหยุมหยิมไร้สาระแบบนี้แม้จะอ้างหลักคำสอน เพราะประเทศมุสลิมเยอะแยะไปที่ให้พลเมืองดูหนังฟังเพลงได้ และจะรู้ได้อย่างไรว่าสมาชิกระดับสูงของตาลีบันอาจเหมือนผู้นำเกาหลีเหนือหรือจีนในยุคเหมาคือแอบดูหนังฮอลลีวู้ดหรือเต้นเพลงแดนซ์ในที่ลับตาก็ได้ วิธีการห้ามแบบไร้สาระเช่นนี้คือกลยุทธ์ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองจนถึงระดับร่างกายคล้ายกับเผด็จการเบ็ดเสร็จนั่นเอง

ดังนั้นตาลีบันอย่างไรจึงไม่อาจหลีกพ้นการเป็นเผด็จการค่อนไปทางเบ็ดเสร็จได้ไม่ช้าก็เร็วและเป็นประเทศที่ประชากรจะพยายามหลบหนีออกไปให้มากที่สุดประเทศหนึ่งแม้จะโดนรัฐบาลขัดขวางสักเท่าไร ตรงนี้จะว่าอัฟกานิสถานจะมีความมั่นคงในอนาคตดังที่อาจารย์ท่านนั้นยกย่องตาลีบันในช่วงหนึ่งของรายการคงไม่ถูกเท่าไรนักเพราะความมั่นคงยังหมายถึงการที่ประชากรมีความสุขและเสถียรภาพในชีวิตด้วย

สุดท้ายนี้ ผมเห็นว่าแม้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกล่าวประณาม ด่าทอสหรัฐฯ ที่เคยบุกอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อน เพราะสหรัฐฯ มีนโยบายแบบจักรวรรดินิยมและชั่วช้าจริง คือทำให้ชาวอัฟกันและชาวอิรักเสียชีวิตไปเป็นแสน ด้วย ประธานาธิบดีขณะนั้นคือจอร์จ ดับเบิลยู บุช อาจเลือกเจรจากับตาลีบันหรือใช้การไล่ล่า บิน ลาเดน แบบอื่นแทนสงครามได้ แต่ไม่ยอมทำก็เพื่อคะแนนเสียงของตัวเอง

แต่ความโหดร้ายของตาลีบันทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันก็คือความจริงเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีคนมาแก้ต่างว่าสื่อตะวันตกเป็นพวก Islamophobia หรือโรคเกลียดอิสลามจึงโจมตีตาลีบัน ซึ่งก็น่าจะเข้าข่ายบางส่วน แต่สื่อก็ไม่ได้โจมตีมุสลิม อื่นๆ อย่างในมาเลเซียหรืออินโดนีเซียเสมอไป แล้วทำไมชาวอัฟกันถึงเกลียดกลัวตาลีบันเหลือเกิน หรือว่าพวกเขารวมถึงชาวโลกถูกสื่อตะวันตกล้างสมอง? หรือว่าข่าวพวกเขาอพยพหนีไปประเทศอื่นเป็นเรื่องที่สื่อตะวันตกนำเสนอแบบเกินจริง?

จึงแล้วแต่เราเองที่จะพิจารณาความจริงเป็นกรณีไป ไม่ควรไปเหมารวมด้านใดด้านหนึ่งเป็นอันขาด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท