องค์กรนักศึกษาหลายสถาบันแถลงประณามกระบวนการยุติธรรม ทวงสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมือง

องค์กรนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ 'เพนกวิน' เรียกร้องให้ศาลใช้ดุลพินิจบนหลักกฎหมายและความยุติธรรม รวมถึงประณามกระบวนการยุติธรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ให้ไม่สิทธิประกันตัวนักโทษการเมืองที่ถูกขังทั้งก่อนและระหว่างพิจารณาคดี

29 เม.ย. 2564 เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว 7 นักโทษการเมือง ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้แก่ 'เพนกวิน' พริษฐ์ ชิวารักษ์, 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, 'แอมมี่' ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, 'จัสติน' ชูเกียรติ แสงวงค์, และ 'พอร์ท ไฟเย็น' ปริญญา ชีวินกุลปฐม ส่วนใหญ่เป็นการขังระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาล ส่วนคดีของปริญญายังอยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจ โดยศาลให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ทั้งนี้ พริษฐ์ประกาศอดอาหารจนกว่านักโทษทางการเมืองจะได้รับสิทธิประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2564 ก่อนที่ปนัสยาจะประกาศอดอาหารตามมาในวันที่ 29 มี.ค. 2564 การยื่นประกันตัวเกิดขึ้นหลังทนายความเข้าเยี่ยมพริษฐ์ และได้รับแจ้งจากพริษฐ์ว่าถ่ายเป็นมูกเลือด หลังอดอาหารมากว่า 45 วัน ทำให้มีความกังวลว่า อาการพริษฐ์อาจจะอยู่ในขั้นวิกฤตถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม

ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไป เรียกร้องให้พริษฐ์ ชิวารักษ์ สิงห์แดงรุ่น 69 ได้รับการประกันตัว

"ปล่อยน้องเรา"
"ปล่อยพี่เรา"
"ปล่อยเพื่อนเรา"

แถลงการณ์ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถึงวันนี้ พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน ได้อดอาหารประท้วงในเรือนจำเป็นเวลากว่า 45 วันแล้ว

หากท่านสนใจติดตามข่าวสารเหตุบ้านการเมืองอยู่บ้าง ท่านคงพอทราบว่าพริษฐ์อดอาหารประท้วงจนสุขภาพตกอยู่ในอันตรายขึ้นทุกที เพราะไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวในข้อหาที่พริษฐ์ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด

พริษฐ์ถูกดำเนินข้อหากี่คดีบ้าง ถูกปฏิเสธการประกันตัวกี่ครั้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเชิงกระบวนการทางกฎหมายอย่างไร นักนิติศาสตร์คงได้อธิบายไว้พอสมควรแล้ว แต่สำหรับมุมมองของนักเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องนี้กลับยังไม่ได้มีการถูกอภิปรายพูดถึงมากนัก

...

ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งแรกที่เรานึกถึงคือ พริษฐ์ ชีวารักษ์ เป็นสมาชิกสิงห์แดงรุ่น 69 เหตุที่ยกเรื่องรุ่นเรื่องคณะขึ้นมาก่อนเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเพราะหลายคนคงคุ้นเคยศัพท์แสงในระบบอุปถัมภ์เป็นอย่างดี

แต่โปรดอย่าเข้าใจผิด เครือข่ายอุปถัมภ์ต่างๆ ในสังคมเป็นสิ่งที่พริษฐ์ต้องการมุ่งทำลาย การอดอาหารประท้วงของเขาเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามทำให้สังคมนี้ดีขึ้น ไม่เพียงแต่เพื่อเครือข่ายอุปถัมภ์ของท่านเท่านั้น แต่เพื่อให้สังคมนี้เสรี เป็นธรรม และเท่าเทียมเพื่อราษฎรทุกๆ คนด้วย

เมื่อพริษฐ์ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อราษฎรที่กดขี่ เราอาจลืมไปว่าเขาคือรุ่นน้อง พี่ เพื่อนคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นเดียวกับเรา หรือเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา เนื่องจากวิธีที่เขาถูกปฏิบัติในคุกโดยผู้มีอำนาจ ช่างแตกต่างจากวิถีชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำอย่างเราเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม เราล้วนได้รับผลกระทบจากสังคมที่กดขี่ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเราอาจเป็นคนต่อไปที่ถูกปฏิบัติจากผู้มีอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่ารูปแบบของมันจะเป็นอย่างไร และหากมีความห่วงหาอาทรณ์ ท่านคงรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นข่าวสารความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับพริษฐ์เช่นเดียวกัน

การย้ำเตือนว่าพริษฐ์เป็นศิษย์มีรุ่น เป็นนักเรียนมีสังกัด ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรากำลังย้ำเตือนว่าทุกคนที่สอบเข้ามายังคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยความสามารถของตนเอง ควรค่าแก่การยอมรับ คุ้มครอง อุ้มชู และปกป้องจากมหาวิทยาลัย คณาจารย์ ศิษย์เก่าของคณะ และเพื่อนร่วมรุ่นด้วยกัน

การย้ำเตือนว่าพริษฐ์เป็นสิงห์แดงรุ่น 69 เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราไม่ควรลืมหน้าที่ในฐานะรุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือเพื่อนร่วมคณะ ที่ต้องออกมาช่วยเหลือนักเรียนรัฐศาสตร์คนหนึ่งที่กำลังต่อสู้ทางการเมือง และกำลังทำในสิ่งที่คนรุ่นก่อนไม่กล้าทำ เพื่อทำให้สังคมเสรี เท่าเทียม และเป็นธรรมสำหรับพี่น้องประชาชนทุกๆ คน

...

ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ เราสามารถบอกได้เช่นกันว่าการอดอาหารประท้วงของพริษฐ์ เป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ที่พบได้แพร่หลายทั่วโลก และมีความเป็นมาหลายร้อยปีแล้ว

หน้าที่ของการอดอาหารประท้วง ไม่ว่าจะโดยหลักรัฐศาสตร์ หลักอหิงสา หรือหลักใดก็ตาม ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับหลักสูงส่งของคานธีหรือศาสนาใด นั่นคือการสร้างแรงกระตุ้นเพื่อให้ต่อมศีลธรรมของท่านกลับมาทำงานอีกครั้ง และลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับความผิดปกติในสังคม ที่ถูกอภิสิทธิ์ชนทำซ้ำจนชินชา จนขณะนี้ดูเหมือนจะกำลังกลายเป็นเรื่องปกติ

การเรียกร้องให้ “เคารพการตัดสินใจ” “เลิกอดข้าวประท้วง” หรือ “สมน้ำหน้า” หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราในฐานะ “คนข้างนอก” ออกมาลงมือทำมากน้อยเพียงใด เพื่อต่อสู้เรียกร้องพริษฐ์ได้รับการปล่อยตัว

การเรียกร้องให้ “เคารพการตัดสินใจ” “เลิกอดข้าวประท้วง” หรือ “สมน้ำหน้า” หรือไม่ ไม่มีความสำคัญเลย หากสุดท้ายแล้วคนข้างนอกไม่ทำอะไรมากกว่านี้ จนพริษฐ์ต้องตายอยู่ในคุก และไม่ได้มีโอกาสออกมาต่อสู้คดีในชั้นศาล

ขณะนี้พริษฐ์ไม่ได้กำลังเผชิญกับบททดสอบที่ยากที่สุดเหมือนเช่นรุ่นพี่ 6 ตุลา ตรงกันข้าม พริษฐ์กำลังทดสอบพวกเราทุกคนและสังคมนี้อยู่ต่างหาก ว่าเราคนไทยจะสามารถยกระดับมาตรฐานศีลธรรม และแสดงความเมตตาอาทรณ์ ด้วยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังติดอยู่ในเรือนจำ ทั้งที่ยังไม่มีความผิดตามกฎหมายได้หรือไม่

นอกจากเป็นสิงห์แดง 69 แล้ว พริษฐ์ยังเป็นลูกของแม่สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ และพี่ชายของน้องสาวที่กำลังร่ำไห้ เพราะพี่ชายของเขากำลังต่อสู้เพื่ออนาคตของทุกคน

เราในฐานะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันคณะรัฐศาสตร์ เราขอประนามความอยุติธรรมทุกประการที่เกิดขึ้นกับพริษฐ์ ชีวารักษ์ และนักกิจกรรมทางการเมืองทุก ๆ คน ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ หรือสถาบันจารีตใดๆ ก็ตาม

เราในฐานะประชาชน ขอประนามความอยุติธรรมทุกประการที่เกิดขึ้นกับพริษฐ์ ชีวารักษ์ และนักกิจกรรมทางการเมืองทุก ๆ คน พร้อมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย (โดยเฉพาะตุลาการ) ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อทำให้พริษฐ์ ชีวารักษ์ได้รับการประกันตัว เพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมโดยทันที

คณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้ศาลตระหนักถึงจุดยืนบนหลักกฎหมายและความยุติธรรม

แถลงการณ์คณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่อง เรียกร้องให้ศาลตระหนักถึงจุดยืนบนหลักกฎหมายและความยุติธรรม

นับแต่การจับกุมตัวผู้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อาศัยข้ออ้างบนฐานของกฎหมายมากมาย ทั้งมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งถูกท้วงติงและวิพากษ์วิจารณ์นับครั้งไม่ถ้วนโดยแวดวงวิชาการของไทยว่า น่ากังขาถึงความชอบด้วยกฎหมาย ทั้งกระบวนการและการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน เป็นไปโดยไม่คำนึงถึง หลักการตามกฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม

ตราบจนวันนี้ การที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและไม่ให้ประกันตัว 7 ผู้ต้องขังทางการเมือง ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภานุพงศ์ จาดนอก, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ชูเกียรติ แสงวงศ์, ปริญญา ชีวินกุลปฐม และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ เพราะไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่เคยไม่ อนุญาตไว้ในครั้งก่อน

ทางคณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอประณามถึงการใช้ดุลพินิจ โดยไม่ชอบด้วยกระบวนการและบทบัญญัติของศาล ดังจะพิจารณาต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันแสดงว่าบุคคลใดกระทำ ความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 ได้บัญญัติเป็นบทหลักไว้ ให้เนื้อความ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสองว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน จึงได้รับอนุญาตให้ปล่อย ชั่วคราว”

ดังนั้น การไม่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ซึ่งโดยหลักแล้วเราต้องตีความบทยกเว้นให้เคร่งครัด ไม่ กว้าง มิฉะนั้นบทหลักจะไม่มีที่ใช้ การจะไม่ปล่อยชั่วคราวต้องเข้าเหตุใดเหตุหนึ่งที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 เท่านั้น จึงจะไม่ปล่อยชั่วคราวได้ ซึ่งศาลตีความมาตรา 108/1 (3) “ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” ว่า “กฎหมายมุ่งป้องกันมิให้จำเลยหรือผู้ต้องหาไปกระทำซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดหรือกระทำความผิดอย่างอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นและไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันได้ ศาลย่อมไม่อาจปล่อยชั่วคราวได้” ตามคำชี้แจงของเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ดังนี้ เราจะเห็นว่าศาลตีความ “การก่ออันตรายประการอื่น” ไปในทางที่กว้างมาก คือเพียงแค่มีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำ แม้ไม่ก่ออันตรายแก่ใครเลย ก็จะเข้าข่ายการก่ออันตรายประการอื่น แนวการตีความของศาลเช่นนี้ เป็นไปในทางที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้หลักการสากลอย่าง Presumption of Innocence หรือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งมีบัญญัติชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ ไม่มีที่ใช้

จึงสรุปได้ว่า การมีคำสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทยทุกคน ทั้งตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญนั้นเป็นที่ประจักษ์ได้ ว่า ตราบเท่าที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาออกมา ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และนี่หรือคือสิ่งที่ผู้บริสุทธิ์ควรได้รับ นี่หรือคือสิ่งที่ศาลหยิบยื่นให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์

หลังการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวและประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่าไม่สัมฤทธิ์ผล จึงทำให้ผู้ต้องขังคดี การเมืองหลายคน เริ่มการอดอาหารประท้วงความอยุติธรรมของศาล โดยเฉพาะในกรณีของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่จวบจนบัดนี้เป็นเวลากว่า 44 วันแล้ว และเป็น 44 วันที่ปรากฏว่า การยึดมั่นในหลักการและความถูกต้องไม่ปรากฏแก่มโนสำนึกของศาล

เหตุการณ์นี้เป็นหมุดหมายสำคัญของวงการตุลาการไทย การที่ศาล “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง” เป็นการตอกย้ำให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าศาลไม่มีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดบนหลักการและความถูกต้อง บัดนี้ ชัดเจนแล้ว และก็ชัดเจนเสมอมาว่าศาลก็คือผู้เล่นทางการเมือง นับแต่เหตุการณ์ตุลาการภิวัฒน์ที่นำพาสังคมไทยเข้าสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งอันยากจะแก้ไขตราบจนปัจจุบัน ศาลไม่เป็นและไม่เคยเป็นกลางอย่างแท้จริง ศาลใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความยุติธรรมในการกดขี่ ทำลายศัตรูทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ศาลที่ควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน บัดนี้มิได้เป็นที่สถิตของความยุติธรรม มิได้ใช้อำนาจตุลาการ ของตนเพื่อตอบสนองเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงอย่างประชาชน แต่กลับใช้ประโยชน์จากหลักความอิสระของตุลาการ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปวงชนชาวไทย แทนที่จะธำรงไว้และปกป้อง

ในสังคมอุดมรัฐประหารของไทย ประเทศที่ศาลและวงการนิติศาสตร์ ยึดตัวบทกฎหมายและแนวการตีความ ยึดติดแนวคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ไม่เคยยึดโยงกับประชาชน ละเลยหลักการเบื้องหลังบทบัญญัติ แม้กระทั่งการตีความบริบทแวดล้อม อันเป็นส่วนหนึ่งของการปรับใช้บทกฎหมายซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของนิติวิธีที่ชาวนิติศาสตร์แสนจะหวงแหน วันนี้ท่านละเลยมันเสีย ที่เลวร้ายที่สุด ศาลละเลยแม้กระทั่งมนุษยธรรม

ในฐานะนักศึกษากฎหมาย เราจะเรียนกฎหมายเพื่อไปรับใช้โครงสร้างรัฐอำนาจนิยม รัฐที่กฎหมายคืออำนาจ และอำนาจคือผู้ประสาทความยุติธรรม แต่เป็น “ความยุติธรรมของผู้มีอำนาจ” มิใช่ของประชาชน เราไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความยุติธรรมเช่นนี้ เรามิอาจเฝ้าทนดูกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ยุติธรรมสำหรับประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทบทวนบทบาทของนิติศาสตร์ในสังคม เราเล่าเรียนกฎหมาย ที่เป็นรูปปรากฎหนึ่งของสังคม แต่ศาลไทย ไม่เคยใช้กฎหมายเพื่อรับใช้สังคมอย่างแท้จริงเลย

หาผิดไม่ที่สังคมจะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อนิติศาสตร์และวงการตุลาการ ไม่ผิดเลยที่สังคมจะตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ หรือจุดยืนของนักกฎหมาย หรือแม้แต่นักศึกษากฎหมาย ทั้งเป็นเรื่องน่าละอายยิ่ง หากเราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า บัดนี้ไซร้ ตราชูไม่ทรงธรรม ไม่เป็นกลาง และไม่เป็นที่พึ่งของประชาชนสืบไปอีกแล้ว เราขอเรียกร้องให้ศาล ตระหนักถึงจุดยืน หากจะไม่เลือกยืนข้างประชาชน ก็ขอให้เลือกยืนบนหลักการวิชาความรู้ ที่ท่านเล่าเรียนมาเถิด เพราะแท้จริงแล้วอำนาจศาล ไม่เคยเป็นของศาล แต่เป็นของประชาชนชาวไทย เจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง

มิฉะนั้นแล้ว นิติศาสตร์ จะเป็น “ศาสตร์” สืบต่อไปอย่างไรได้

คณะกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

29 เมษายน 2564

คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจเพื่อความชอบด้วยกฎหมาย และคงไว้ซึ่งความยุติธรรมขององค์กรตุลาการ

คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งไม่ให้ประกันตัวพริษฐ์ และเพื่อนรวม 7 คน ผ่านทางเฟซบุ๊ก คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ อีกทั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นหลักการสากลที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง หลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลักกฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แต่ด้วยวันนี้ (29 เมษายน 2564) ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) กับเพื่อนรวม 7 คน โดยให้เหตุผลว่า “ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

ด้วยความเคารพต่อศาล คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลอาญาข้างต้น โดยเห็นว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิที่ผู้ต้องหาคดีอาญาซึ่งยังมิได้ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดพึงได้รับ แม้ว่ากฎหมายจะเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยพิจารณาเหตุต่าง ๆ แต่ศาลกลับใช้ดุลพินิจสั่งขังผู้ต้องหาที่มิได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับคดีอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ทั้งที่ศาลสามารถใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อควบคุมมิให้ผู้ต้องหาก่อเหตุใด ๆ ซ้ำอีกได้

ดังนั้น คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ขอเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจประกอบดุลพินิจของท่านเพื่อความชอบด้วยกฎหมายวิธีการพิจารณาคดี และคงไว้ซึ่งความยุติธรรมขององค์กรตุลาการอย่างแท้จริง

คณะกรรมการนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประณามกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติหน้าที่โดยไร้ซึ่งมนุษยธรรม

ด้านสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กประณามกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการไม่ให้ประกันตัวพริษฐ์และผู้ต้องขังทางการเมืองอีก 6 คน

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขอประณามกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติหน้าที่โดยไร้ซึ่งมนุษยธรรม ในการมิให้ประกันตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน รวมไปถึงผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองอีก 6 คน

ทั้งนี้ การที่ศาลไม่ให้ประกันตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ รวมไปถึงผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองอีก 6 คน จากคำสั่งศาลที่ว่า "ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม" ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ในสายตาของประชาชนทั่วไป สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามหลักกฎหมาย ยึดถือจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ และพิจารณาทบทวนคำสั่งที่ออกมาอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิสูจน์แก่สายตาประชาชนว่า “ศาลและระบบยุติธรรมของประเทศไทย ยังคงมีความยุติธรรมและน่าเชื่อถือ” ในฐานะองค์กรที่เป็นประกันของความอยู่เย็นเป็นสุขของประเทศชาติ และสามารถให้ความยุติธรรมกับประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง

พรรคเสรีธรรมศาสตร์ประณามกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่พรรคเสรีธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์พรรค เรื่อง ขอประณามกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพียงสั้นๆ ว่า "ควย"

พรรคเสรีธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์พรรค เรื่อง ขอประณามกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพียงสั้นๆ ว่า "ควย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท