Skip to main content
sharethis

รายงาน Suisse Secrets เผยกษัตริย์จอร์แดนซุกเงินในธนาคารสวิสอย่างน้อย 8,100 ล้านบาท และมีบัญชีเงินฝากอย่างน้อย 6 บัญชี ด้านสำนักพระราชวังจอร์แดน โต้ เป็นเงินส่วนพระองค์ใช้สำหรับ ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ขณะที่ประชาชนจอร์แดนเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และสถาบันการเมือง แก้ปัญหาปากท้อง การว่างงาน และเศรษฐกิจถดถอย ที่กินเวลานานกว่า 10 ปีนับตั้งแต่อาหรับสปริง

  • กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดนมีบัญชีเงินฝากฝนธนาคารเครดิตสวิสอย่างน้อย 6 บัญชี โดยหนึ่งในนั้นมีเงินฝากสูงถึง 8,100 ล้านบาท
  • ทนายความส่วนพระองค์ชี้แจงว่าเป็น ‘เงินฝากส่วนพระองค์’ และทรงนำไปใช้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
  • ก่อนหน้านี้ พระองค์มีชื่อปรากฏใน ‘แพนโดราเปเปอร์ส’ ว่าครอบครองบ้านหรูในสหรัฐฯ และอังกฤษ มูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ประชาชนชาวจอร์แดนเรียกร้องให้มีการ ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ มาตั้งแต่ยุคอาหรับสปริง
  • คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ตั้งโดยกษัตริย์ออกกฎการเลือกตั้ง เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น แต่การแก้ไขรัฐธรรมครั้งล่าสุดของรัฐบาลซึ่งแต่งตั้งโดยกษัตริย์ กลับเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์สามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองได้ เช่น ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภา ผู้บัญชาการทหาร และสามารถก่อตั้ง ‘สภาความมั่นคงแห่งชาติ’ ได้

2 มี.ค. 2565 เดอะการ์เดียน (The Guardian) หนึ่งในสำนักข่าว 48 แห่งจาก 39 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมในโครงการข่าวสืบสวนสอบสวน Suisse Secrets เช่นเดียวกับประชาไท เปิดเผยว่าสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 กษัตริย์แห่งจอร์แดนทรงมี ‘บัญชีลับ’ ในธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) อย่างน้อย 6 บัญชีเพื่อซุกซ่อนความร่ำรวยของราชวงศ์ โดยข้อมูลที่ค้นพบระบุว่ากษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ทรงเปิดบัญชีใหม่ในธนาคารสวิสเมื่อ พ.ศ.2554 จำนวน 2 บัญชี ซึ่งในปีนั้นเป็นปีที่กระแสต่อต้านเผด็จการ หรืออาหรับสปริง (Arab Spring) กำลังลุกโชนไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง และสร้างความหวั่นไหวให้กับราชวงศ์แถบนั้นเป็นอย่างมาก เพราะเกิดการประท้วงขึ้นในหลายประเทศ เช่น อียิปต์ และซีเรีย

กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ทรงเลือกธนาคารที่พระองค์สามารถแบ่งปันความลับต่างๆ ได้ โดยเฉพาะความลับด้านความร่ำรวย และตลอด 5 ปีที่ผ่านมาหลังเปิดบัญชีกับธนาคารเครดิตสวิส พระองค์กลายเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากบัญชีธนาคารอย่างน้อย 6 บัญชี ส่วนสมเด็จพระราชินีราเนีย ซึ่งเป็นพระมเหสี ทรงมีบัญชีแยกส่วนพระองค์ จากข้อมูลบัญชีธนาคารเครดิตสวิสที่หลุดออกมาพบว่ากษัตริย์และราชินีแห่งจอร์แดนมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี โดยหนึ่งในบัญชีนั้นมีเงินฝากสูงกว่า 230 ล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 8,100 ล้านบาท

ราชวงศ์ฮัชไมต์แห่งจอร์แดนเป็นหนึ่งในราชวงศ์ในโลกยุคปัจจุบันที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ซึ่งครองราชย์มาตั้งแต่ พ.ศ.2542 กลับเผชิญกับความสั่นคลอนภายในประเทศอยู่ไม่น้อย เพราะกระแสอาหรับสปริงซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติโค่นล้มผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานทั้งในตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย และเยเมน ทั้งยังส่งผลให้เกิดสงครามที่รุนแรงและยืดเยื้อในซีเรีย อย่างไรก็ตาม จอร์แดนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่นคงสูงที่สุดในภูมิภาคสามารถขจัดภัยคุกคามรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามที่มีต่ออำนาจรวชวงศ์ได้ด้วยการปราบปรามผู้เห็นต่างและสัญญาว่าจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ประเทศ

แต่ในช่วงทศวรรษต่อมา สภาวะทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ระดับความยากจนที่ยังคงอยู่ อัตราการว่างงานที่สูง การตัดสวัสดิการ และมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงินที่ดูเหมือนจะเคร่งครัดกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งหมดนี้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นทั่วประเทศจอร์แดนอย่างต่อเนื่อง ความไม่พอใจที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดระหว่างกษัตริย์และประชาชนส่วนใหญ่ของจอร์แดน หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อนุมัติเงินกู้และเงินช่วยเหลือแก่จอร์แดนก้อนแรกในปี 2559 เป็นเงิน 72.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือด้านการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และอนุมัติเพิ่มเติมอีก 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เพื่อนำมากอบกู้วิกฤตโควิด-19 ในประเทศ ทำให้จอร์แดนกลายเป็นหนึ่งในลูกหนี้รายใหญ่ของ IMF และทำให้ประชาชนชาวจอร์แดนต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังที่สุดด้วยเหตุผลเรื่องการชำระหนี้ แต่ในขณะเดียวกัน โครงการข่าวสืบสวนสอบสวนระดับโลกอย่าง Suisse Secrets กลับค้นพบว่ากษัตริย์จอร์แดนได้ย้ายเงินจำนวนมากเข้าไปฝากไว้ที่ธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์

ข้อมูลของธนาคารเครดิตสวิสที่หลุดออกมาใน Suisse Secrets เป็นข้อมูลบัญชีธนาคารกว่า 18,000 รายการ โดยแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อส่งต่อให้กับสำนักข่าวซุดดอยท์เชอไซทุง (Süddeutsche Zeitung) หนังสือพิมพ์รายวันที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมิวนิก รัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี โดยแหล่งข่าวคนดังกล่าวบอกว่ากฎหมายความลับทางธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์นั้น “ขัดต่อหลักศีลธรรม” และทำให้เกิดอาชญากรรมทางการเงินอื่นๆ เช่น การหลบเลี่ยงภาษี หรือการฟอกเงิน เป็นต้น

คำตอบของผู้แทนสำนักพระราชวังจอร์แดน

ทนายความของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 และพระราชินีราเนีย ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในโครงการ Suisse Secrets ว่าการเป็นลูกค้าของธนาคารเครดิตสวิสไม่ใช่เรื่องผิด และแสดงบัญชีแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งทนายความระบุว่าเงินเหล่านี้เป็นไปตามกฎหมายการจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีตามกฎหมายของจอร์แดน ซึ่งปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสถาบันกษัตริย์ทรงเป็นขอยกเว้นสำหรับกฎหมาย ทนายความของกษัตริย์จอร์แดนยังบอกอีกว่าเงินส่วนใหญ่ที่อยู่ในบัญชีธนาคารเครดิตสวิสเป็นเงินมรดกที่มาจากสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน พระบิดาของพระองค์ และในจอร์แดนไม่มีกฎหมายเรื่องการเก็บภาษีมรดก

(ซ้ายไปขวา) เจ้าชายฮุสเซน มกุฎราชกุมารจอร์แดน, พระราชินีราเนีย, กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2, โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ณ ทำเนียบขาว เมื่อเดือน ก.ค. 2564
 

คำตอบที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทนายความของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ที่ส่งถึงเดอะการ์เดียนระบุว่าบัญชีธนาคารเครดิตสวิสทั้งหมดที่สำนักข่าวได้ข้อมูลมานั้น มีเพียงบัญชีเดียวยังคงเปิดอยู่ และระบุว่าบัญชีต่างๆ นั้นประกอบด้วยบริษัทจัดการการลงทุนส่วนตัวหลายแห่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนกองทุนทรัสต์ที่มีไว้สำหรับพระโอรสและธิดาของพระองค์ ทนายความระบุเพิ่มเติมว่าหนึ่งในบัญชีเหล่านี้เปิดขึ้นเพื่อฝากเงินที่ได้จากการขาย “เครื่องบินลำใหญ่” ของราชวงศ์ และนำเงินไปซื้อเครื่องบินเจ็ตอีกลำ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่ากษัตริย์จอร์แดนทรงมีเครื่องบินเจ็ตอย่างน้อย 2 ลำ

ทนายความของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 กล่าวว่าทรัพย์สินส่วนพระองค์ “คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่น้อย” ถูกใช้ไปกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริความศักยภาพส่วนพระองค์ โดยมุ่งหวังช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประชาชนชาวจอร์แดน รวมถึงเพื่อฟื้นฟูมัสยิดที่สำคัญๆ อย่างไรก็ตาม ทนายความปฏิเสธที่จะบอกว่ากษัตริย์แห่งจอร์แดนทรงใช้เงินในโครงการเหล่านั้นไปกี่เปอร์เซ็นต์

กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ขณะปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เสด็จฯ เยือนบ้านเด็กกำพร้าในจอร์แดนเมื่อปี 2562
 

ความร่ำรวยของกษัตริย์จอร์แดนและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

การเปิดเผยเรื่องบัญชีลับในธนาคารสวิสของราชวงศ์จอร์แดนเกิดเกิดขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาที่ระสับระส่าย เพราะเมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านี้ ราชวงศ์จอร์แดนเพิ่งถูกเปิดเผยว่ามีชื่ออยู่ใน ‘แพนโดราเปเปอร์ส’ เอกสารหลุดทางการเงินครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับ ‘ปานามาเปเปอร์ส’ ที่เปิดเผยเส้นทางการเงินของบุคคลสำคัญทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขต (off-shore company) ข้อมูลในแพนโดราเปเปอร์สระบุว่ากษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หรูมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในมาลิบู เมืองตากอากาศในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ และที่เบลกราเวีย ย่านหรูใจกลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

เดอะการ์เดียนระบุว่าข้อมูลการเงินและบัญชีธนาคารในต่างประเทศล้วนเพิ่มข้อกังขาให้กับกษัตริย์อจร์แดนผู้ครองราชย์มานานร่วม 22 ปีและใช้ชีวิตในแบบที่ตัดขาดจากความเป็นจริงตามข้อเรียกร้องของประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบกฎหมายที่แตกต่างกัน หน่วยข่าวกรองจอร์แดนเร่งปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์หลังจากที่ข้อมูลการเงินลับของกษัตริย์จอร์แดนเผยแพร่ออกไปในแพนโดราเปเปอร์ส นักข่าวที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกไต่สวน บางคนถูกกล่าวหาว่า “ชังชาติ” นักข่าวบางส่วนรู้สึกว่าตัวเองถูกข่มขู่ให้ปิดปากเงียบ ส่วนสำนักข่าวใดในจอร์แดนที่เปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวจะได้ “รับสาย” จากหน่วยข่าวกรอง ขอให้เลิกเผยแพร่เรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทนายความของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ปฏิเสธข้อกล่าวหาการปราบปรามสื่อหลังมีการเผยแพร่ข่าวแพนโดราเปเปอร์ส และไม่ขอลงรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติมในเรื่องนี้

“เราภักดีต่อประเทศ ไม่ใช่ภักดีต่อกษัตริย์เพียงคนเดียว ถ้าการปกครองดี เราก็คงจะภักดีต่อไป แต่มันไม่ใช่ มันคือการทุจริต”

2 ปีก่อนหน้าที่จะมีการเผยแพร่เอกสารแพนโดราเปเปอร์ส กองกำลังความมั่นคงแห่งจอร์แดนบุกไปที่บ้านของโมอายัด อัล-มาฮาลี (Moayyad al-Majali) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและนักวิจัยอิสระผู้ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนเป็นชื่อของกษัตริย์ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จับกุมตัวอัล-มาฮาลีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พูดจาอาฆาตมาดร้ายแก่กษัตริย์ และยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายจากการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว โดยการตั้งข้อหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงเพราะอัล-มาฮาลีตั้งคำถามว่า “กษัตริย์เป็นเจ้าของที่ดินมากเท่าไร”

การมีบัญชีเงินฝากในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องผิดและไม่มีข้อบ่งชี้ว่ากษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ทำผิดกฎหมายด้วยการสร้างความร่ำรวยในดินแดนชายฝั่งซึ่งเป็นสวรรค์ของการหลีกเลี่ยงภาษี ส่วนกรณีการมีบัญชีเงินฝากในธนาคารเครดิตสวิสนั้นก็ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ระบุว่าพระองค์ทรงกระทำความผิดหรือกระทำการใดๆ ที่ขัดต่อการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลสถานะทางการเงินของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ทั้งในกรณีแพนโดราเปเปอร์สและ Suisse Secrets จะช่วยตั้งคำถามต่อที่มาของทรัพย์สินต่างๆ ที่พระองค์โยกย้ายออกจากจอร์แดน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศปีละหลายพันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังช่วยให้คนเริ่มตั้งคำถามต่อว่ากษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 กำลังมองหา ‘ที่หลบภัยทางการเงิน’ ให้แก่ครอบครัวของพระองค์ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญความยากลำบากอย่างถึงที่สุด แบบนั้นใช่หรือไม่

ความไม่มั่นคงภายในราชวงศ์จอร์แดน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จอร์แดนเกิดการประท้วงและเกิดความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่มีคำสั่งปลดนายกรัฐมนตรี จนทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาพกระท่อนกระแท่น และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาตลอด แม้กระทั่งชนเผ่าต่างๆ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนที่มั่นคงให้แก่กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 และได้รับการยกย่องจากคนส่วนใหญ่ พวกเขายังแสดงท่าทีไม่พอใจต่อรัฐที่ไม่สามารถบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้

เมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว การปกครองภายใต้กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดนถูกคุกคามในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน ลูก อดีตมกุฎราชกุมารและพระอนุชาต่างพระมารดาของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ถูกคุมขังและผู้ช่วยของเจ้าชายฮัมซาห์อีก 2 คนถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านรัฐบาล หลังจากค้นพบว่ามีแผนเตรียมการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจกษัตริย์องค์ปัจจุบัน

ผู้สนับสนุนของเจ้าชายฮัมซาห์อธิบายว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่อง “การก่อกบฎ” ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมาก แต่ว่าหน่วยข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจอร์แดนบางส่วนเชื่อว่าเหตุการณ์นี้มีที่มาจาก “ดีลแห่งศตวรรษ” หรือแรงกระตุ้นของเจ้าหน้าในรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อสถาปนากษัตริย์ที่สามารถเหนี่ยวรั้งความล้มเหลวในการแก้ปัญหาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

ชาวจอร์แดนเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ความโกรธและความไม่พอใจที่มีต่อกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 และรัฐบาลจอร์แดน ส่งเสียงดังกึกก้องอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนทั่วกรุงอัมมาน เมืองหลวงของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการประท้วงช่วงล่าสุดเรื่องอัตราการว่างงานและสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ในบางการชุมนุม ผู้ชุมนุมมีการทำหุ่นจำลองของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 และใช้รองเท้าฟาดไปที่หุ่นจำลองของพระองค์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติอย่างมากในโลกอาหรับ อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ฮัชไมต์ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ยังไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ระส่ำระส่ายมากนักในช่วงเวลานี้

“เราไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญแบบไหนที่ให้อำนาจแก่กษัตริย์มากขนาดนี้” -- โอราอิบ รันตาวี

ดาอูด คุตตาบ (Daoud Kuttab) นักข่าวชาวปาเลสไตน์และผู้อำนวยการทั่วไปของเครือข่ายสื่อในกรุงอัมมาน คาดการณ์ว่าการเปิดเผยข้อมูลบัญชีลับของกษัตริย์ในโครงการข่าว Suisse Secrets น่าจะกระพือความโกรธแค้นให้กับชาวจอร์แดน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กำลังว่างงาน

“กษัตริย์และรัฐบาลจะต้องเผชิญกับการประท้วงและการชุมนุมต่อไป แต่พวกเขาคงจะจัดการเรื่องนี้แบบที่เคยทำมาในการเปิดโปงครั้งก่อนๆ แต่มันจะยากขึ้น” คุตตาบกล่าว

ย้อนกลับไปในปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสอาหรับสปริงกำลังเบ่งบานทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง กลุ่มผู้ประท้วงชาวจอร์แดนออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เนื่องจากไม่พอใจกับการบริหารบ้านเมืองโดยกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ผู้ประท้วงบางคนเรียกกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ว่า “อาลีบาบาที่ 2 และหัวขโมย 40 คน” พร้อมเรียกร้องให้พระองค์ยุบสภาและเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ในการประท้วงครั้งนั้นไม่ได้มีแค่ประชาชนทั่วๆ ไปที่มาร่วมชุมนุม แต่ยังมีกองกำลังความมั่นคงและตำรวจควบคุมฝูงชนมาร่วมเดินขบวนด้วย โดยตำรวจคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “เราภักดีต่อประเทศ ไม่ใช่ภักดีต่อกษัตริย์เพียงคนเดียว ถ้าการปกครองดี เราก็คงจะภักดีต่อไป แต่มันไม่ใช่ มันคือการทุจริต”

การชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของจอร์แดนเมื่อ พ.ศ.2555
(ภาพจากวิดีโอ Jordan Protests Take Aim at King โดย VOA News)
 

สภาจอร์แดนผ่านกฎหมายเพิ่มอำนาจสถาบันกษัตริย์

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าสมาชิกสภาล่างและสภาสูงแห่งจอร์แดนเพิ่งลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด เปิดทางให้รัฐบาลสามารถจัดตั้ง “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ให้กว้างมากยิ่งขึ้น เพราะตำแหน่งสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีมหาดไทย หัวหน้าหน่วยความมั่นคง และบุคคลอื่นๆ ที่แต่งตั้งโดยกษัตริย์จอร์แดน และที่ปรึกษาเหล่านี้จะต้องเข้าร่วมประชุมตามวาระ “ความจำเป็นแห่งรัฐ” ซึ่งขึ้นอยู่กับการเชิญของกษัตริย์

นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดของจอร์แดนยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาในมาตรา 40 ซึ่งขยาย “พระราชอำนาจเฉพาะ” ของกษัตริย์ในการแต่งตั้งและเพิกถอนหัวหน้าฝ่ายตุลาการ หัวหน้าสภาพิจารณาคดีชารีอะห์ รวมถึงตำแหน่งทางศาลอื่นๆ สิ่งนี้ทำให้กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 มีพระราชอำนาจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมากเกินกว่าพระราชอำนาจเดิมของพระองค์ที่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาล่าง ประธานสภาสูง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้บัญชาการกองทัพ รวมถึงหัวหน้าหน่วยความมั่นคงอื่นๆ

อัลจาซีราระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นผลมาจากคำแนะนำของคณะกรรมการแห่งราชวงศ์เพื่อปฏิรูประบบการเมืองให้ทันสมัย (RCMPS) ประกอบด้วยสมาชิก 92 คนที่กษัตริย์ฮับดุลลอฮ์ที่ 2 ทรงไว้วางใจ โดยพระองค์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นหลังจากจอร์แดนมีอัตราการว่างงานสูงขึ้นจนนำมาสู่ความไม่พอใจของประชาชน และหลังจากเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในราชวงศ์กับเจ้าชายฮัมซาห์ พระอนุชาต่างพระมารดาของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2

บีเชอ อัล คาซวอเนห์ (Bisher al-Khasawneh) นายกรัฐมนตรีจอร์แดนอธิบายว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็น “วาล์วนิรภัย” ที่รับประกันว่า “จะไม่มีการตัดสินใจด้วยความลำเอียงใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประเด็นระดับชาติ” โดยสื่อของรัฐบาลจอร์แดนเป็นผู้ยกคำพูดนี้มารายงานต่อ ด้าน อับดุล โมเนม โอดัท (Abdul Monem Odat) ประธานสภาล่างคนปัจจุบันกล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่าสภาดังกล่าวจะอำนวยความสะดวกในการประสานงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าสภานี้จะสร้าง “กิ่งก้านที่ 4 ของรัฐบาล”

กษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 ขณะทรวงกล่าวสุนทรพจน์บนบัลลังก์ ณ รัฐสภาจอร์แดนในปี 2557
 

“เราไม่เคยเห็นรัฐธรรมนูญแบบไหนที่ให้อำนาจแก่กษัตริย์มากขนาดนี้” โอราอิบ รันตาวี หัวหน้าศูนย์ Al Quds เพื่อการศึกษาการเมือง ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงอัมมาน กล่าว

“เราไม่มีปัญหากับการบริหารอำนาจในวงกว้างของกษัตริย์ เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าพระองค์คือประมุขแห่งรัฐ แต่คุณจะไม่เหลืออะไรให้กับนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว” ราอิด โอมารี นักข่าวชาวจอร์แดนและนักวิเคราะห์การเมืองมากประสบการณ์กล่าว

แม้ว่าจอร์แดนจะถูกระบุว่ามีการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย แต่ลักษณะการใช้อำนาจของกษัตริย์นั้นแตกต่างจากระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยโดยทั่วไป เพราะกษัตริย์จอร์แดนมีอำนาจในการแต่งตั้งหรือสั่งปลดนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาสูงโดยตรง ซึ่งการที่กษัตริย์มีอำนาจบริหารบ้านเมืองเช่นนี้ถือเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามคำนิยามเชิงรัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับนิยามของฟรีดอมเฮาส์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานส่งเสริมการเสรีภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน ที่ระบุว่าจอร์แดนปกครองโดยระบอบกษัตริย์

คณะกรรมการ RCMPS ที่ตั้งโดยกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่ 2 เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยด้วยการเรียกร้องให้ผู้หญิงและคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และเปิดพื้นที่ให้กับพรรคการเมืองได้มีบทบาทในสภา โดยเสนอให้สภาต้องสงวนที่นั่ง 30% ไว้ให้พรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า และจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 60% ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป เพราะในปัจจุบัน พรรคการเมืองในจอร์แดนมีที่นั่งในสภาเพียง 10% เท่านั้น โดยสมาชิกสภาล่างส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายชนเผ่าหรือได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัว

ดีมา ตาห์บูบ อดีตสมาชิกสภาล่างของจอร์แดน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ RCMPS  กล่าวว่า “น่าเสียดายที่รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก 2 ครั้ง ซึ่ง[สิ่งที่รัฐบาลแก้ไข]ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในแพ็คเกจการปฏิรูปประเทศที่เสนอและอนุมัติโดยคณะกรรมการ”

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net