Skip to main content
sharethis

สรุปเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลจอร์แดนและเจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน อดีตมกุฎราชกุมาร ที่เผยให้เห็นปมขัดแย้งภายในราชสำนักจอร์แดน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศกับอิสราเอล ด้านชาติอาหรับ-สหรัฐฯ พร้อมหนุนกษัตริย์จอร์แดนสร้างความมั่นคงในชาติ

5 เม.ย. 2564 ความมั่นคงของราชอาณาจักรจอร์แดนที่ได้รับการคุ้มครองโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในตะวันออกกลางมาอย่างยาวนาน ถึงคราวต้องสั่นคลอนเพราะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่าเจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน พร้อมชายาและลูก ถูกคุมขังภายในบ้านพัก โดยเจ้าชายฮัมซาห์เป็นอดีตมกุฎราชกุมารและพระอนุชาต่างพระมารดาของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 กษัตริย์แห่งจอร์แดน

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษเผยแพร่วิดีโอความยาวเกือบ 6 นาทีของเจ้าชายฮัมซาห์ที่ชี้แจงข้อครหาต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์ พร้อมกล่าวว่าพระองค์ถูกกองทัพจอร์แดนสั่งห้ามออกจากบ้านเนื่องจากถูกกักบริเวณ

“หัวหน้ากองทัพจอร์แดนมาหาผมเมื่อเช้า (3 เม.ย. 64) และบอกว่าผมไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกบ้านเพื่อไปพบปะผู้คน เพราะการที่ผมออกไปเจอผู้คนตามงานประชุมต่างๆ หรือแม้กระทั่งการพูดคุยกับประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย มักจะมีเสียงวิจารณ์สะท้อนกลับไปยังรัฐบาลหรือกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 เสมอ” เจ้าชายฮัมซาห์กล่าว พร้อมชี้แจงว่าพระองค์ไม่ได้สมคบคิดให้แผนการความมั่นคงใดๆ ทั้งสิ้น

“ผมไม่ใช่คนที่ต้องรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ปัญหาทุจริตต่างๆ รวมถึงความไร้ประสิทธิภาพในโครงสร้างการปกครองที่สั่งสมมานานในช่วง 15-20 ปีให้หลังซึ่งมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ และผมก็ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อศรัทธาที่ประชาชนมีให้สถาบันฯ ตอนนี้มันอยู่ในจุดที่ใครก็ไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องอะไรก็ตาม โดยที่ไม่ถูกกลั่นแกล้ง จับกุม ข่มขู่ และคุกคาม” เจ้าชายฮัมซาห์กล่าว

คลิปวิดีโอของเจ้าชายฮัมซาห์ที่ทนายส่วนพระองค์เป็นผู้นำส่งให้สำนักข่าวบีบีซี

“อินเทอร์เน็ตดาวเทียมคือช่องการในการสื่อสารสุดท้ายที่ผมมี เพื่อนๆ บอกผมว่าพวกเขา [รัฐบาล] จะตัดสัญญาณทั้งหมดทิ้ง นี่งจึงเป็นโอกาสสุดท้ายของผมที่จะได้สื่อสารกับทุกคน” เจ้าชายฮัมซาห์กล่าว

รัฐบาลจอร์แดนแถลงการโต้กลับ

เอย์มาน ซาฟาดี รองนายกรัฐตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของจอร์แดน แถลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงปิดกั้นการสื่อสารระหว่างเจ้าชายฮัมซาห์ บุคคลแวดล้อม รวมถึงพระสหายที่อยู่ในต่างประเทศของพระองค์ โดยอ้างว่าเจ้าชายฮัมซาห์และพระสหายร่วมกันวางแผนที่อาจจะสั่นคลอนความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ นอกจากนี้ ซาฟาดียังกล่าวว่ากษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ทรงต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นการภายในระหว่างสมาชิกราชวงศ์ และทรงหวังว่าเจ้าชายฮัมซาห์ ซึ่งเป็นพระอนุชาจะทบทวนการกระทำที่ถูกกล่าวหาในก่อนหน้านี้

เอย์มาน ซาฟาดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดน
(ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย)


ด้านพลตรีโยเซฟ ฮูเนติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของจอร์แดนปฏิเสธข่าวการถูกคุมขังของเจ้าชายฮัมซาห์ แต่บอกว่าเป็นการร้องขอให้พระองค์ทรงหยุดการกระทำและการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ พร้อมบอกว่าการสืบสวนสอบสวนจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและกระจ่างแจ้ง

“ผมขอยืนยันว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ความมั่นคงและความปลอดภัยของจอร์แดนต้องมาก่อนทุกอย่าง” ฮูเนติ กล่าว

กองทัพและรัฐบาลจอร์แดนไม่ได้แถลงการณ์เหตุผลที่แท้จริงในการคุมขังและกักบริเวณเจ้าชายฮัมซาห์ แต่สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าเหตุผลเบื้องหลังความขัดแย้งภายในครั้งนี้อาจเป็นเพราะเจ้าชายฮัมซาห์เดินทางไปพบปะกับผู้นำชนกลุ่มน้อยในประเทศบ่อยครั้ง และทุกครั้งที่พระองค์เคลื่อนไหวทางการเมืองก็มักจะมีเสียงวิพาษ์วิจารณ์กษัตริย์องค์ปัจจุบันตามมาอยู่เสมอ

พลตรีโยเซฟ ฮูเนติ (กลาง) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของจอร์แดน (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่านอกจากเจ้าชายฮัมซาห์ พระชายา และบุตรของพระองค์ ที่ถูกคุมขังแล้ว ยังมีบุคคลใกล้ชิดของเจ้าชายฮัมซาห์อีก 16 คน โดยหนึ่งในนั้น คือ ฮาซาน บิน เซด เชื้อพระวงศ์ และบาเซม อะวาดัลลอฮ์ อดีตรัฐมนตรีซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายครั้งในรัฐบาล ตั้งแต่เลขาธิการด้านเศรษฐกิจ รัฐมนตรีคลัง ไปจนถึงหัวหน้าสำนักพระราชวัง โดยใน พ.ศ.2561 อะวาดัลลอฮ์ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนส่วนพระองค์ของกษัตริ์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้เขาสนิทกับเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย

เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน คือใคร

เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน
 

เจ้าชายฮัมซาห์ เป็นพระโอรสองค์แรกในสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน (พ.ศ.2478-2542) และสมเด็จพระราชินีนูร์ พระมเหสีองค์ที่ 4 ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน และเป็นบุตรคนที่ 7 จากพระโอรส-ธิดาทั้งหมด 11 พระองค์ ในตอนแรก เจ้าชายฮัมซาห์ถูกวางตัวไว้ในตำแหน่งรัชทายาทต่อจากกษัตริย์ฮุสเซน แต่ก่อนหน้าที่กษัตริย์ฮุสเซนจะสวรรคตไม่นานก็ได้มีการแต่งตั้งให้เจ้าชายอับดุลลอฮ์ พระเชษฐา เป็นองค์รัชทายาทแทน เนื่องจากได้รับเสียงคัดค้านจากคนในราชสำนัก รวมถึงพันธมิตรอาหรับชาติอื่นที่มองว่าเจ้าชายฮัมซาห์ยังทรงพระเยาว์และไม่มีประสบการณ์ในบริหารประเทศมากพอ แต่ทันทีที่เจ้าชายอับดุลลอฮ์ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.2542 ต่อจากพระราชบิดา พระองค์ทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายฮัมซาห์เป็นผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ ก่อนจะทรงมีคำสั่งปลดพระอนุชาออกจากตำแหน่งรัชทายาทและทรงมอบตำแหน่งดังกล่าวในเจ้าชายฮุสเซน บิน อับดุลลอฮ์ พระโอรสของพระองค์ใน พ.ศ.2547 โดยกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ทรงให้เหตุผลว่าพระองค์ต้องการมอลบอิสระภาพให้แก่เจ้าชายฮัมซาห์ และถือเป็นการปลดปล่อยพระอนุชาจากภาระอันหนักอึ้งที่ต้องแบกรับในฐานะมกุฎราชกุมาร

เหตุการณ์ปลดพระอนุชาออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมารใน พ.ศ.2547 คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีก่อนหน้า เมื่อครั้งที่กษัตริย์ฮุสเซนทรงปลดเจ้าชายฮัสซัน บิน เฏาะลาล ซึ่งเป็นพระอนุชา ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร และทรงแต่งตั้งเจ้าชายอับดุลลอฮ์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ขึ้นตำรงตำแหน่งแทน

สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน (ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

เจ้าชายฮัมซาห์ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวจอร์แดนเนื่องจากทรงมีพระพักตร์ที่คล้ายคลึงกับพระราชบิดาเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับชนเผ่าเบดูอิน ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในแถบตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาเหนือ เฉพาะในจอร์แดนมีประชากรชนเผ่าเบดูอินอาศัยอยู่มากถึง 1,300,000 คน อีกทั้งพระองค์ยังได้รับความนิยมจากผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ที่ลี้ภัยการเมืองจากสงครามกับอิสราเอลใน พ.ศ.2491 มาอาศัยอยู่ในจอร์แดน นอกจากนี้ เจ้าชายฮัมซาห์ยังทรงเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายอย่าง อาทิ นายพลจัตวาแห่งกองทัพบกจอร์แดน เป็นต้น

ท่าทีของชาติพันธมิตร

ทันทีที่คลิปวิดีโอของเจ้าชายฮัมซาห์และแถลงการณ์จากฝั่งรัฐบาลเผยแพร่ออกไป ประเทศพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจอร์แดนอย่างซาอุดีอาระเบียก็ออกแถลงการณ์สนับสนุนกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ทันที

แถลงการณ์จากราชสำนักซาอุดีอาระเบีย

“ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียขอยืนหยัดเคียงข้างราชอาณาจักรจอร์แดนซึ่งเป็นดั่งบ้านพี่เมืองน้อง ทั้งนี้ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียขอสนับสนุนการกระทำ การตัดสินใจ และวิธีการต่างๆ ที่สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 และเจ้าชายฮุสเซน มกุฎราชกุมารแห่งจอร์แดน ทรงไตร่ตรองมาดีแล้วในการคงไว้ซึ่งความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ”

นอกจากนี้ยังมีประเทศพันธมิตรในตะวันออกกลางอีกอย่างน้อย 7 ประเทศที่แสดงท่าที่สนับสนุนกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต โอมาน อิรัก การ์ตาร์ เยเมน นอกจากนี้ยังมี โมร็อคโก อียิปต์ สันนิบาตอาหรับ และปาเลสไตน์ ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนรัฐบาลจอร์แดนและกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2

สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 กษัตริย์องค์ปัจจุบันของจอร์แดน
(ภาพจากรัฐสภายุโรป)

 

ด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของจอร์แดนก็ร่วมสนับสนุนกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ด้วยเช่นกัน โดย เนด ไพรซ์ โฆษกรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งอีเมลแถลงต่อสำนักข่าว CNN ว่ากษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 คือพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ

“เรากำลังติดตามรายงานเรื่องนี้และติดต่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของจอร์แดนอย่างใกล้ชิด กษัตริย์อับดุลลออฮ์ที่ 2 เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ และสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างเต็มที่มาโดยตลอด” ไพรซ์ระบุในอีเมล

จอร์แดนเป็นประเทศพันธมิตรที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นหนึ่งในประเทศอาหรับกลุ่มแรกๆ ที่ให้การรับรองสถานะของอิสราเอล นอกจากนี้ จอร์แดนยังเป็นดินแดนที่มีความโดดเด่น เนื่องจากที่ตั้งของประเทศอยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่ความขัดแย้ง โดยฝั่งตะวันตกติดกับอิสราเอล ฝั่งตะวันออกและตอนใต้อยู่ติดกับซาอุดีอาระเบีย ส่วนตอนเหนือติดกับซีเรียและอิรัก ซึ่งความมั่นคงของจอร์แดนส่งผลต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอิสราเอล เพราะจอร์แดนมีอาณาเขตติดกับเขตเวสต์แบงก์ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวของอิสราเอล อีกทั้งจอร์แดนยังเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก

แผนที่ประเทศจอร์แดนบนคาบสมุทรอาหรับ (พื้นที่สีเหลืองคือเขตเวสต์แบงก์)
(ภาพจากวิกิพีเดีย)
 

จอร์แดน สำคัญอย่างไรในภูมิภาคตะวันออกกลาง

จอร์แดนประกาศเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษใน พ.ศ.2489 ถัดมาอีก 2 ปี จอร์แดนเข้าร่วมกับชาติอาหรับในสมรภูมิสงครามระหว่างสันนิบาตอาหรับและอิสราเอล โดยฝั่งสันนิบาตอาหรับเป็นผู้ชนะสงคราม ทำให้จอร์แดนสามารถยึดครองพื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงเยรูซาเลมและพื้นที่ในเขตเวสต์แบงก์ไว้ได้ ก่อนที่อิสราเอลจะยึดพื้นที่ทั้งหมดได้หลังสงครามใน พ.ศ.2510 ถึงแม้พื้นที่ทั้งหมดรวมถึงมัสยิดอักซอจะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล แต่สิทธิในการดูแลรักษามัสยิดอักซอยังเป็นของราชวงศ์ฮัชไมต์ของจอร์แดน ซึ่งศาลสูงสุดมุสลิมตัดสินให้ฮุสเซน บิน อาลี กษัตริย์องค์แรกแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์ฮิญาซ ต้นตระกูลของราชวงศ์ฮัชไมต์จอร์แดน เป็นผู้ดูแลสถานที่ศักดิ์แห่งนี้

ราชวงศ์ฮัชไมต์ หรือราชวงศ์ฮาชิม (คำอ่านตามภาษาอาหรับ) คือผู้ปกครองจอร์แดนมาตั้งแต่ พ.ศ.2464 ซึ่งเป็นราชวงศ์เดียวกับที่เคยปกครองนครเมกกะในซาอุดีอาระเบีย อิรัก และซีเรียในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเป็นราชวงศ์ที่ปกครองประเทศจอร์แดนอย่างสงบสุขท่ามกลางวิกฤตการณ์อาหรับสปริงใน พ.ศ.2554

ความมั่นคงของจอร์แดนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะจอร์แดนวางตัวเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรียและอิรัก โดยจอร์แดนมีชาวปาเลสไตน์ที่ขึ้นทะเบียนเป็นอยู่ลี้ภัยอย่างถูกต้องมากกว่า 2,000,000 คน และมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องอีกกว่า 600,000 คน

ความตึงเครียดทางการเมืองภายในของจอร์แดนเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างจอร์แดนกับอิสราเอลอยู่ในช่วงตกต่ำ สืบเนื่องจากการที่ทางการจอร์แดนไม่ยอมให้เที่ยวบินของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล บินผ่านน่านฟ้า ส่งผลให้เที่ยวบินของเนทันยาฮูซึ่งมีจุดหมายปลายทางลงจอดที่สหรัฐอาหรับเอมิตส์ (UAE) ต้องล่าช้าออกไป ในเวลาต่อมา เนทันยาฮู จึงออกคำสั่งห้ามเที่ยวบินสัญชาติจอร์แดนบินผ่านน่านฟ้าของอิสราเอลเพื่อเป็นการโต้กลับ

กรณีพิพาทระหว่างจอร์แดนและอิสราเอลครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การเจรจาข้อตกลงสันติภาพใน พ.ศ.2537 โดยจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของความขัดแย้งรอบนี้เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของอิสราเอลปฏิเสธคณะอารักขาของเจ้าชายฮุสเซน บิน อับดุลลอฮ์ มกุฎราชกุมารแห่งจอร์แดน ไม่ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ ทำให้แผนการเสด็จฯ เยือนมัสยิดอักซอของเจ้าชายฮุสเซนต้องยกเลิกไป

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net