Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดสถิติคดีเดือนมีนาคมมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 199 คน ใน 61 คดี ยอดรวม 8 เดือนเกินครึ่งพัน ชี้ปัญหาคดี 112 ส่วนใหญ่มีประชาชนและกลุ่มปกป้องสถาบันฯ แจ้งความเองอีกทั้งญาติ เพื่อนและทนายความของผู้ที่ถูกคุมขังยังเยี่ยมได้ยาก

สถิติประเภทคดีรวมตั้งแต่ 18 ก.ค.2563 ถึง31 มี.ค.2564 ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

6 เม.ย.2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดสถิติคดีที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมในรอบเดือนมีนาคม 2564 ที่มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 199 คน และคดีเพิ่มขึ้น 61 คดี ภายในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว

ทำให้ยอดรวมตั้งแต่ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563 ถึง31 มี.ค.2564 เป็นเวลา 8 เดือนเศษ ที่มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 581 คน ในจำนวน 268 คดี โดยแบ่งออกเป็นประเภทคดีสำคัญๆ ดังนี้

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 82 คน ในจำนวน 74 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 103 คน ในจำนวน 26 คดี

3. ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 171 คน ใน 35 คดี

4. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 444 คน ในจำนวน 128 คดี แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 105 คดี

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 457 คน ใน 136 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 87 คน ในจำนวน 62 คดี

6. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 35 คน ใน 40 คดี

ในจำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จำนวน 35 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของพ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

นอกจากนั้นยังมีจำนวน 41 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ, ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ หรือข้อหากีดขวางการจราจร เป็นต้น

ศูนย์ทนายความฯ ยังระบุถึงแนวโน้มสำคัญ 3 ประเด็นที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ประเด็นแรก จำนวนคดี 112 เพิ่มในเดือนมีนาคมมี 27 คดี 22 คน และแนวโน้มคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นด้วยคือ 15 คดีซึ่งเกินครึ่งของคดีทั้งเดือน และคดีส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการแจ้งความโดยกลุ่มประชาชนทั่วไปหรือเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ โดยไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ทั้งที่ บก.ปอท. และสถานีตำรวจต่างๆ บางคดียังมีการไปแจ้งความในสถานีตำรวจที่เป็นพื้นที่ห่างไกล สร้างภาระทางคดีต่อผู้ถูกกล่าวหาในการต่อสู้อีกด้วย ซึ่งสะท้อนปัญหาของมาตรา 112 ที่ให้ใครแจ้งความก็ได้โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเอง

นอกจากนั้นศาลยังคงใช้แนวทางสั่งขังระหว่างต่อสู้คดีทั้งในชั้นฝากขังระหว่างการสอบสวนและขังระหว่างการพิจารณาคดีทำให้มียอดรวมผู้ถูกคุมขังในคดีม.112 รวมแล้ว 14 คน และยังการขังระหว่างต่อสู้คดีนี้ยังส่งผลต่อเนื่องให้ทั้งญาติ เพื่อน หรือแม้กระทั่งทนายความประสบปัญหาในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังอย่างมากโดยทางเรือนจำอ้างถึงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีข้อจำกัดและขั้นตอนในการเยี่ยมผู้ถูกคุมขังเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ประเด็นที่ 2 จำนวนผู้ชุมนุมหรือผู้ร่วมกิจกรรมถูกจับกุมในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการจับกุมทีละจำนวนมากๆ ทั้งการชุมนุมวันที่ 6, 20 และ 28 มี.ค. มีผู้ถูกจับกุม 48 คน 32 คน และ 99 คนตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาถึงแกนนำและผู้ปราศรัยเพิ่มเติมในภายหลังด้วย

นอกจากนั้นระดับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุทั้งการยิงกระสุนอย่างแบบเหวี่ยงแหใส่นักข่าวและผู้ไม่เกี่ยวข้อง ถูกจับกุมหลายรายไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ตามที่ตำรวจกล่าวหา อีกทั้งยังมีการใช้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เป็นสถานที่ควบคุมตัวซึ่งไม่ใช่สถานตำรวจท้องที่ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายและสร้างความลำบากในการติดตามตัวผู้ถูกจับกุมให้กับทนายความและญาติ

ประเด็นสุดท้ายในรายงานระบุถึงจำนวนของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวในเดือนเดียวคือ 18 คน จากทั้งหมดอย่างน้อย 31 คน นอกจากนั้นอายุของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยมีเยาวชนที่ช่วงอายุ 14-15 ปีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 กับเยาวชน 14-15 ปีด้วย

ศูนย์ทนายความฯ ชี้ว่าจากจำนวนของเขาวชนที่ถูกดำเนินคดีนี้สะท้อนให้เห็นความอึดอัดคับข้องใจของคนรุ่นใหม่ต่อสังคมการเมือง ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวและแสดงออกในรูปแบบต่างๆ ของคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่นโยบายของรัฐกลับกดปราบโดยกฎหมายเข้มข้นมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net