Skip to main content
sharethis

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนชี้เอาตัวปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ แกนนำ We Volunteer ไปขังที่เรือนจำธนบุรีทั้งที่ศาลอาญาสั่งขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เข้าข่ายบังคับสูญหาย หรือที่เรียกว่า “อุ้มหาย” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดต่อกฎหมาย

ปิยรัฐ จงเทพ แฟ้มภาพ

ปิยรัฐ จงเทพ ถ่ายเมื่อ 8 ธ.ค.2563 โดย Banrasdr Photo แฟ้มภาพ

9 มี.ค.2564 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ต่อกรณีย้ายตัว ปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ แกนนำ We Volunteer ไปขังที่เรือนจำธนบุรีทั้งที่ศาลอาญามีคำสั่งออกมาก่อนหน้านั้นว่าให้ฝากขังระหว่างการสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีการปกปิดชะตากรรมของปิยรัฐจนทำให้ไม่สามารถติดตามได้ว่าปิยรัฐถูกนำตัวไปที่ใดเข้าข่ายบังคับสูญหาย หรือที่เรียกว่า “อุ้มหาย” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อีกทั้งภาคีนักกฎหมายฯ ยังระบุอีกว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89 ซึ่งบัญญัติว่า “หมายขังหรือหมายจำคุกต้องจัดการให้เป็นไปตามนั้นในเขตของศาลซึ่งออกหมาย…” นอกจากนั้นยังระบุข้อเรียกร้องไว้ท้ายแถลงการณ์ว่า

“ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเคารพ “หลักนิติธรรม” (Rule of Law) ตลอดจนถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน เพราะหากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการพาตัวคนไปในที่ใดๆ โดยไม่ตระหนักถึงอำนาจหน้าที่ที่ตนมีตามกฎหมาย หรือไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและประชาชนมีสิทธิที่จะทวงถามความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อไป”

ตร.แถลง กรณีเผารูปหน้าศาลอาญาอาจเข้าข่ายม.112 - 27 คนที่มอบตัวอาจมีข้อหาหลบหนี

ภาคีนักกฎหมายแสดงความห่วงกังวลต่อกรณีการพาตัว โตโต้ ปิยรัฐ ไปคุมขัง ณ สถานที่ที่ไม่เป็นไปตามหมายขังระหว่างการสอบสวน

จากเหตุการณ์การชุมนุมในวันที่ 6 มีนาคม 2564 “#ม็อบ6มีนา” โดยในวันดังกล่าวได้มีการจับกุมกลุ่มการ์ด We Volunteer “Wevo” และประชาชน ไม่น้อยกว่า 48 ราย บริเวณห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน และมีผู้ถูกควบคุมตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 เพื่อดำเนินคดีรวม 18 ราย

เช้าวันที่ 8 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอฝากขังผู้ต้องหาที่ศาลอาญา โดยผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จาก บก.ตชด. ภาค 1 ทั้งนี้ผู้ถูกจับกุมที่เหลือได้ประกันตัวด้วยเงินสดเป็นหลักทรัพย์ 45,000 บาท มีเพียง นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” แกนนำจากกลุ่ม Wevo ที่ไม่ได้รับการประกันตัว

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายขังจากศาลอาญาให้ทนายความดูว่าจะนำตัวนายปิยรัฐ ไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ นายปิยรัฐถูกนำตัวออกจาก บก.ตชด. ภาค 1 เวลาประมาณ 18.30 น. เพื่อไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อทราบข่าวกลุ่ม Wevo และประชาชน จึงไปรอบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อพบนายปิยรัฐ แต่รอจนเวลาประมาณ 22.30 น. ยังไม่พบว่ามีการนำตัวนายปิยรัฐไปยังเรื่อนจำพิเศษกรุงเทพแต่อย่างใด ทนายความ ตลอดจนถึงญาติ คนสนิทก็ไม่ทราบว่านายปิยรัฐถูกนำตัวไปไว้ที่ใด จนเกิดกระแสการตามหาคนหาย “โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ” และตลอดทั้งคืนไม่มีทนายความ หรือใครทราบได้ว่านายปิยรัฐอยู่ที่ใด จนกระทั่งตอนเช้าทนายความได้เข้าขอคัดสำเนาหมายขังที่ศาลอาญาของนายปิยรัฐ จงเทพ พบว่าเป็นหมายขังระหว่างการสอบสวน ระบุ “หมายถึงผู้บัญชาการเรือนจำ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร...เพราะฉะนั้น ให้ท่านขังนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ ที่ 1 ไว้ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร...” ซึ่งในเวลา 09.30 น. กลุ่ม Wevo ได้เข้าสอบถามกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่า “หมายศาลจะนำผู้ต้องหามาส่งตัวที่นี่จริง แต่ไม่ได้นำตัวมา และไม่ได้อยู่ที่นี่แน่นอน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เองก็ตอบไม่ได้ว่า ผู้ต้องหาถูกส่งตัว หรือนำไปที่ใด แต่ที่แน่ๆ ภายในเรือนจำไม่ได้รับผู้ต้องหาไว้แน่นอน”

ต่อมาทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี และได้ระบุชื่อ นายปิยรัฐ จงเทพ เข้าไป จึงได้พบชัดเจนว่านายปิยรัฐ ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีจริง

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการกระทำของที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่พาตัวนายปิยรัฐ จงเทพ ไปยังสถานที่ที่ระบุไว้ใน “หมายขังระหว่างการสอบสวน” กล่าวคือเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่กลับพาตัวไปที่ เรือนจำพิเศษธนบุรี เป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89 ซึ่งบัญญัติว่า “หมายขังหรือหมายจำคุกต้องจัดการให้เป็นไปตามนั้นในเขตของศาลซึ่งออกหมาย...” อีกทั้งการที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้กระทำการปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลซึ่งถูกคุมขัง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เข้าข่ายเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือที่เรียกว่า “การอุ้มหาย” ทำให้ญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ทราบชะตากรรมว่าผู้ที่ควบคุมตัวจะถูกพาตัวไปไว้ที่ใด ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย เป็นการเข้าข่ายละเมิดสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ และละเมิดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยมีพันธะกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมาย เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเคารพ “หลักนิติธรรม” (Rule of Law) ตลอดจนถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน เพราะหากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในการพาตัวคนไปในที่ใดๆ

โดยไม่ตระหนักถึงอำนาจหน้าที่ที่ตนมีตามกฎหมาย หรือไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและประชาชนมีสิทธิที่จะทวงถามความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net