Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“We have no eternal allies, and we have not perpetual enemies. Our interests are eternal and perpetual, and those interests it is our duty to follow.(เราไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ผลประโยชน์ของเราเท่านั้นที่เป็นนิรันดร์และถาวร หน้าที่ของเราคือติดตามผลประโยชน์เหล่านั้น)”

Henry John Temple
(เฮ็นรี จอห์น เท็มเปิล)

หลายคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองคงกำลังงงๆ อยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น อยู่ก็เห็นแกนนำเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงขึ้นเวทีด้วยกัน เพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ หรือในอดีตที่ผ่านมาอดีต ส.ส.ที่อภิปรายฟาดฟันกันแทบล้มแทบตายก็กลับมาจูบปากกันเฉย หรือในทางตรงข้ามไม่นึกว่าคนที่แสดงออกว่าซื่อสัตย์ต่อผู้นำทางการเมืองของตนกลับตาลปัตร์มาโจมตีเอาเสียดื้อๆ ที่ร้ายที่สุดอภิปรายประท้วงกันแทบจะชกกัน แต่พอเข้าโรงอาหารสภา กลับนั่งโต้ะเดียวหัวร่อต่อกระซิกกันเหมือนรักกันปานจะกลืน

อันที่จริงแล้วคำกล่าวที่ว่า“การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” นั้น มีที่มาจากการที่เฮ็นรี จอห์น เท็มเปิล,ไวส์เคานต์ พาลเมอร์สตัน ที่ 3 อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงที่กำลังเรืองอำนาจในเวทีโลก โดยเขายังเคยเป็นรัฐมนตรีการสงคราม, รัฐมนตรีต่างประเทศ ตลอดจนรัฐมนตรีมหาดไทย เขามักถูกเรียกโดยชื่อเล่นว่า "แพม" หรือ "พังพอน"

ในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษมีชัยเหนือจีนในสงครามฝิ่นครั้งที่สองและเกิดสนธิสัญญานานกิง  หลังสงครามกับจีนสิ้นสุดลงรัฐบาลของเขาต้องมุ่งความสนใจไปยังสงครามกลางเมืองอเมริกา โดยได้สนับสนุนฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา ซึ่งต้องการแยกตัวจากสหรัฐอเมริกาที่นำโดยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น เนื่องจากหากสหรัฐฯ อ่อนแอลง จะกลายเป็นผลดีต่ออังกฤษ อย่างไรก็ตาม ข้าวโพดจากสหรัฐฯ ยังมีความจำเป็นต่ออังกฤษมากกว่าฝ้ายจากสมาพันธ์ฯ ดังนั้นการเปิดศึกกับสหรัฐฯ โดยตรง อาจได้ไม่คุ้มเสีย นอกจากนี้ รัฐบาลของพาลเมอร์สตันได้ส่งกำลังทหารไปประจำยังมณฑลแคนาดามากขึ้น (ขณะนั้นแคนาดาเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร์)  เนื่องจากกังวลว่า สหรัฐฯ กับสมาพันธ์ฯ อาจจับมือกันรุกรานแคนาดา
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวเขาได้กล่าววาทะอันโด่งดังว่า

“Therefore I say that it is a narrow policy to suppose that this country or that is to be marked out as the eternal ally or the perpetual enemy of England. We have no eternal allies, and we have no perpetual enemies. Our interests are eternal and perpetual, and those interests it is our duty to follow.”

“ด้วยเหตุนี้ ผมจึงบอกว่า มันเป็นนโยบายอันคับแคบที่จะกำหนดว่าประเทศนี้หรือประเทศนั้นเป็นมิตรแท้หรือศัตรูที่ถาวรของอังกฤษ เราไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร ผลประโยชน์ของเราเท่านั้นที่เป็นนิรันดร์และถาวร หน้าที่ของเราคือติดตามผลประโยชน์เหล่านั้น”

และอีกหนึ่งคำกล่าวอมตะของเขาก็คือ “ There are no permanent alliances, only permanent interests. ไม่มีหรอกศัตรูถาวรน่ะ มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้นที่ถาวร” ต่อมานักการเมืองทั้งหลายก็ได้นำวาทะ “เราไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” มาใช้อย่างแพร่หลาย จนถึงทุกวันนี้

ในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราจะเห็นได้ชัดมาก ตัวอย่างมีให้เห็นอยู่เสมอ เช่น จีนกับสหภาพโซเวียต ตอนแรกก็รักกันปานจะกลืนเพราะร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ด้วยกัน แต่ต่อมาก็ทะเลาะกัน แบ่งคอมมิวนิสต์เป็นสายจีนสายโซเวียต หรือกรณีสงครามเวียตนามที่สหรัฐอเมริกายกไพร่พลไปสู้รบจนตายกันเป็นแสนๆ และพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ตอนนี้ก็หันมาจูบปากกันอย่างชื่นมื่น หรือสหรัฐอเมริกากับจีนก็เช่นกันจนต้องใช้การทูตปิงปองมาคืนดีกัน ตอนนี้ก็กลับมาแข่งกันอีก ฯลฯ

ที่ตลกมากๆ ก็คือกรณีไทยกับพม่าที่ตำราเรียนไทยพยายามสร้างให้พม่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ แต่ตอนนี้รัฐบาลทหารไทยกลับไปสนับสนุน อ้างการนับพี่นับน้องนับญาติเป็นลูกบุญธรรมกันอย่างหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่ประเทศอาเซียนอื่นยังสงวนท่าทีและบางประเทศมีปฏิกิริยารังเกียจการรัฐประหารครั้งนี้เป็นอันมาก ส่วนนายกฯเราถึงกับวิ่งแจ้นไปรับเขาที่สนามบินหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่เป็นเพียงตัวแทนในระดับกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น
การนำหลักการ “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร”  ของกลุ่มหรือพรรคการเมืองไทยในอดีตที่นำมาใช้อย่างเปิดเผยในช่วงแรกๆ ซึ่งอาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นการได้รับอิทธิพลจากอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษคนนี้หรือไม่ คือ พรรคชาติไทย สู่พรรคชาติพัฒนา และแตกออกมาเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ ที่ได้รับสมญาว่า “ปลาไหล”  “ไม่ทะเลาะกับใคร” และ “เป็นฝ่ายค้านไม่เป็น” และพรรคการเมืองหรือนักการเมืองอื่นๆ ก็ประพฤติปฏิบัติตามๆ กันมา

ว่ากันตามจริงแล้วพรรคการเมืองนอกเหนือจากพรรคพลังประชารัฐ หากรวมกันได้ แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะมีเสียง ส.ว.สนับสนุนได้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอนก็ตาม แต่พรรคการเมืองรวมกันไม่ถึง 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้อยู่ดี จะเป็นได้ก็แต่เพียงรัฐบาลเสียงข้างน้อย กฎหมายไม่ผ่านสภาฯก็เป็นอันว่าล้มครืน แต่เนื่องเพราะ “มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้นที่ถาวร(only permanent interests)” จึงเกิดปรากฏการณ์เช่นในปัจจุบัน

ไม่แปลกที่การเมืองไทยเราที่เมื่อวานนั่งเป็นรัฐมนตรี ต่อมาโดนทหารยึดอำนาจ พอวันนี้ทหารตั้งรัฐบาลใหม่  ขอเข้าร่วมรัฐบาล นั่งเป็นรัฐมนตรีต่อ ตั้งแต่รัฐประหาร รสช. จนถึงรัฐประหาร คสช. เพราะ “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” นั่นเอง

จริงอยู่ “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” นั้นเป็นธรรมชาติของการเมืองที่เข้าใจได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะการเมืองที่ดีนั้นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ความถูกต้องทางการเมือง(political correctness)” ซึ่งเป็นมาตรฐานในแต่ละสังคมนั้นๆ ด้วย เช่น การประพฤติปฏิบัติหรือการแสดงความความคิดเห็น, นโยบายที่เป็นการหลีกเลี่ยงการดูหมิ่นหรือการสร้างความรู้สึกขุ่นเคืองแก่เพศ, ผิว, วัฒนธรรม, เพศภาพ (Gender identity), วิถีทางเพศ (Sexual orientation), ผู้พิการ,การไม่นอกใจคู่ครอง,การไม่เป็นงูเห่า,การแอบฝากเลี้ยง ฯลฯ น่ะครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net