คุยกับ ‘ซาแซงประชารัฐ’ แอคฯใหญ่ทวิตการเมืองสุดแซ่บ พ.ศ. นี้

รายงานสัมภาษณ์ เกด แอดมิน 'ซาแซงประชารัฐ' แอคเคานต์การเมืองเจ้าของแฮชแท็กดังบนจักรวาลทวิตเตอร์ไทย ผู้ติดโผบัญชีที่ถูกกองทัพจับตา พร้อมประเมินข้อดี-ข้อเสียของทวิตเตอร์ รวมทั้งพลังของมันในรอบปีที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต

  • ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าโซเชียลมีเดียอื่นๆ
  • ผู้ให้กำเนิดแฮชแท็ก #ปารีณาค้าอาวุธ และแฮชแท็กการเมืองยอดนิยมบนทวิตเตอร์
  • ในรอบปีที่ผ่านมา พลังของทวิตเตอร์สร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมได้ 7 เต็ม 10 เพราะคนสามารถถกประเด็นอ่อนไหวได้มากกว่าในอดีต และออกมาเคลื่อนไหวในโลกแห่งความเป็นจริง

ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จำนวนไม่น้อยกลายเป็นดาวเด่นบนแพลตฟอร์ม ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า 'แอคฯ ใหญ่' ซึ่งหมายถึงแอคเคานต์ที่มีคนติดตามจำนวนมาก และสร้างแรงสั่นสะเทือนบนสังคมทวิตเตอร์ได้

หากผู้อ่านใช้ทวิตเตอร์ที่พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองอยู่บ่อยๆ คงคุ้นชื่อหรือเคยเห็นทวีตของแอคเคานต์ 'ซาแซงประชารัฐ' (@PPRP_Unofficial) หนึ่งในแอคเคานต์ดาวเด่นด้านการเมืองที่น่าจับตามองที่สุดในปี 2563 ผู้สร้างกระแสแฮชแท็กยอดฮิตด้านการเมืองหลายแฮชแท็กจนบางเรื่องกลายเป็นประเด็นในรัฐสภา ประชาไทจึงชวน เกด แอดมินประจำแอคเคานต์ 'ซาแซงประชารัฐ' มาพูดคุยถึงมุมมองด้านการเมืองและตัวตนบนโลกทวิตเตอร์

 

 

จุดเริ่มต้นในการพูดเรื่องการเมืองผ่านทวิตเตอร์

"ก่อนที่จะมาเปิดแอคฯ พูดเรื่องการเมืองแบบนี้ เมื่อก่อนก็ใช้แอคฯ จริงในการโต้ตอบหรือบอกกล่าวเรื่องราวการเมือง แต่การใช้แอคฯ จริงก็เป็นอันตรายกับเราอย่างหนึ่งตรงที่ถ้าหากเราทวีตอะไรที่มันจริงจนไปเตะตาฝั่งสนับสนุนรัฐบาลขึ้นมา เราก็จะเสี่ยงจากการเป็นเป้าถูกตามล่าและแขวนประจานสูงมาก ตอนนั้นจำได้ว่ามีแอคฯ หนึ่งที่แสดงออกชัดว่าสนับสนุนรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเมนชั่นพูดคุยกับเราด้วยถ้อยคำหยาบคาย และยังตามคุกคามในทวีตอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเมือง จุดนี้เลยทำให้เราชั่งน้ำหนักว่า เราควรจะเปิดแอคฯ หลุมดีไหม"

"สุดท้ายเราก็เปิดแอคฯ นี้ขึ้นมาโดยตอนแรกใช้ชื่อว่า 'จับโป๊ะพลังประชารัฐ' เป็นพื้นที่สำหรับการรวบรวมข้อมูลหลักฐานการทุจริตในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2562 โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีเบาะแสเยอะมากไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งคลิปวิดีโอและภาพนิ่ง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นพลังของชาวโซเชียลแข็งแรงมากๆ ในการทำหน้าที่เฝ้าระวังการทุจริต รวมไปถึงการแสดงออกเพื่อเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง จำได้ว่าตอนเปิดแอคฯ มาใหม่ๆ คนติดตามครบ 1,000 คนในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ และก็ค่อยๆ เพิ่มมาจนเกือบแตะ 5,000 คนในช่วงวันเลือกตั้ง แล้วก็มีการเปลี่ยนชื่อมาเรื่อยๆ เป็น 'พรรคพลังพวงหรีด' ในช่วงที่พรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนโลโก้จากหกเหลี่ยมเป็นวงกลม แล้วก็เปลี่ยนมาป็น 'ซาแซงประชารัฐ' ในปัจจุบัน เพราะที่ทราบมา บางคนไม่กล้ากดฟอลเพราะชื่อดูอัปมงคลไปหน่อย (หัวเราะ)"

คลุกคลีกับทวิตเตอร์มานานกว่า 10 ปี

"จำได้ว่าเมื่อก่อนทวิตเตอร์จะค่อนข้างเป็นสังคมของกลุ่มคนชนชั้นกลางที่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งยุคนั้นอินเทอร์เน็ตเข้าถึงยากกว่าตอนนี้มาก ด้วยปัจจัยทางด้านราคาและความเร็ว เนื้อหาหลักๆ ก็จะเป็นข่าวสารและไลฟ์สไตล์ ก่อนจะค่อยๆ มีวัยรุ่นเข้ามาจากกระแสการติดแฮชแท็กของซีรีส์และละครต่างๆ แล้วก็เริ่มเข้าสู่ยุคของการสื่อสารประเด็นสังคมและการเมืองอย่างเช่นในปัจจุบัน"

ข้อดี-ข้อเสียของทวิตเตอร์ เปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ

"ส่วนตัวมองว่าทวิตเตอร์มีข้อดีตรงที่มันเป็นสังคมที่เปิดกว้าง แม้ไม่ได้กดติดตามกันก็สามารถเข้าถึงและแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจได้ ซึ่งแตกต่างจากเฟซบุ๊กที่มีลักษณะเป็นสังคมที่เรากำหนดได้ตามที่ต้องการว่าอยากจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร ฉะนั้นการกระจายข่าวในทวิตเตอร์จึงเข้าถึงผู้คนได้กว้างกว่าเฟซบุ๊ก"

"แต่ทวิตเตอร์ก็มีข้อเสียอย่างหนึ่งตรงที่ว่า บางเนื้อหาที่ต้องใช้การสื่อสารที่ค่อนข้างยาว อาจจะไม่เอื้ออำนวยมากนักเนื่องจากการจำกัดตัวอักษรเพียง 280 ตัว และจำกัดเวลาอัปโหลดวิดีโอเพียง 140 วินาที ทำให้หลายครั้งที่จำเป็นต้องปรับเนื้อหาบางส่วนให้กระชับลง แต่ใจความยังคงต้องเหมือนเดิมมากที่สุด"

ผู้คิดค้นแฮชแท็กดังในทวิตเตอร์

เกด บอกว่า แฮชแท็กการเมืองในทวิตเตอร์ที่ได้รับความสนใจหลายแฮชแท็กมีที่มาจากแอคเคานต์ 'ซาแซงประชารัฐ' เพราะแฮชแท็กเป็นสื่อกลางที่ผู้เล่นทวิตเตอร์ใช้กระจายและส่งต่อข้อมูลในวงกว้าง จึงน่าจะเป็นเครื่องที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ได้ดี

"ต้องเล่าว่ามีเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากกรณีเลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่ เขต 8 ที่ทำให้ จิตภัสร์ กฤดากร หรือตั๊น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กับ วทันยา วงษ์โอภาสี หรือเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ทั้งสองคนได้เข้ามาในสภาด้วยอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ตอนนั้นก็เลยคิดแฮชแท็ก #ตั๊นพันเจ็ด ซึ่งมีที่มาจากคะแนนเลือกตั้งซ่อมของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ไปเพียง 1,738 คะแนน และก็แฮชแท็ก #เดียร์เมียสื่อ ซึ่งมาจากการที่คุณเดียร์เป็นคู่สมรสของคุณฉาย บุนนาค ประธานบริหารเครือเนชั่น ซึ่งมีฟรีทีวี หนังสือพิมพ์อยู่ในมือจำนวนมาก แต่กลับไม่โดนเพ่งเล็งกรณีครอบครองสื่อ เหมือนคุณธนาธร ซึ่งสื่อของคุณธนาธรก็ไม่ได้ตีพิมพ์หลังจากลงสมัครเลือกตั้งด้วยซ้ำ แต่กลับโดนตัดสิทธิ์ ส.ส.ไปอย่างน่าเสียดาย"

นอกจากนี้ เกด ยังเผยว่า #ปารีณาค้าอาวุธ ก็เกิดขึ้นจากแอคเคาต์ 'ซาแซงประชารัฐ' เช่นกัน

"จำได้แม่นเลย ฉันนี่แหละที่เป็นคนตัดสายสะดือแจ้งเกิดปารีณา ส.ส.ราชบุรีพรรคพลังประชารัฐด้วยแฮชแท็ก #ปารีณาค้าอาวุธ (ยิ้ม)"

"เวลาประชุมสภาจะมี ส.ส. ที่ชื่อ ปารีณา ไกรคุปต์ ออกมาประท้วง ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ เราเลยลองเอาชื่อไปค้นหาในกูเกิลก็พบว่าแต่ละข่าวที่เกี่ยวกับปารีณาคือสุดๆ ไปเลย ก็เลยเกิดแฮชแท็ก #ปารีณาค้าอาวุธ ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดที่ชัด คม จดจำง่าย และสัมผัสคล้องจองกัน จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของนักสืบทวิตเตอร์ไปขุดคุ้ยกันต่อ"

ชีวิตหลังจากทวีตเรื่องการเมือง

"พูดตรงๆ ว่าแทบไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ยังใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาทั่วไป แต่ก็ระวังตัวพอสมควรกับการแสดงตัวตนว่าเราเป็นใคร เพราะเราเองก็กังวลในสิ่งที่จะตามมาจากอำนาจมืด ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน หรือความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน พูดตรงๆ มีน้อยคนมากๆ ที่จะรู้ว่าตัวตนเราจริงๆ เป็นใคร เพราะขนาดโปรไฟล์ที่เราบอกในทวิตเตอร์ ก็ใช่ว่าจะเป็นตัวตนของเราจริงๆ (หัวเราะ)"

พลังของทวิตเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมา

เกด มองว่าพลังของทวิตเตอร์สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้ในหลายมิติ ประเด็นหลายอย่างไม่ได้ถูกพูดถึงแค่ในโลกออนไลน์แล้วหายไป แต่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ซึ่งเป็นประชาชนในโลกแห่งความเป็นจริงต่างร่วมมือกันเพื่อผลักดันแนวคิดในโลกออนไลน์ให้ออกมาเป็นรูปธรรมในชีวิตจริง

"ถ้ามองพลังของทวิตเตอร์ในปี 2563 เราว่าสิ่งหนึ่งที่ส่งผลต่อสังคม คือ การแสดงจุดยืนของกลุ่มคนต่างขั้วที่ชัดเจนและมีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้นขึ้น การยุบพรรคอนาคตใหม่คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์หลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการที่กองทัพใช้ปฏิบัติการ IO เพื่อด้อยค่าและลดทอนการเคลื่อนไหวของฝั่งตรงข้าม ถึงแม้ทางกองทัพจะออกมาปฏิเสธทุกครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันชวนให้อดสงสัยไม่ได้และเกิดเหตุการณ์โป๊ะแตกอยู่หลายครั้งหลายครา หรือจะเป็นการแสดงออกของกลุ่มคนที่นิยมชมชอบรัฐบาลชุดนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผใด ที่ช่วงหลังมักพบเห็นการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปกป้องการทำงานของรัฐบาลเสมือนเป็นเนื้อเดียวกันจนอดชวนคิดไม่ได้ ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร ที่มีทัศนคติต่อสถาบันกษัตริย์ในเชิงว่า 'ฉันไม่อินแล้วนะ' 'ฉันควรวิจารณ์ได้สิ' 'ฉันควรมีสิทธิ์ที่จะรักหรือไม่รัก' เหมือนเวลานี้คนรุ่นใหม่มองสถาบันเสมือนศิลปินหรือคนดังในสังคมที่เป็นบุคคลสาธารณะ ต้องยอมรับในคำวิจารณ์ได้ไม่ว่าจะทางบวกหรือลบ แต่ถ้าหากคำวิจารณ์นั้นส่งผลกระทบทำให้เดือดร้อน ก็ควรจะออกมาดำเนินคดีฟ้องร้องด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ตัวแทนเป็นผู้ฟ้อง ไม่ใช่การอาศัยความรักแบบสุดหัวใจของคนบางกลุ่มในการเปิดให้ประชาชนคนใดก็ได้เป็นผู้ฟ้องแทน อันนี้คือจากที่เราสังเกตเห็นมาตลอดในทวิตเตอร์"

"อีกอย่างคือเราได้เห็นพลังที่ชัดเจนอย่างการถกกันในประเด็นที่แหลมคม นอกจากเรื่องสถาบันกษัตริย์ เช่น เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และความเท่าเทียมทางเพศ หลายๆ คนเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งเหล่านี้บ่อยขึ้น และช่วยสร้างการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย เพราะทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเกี่ยวโยงกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงเรื่องการแบนสินค้าที่สนับสนุนเครือข่ายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเรื่องของมูลนิธิป่ารอยต่อเอย หรือทีวีช่องหนึ่งเอย ซึ่งอย่างหลังประสบผลสำเร็จได้ส่วนหนึ่งเพราะทางกลุ่มพิธีกรประจำช่องในเวลานั้น ซึ่งตอนนี้ย้ายไปเปิดช่องดาวเทียมใหม่แล้ว นำเนื้อหาดังกล่าวไปเหมารวมว่าเป็นสินค้าที่มีจุดยืนตรงกับทางสถานี และด้วยความที่สินค้าเหล่านี้ต้องแสดงความเป็นกลางเพื่อขายให้คนทุกกลุ่ม จึงเริ่มเห็นการทยอยถอนโฆษณาจนเหลือเพียงน้อยชิ้น และทำให้ช่องรายได้ลดลงมากพอที่จะบีบให้พิธีกรชุดดังกล่าวอันตรธานหายไปจากหน้าจอได้พักใหญ่เลย"

 

 

เกด บอกว่า ตนให้คะแนนพลังของทวิตเตอร์ในการเปลี่ยนสังคม 7 เต็ม 10 คะแนน เพราะแนวคิดหลายอย่างได้รับการตอบสนองและยอมรับจากประชาชนในวงกว้าง เช่น แคมเปญแบนสินค้าอย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น รวมถึงการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เช่นในอดีต หรือการเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญของ iLaw ที่ได้รายชื่อร่วม 100,000 คนในระยะเวลาไม่นานนัก

"บางอย่างก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากบรรดาคนทั่วไป อย่างเช่นการนัดหยุดงานเพื่อแสดงจุดยืนอารยะขัดขืนกับรัฐบาล ซึ่งเป็นไปได้ยากในห้วงเวลานี้ เพราะหลายๆ คนก็ยังมีความหวาดกลัวต่ออนาคตในหน้าที่การงานหรือชีวิตของตนเอง จากโครงสร้างทางสังคมที่ผู้มีอำนาจมักจะมีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลหรือเคารพรักในสถาบันกษัตริย์ หรือการถอนเงินจากธนาคารบางแห่งที่เกี่ยวโยงกับสถาบัน อาจด้วยปัจจัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่นความสะดวกในการใช้งาน หรือมีภาระทางการเงินกับธนาคารดังกล่าว"

แนวโน้มในอนาคตของการใช้ทวิตเตอร์พูดคุยเรื่องการเมืองหรือประเด็นทางสังคม

"แนวโน้มหลังจากนี้ เรามองว่าการถกประเด็นทางเสังคมในทวิตเตอร์จะยิ่งเข้มข้นขึ้น บางครั้งสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็อาจถูกขุดขึ้นมาอีกครั้งเพื่อถกเถียงและหาคำตอบที่สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน บางสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทุกคนมองว่าไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ก็จะใช้พลังในส่วนนี้เพื่อกดดันให้เกิดการแสดงความรับผิดชอบและปรับปรุงแก้ไขต่อไป ส่วนเรื่องของการเมืองก็เชื่อว่าต่อจากนี้ก็จะเริ่มมีประเด็นให้ถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การยกระดับชุมนุมที่หนักแน่นขึ้น รวมไปถึงปัญหาจากคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทั้งเกษตรกร คนพิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฯลฯ ซึ่งเชื่อว่าก็จะมีบทบาทในการต่อสู้ร่วมกับ 3 ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรมากขึ้น"

ดังที่แอคเคานต์ Twitter Thailand กล่าวไว้ว่า "ทุกๆ คน สามารถเป็นกระบอกเสียงบนทวิตเตอร์ได้ โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับยอดฟอล แต่ขึ้นอยู่กับความเกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ที่ตรงกัน" จึงอาจกล่าวได้ว่า การสร้างตัวตนจากความไม่มีตัวตน คือ อีกหนึ่งเสน่ห์ของทวิตเตอร์ ที่สามารถดึงกลุ่มคนจากทุกแหล่งที่มีความสนใจเดียวกัน มารวมตัวกันเป็นชุมชนใหม่ๆ อยู่เสมอ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นกระบอกเสียงดาวเด่นได้ทุกช่วงเวลา

ในโลกทวิตเตอร์ยังมีดาวเด่นด้านการเมืองอีกหลายบัญชีที่พูดคุยเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โปรดติดตามบทสัมภาษณ์คนดังในโลกทวิตเตอร์ฉบับต่อไปได้กับทีมข่าวประชาไท

*คำว่า ซาแซง มาจากคำในภาษาเกาหลีว่า 사생팬 (ซา-แซง-แพน) หมายถึง แฟนคลับที่บุกรุกความเป็นส่วนตัวของศิลปินดารา ความหมายเช่นเดียวกัน Stalker ในภาษาอังกฤษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท