(คลิป)สนทนาสาธารณะ “เมื่อรัฐกำลังฆ่าคน: ผลกระทบจากกระบวนการ(อ)ยุติธรรม”

12 เม.ย.2564 ภาคีนักเรียนสื่อ รวมกับประชาไท จัดวงสนทนาสาธารณะ “เมื่อรัฐกำลังฆ่าคน: ผลกระทบจากกระบวนการ(อ)ยุติธรรม” เมื่อคำพิพากษาไม่ให้ประกันตัวจำเลยทางการเมือง ที่อาจส่งผลให้ชีวิตของนักโทษตกอยู่ในความเสี่ยง รวมถึงการใช้กฎหมายลงโทษผู้เห็นต่าง สะท้อนความบิดเบี้ยวและไม่โปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมไทย มาร่วมกันหาคำตอบว่า เราจะทำอะไรได้บ้างในฐานะประชาชน เมื่อกระบวนการยุติธรรม -- ไม่ยุติธรรม? ร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ,สิรภพ อัตโตหิ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนกลุ่มคณะจุฬาฯ ดำเนินรายการโดย รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ภาคีนักเรียนสื่อ ยังรายงานวงสนทนาสาธารณะด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

บทบาทของสื่อต่อกระบวนการยุติธรรม

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บก.บห.สำนักข่าวประชาไท วิเคราะห์การรายงานคำพิพากษาจำคุกแกนนำทางหน้าหนังสือพิมพ์ และตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้น แต่ยังละเลยการรายงานรายละเอียดเชิงลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อโต้แย้งจากฝั่งผู้ต้องขัง เช่น คำแถลงต่อศาลของทนายอานนท์ นำภา นอกจากนี้ควรแปลภาษากฎหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้มากขึ้นด้วย

บก.บห.ประชาไทยังเผยว่า ศาลเริ่มจำกัดเสรีภาพในการายงานข่าว นักข่าวต้องผ่านการอบรมตามกรรมวิธีของศาลจึงจะสามารถขออนุญาตเข้าไปรายงานได้ ระเบียบเล็กๆ น้อยๆ ของศาลเพื่อปิดกั้นการรายงานข่าวเหล่านี้ สื่อมวลชนควรตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

เทวฤทธิ์ ยังชี้ว่า สื่อมวลชนควรรายงานข้อเรียกร้องของแกนนำที่ถูกคุมขังไม่ให้เงียบหายไปจากสังคม เนื่องจากข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นปัญหาร่วมที่สังคมทุกภาคส่วนต้องหาคำตอบร่วมกัน

“สิ่งที่แกนนำทุกคนที่ถูกกักขังพูด มันเป็นปัญหาร่วม ไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของสังคมไทยก็เห็นได้ชัดว่ามีการขยายพระราชอำนาจ ดังนั้นผมคิดว่าไม่ควรยกสิ่งนี้ไปเป็นปัญหาของแกนนำ อย่าคิดว่าขังคนเหล่านี้แล้วจะแก้ปัญหา ปัญหาก็ยังอยู่ เราควรปล่อยคนเหล่านั้นออกมา แล้วมาหาทางแก้ด้วยกัน”

ประสบการณ์ในห้องพิจารณาคดีของทนาย

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ เล่าเหตุการณ์วันที่ 15 มี.ค. 2564 เมื่อพริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในแกนนำและผู้ต้องขังแถลงต่อหน้าศาลว่าจะอดอาหารประท้วง สถานการณ์ก็เกิดความวุ่นวายอย่างไม่สามารถควบคุมได้ พริษฐ์ได้รับโทษฐานละเมิดอำนาจศาล และหลังจากวันนั้นบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีก็เคร่งเครียดขึ้น

“ในคดี 2-3 นัดที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เคร่งครัดมากๆ” ทนายความหญิงระบุว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประกบตามลูกความอย่างใกล้ชิดมาก และพยายามเงี่ยหูฟังขณะทนายกำลังปรึกษาคดีกับลูกความ ซึ่งไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ในสถานการณ์อื่นๆ แม้ห้องพิจารณาคดีจะอยู่ภายใต้อำนาจศาล แต่ผู้พิพากษาก็ไม่ได้ทำให้บรรยากาศดีขึ้น

ศศินันท์กล่าวว่า นี่เหมือนบรรยากาศในเรือนจำมากกว่าห้องพิจารณาคดี เพราะรู้สึกตึงเครียด กดดันและไม่ปลอดภัย ซึ่งไม่เอื้อต่อการต่อสู้คดีที่จะหวังความเป็นธรรมได้ ช่วงเดือนที่ผ่านมาทนายความจึงเริ่มเขียนเล่าบรรยากาศในห้องพิจารณาคดีเพื่อสื่อสารให้สังคมภายนอกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

“เราไม่รู้ว่าเราจะคาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมได้อีกแค่ไหน เราตายด้านกับกระบวนการนี้ไปเรื่อยๆ เราเป็นทนายความมาเกือบ 10 ปีแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองถูกด้อยค่าขนาดนี้มาก่อน รู้สึกว่าอาชีพเราทำอะไรไม่ได้เลย ทำไมต้องมาอยู่ในห้องพิจารณาคดีที่มีบรรยากาศกดดันและไม่ปลอดภัยขนาดนี้”

ศาลไทยในมุมมองนักวิชาการ

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เทียบกรณีไม่อนุญาตให้แกนนำประกันตัวชั่วคราว กับกรณีฝากขังคนเสื้อแดงในช่วงการชุมนุมปี 2553 โดยชี้ให้เห็นจุดร่วมของสองเหตุการณ์ ว่าผู้ต้องขังต่างถูกมองว่าเป็นศัตรูต่อความมั่นคงของรัฐ

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า เรื่องสองมาตรฐานมีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมานานแล้ว ยิ่งเป็นคดีทางการเมืองจะชัดเจน กระทั่งสามารถเดาคำพิพากษาได้จากจุดยืนทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง จะถูกละเลยสิทธิบางอย่างที่พึงได้รับ

“เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่าตัวเองได้รับการคุ้มครองจาก พรก.ฉุกเฉิน รัฐบาลอภิสิทธิ์และ ศอฉ. ประกาศใช้กระสุนจริงอย่างอุกอาจ เพราะเขาเชื่อว่า พรก.ฉุกเฉิน จะป้องกันพวกเขาได้ ขณะที่ประชาชนถูกละเมิดอย่างมหาศาล ในช่วงของวิกฤตทางการเมือง ถ้าคุณทำตัวเป็นศัตรูของผู้มีอำนาจ กฎหมายจะไม่ได้อยู่ข้างคุณ”

อ.พวงทอง ย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมขาดความยึดโยงต่อประชาชน ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนไม่มีผลต่อศาลแม้แต่น้อย เปรียบได้กับการวิ่งชนกำแพง ทั้งยังยกกรณีของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่พยายามฆ่าตัวตายบนบัลลังก์เพื่อประท้วง ทว่าก็ไม่มีคนในกระบวนการยุติธรรมเหลียวแล จึงสรุปได้ว่าการทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

นักกิจกรรมและเพื่อนในเรือนจำ

สิรภพ อัตโตหิ หรือ แรปเตอร์ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นักกิจกรรมและสมาชิกกลุ่มคณะจุฬาฯ ที่จัดกิจกรรม “อดพร้อมเพื่อน” ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะอดอาหารสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อยืนยันวิธีการต่อสู้ด้วยการอดอาหารของบรรดาแกนนำในเรือนจำ และแสดงให้เห็นว่าคนข้างนอกยังไม่ลืมทั้งจะร่วมต่อสู้ไปด้วย

แรปเตอร์กล่าวว่าการพยายามช่วยให้แกนนำผู้ถูกคุมขังได้รับการประกันตัวเป็นเรื่องยากมาก และแทบไม่มีโอกาส เนื่องจากทั้ง 3 อำนาจอธิปไตยล้วนค้ำจุนกันและกัน รัฐบาลใช้วิธีการดำเนินคดีกับแกนนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบั่นทอนพลังและความรู้สึกของมวลชนในขบวนการ

นักกิจกรรมจากจุฬาฯ ระบุว่า ในฐานะประชาชน ยากมากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอำนาจอธิปไตยทั้งสาม (ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) ต่างค้ำจุนกันเอง และกระบวนการยุติธรรมที่หวังพึ่งก็มีความไม่เป็นธรรม สิ่งที่ประชาชนทำได้คือช่วยกันจับตามองไม่ให้ประเด็นนี้หายไปจากสังคม หรือรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องปกติที่ควรจะชินชา

ประชาชนอย่างเราทำอะไรได้บ้าง?

ศศินันท์มองว่า ศาลเป็นองค์กรที่แทบจะแตะต้องไม่ได้ แต่ในปัจจุบันก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่ควรระวังให้อยู่ในขอบเขต เนื่องจากยังมีกฎหมายที่คุ้มครองศาลอยู่ เช่น ละเมิดอำนาจศาล หรือหมิ่นศาล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่ยังคงเป็นปัญหาไม่ต่างจากมาตรา 112

ขณะที่ อ.พวงทอง ให้ข้อสรุปว่า ระบอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันปกครองคนด้วยอำนาจเถื่อนเพียงอย่างเดียว ทำให้ความชอบธรรมเสื่อมสลายลงไปมาก แต่ก็ยังมีมวลชนจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนอยู่ สิ่งที่ประชาชนยังหวาดกลัวคือการใช้ความรุนแรงลงโทษประชาชน และในอนาคตก็มีโอกาสจะรุนแรงขึ้นอีก

“ประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสได้เข้าถึงความยุติธรรมไหม คดีทางการเมืองสำหรับรัฐไทยและกระบวนการยุติธรรม ความมั่นคงของรัฐสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท