Skip to main content
sharethis
  • 30 มิ.ย. 2563 รัฐบาลฮ่องกงประกาศบังคับใช้ ‘กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง’ ออกโดยสภาประชาชนชนแห่งชาติ (NPCSC) ซึ่งขัดต่อหลักการปกครอง 1 ประเทศ 2 ระบบที่รัฐบาลจีนเคยให้คำมั่นไว้ ซึ่งระบุว่ากฎหมายทุกฉบับที่บังคับใช้ในฮ่องกงต้องออกโดยสภานิติบัญญัติฮ่องกง
  • กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง ระบุว่า การกระทำใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง ก่อการกบฎ และสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ ถือว่าละเมิดต่อกฎหมายความมั่นคงของประเทศ
  • ห้ามประชาชนแสดงความเกลียดชังต่อรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
  • เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดักฟังโทรศัพท์และจับกุมประชาชนโดยใช้หลักฐานจากกล้องวงจรปิดได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล
  • ทันทีที่กฎหมายบังคับใช้ สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่สนับสนุนประชาธิปไตยจำนวน 4 คนถูกปลดจากตำแหน่ง
  • ประชาชนชาวฮ่องกงถูกจับกุมข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นทั้งหมด 97 คน (ข้อมูลวันที่ 2 ก.พ. 2564)
  • ประชาชนชาวฮ่องกงกังวลว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยเดียวกับ “ความน่าสะพรึงสีขาว (White Terror)” หรือการบังคับสูญหายชาวไต้หวันนับหมื่นคน หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 28 ก.พ. พ.ศ.2490

เมื่อ 3 ปีก่อน แอนโทนี บูร์เดน เชฟและพิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวอเมริกัน สัมภาษณ์วงดนตรีโพสต์พังก์ (Post-punk) วงหนึ่งในฮ่องกง หนึ่งในสมาชิกของวงพูดด้วยความกังวลว่าเสรีภาพในฮ่องกงกำลังหายไปพร้อมๆ กับสถานที่แสดงดนตรี แต่อย่างน้อยๆ พวกเขาก็ยังมีอิสระในการพูดและการเล่นดนตรีตามที่ใจหวัง แต่ช่วงกลางปีที่แล้ว โรคระบาดโควิด-19 ทำให้การแสดงดนตรีและงานรื่นเริงต่างๆ ในฮ่องกงต้องยุติลงชั่วคราว อีกทั้งเมื่อรัฐบาลกลางของจีนประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศของเสรีภาพในการแสดงออกของชาวฮ่องกงหายไป คำปราศรัยของผู้ชุมนุมและเพลงชาติฮ่องกงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ส่วนผู้ชุมนุมหลายคนถูกจับกุมในข้อหาถือกระดาษเปล่า

กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีนที่บังคับใช้ในฮ่องกง ระบุว่า “การกระทำใดๆ ที่บ่งชี้ถึงการแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง ก่อการกบฎ และสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ ถือว่าละเมิดต่อกฎหมายความมั่นคงของประเทศ” ทั้งยังห้ามประชาชนแสดงออกถึงความเกลียดชังต่อรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นฮ่องกง รวมถึงอนุญาตให้รัฐบาลกลางสามารถตั้งสำนักงานความมั่นคงในฮ่องกง ซึ่งอยู่นอกเหนือข้อตกลงการปกครองแบบ 1 ประเทศ 2 ระบบ นอกจากนี้ กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ยังขยายขอบเขตอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐให้สามารถดักฟังโทรศัพท์และออกหมายจับจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล

แม้ว่ารัฐบาลจีนเคยบอกว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ไม่ได้มุ่งเป้ากวาดล้างประชาชนที่เห็นต่าง แต่ Yuen Chan วิทยากรอาวุโสแห่งภาควิชาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า เธอเห็นเพื่อนและคนรู้จักในฮ่องกงหลายคนเลิกใช้ WhatsApp พูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป ตั้งแต่ก่อนที่กฎหมายนี้จะบังคับใช้ และยิ่งใกล้ถึงกำหนดวันที่กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ เพื่อนๆ ในกลุ่มแชทหลายกลุ่มก็ยิ่งลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ

พื้นที่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่างในฮ่องกงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา 7 เดือนหลังจากนั้น ในช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ตำรวจแถลงว่ามีประชาชนทั้งหมด  97 คนถูกจับข้อหาทำผิดกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ และดูเหมือนว่าจำนวนคนถูกจับจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้บัญชาการกรมตำรวจฮ่องกงปฏิเสธว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่ “ความน่าสะพรึงสีขาว (White Terror)” หรือการบังคับสูญหายชาวไต้หวันนับหมื่นคน หลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 28 ก.พ.2490 หรือเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านการบริหารงานและการใช้อำนาจโดยมิชอบของประธานาธิบดีเจียงไคเช็คจากพรรคก๊กมินตั๋ง โดยในวันนั้นรัฐบาลของเจียงไคเช็คปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,000-28,000 คน

ถึงแม้ตำรวจฮ่องกงจะยืนกรานปฏิเสธอย่างไร แต่ชาวฮ่องกงต่างพากันกลัวว่าคำพูดของพวกเขาจะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาสักวัน ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่ พ.ศ.2562 ชาวฮ่องกงจึงนิยมพูดคุยประเด็นการเมืองและสังคมผ่านแอปพลิเคชันส่งข้อความแบบเข้ารหัสลับและใช้ VPN เพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบจากรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวฮ่องกงจะหาหนทางแสดงออกทางความคิดโดยไม่ขัดกับกฎหมายความมั่นคงของรัฐ แต่การกระทำของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ทำให้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของชาวฮ่องกงลดลงมากยิ่งขึ้น

เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงออกกฎหมายบังคับให้ประชาชนชาวฮ่องกงกรอกชื่อจริง วันเดือนปีเกิด และแสดงเอกสารยืนยันตัวตน เพื่อลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือก่อนเปิดใช้งาน นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังบังคับให้ชาวฮ่องกงเปิดใช้ซิมการ์ดได้มากสุดเพียง 3 หมายเลข โดยรัฐบาลฮ่องกงให้เหตุผลว่ากฎหมายนี้สอดคล้องกับนโยบายของจีนแผ่นดินใหญ่ และช่วยป้องกันอาชญากรรม แต่ชาวฮ่องกงหลายคนนิยมใช้ซิมการ์ดแบบเดิมซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน โดยเฉพาะนักกิจกรรม เพราะไม่ต้องการให้รัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว

สัปดาห์ต่อมา แคร์รี หลัม ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกงประกาศมาตรการเข้มงวดเพื่อเอาผิดบุคคลที่ละเมิดกฎหมายดังกล่าว เพราะรัฐบาลฮ่องกงต้องต่อสู้กับข่าวปลอมและป้องกันการแฮ็คข้อมูลซึ่งนำมาสู่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยหนึ่งในมาตรการเข้มงวดที่แคร์รี หลัมประกาศ คือ เพิ่มความเข้มงวดในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ เช่น ป้ายทะเบียนรถ ข้อมูลการทำธุรกรรม ข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผู้สื่อข่าวใช้เพื่อสำรวจความสนใจของสาธารณชน แต่ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการผู้ดูแลนโยบายความเป็นส่วนตัวก็ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้ เพราะมีอำนาจมากขึ้นในการสั่งปิดเว็บไซต์หรือระงับเนื้อหาที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

แม้ว่าแคร์รีหลัมจะยืนยันว่ากฎหมายความมั่นคงนั้นเป็นประโยชน์ต่อชาวฮ่องกง แต่กลายเป็นว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงจำนวน 4 คนต้องพ้นสภาพจากการทำหน้าที่ในความผิด ‘ประพฤติตนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งรัฐ’ เป็นเหตุให้สมาชิกสภานิติบัญญัติอีกหลายสิบคนลาออกตาม เพื่อประท้วงการทำงานของแคร์รี หลัม

เหตุการณ์เหล่านี้สั่นคลอนความเชื่อที่ว่า ‘เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสาร คือ อัตลักษณ์ของฮ่องกงที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ของจีน’ เพราะเสรีภาพด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คือ สิ่งที่แยกอัตลักษณ์ของชาวฮ่องกงออกจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่อย่างชัดเจน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวฮ่องกงจึงรู้สึกภาคภูมิใจในเสรีภาพนี้ พอๆ กับรูปแบบการปกครอง สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตน

ข้อกำหนดการใช้อินเทอร์เน็ตที่เข้มงวดในฮ่องกงเป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในฮ่องกงปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่สนับสนุนประชาธิปไตย โดยอ้างว่าเป็นไปตามหลักกฎหมายความมั่นคง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของฮ่องกงทำเช่นนี้ นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังบังคับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องลบเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงรัฐออกจากเว็บไซต์อีกด้วย

หนึ่งในเว็บไซต์ที่ถูกทางการฮ่องกงสั่งปิดกั้นการเข้าถึง คือ HKChronicles.com ซึ่งเก็บรวบรวมเอกสาร รูปภาพ วิดีโอ และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประท้วงใน พ.ศ.2562 รวมถึงเผยแพร่รูปภาพและข้อมูลส่วนตัวของตำรวจฮ่องกงที่ทำร้ายประชาชน ในขณะที่เว็บไซต์ของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลซึ่งนำข้อมูลส่วนตัวของประชาชนและผู้สื่อข่าวที่สนับสนุนประชาธิปไตยมาเผยแพร่กลับไม่ถูกสั่งปิดแต่อย่างใด

Lokman Tsui ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะสื่อสารมวลชนและวารสารศาสตร์ จาก Chinese University of Hong Kong (CUHK) บอกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับมาตรการของแคร์รี หลัม ที่นำกฎหมายความมั่นคงมาใช้ปิดกั้นเสรีภาพบนโลกออนไลน์ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคล

“นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเลย มันคือเรื่องของความเป็นส่วนตัวของประชาชน การใช้กฎหมายนี้ในบริบทนี้เพื่อปิดกั้นและเซ็นเซอร์เนื้อหาบนเว็บไซต์นั้นไม่เหมาะสม” เขากล่าว

Tsui แสดงความกังวลเรื่องสถานการณ์เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในฮ่องกงว่า “กฎหมายความมั่นคงถูกใช้อย่างผิดๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อปิดปากคนเห็นต่าง และที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือ กฎหมายนี้เริ่มถูกใช้เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน”

สถานการณ์นี้เปรียบได้เป็นดั่งลมพายุที่พัดโจมตีเสรีภาพบนเกาะฮ่องกง Chris Yeung ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวฮ่องกง เผยว่า เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต เสรีภาพสื่อ และความเป็นอิสระของศาล คือ บททดสอบสุดท้ายว่าความเป็นฮ่องกงจะอยู่รอดหรือไม่

การโจมตีเสรีภาพสื่อในฮ่องกงดำเนินไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ประกาศใช้ สื่อในฮ่องกงหลายเจ้าเริ่มเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น ส่วนแหล่งข่าวหลายแห่งก็ยุติความเคลื่อนไหว เดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดหน่วยความมั่นคงบุกตรวจค้นสำนักข่าว 4 แห่งในฮ่อง และสั่งให้สำนักข่าวเหล่านั้นส่งมอบอุปกรณ์ปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่าไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวในฮ่องกงรายงานว่าตำรวจบุกค้นหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงเมื่อปีที่แล้ว โดยผู้ลงสมัครเลือกตั้ง 53 คน และนักกิจกรรมอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนั้นถูกจับข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงในวันเดียวกัน

“ในอดีต ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น สื่อมวลชนต้องไปขอคำตัดสินจากศาลว่าการกระทำของตำรวจถูกต้องหรือไม่ และสามารถขอให้ศาลสั่งเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมได้ แต่พอมีกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ก็ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว สื่อไม่มีทางเลือกนอกจากยอมปฏิบัติตาม ไม่มีโอกาสให้ถามหรืออุทธรณ์ใดๆ ห้ามตรวจสอบ ไม่มีความสมดุลทางอำนาจ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น แต่เราไม่เห็นวี่แววของวิจารณญาณใดๆ” Yeung กล่าว

เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าความก้าวหน้าด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของชาวฮ่องกงนั้นน่ากังวลมาก ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าฮ่องกงกำลังกลายเป็นเมืองที่ไร้ความน่าจดจำ Yeung กล่าวทิ้งท้ายว่า “แต่เชื่อเถอะว่าจุดตกต่ำที่สุดของเสรีภาพอันเป็นที่รักยิ่งของชาวฮ่องกงยังมาไม่ถึง”

ที่มา : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net