กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เข้าชักสินแร่ในเหมืองทอง จ.เลย ประเมินมูลค่ากองหินเตรียมขายทอดตลาด

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เข้าชักสินแร่ในเหมืองทอง จ.เลย ประเมินมูลค่ากองหินเตรียมขายทอดตลาด หลังกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ร้องเร่งตีตราทรัพย์สินในเหมืองทั้งหมดเพื่อขจัดต้นเหตุความรุนแรง

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เข้าชักสินแร่ในเหมืองทอง จ.เลย ประเมินมูลค่ากองหินเตรียมขายทอดตลาด

เมื่อวันที่ 4 -5 ก.พ. 2564 ที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย ราว 50 คน และทนายความ ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เหมืองทองคำ พร้อมกับตัวแทนจากสนง. อุตสาหกรรม จ.เลย, สนง.อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 จ. อุดรธานี และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เพื่อตรวจสอบกองหินที่อยู่บริเวณด้านหน้าประกอบโลหะกรรมภายในพื้นที่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ว่าเป็นสินแร่หรือไม่ และหากเป็นสินแร่ มีปริมาณมากน้อยเพียงใด มีมูลค่าเท่าใด และผู้ที่ซื้อได้ต้องชำระค่าภาคหลวงเท่าใด โดยผลการตรวจสอบจะถูกส่งต่อไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาดำเนินการต่อเพื่อประกาศขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ของบริษัททุ่งคำต่อไป ทั้งนี้ ยังมีตัวแทนเจ้าหนี้จากกรรมการเจ้าหนี้รายอื่นๆ คือ กพร. และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าร่วมการชักแร่ในครั้งนี้ด้วย

การเข้าตรวจสอบสินแร่ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ได้ขอให้กรมบังคับคดี และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)  เร่งดำเนินการตรวจสอบสินทรัพย์และสินแร่ทั้งหมดภายในเหมืองแร่ทองคำ เพื่อดำเนินการตีตราขึ้นทะเบียนทรัพย์สินเพื่อให้กรมบังคับคดีนำไปเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด เนื่องจากในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ในฐานะผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ให้เป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ เผชิญการข่มขู่คุกคามทั้งจากหลายกลุ่มที่ต้องการเข้ามาซื้อสินทรัพย์นอกบัญชีในเหมืองแร่ อาทิ เหตุการณ์ที่มีชายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่เข้ามาพร้อมกับกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ชาวบ้านได้รับข้อมูลว่าเป็นนายทหารจากค่ายนเรศวร จ.พิษณุโลก เข้ามาวนเวียนในหมู่บ้าน หรือ เหตุการณ์ที่มีชายไม่ทราบฝ่าย อ้างตัวว่าเป็นพ่อค้า และตำรวจ พยายามเข้ามาในบริเวณเหมืองทองคำ ทั้งๆ ที่มีเพียงเจ้าหนี้ และจนท.พิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่สามารถเข้าไปในเหมืองทองได้

นายทิตศาสตร์  สุดแสน ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนซึ่งเป็นทนายความของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าวถึงกระบวนการในการชักแร่ครั้งนี้ว่า ทางสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 2 จังหวัดอุดรฯ ได้เก็บตัวอย่างในกองสินแร่ไปตรวจ เพื่อนำไปตรวจสอบถึงปริมาณแร่ต่างๆ ในกองเพื่อประเมินมูลค่า และหลังจากนี้ จะมีการทำรังวัดกองหินดังกล่าว เพื่อคำนวณปริมาตรว่ามีจำนวนเท่าใด โดยตัวอย่างแร่ที่กพร. เก็บมาได้ในวันนี้ ยังได้ให้เจ้าหนี้ทั้งสามราย คือกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน สปก. และกพร. ได้เก็บไว้ด้วย และเมื่อประเมินมูลค่าได้แล้ว จะส่งข้อมูลไปยังกรมบังคับคดี เพื่อกำหนดเงื่อนไขการขายอีกครั้ง

นายทิตศาสตร์ยังกล่าวถึงความกังวลหลังจากที่ได้เข้าไปในเหมืองเพื่อตรวจดูสภาพอุปกรณ์และโรงงานภายในเหมืองแร่ด้วยว่า มีถังกวนแร่ใบใหญ่ในบริเวณเหมืองที่มีน้ำอยู่ข้างในและน่าจะมีสารหนูและไซยาไนด์ที่เกิดจากการกวนแร่ และหากฝนตก น้ำสารเคมีข้างในอาจจะล้นออกมาได้ ที่ผ่านมา หลังจากที่เหมืองหยุดกิจการ ถังดังกล่าวก็เริ่มรั่วแล้ว และชาวบ้านต้องแก้ปัญหาโดยเอาอุปกรณ์ต่างๆ ไปอุดเอง นอกจากนี้ ยังมีบ่อเก็บกากแร่ ที่เต็มไปด้วยสารหนูและไซยาไนด์ ซึ่งเมื่อปี 2557 ขณะที่เหมืองกำลังดำเนินการอยู่ บ่อนี้เกิดร้าวขึ้น ซึ่งส่งมลพิษปนเปื้อนลงในห้วยที่อยู่ติดกัน ตอนนั้นบริษัทก็ถูกปรับไปแล้วทีหนึ่ง ดังนั้น เมื่อปล่อยไว้นานๆ เช่นนี้ จำเป็นต้องมีคนเช็คว่าจะมีการแตกหรือไม่เพราะแตกไปแล้วรอบหนึ่ง

โดยทางกลุ่มและทนายได้เสนอให้กรมอุตสาหกรรม เข้ามาตรวจสภาพโรงงานดังกล่าวตอนรังวัดในครั้งต่อไป นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจน้ำก็จะดำเนินการตรวจคุณภาพในแหล่งน้ำว่ามีการปนเปื้อนอะไรหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 ได้มีการประกาศงดบริโภคหอยขม และชาวบ้านเองก็ยังไม่ได้ใช้น้ำอุปโภคบริโภคมามากกว่าสิบปีแล้ว จำเป็นต้องซื้อน้ำดื่มตลอด จะเห็นเลยว่าผลกระทบไม่ได้แค่ในบริเวณเหมือง แต่กระทบสิ่งแวดล้อมบริเวณนอกเหมืองอย่างชัดเจน เช่น แหล่งน้ำ แหล่งอาหารปูปลา

นางสาวพรทิพย์ วงคุยธ์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ. เลย กล่าวต่อการเข้าดำเนินการครั้งนี้ของกพร. ว่า ในฐานะผู้ร่วมชักแร่ ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการเจ้าหนี้ กล่าวถึงความรู้สึกว่า “จากกระบวนการดังกล่าวก็รู้สึกโอเค ตอนแรกก็กังวลว่าหน่วยงานเขาจะมีความเป็นธรรมไหม คิดไปหมดว่าถ้าไปตรวจแล้ว มันจะมีผลที่พอใจหรือไม่พอใจ แต่ก็อยากให้หน่วยงานเข้าพิสูจน์เพื่อให้เขาตีตราขึ้นทะเบียนเสร็จ เพราะคิดว่าเมื่อกองอยู่แบบนั้น ก็จะมีพ่อค้าเข้ามาวนเวียนวุ่นวาย จึงอยากทำให้ถูกต้องกระบวนการตามกฎหมาย”

“อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีทรัพย์สินและสินแร่กองอื่นๆ ที่ยังกังวล สำหรับจุดอื่นๆ ก็จะทำหนังสือถึงกรมบังคับคดีให้มาตีตราทรัพย์สินต่อไป และหากขึ้นทะเบียนทรัพย์สินหมดก็จะโล่งใจ เราจะได้ไปต่อเรื่องฟื้นฟูให้เต็มที่ได้ คิดอยู่ว่ากว่าจะปิดเหมืองนี่ยากอยู่แล้ว เรื่องฟื้นฟูนี่ยากกว่าเป็นมหากาพย์” พรทิพย์ กล่าว  

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 และ 19 มกราคมที่ผ่านมา ทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ยังได้จับตาการขนสินแร่ของ "ไขนภาสตีล" บริษัทเอกชนที่ประมูลสินแร่ได้จำนวน 190 ถุง โดยมีทั้งชาวบ้าน และหน่วยงานหลายส่วนเข้ามาเป็นประจักษ์พยาน ทั้งอุตสาหกรรมจังหวัดเลย กรมบังคับคดี สปก. และนายอำเภอ เข้ามาติดตามการขนแร่ นอกจากนี้ ยังมี “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ดารานักแสดงและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมาร่วมให้กำลังใจกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านด้วย

ทั้งนี้เมื่อ 13 ธันวาคม 2561 ศาลจังหวัดเลย สั่งบริษัททุ่งคำ จำกัด ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกเหมือง โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนกว่าสิ่งแวดล้อมจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานราชการ และเยียวยาค่าเสียหายผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดครอบครัวละ 104,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำนวน 149 ครอบครัว และในการจัดทำแผนฟื้นฟูให้โจทก์คือชาวบ้าน 165 ราย เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

แต่เนื่องจากบริษัททุ่งคำ ถูกศาลสั่งพิพากษาให้ล้มละลาย จึงต้องนำทรัพย์สินที่เหลือมาขายทอดตลาดเพื่อนำมาเยียวยาชาวบ้าน โดยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จัดการขายทอดตลาดสินแร่ ที่บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็คจำนวน 190 ถุง ได้นัดขายทอดตลาดสินแร่ นัดที่ 3 โดยบริษัท "ไขนภาสตีล" ประมูลสินแร่ได้ในราคา 8,240,000 บาท โดยไม่มีคู่แข่ง

การต่อสู้ที่ผ่านมาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต้องเผชิญความรุนแรงและการถูกคุกคามมาโดยตลอด ที่รุนแรงที่สุดคือ เมื่อคืนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นักปกป้องสิทธิฯ ถูกชายฉกรรจ์หลายร้อยคน เข้ามาทำร้ายนักปกป้องสิทธิฯ ถึงในบริเวณชุมชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสหลายสิบราย และสมาชิกกลุ่มยังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอีกถึง 27 คดี ทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงเกิดความห่วงกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำขึ้นอีก และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ยังมีเหตุการณ์ที่ลูกจ้างฝ่ายความมั่นคงของอำเภอวังสะพุง นายธนกฤต อันทะระ ใช้พฤติกรรมข่มขู่สร้างความหวาดกลัวในบริเวณที่ชาวบ้านเฝ้าเวรยามบริเวณหน้าทางเข้าเหมือง โดยยิงปืนข่มขู่ และมีพฤติกรรมเมาสุรา ใช้วาจาคุกคาม ต่อสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด  และเยาวชนนักศึกษา กลุ่ม UNME of Anarchy ซึ่งเข้ามาสนับสนุนด้านการดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้านในขณะนั้น

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีชายหัวเกรียนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เลย คุกคามนักปกป้องสิทธิฯกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านจังหวัดเลยและองค์กรสิทธิมนุษยชน แอบตามถ่ายรูปเรียงตัวพร้อมตามถ่ายคลิปทะเบียนรถ ขณะที่ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯรุดลงบันทึกประจำวัน ระบุรู้สึกถูกคุกคามและไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต พร้อมเรียกร้องผู้การเมืองเลย และผบ.ตร.แจงข้อเท็จจริง หากเป็นตำรวจจริงต้องแถลงการณ์ขอโทษและต้องรับปากว่าจะไม่คุกคามประชาชนทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท