Skip to main content
sharethis

13 ปีที่ต่อสู้ สู่ 8 ปีที่รอคอย ของนักปกป้องสิทธิฯ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้คว้าชัยชนะก้าวแรกครั้งประวัติศาสตร์ของประชาชน หลังศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด 23 แปลงที่ออกโดยไม่ชอบให้กับบริษัทน้ำมันปาล์มภายในระยะเวลา 180 วัน พร้อมระบุอธิบดีกรมที่ดินและป่าไม้ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่ทนายความชี้ศาลวินิจฉัยชัดเจนว่าชาวบ้านมีสิทธิฟ้องร้องได้และมีสิทธิที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่การจัดสรรของรัฐได้ ดักคอกรมที่ดินไม่อุทธรณ์ ด้านตัวแทนชาวบ้านเตรียมทำหนังสือยื่นนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิตามคำพิพากษาของศาลปกครอง

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2564 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินจากเครือข่ายสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) พร้อมทีมทนายความจากสภาทนายความฯ และโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล เดินทางเข้ารับฟังคำพิพากษาคดีที่นักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนาซึ่งเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จำนวน 20 คนรวมตัวกันยื่นฟ้องกรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตามในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรมป่าไม้ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีสาขาพระแสง และบริษัทน้ำมันปาล์มเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อศาลปกครอง

โดยยื่นฟ้องต่อกรมที่ดินขอให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ และการยื่นฟ้องกรมป่าไม้ให้เร่งดำเนินคดีต่อบริษัทน้ำมันปาล์มที่บุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่ป่าไม้และให้ออกจากที่ดินดังกล่าวเพื่อให้ภาครัฐนำทรัพยากรที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนในรูปแบบของโฉนดชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านที่ดินต่อไป  

โดยก่อนหน้าที่ศาลปกครองจะอ่านคำพิพากษาในวันนี้  เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมานักปกป้องสิทธิฯจาก สกต.ได้เข้าฟังการแถลงพิจารณาคดีของตุลาการโดยคำแถลงเบื้องต้นของตุลาการระบุให้มีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3ก) จำนวน 7 แปลง จากทั้งหมด 10 แปลงที่นักปกป้องสิทธิในที่ดินได้มีการฟ้องร้อง ส่วนที่ดินที่มีโฉนดอีก 13  แปลง ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านคำแถลงให้มีการเพิกถอนทั้งหมด แต่ยกเว้นที่ดินบางส่วนที่อยู่นอกพื้นที่เขตป่า 

ทั้งนี้เมื่อเวลา 10.00 วันนี้ ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวโดยมีคำพากษาให้เพิกถอนที่ดิน นส.3ก จำนวน 10 แปลง และโฉนดที่ดิน จำนวน 13 แปลง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งสั่งให้กรมป่าไม้ และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาพระแสง ดำเนินการกับบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ออกจากพื้นที่ภายใน 180 วัน นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด  

ส่วนอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่เพิกถอนที่ดินที่ออกโดยมิชอบนั้นศาลเห็นว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

ศาลปกครองเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน บ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม พบสร้างโฉนดเท็จ

นายสรไกร ศรศรี ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ทำคดีให้นักปกป้องสิทธิฯ ด้านที่ดิน กล่าวภายหลังจากฟังคำพิพากษาของศาลเสร็จสิ้นแล้วว่า วันนี้เรามาฟังคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเกี่ยวกับการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่เป็นนส.3 และเป็นโฉนดที่กลุ่มนายทุนได้ออกในเขตพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้ชาวบ้านและชุมชนไม่มีโอกาสและมีสิทธิในการใช้ทรัพยากร รวมถึงการถูกดำเนินคดีในหลายคดี ซึ่งวันนี้ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาที่ชัดเจนแล้วให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่เป็น นส.3ก 10  แปลง และโฉนดทั้งหมด 13 แปลงที่เป็นของนายทุน คดีนี้เราใช้เวลาในการต่อสู้ 8 ปีกว่าจะมีผลในคำพิพากษาวันนี้ ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการต่อสู้ของชาวบ้านในชุมชนสันติพัฒนา

ทนายความเจ้าของคดียังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า เกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องคดีที่ในหลายๆคดีมักจะมีปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งคดีดังกล่าวนี้ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าชาวบ้านในชุมชนสันติพัฒนา เป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นมาก่อนเพียงแต่ตอนหลังมีการขับไล่ชาวบ้านในชุมชนให้ออกไปจากพื้นที่และให้มีการดำเนินคดี จึงเป็นเหตุที่บอกว่าชาวบ้าน ได้รับความเดือนร้อนในการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบ ศาลได้วินิจฉัยรับรองว่าสิทธิที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน สิทธิในการที่จะดูแลพื้นที่ป่าของชาวบ้านในชุมชนมีอยู่ ชาวบ้านจึงมีสิทธิในการที่จะยื่นฟ้องคดีได้

ขณะที่นางสาวศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวเพิ่มเติมว่าคดีนี้มีการไต่สวนหลายครั้ง ชาวบ้านเรียกร้องต่อหน่วยงานหลายหน่วยจนกระทั่งมีการตรวจสอบแล้วว่ามีการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าไม้ถาวรและป่าสงวนโดยไม่ชอบ การนำคดีมาสู่ศาลปกครองเป็นเรื่องที่ชาวบ้านพยายามเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐทุกหน่วยแล้วแต่ปรากฎว่าหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานก็ยังยืนยันว่าการออกเอกสารสิทธินั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และไม่ยอมเพิกถอนเอกสารสิทธิ จนทำให้ชาวบ้านนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และในที่สุดก็เป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ชาวบ้านตรวจสอบและหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยที่ตรวจสอบมีมูลและมีผลในทางคดี นำมาสู่การเพิกถอนเอกสารสิทธิของบริษัทในครั้งนี้จำนวน 23 แปลง และจะทำให้ชาวบ้านสามารถใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ได้

ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะดูว่าหน่วยงานของรัฐที่ศาลระบุเช่นกรมป่าไม้ ต้องไปดำเนินการในการให้บริษัทออกจากพื้นที่ และหน่วยงานที่ออกเอกสารสิทธินั้นมีการเพิกถอนหรือไม่ ซึ่งชาวบ้านจะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เองบริษัทก็ได้มีการดำเนินคดีทางแพ่งฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการดำเนินการไต่สวนแสดงอำนาจพิเศษว่าชาวบ้านมีสิทธิอยู่ในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งประเด็นคือ บริษัทยังเข้าไปบังคับคดีกับชาวบ้านโดยอ้างว่าตนเองมีสิทธิต่อไป เรื่องเหล่านี้ก็จะเป็นการยืนยันว่าบริษัทไม่มีอำนาจที่จะไปฟ้องขับไล่ชุมชนอีก  ตามคำพิพากษาของศาลในวันนี้ศาลให้ระยะเวลา 180 วันในการดำเนินการนับตั้งแต่มีคำพิพากษา และเราคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะยอมรับในผลของคำพิพากษาโดยไม่อุทธรณ์คำพิพากษา

ขณะที่ น.ส.ณัฐาพันธ์ แสงทับ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรภาคใต้ กล่าวถึงความรู้สึกหลังเข้าฟังคำพิพากษาของศาลว่า เราคิดว่ากรมที่ดินคงจะไม่ยื่นอุทธรณ์ และเราจะรอจนครบ 180 วัน เพื่อให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิและ สกต. เองก็จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะให้มีการเพิกถอน นส.3 และจะส่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมที่ดิน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการเพิกถอนเอกสารสิทธิตามคำพิพากษา โดยเฉพาะกรมที่ดินอ.พระแสง  จ.สุราษฎรจะต้องทำการเพิกถอนเอกสารสิทธิ

“พวกเรารู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก ๆ ในการไปรับฟังคำพิพากษาในครั้งนี้ ก็ไม่คิดว่าจะได้รับชัยชนะในระดับนี้ เราร่วมต่อสู้กันมาตลอดระยะเวลา 13 ปี และ 8 ปีที่เรารอคำพิพากษาของศาลปกครอง วันนี้ถือว่าเรามีเหตุผลที่จะคุยได้อย่างเต็มที่แล้วว่าชาวบ้านมีสิทธิในการใช้ที่ดินได้” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินจากระบุ                     

ด้าน น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากองค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ทำงานปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าคดีนี้เป็นบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์ในการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่มิชอบของรัฐให้แก่นายทุนซึ่งกรณีนี้คือบริษัทน้ำมันปาล์มน้ำมัน เราเห็นได้ว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทำงานที่มิชอบด้วยกฎหมายของหน่วยงานรัฐและ การส่งเสริมการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน (due diligence) ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน  ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมถูกใช้ในการคุกคามโดยรัฐ หรือหน่วยงานธุรกิจ และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และยังเป็นการละเมิดหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน  แต่คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีนี้ได้ผดุงซึ่งความยุติธรรมและสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำในสิ่งที่ถูกต้องหลังจากที่ละเลยมาเป็นเวลานาน เราหวังว่ากรมที่ดินฯลฯจะไม่อุทธรณ์และดำเนินการเพิกถอนเอกสารโดยทันที อย่างน้อยที่สุดจะเป็นการชดเชยความผิดที่ทำมาตลอดหลายปี

สำหรับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดินจำนวนทั้งสิ้น 5 ชุมชน ในการเข้ามาตรวจสอบที่ดินของรัฐที่หมดสัมปทานหรือการอนุญาตให้บริษัทเอกชนทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งในการลงตรวจสอบของ สกต.พบว่าในบางพื้นที่ที่เป็นของรัฐมีบริษัทเอกชนที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นๆแต่กลับบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายมาเกือบ 40 ปี ในทางกลับกันชุมชนสันติพัฒนาซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนสมาชิกของสกต.ที่ต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในที่อยู่อาศัย และการบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน หรือสิทธิร่วมของชุมชน มาตั้งแต่ปี 2550 ต้องต่อสู้เผชิญหน้ากับบริษัทเอกชนซึ่งทำธุรกิจปาล์มน้ำมันที่เข้ามาบุกรุกในที่ดินในเขตของ ส.ป.ก. และพื้นที่ป่าไม้ถาวรของ กรมป่าไม้ จนไม่เหลือสภาพป่าเชิงประจักษ์ เพราะบริษัทได้ทำลายหมดไปนานแล้ว ยกเว้นพื้นที่ป่าชุมชน ประมาณ 100 ไร่ ที่สมาชิกชุมชนสันติพัฒนาได้ร่วมกับปลูกขึ้นมาใหม่ในระยะ 13-14 ปี ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาสกต.มีการเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาตรวจสอบการใช้ที่ดินจนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงมาตรวจสอบในพื้นที่และพบว่ากรมที่ดินได้ออกเอกสารสทธิ์ นส.3ก รับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้กับบริษัทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้กรมที่ดินต้องเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด 310 ไร่ แต่กรมที่ดินปล่อยปละละเลย ไม่ได้ดำเนินการเพื่อเพิกถอนเอกสารที่ออกโดยมิชอบ จนกลายมาเป็นใบอนุญาตที่ให้บริษัทเอกชนฟ้องร้องสมาชิกชุมชนสันติพัฒนาในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินหลายสิบรายต้องถูกดำเนินคดีและถูกเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนหลายล้านบาท รวมถึงถูกสั่งให้ขับไล่ออกจากที่ดินดังกล จนนำมาสู่การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net