Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว 'พอร์ท ไฟเย็น' คดี ม.112 หลังยื่นประกันระบุอาการป่วย ศาลยกเหตุเข้ารักษาตัวใกล้ชายแดนลาว เชื่อว่าจะหลบหนี

 

6 มี.ค. 64 เวลา 13.33 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “พอร์ท ไฟเย็น”...

โพสต์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม 2021

 

6 มี.ค. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อเวลา 13.33 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว “พอร์ท ไฟเย็น” หรือปริญญา ชีวินกุลปฐม หลังวานนี้ ตำรวจสันติบาลเข้าจับกุมและควบคุมตัวไป บก.ปอท. แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากโพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อเดือน เม.ย.- ก.ค. 2559 รวม 3 โพสต์ 

คำสั่งไม่ให้ประกันตัวระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง เจ้าพนักงานจับกุมผู้ต้องหาได้หลังออกหมายจับ 4 ปีเศษ ปรากฎจากประวัติผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาตัวของผู้ร้อง หลังเกิดเหตุผู้ต้องหาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองคาย อันเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับ สปป.ลาว ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกการจับกุมตัวที่ระบุว่า หลังเกิดเหตุผู้ต้องหาได้หลบหนีไปพำนักอยู่ใน สปป.ลาว เชื่อว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี และไม่ได้คิดจะเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงาน หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก ให้ยกคำร้อง”

โดยในช่วงเช้าศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน จากนั้น ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยใช้เงินสดจำนวน 2 แสนบาท เป็นหลักประกัน และมีมารดาของผู้ต้องหาเป็นนายประกัน 

พร้อมทั้งระบุเหตุผลในการยื่นประกันว่า คดีนี้ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธ พฤติการณ์ไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ทราบว่าถูกดําเนินคดีนี้มาก่อน รวมทั้งผู้ต้องหาป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสิรินธรมาโดยตลอด หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทําให้ผู้ต้องหาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหายังต้องพบแพทย์ตามกําหนดนัดเพื่อติดตามอาการป่วยและรับยาจากแพทย์ รวมถึงการกายภาพบําบัดและพักฟื้น

ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิจนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ตามปฎิญญาสากล และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

หลังศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ปริญญาได้ถูกนำตัวไปขังโดยขึ้นรถผู้ต้องขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทำให้จนถึงปัจจุบันมีนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกขังในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดีในคดีทางการเมือง โดยไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวรวมทั้งสิ้น 14 ราย เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมาตรา 112 รวม 6 ราย โดยถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 13 ราย และเรือนจำพิเศษธนบุรี 1 ราย 

อ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net