Skip to main content
sharethis

คิริน บริษัทเบียร์รายใหญ่ของญี่ปุ่นประกาศยุติความร่วมมือทางธุรกิจกับกลุ่มเบียร์พม่าที่ทหารถือหุ้น ด้านชาวเน็ตพม่าผุดแคมเปญแบนสินค้าและบริการจากนายทุนที่สนับสนุนรัฐประหาร

5 ก.พ. 2564 บริษัทคิรินโฮลดิงส์ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นประกาศถอนทุนออกจาก 2 บริษัทเบียร์พม่า โดยเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่ยุติความร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าอย่างเป็นทางการภายหลังการรัฐประการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และแถลงอย่างเป็นทางการว่า

“ใน พ.ศ. 2558 ประเทศเมียนมาอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย คิรินโฮลดิงส์จึงตัดสินใจลงทุนธุรกิจในประเทศเมียนมา เพราะเชื่อมั่นว่าธุรกิจของเราจะมีส่วนทำให้ประชาชนชาวพม่าและเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การกระทำของกองทัพพม่าละเมิดนโยบายสิทธิมนุษยชนและหลักการทำธุรกิจของบริษัท คิรินโฮลดิงส์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขอยุติการร่วมลงทุนในฐานะหุ้นส่วนของบริษัท เมียนมา อีโคโนมิก โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม MEHL และคิรินโฮลดิงส์จะดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อยุติการลงทุนร่วมกับ MEHL”

คิรินโฮลดิงส์เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในบริษัทเมียนมาบริวเวอรี และบริษัทมัณฑะเลย์บริวเวอรี ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของเมียนมาซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม MEHL ที่ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2533 โดยกระทรวงกลาโหมเมียนมา และมีกองทัพพม่า หรือทัตมาดอว์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ตัวแทนของคิรินโฮลดิงส์เผยกับหนังสือพิมพ์เดอะนิคเคอิว่า บริษัทแจ้งกับทาง MEHL เมื่อเช้าวันนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าต้องการยุติความร่วมมือทางธุรกิจ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ จาก MEHL

“ตอนนี้ เรายังไม่ได้นึกถึงขั้นถอนทุนออกจากเมียนมา เพราะถึงแม้จะถอนทุนออกจาก MEHL แต่เรายังมองหาความร่วมมือทางธุรกิจกับเอกชนรายอื่นในเมียนมา” ตัวแทนคิรินโฮลดิงส์กล่าว

แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า MEHL จะยินยอมให้คิรินโฮลดิงส์ยุติการร่วมลงทุนหรือไม่ แต่คิรินโฮลดิงส์เปิดเผยเพิ่มเติมว่าหากตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายแล้วคิรินโฮลดิงส์อาจถึงขั้นถอนทุกการลงทุนจากประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นการตัดสินใจในกรณีที่เลวร้ายที่สุด

เมียนมาบริวเวอรี หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า Myanmar Beer (เบียร์พม่า) เป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงในประเทศเมียนมา โดยในปี 2558 คิรินโฮลดิงส์ซื้อหุ้นในบริษัทนี้ทั้งหมด 55% เป็นจำนวนเงินกว่า 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี 2560 คิรินโฮลดิงส์โอนหุ้นที่ตนถือครองในเมียนมาบริวเวอรีจำนวน 4% ให้แก่กลุ่ม MEHL นอกจากนี้ คิรินโฮลดิงส์ยังถือหุ้นในบริษัทมัณฑะเลย์บริวเวรีอยู่ 51% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,300,000 ดอลลาร์สหรัฐ

คิรินโฮลดิงส์ เปิดเผยว่า ในปี 2562 เมียนมาบริวเวอรีมียอดขายทั้งหมด 316 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไรจากการประกอบธุรกิจอีกประมาณ 122 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 6.8% ของกำไรสุทธิของคิรินโฮลดิงส์

บริษัทต่างชาติรายอื่นที่เข้ามาลงทุนเมียนมาได้รับแรงกดดันจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนให้พิจารณาการทำธุรกิจภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลทหารพม่า โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวร้องขอให้คิรินโฮลดิงส์ยุติการลงทุนกับกองทัพพม่ามาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหารแล้ว

วิศวกรและพนักงานเหมืองทองแดงของบริษัท Myanmar Yangtze Copper Mine ประกาศหยุดงานต้านรัฐบาลทหาร

วิศวกรและพนักงานเหมืองทองแดงของบริษัท Myanmar Yangtze Copper Mine ประกาศหยุดงานต้านรัฐบาลทหาร

นอกจากนี้ ในวันนี้ วิศวกรและพนักงานเหมืองทองแดงของบริษัท Myanmar Yangtze Copper Mine (บริษัทร่วมทุนกับจีน) ประกาศหยุดงานต้านรัฐบาลทหาร ขณะเดียวกันสำนักข่าว Myanmar Labour News รายงานว่า สหพันธ์แรงงาน FGWM ที่มีสมาชิก 8,000 คน ลงมติหยุดงานต้านรัฐประหาร

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ก.พ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และจัดการนิคมอุตสาหกรรมสัญชาติไทย ประกาศระงับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมใกล้นครย่างกุ้งชั่วคราว เพราะกังวลผลกระทบจากการที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่า

สหพันธ์แรงงาน FGWM ลงมติหยุดงานต้านรัฐประหาร

สหพันธ์แรงงาน FGWM ลงมติหยุดงานต้านรัฐประหาร

ชาวพม่าประกาศแบนสินค้าที่สนับสนุนรัฐประหาร

อรรวี แตงมีแสง อดีตผู้สื่อข่าวสายอาเซียนรายงานว่า ประชาชนชาวพม่าเริ่มรณรงค์แบนสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนกองทัพพม่า ซึ่งการรณรงค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยกรณีล่าสุด คือ การแบนแอปพลิเคชันส่งอาหาร Food Panda เพราะแอปฯ ดังกล่าวจ้าง Aung La N Sang นักมวยชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งเขาแสดงตนว่าสนับสนุนกองทัพพม่า

Aung La N Sang นักมวย MMA (ศิลปะการต่อสู้แบบผสม) จากรัฐคะฉิ่น สังกัด ONE Championship เจ้าของฉายา “งูหลามพม่า (The Burmese Python)” ผู้เป็นที่รักของชาวพม่าและถูกยกย่องให้เป็นฮีโร่ของคนในชาติ เพราะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในระดับโลก

Aung La N Sang ถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังตอบคอมเมนต์แฟนคลับคนหนึ่งในอินสตาแกรมที่แสดงความรู้สึกเสียใจและผิดหวังกับท่าทีของเขามีที่ต่อการรัฐประหาร ซึ่งสวนทางกับคนดังคนอื่นๆ ทั้งยังเปรียบเทียบเขากับ รีฮานนา นักร้องชื่อดังจากสหรัฐฯ โดย Aung La N Sang เขียนคอมเมนต์ตอบกลับว่า “รีฮานนาพูดได้เพราะเธอไม่ได้จะกลับไปช่วยเมียนมาให้ดีขึ้น ผมนี่แหละที่ต้องกลับไปเมียนมา และเมียนมา ในฐานะประเทศ ยังไงก็ยังต้องมีกองทัพ ผมและครอบครัวเป็นคนคะฉิ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ ผมเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังเจอมากกว่าเป็นร้อยเท่า โปรดเข้าใจด้วย ถ้าผมล้มเลิก[การรัฐประหาร]ได้ ผมก็จะทำ”

นอกจากในกรณีของ Aung La N Sang แล้ว ชาวเน็ตพม่ายังเผยแพร่ รายชื่อคนดังที่ไม่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง และไม่สนับสนุนประชาชน ทั้งยังมีการเรียกร้องให้คนเลิกติดตาม บุคคลเหล่านี้ รวมถึงแบนสินค้าหรือบริการที่คนเหล่านี้เป็นพรีเซนเตอร์ โดยก่อนหน้านี้ ชาวพม่าประกาศแบนสินค้าและบริการจาก KMD Computer Group ซึ่งก่อตั้งโดย เทาก์ติง (Thaung Tin) หนึ่งใน กกต. ชุดปัจจุบันที่รัฐบาลทหารเพิ่งแต่งตั้ง และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง

ลงทุนในพม่าอาจเป็นผู้สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เมื่อ พ.ศ.2561 ผู้แทนองค์การสหประชาชาติซึ่งทำหน้าที่สอบสวนเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา รายงานว่า การทำธุรกิจกับ MEHL และ MEC ซึ่งเป็นบริษัทของกองทัพพม่า รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่กองทัพพม่าถือหุ้น ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้านกลุ่มฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch) กล่าวว่า ถึงจะรอนานแต่ท่าทีของคิรินโฮลดิงส์ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง และเรียกร้องให้ธุรกิจต่างชาติอื่นๆ ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาแสดงออกอย่างชัดเจน เร่งด่วน และโปร่งใส เช่นเดียวกับที่คิรินโฮลดิงส์ทำ เพราะกองทัพพม่า หรือทัตมาดอว์ เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในประเทศเมียนมา โดยกองทัพพม่าเป็นเจ้าของ ถือครองหุ้น และให้ความช่วยเหลือธุรกิจหลากหลายประเภท หากธุรกิจใดมีสายสัมพันธ์กับกองทัพพม่าอาจกลายเป็นผู้ให้การสนับสนุนการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เนื่องจากกองทัพพม่าถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรงฮิงญาและการคุกคามชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในประเทศเมียนมา อีกทั้งในตอนนี้ กองทัพพม่ายังก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนซึ่งชนะการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว และได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากประชาชนเกินกว่า 80%

ที่มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net