Skip to main content
sharethis

‘โตโต้’ ปิยรัฐ ยื่นคำร้องต่อศาลกาฬสินธุ์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งงดสืบพยานจำเลย หลัง 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลสั่งงดสืบพยานฝั่งจำเลย และนัดอ่านคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ถูกกล่าวหาติดตั้งและโพสต์ป้าย ‘ผูกขาดวัคซีน’ แม้ฝั่งจำเลยเคยขอเลื่อนสืบพยานไปแล้ว เพราะติดดูงานต่างประเทศ

 

8 ก.ค. 2567 เว็บไซต์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (8 ก.ค.) ระบุว่า ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล และทนายจำเลย ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ผ่านระบบซีออส ขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2567 ศาลมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย และนัดฟังคำพิพากษา ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ที่ปิยรัฐ เป็นจำเลย จากการถูกกล่าวหาว่า ติดตั้งป้ายวิจารณ์การผูกขาดวัคซีน และโพสต์ภาพป้ายในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เมื่อเดือน ม.ค. 2564 หลังทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากปิยรัฐ ติดไปศึกษาดูงานของกรรมาธิการความมั่นคงฯ ที่โปแลนด์

คำร้องดังกล่าวระบุว่า การนั่งพิจารณาคดีของศาลและคําสั่งที่ให้งดสืบพยานจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 ที่จะต้องพิจารณาคดีโดยเป็นธรรม จึงขอให้ศาลมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งที่ให้งดสืบพยานจําเลย และเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ รวมทั้งกําหนดนัดพิจารณาสืบพยานจําเลยใหม่ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม… เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร

ซึ่งต้องจับตาต่อไปว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีนี้จะมีคำสั่งต่อคำร้องดังกล่าวอย่างไร

รายละเอียดของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ปิยรัฐ หยิบยกมาเป็นเหตุผลในคำร้องมีดังนี้

1. ศาลต้องรับฟังคู่ความทุกฝ่ายก่อนจะมีคําพิพากษา ตาม "หลักฟังความ 2 ฝ่าย"              

คดีนี้จําเลยถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงถึง 15 ปี การพิจารณาคดีจึงควรให้โอกาสจําเลยได้นําพยานหลักฐานเข้ามาสืบต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจําเลย โดยใช้หลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม อันเป็นสิทธิของจําเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 อันได้แก่ หลักฟังความสองฝ่าย (the principle of bilateral hearing) คือ การเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้ง คัดค้าน การนําเสนอหรือการกล่าวอ้างของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า "หลักโต้แย้งคัดค้านต่อสู้คดี" (le principe de la contradiction) ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายวิธีพิจารณาความในคดีทุกประเภท โดยเป็นแนวความคิดที่มีมาตั้งแต่กฎหมายโรมันตามหลักที่ว่า "audi alteram partem" ซึ่งหมายถึง ศาลจะต้องรับฟังคู่ความทุกฝ่ายก่อนจะมีคําพิพากษา

คําพิพากษาที่ดีจะต้องเกิดจากการที่คู่ความในคดีได้มีโอกาสเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมด มีโอกาสเสนอข้อกล่าวอ้างหรือข้อต่อสู้ และนําพยานหลักฐานต่าง ๆ เข้าสืบสนับสนุนข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวอ้างของตน รวมทั้งความเห็นที่ตนเห็นว่าเกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี และคู่ความทุกฝ่ายมีโอกาสได้ทราบข้ออ้าง ข้อต่อสู้ ตลอดจนพยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง และมีโอกาสนําพยานหลักฐานของตนมาโต้แย้ง คัดค้าน ต่อสู้คดี ภายในระยะเวลาอันสมควร ซึ่งจะช่วยให้ศาลสามารถพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม

หลักฟังความสองฝ่ายจึงเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครอง จนถือได้ว่าเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายวิธีพิจารณาความ หรือแม้กระทั่งเป็นหลักตามรัฐธรรมนูญ

2. จำเลยไม่ได้ประวิงคดี เหตุเลื่อนคดีเนื่องจากติดประชุมสภา อันเป็นเหตุจําเป็นและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กำหนดศึกษาดูงานก็เป็นมติ กมธ.

ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ การเลื่อนนัดสืบพยานในแต่ละครั้งล้วนแล้วแต่มีเหตุผลจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เพราะจําเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมสภา ซึ่งเป็นหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด และเป็นเอกสิทธิ์ที่จําเลยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 125 ซึ่งบัญญัติคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

และการขอเลื่อนคดีเกี่ยวกับเหตุในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจําเลยมีพยานเอกสารแนบมาในคําร้องขอเลื่อนคดีโดยตลอด อันถือเป็นเหตุจําเป็นที่มิอาจก้าวล่วงได้ เพราะจําเลยต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน การขอเลื่อนคดีในแต่ละครั้งที่มีการประชุมจึงเป็นการขอเลื่อนคดีด้วยเหตุผลความจําเป็นและเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มิได้มีลักษณะเป็นการประวิงคดีแต่อย่างใด

อีกทั้งเหตุผลบางส่วนในการขอเลื่อนนัดสืบพยานจําเลย ก็สืบเนื่องมาจากผู้ครอบครองพยานเอกสารที่จําเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกมาให้ ไม่ยอมส่งพยานเอกสารมายังศาล ทําให้จําเลยไม่สามารถที่จะสืบพยานจําเลยได้ ซึ่งกรณีก็มิใช่ความผิดของจําเลย และปัจจุบันบุคคลภายนอกผู้ครอบครองเอกสารก็ยังไม่ได้ส่งพยานเอกสารมายังศาลแต่อย่างใด

สําหรับนัดพิจารณาคดีในวันที่ 11 เม.ย. 2567 นั้น จําเลยได้ขอเลื่อนคดีก็เนื่องจากว่ากําหนดนัดพิจารณาคดีในวันดังกล่าว ศาลเป็นผู้กําหนดนัดเอง ไม่ใช่คู่ความกําหนด เพราะทนายความจําเลยได้แถลงเอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ในวันดังกล่าวทนายความจําเลยติดนัดพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลก็ทราบก่อนแล้ว เมื่อถึงวันนัดพิจารณาจําเลยจึงยื่นคําร้องขอเลื่อนนัดสืบพยาน ซึ่งไม่ใช่ความผิดของจําเลยแต่อย่างใด เพราะจําเลยไม่สามารถสืบพยานหรือเบิกความได้โดยไม่มีทนายความซึ่งเป็นสิทธิของจําเลยตามที่กฎหมายกําหนด กรณีจะถือเป็นเหตุว่าจําเลยมีลักษณะในการประวิงคดีหาได้ไม่

สําหรับนัดพิจารณาคดีในวันที่ 1 ก.ค. 2567 จําเลยก็มีกําหนดการเดินทางไปศึกษาดูงานที่สาธารณรัฐโปแลนด์ อันสืบเนื่องมาจากมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2568 ในระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย. 2567 ทําให้คณะกรรมาธิการมีมติเห็นชอบให้เดินทางไปศึกษาดูงานในวันดังกล่าว เพราะกําหนดการถูกเลื่อนออกมาจากการประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของจําเลย

ถึงแม้ว่าจําเลยจะทักท้วงก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกําหนดการเดินทางแต่อย่างใด เพราะต้องถือตามมติของคณะทํางานซึ่งมีบุคคลเป็นจํานวนมาก และหากจําเลยไม่เดินทางไปศึกษาดูงานก็อาจจะเกิดผลเสียต่อหน้าที่การงานของจําเลย ประการสําคัญน่าจะเกิดผลเสียต่อสภาผู้แทนราษฎรในหลายมิติ การขอเลื่อนนัดพิจารณาคดีในวันดังกล่าวจึงมีเหตุผลความจําเป็น ซึ่งศาลเองก็วินิจฉัยเอาไว้ว่าจําเลยไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนีแต่อย่างใด

3. โจทก์ไม่ได้ค้านการเลื่อนคดี

ในวันพิจารณาคดีดังกล่าว พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านการขอเลื่อนคดีของจําเลย จําเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านการขอเลื่อน ก็ไม่มีเหตุผลความจําเป็นใดที่จะต้องเร่งรัดการพิจารณาคดีถึงขนาดสั่งงดสืบพยานฝ่ายจําเลยในลักษณะเช่นนี้ เพราะการงดสืบพยานฝ่ายจําเลยทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเป็นอย่างยิ่ง

4. จำเลยมีพยานบุคคลที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ การงดสืบพยานจำเลยจึงทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเป็นอย่างยิ่ง

จากแนวทางการถามค้านของทนายความจําเลยจะเห็นได้ว่า จําเลยได้ต่อสู้มาโดยตลอดว่ามิได้กระทําความผิดตามคําฟ้อง มิได้อยู่ในที่เกิดเหตุในขณะที่อ้างว่ามีการนําป้ายต่าง ๆ ไปติดตั้ง หากฝ่ายจําเลยได้มีโอกาสนําพยานเข้าเบิกความ ทั้งตัวจําเลยเองและพยานบุคคลภายนอกที่สามารถยืนยันถิ่นที่อยู่ได้ว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยอยู่ที่อื่น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด ย่อมจะเป็นข้อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจําเลยและเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

แต่การงดสืบพยานไม่ให้โอกาสจําเลยนําพยานเข้าไปสืบ ทําให้จําเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ให้สิทธิจําเลยในการเบิกความ แสดงพยานหลักฐาน และนําพยานบุคคลไปเบิกความยืนยันว่า มิได้กระทําความผิดตามคําฟ้อง การดําเนินกระบวนพิจารณาในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นการฟังพยานหลักฐานโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่จําเลยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ชอบด้วยหลักการพิจารณาคดีโดยเป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

5. กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมเป็นหลักประกันถึงความยุติธรรมของคําพิพากษา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรรม

จําเลยยังมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจในการสั่งงดสืบพยาน รวมถึงการพิพากษาคดีต่อไปในอนาคตว่า การใช้ดุลพินิจสั่งงดสืบพยานได้เป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสํานวนอย่างอิสระหรือไม่ และคําพิพากษาของศาลจะเป็นไปอย่างอิสระตามดุลพินิจของเจ้าของสํานวนหรือไม่ เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 1 ก.ค. 2567 ได้มี สราวุธ ยงใจยุทธ ตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ซึ่งเป็นผู้พิพากษาระดับสูงมานั่งในการพิจารณาคดีด้วย โดยไม่ใช่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะพิพากษาคดีตั้งแต่ต้น และไม่ใช่ผู้พิพากษาในศาลจังหวัดกาฬสินธุ์แต่อย่างใด รวมทั้งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมก็ไม่ปรากฏว่า มีกฎหมายข้อใดให้อํานาจในการนั่งพิจารณาคดีเช่นนี้

อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ จําเลยเป็นบุคคลสาธารณะ และเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน การพิจารณาพิพากษาคดีไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ย่อมจะต้องถูกนําเสนอต่อสื่อสาธารณะ กระบวนการพิจารณาคดีจึงเป็นเสาหลักสําคัญที่จะเป็นหลักประกันได้ว่าคําพิพากษาของศาลได้พิพากษาไปด้วยความยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องของหลักการรับฟังความทั้งสองฝ่าย

หากศาลให้โอกาสจําเลยได้นําพยานเข้ามาสืบหรือเบิกความย่อมจะทําให้กระบวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างสง่างามและเป็นธรรม ไม่ว่าผลการพิจารณาพิพากษาคดีจะออกมาเป็นเช่นไร กระบวนการยุติธรรมก็จะมีความสง่างาม เพราะได้เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเบิกความนําพยานหลักฐานมาหักล้างแสดงต่อศาล

แต่ในทางกลับกันกรณีที่ศาลมีคําสั่งงดสืบพยานจําเลยและกําหนดนัดฟังคําพิพากษาในทันที โดยไม่ให้ จําเลยมีโอกาสได้เบิกความแก้ข้อกล่าวหาเลย เมื่อมีคําพิพากษาออกมาอาจจะทําให้เกิดข้อกังขา เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในวงกว้าง หรือกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรรมของประชาชนในภาพรวม

ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น การนั่งพิจารณาคดีของศาลและคําสั่งของศาลที่สั่งให้งดสืบพยานจําเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 8 ที่จะต้องพิจารณาคดีโดยเป็นธรรม เป็นการพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม จึงขอให้ศาลมีคําสั่งเพิกถอนคําสั่งที่ให้งดสืบพยานจําเลย และมีคําสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป รวมทั้งกําหนดนัดพิจารณาสืบพยานจําเลยใหม่ต่อไปด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net