COVID-19: 24 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 2,839 คน สัปดาห์นี้พบเกิน 20 คลัสเตอร์ใน 19 จังหวัด

ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,839 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 53,022 ราย รักษาหายเพิ่ม 377 ราย รวมรักษาหายสะสม 30,566 ราย เผยสัปดาห์นี้ พบเกิน 20 คลัสเตอร์ใน 19 จังหวัด กทม.มากสุด รพ.ทั่วประเทศเหลือเตียงว่าง 21,138 เตียง 

24 เม.ย. 2564 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์ COVID-19 ผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 2,839 คนรวมผู้ป่วยสะสม 53,022 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,827 คน และเดินทางกลับจากต่างประเทศ 12 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 8 คน รวมตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสม 129 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 0.24 โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 418 คนที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ อีก 113 คน

สำหรับผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 30,566 คน ยังเหลือที่รักษาอยู่ 22,327 คน แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 17,924 คน โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 4,403 คน  ขณะที่ตัวเลขการติดเชื้อระลอก 3 ของเดือนเม.ย.พบว่าตั้งแต่วันที่ 1-24 เม.ย.นี้มีตัวเลขผู้ป่วยสะสม 24,159 คน 

พบเสียชีวิต 8 คนตรวจพบเชื้อวันเดียวตาย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 2,839 คนสาเหตุเพราะเป็นตัวเลขสะสมต้องมีการคลีนข้อมูลหลายรอบ และมีการรวมศูนย์ที่กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อมีตัวเลขสะสมทำให้ยอดรวม 53,022 คน ทั้งนี้ผู้ป่วยกระจุกตัวในกทม.และนนทบุรี 8,242 คนมากสุด ภาคกลาง 7,524 คน และมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเข็มแรก จำนวน 934,449 คนจากวัคซีนที่เข้ามาไทยแล้วเกือบ 2 ล้านโดส เข็มสอง 160,996 คน

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 8 คน รายแรกชายไทยอายุ 48 ปีจ.สมุทรปราการ ประวัติไปสถานบันเทิงย่านศรีนครินทร์ และมีโรคประจำตัวเป็นโรคอ้วน เมื่อวันที่ 12 เม.ย. มีไข้ เจ็บคอ ถ่ายเหลว เมื่อวันที่ 18 เม.ย. พบเชื้อและปอดอักเสบ และเมื่อวันที่ 22 เม.ย. เสียชีวิตในเวลา 18.47 น.

ส่วนคนที่ 2 เป็นหญิงไทย อายุ 83 ปี กทม.มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ในกรุงเทพมหานคร โรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. มีไข้ อ่อนเพลีย เมื่อวันที่ 18 เม.ย. พบเชื้อ และเมื่อวันที่ 22 เม.ย. เสียชีวิตในเวลา 21.05 น.

“กรณีผู้เสียชีวิตรายที่ 3 ชายไทยอายุ 89 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นโรคมะเร็งลำไส้ และมีประวัติ สัมผัส มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. มีไข้ ไอ หายใจลำบาก และเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ผลพบเชื้อ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน”

ส่วนรายที่ 4 ชายไทยอายุ 63 ปี กทม. ประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน มีโรคความดันโลหิตสูงและเก๊าท์ นอกจากนี้รายที่ 5 ชายไทย อายุ 68 ปี จ.ฉะเชิงเทรา มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน รายที่ 6 หญิงไทยอายุ 82 ปี จ.สมุทรปราการ มีโรคมะเร็งปากมดลูก และมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ส่วนรายที่ 7 ชายไทยอายุ 75 ปี จ.สมุทรปราการ มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันและรายที่ 8 ชายไทยอายุ 62 ปี จ.นนทบุรี มีประวัติไปสถานบันเทิง และมีโรคไตวายเรื้อรัง

“ตัวเลขสะสมของสัปดาห์นี้ยังเป็นช่วงขาขึ้น ตัวเลขสะสมถึง 53,022 และเมื่อดูตัวเลขการเข้ารักษา และการตรวจค้นหาเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงในชุมชน ก็ยังมีมากถึง 304 คนในวันนี้”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมกทม.ยังพบสูงสุด 1,582 คน ซึ่งถือว่าสูงมากจากจำนวนผู้ติดเชื้อรวมของวันนี้ และในส่วนของจังหวัดที่รายงานไปก่อน และเข้าสู่ระบบของศบค.รายงาน จะเร่งนำมารายงานให้ตรงกัน สำหรับ 10 อันดับสูงสุดของผู้ติดเชิ้อรายวัน กทม.1,582 คน เชียงใหม่ 151 คน ชลบุรี 119 คน นนทบุรี 96 คน สมุทรปราการ 84 คน ปทุมธานี 59 คน สมุทรสาคร 57 คน สุราษฎร์ธานี 46 คน นครสวรรค์ 38 คนและสงขลา 34 คน

สถิติติดเชื้อระลอกใหม่ป่วย-ตายเพิ่มรายวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก ศบค.พบว่า นับตั้งแต่การระบาด COVID-19 ระลอกแรกในเดือน มี.ค.2563 ถึงวันที่ 24 เม.ย.64 ซึ่งเป็นการระบาดระลอก 3 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุด โดยเฉพาะตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ พบตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะ 1,500 คนต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 15-24 เม.ย. และมีผู้เสียชีวิตสะสม 35 คน

15 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 1,543 คน
16 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 1,582 คน
17 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 1,547 คน เสียชีวิต 2 คน
18 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 1,767 คน เสียชีวิต 2 คน
19 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 1,390 คน เสียชีวิต 3 คน
20 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 1,443 คน เสียชีวิต 4 คน
21 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 1,458 คน เสียชีวิต 3 คน
22 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 1,407 คน เสียชีวิต 7 คน
23 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม 2,070 คน เสียชีวิต 4 คน
24 เม.ย.ติดเชื้อเพิ่ม  2,839 คน เสียชีวิต 8 คน

42 จังหวัดลงโทษ ไม่ใส่หน้ากากออกบ้าน

ขณะที่ศบค.มท.รายงานจังหวัดที่มีบทลงโทษ กรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน สถานที่สาธารณะ รวม 42 จังหวัด ดังนี้ ภาคกลางและภาคตะวันออก กาญจนบุรี (เฉพาะตลาด ตลาดนัด ตลาดน้ำ) ปราจีนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร  ลพบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี สระบุรี ตราด นนทบุรี  

สำหรับภาคใต้ ครอบคลุม จ.สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี  พังงา ภูเก็ต  ระนอง สตูล สงขลา ยะลา ส่วนภาคเหนือ สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ลำพูน และภาคตะวันออกเฉียเหนือ ยโสธร หนองคาย อุบลราชธานี ชัยภูมิ มหาสารคาม มุกดาหาร ศรีสะเกษสุรินทร์  อุดรธานี เลย อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ นครพนม

ศบค. เผยสัปดาห์นี้ พบเกิน 20 คลัสเตอร์ใน 19 จังหวัด กทม.มากสุด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. และที่ประชุมอีโอซี มองภาพการระบาดกระจายทั่วประเทศ และมองภาพความเข้มใน กทม. พบคลัสเตอร์ต่าง ๆ กว้างทั่วประเทศแล้ว สัปดาห์นี้มีกว่า 20 คลัสเตอร์ใน 19 จังหวัด คือ สุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะ กทม. มีมากกว่า 5 คลัสเตอร์มากกว่า 50 คน ทั้งหมดได้รายงานและติดตามกันอย่างใกล้ชิด

นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงคลัสเตอร์ ร้านอาหาร จ.สุโขทัย ว่าพบติดเชื้อรวมกันแล้วกว่า 20 คน และนำไปสู่การติดเชื้อในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจ และยังมีเหตุเชื่อมโยงมาจาก กทม.ด้วย ส่วนรายละเอียดขอให้รอฟังจากการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงบ่ายอีกครั้ง

บทเรียนนี้จะนำไปสู่การหามาตรการและกิจกรรมเรื่องความเสี่ยงของกิจการ กิจกรรมส่วนบุคคล ซึ่งต้องหามาตรการควบคุมที่มีความเหมาะสม และคลัสเตอร์สมุทรปราการ ที่พบติดในชุมชนแล้ว 7 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เลขาฯ สมช. สรุปว่า 1 สัปดาห์สาเหตุการติดเชื้อที่สรุปได้ตอนนี้มาจากการติดเชื้อในที่ทำงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน 2.การติดเชื้อจากการพบปะ การกินอาหารร่วมกัน 3. ติดเชื้อในครอบครัว 4.การมั่วสุมไม่เว้นระยะห่าง ทำกิจกรรมเสี่ยง 5.การทำกิจกรรมรวมกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น เคสสถานดูแลผู้สูงอายุ 6.อาจจะมาจากการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวน และ 7.ผู้ป่วยให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ไทม์ไลน์คลาดเคลื่อนขาดจุดสำคัญ ทำให้กระบวนการสอบสวนโรคล่าช้า

สิ่งที่จะเน้นย้ำคือมาตรการส่วนบุคคล และสถานทีทำงาน ภาครัฐเอกชน ขอให้ทำงานที่บ้านสูงที่สุด เพราะไม่อยากใช้มาตรการที่แรงขึ้นกว่านี้ หากร่วมมือกันจะลดตัวเลขลงได้ รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามภารกิจและมาตรการตามข้อกำหนดของ ศบค.ที่ออกมา

ภาพรวมมีเตียงในโรงพยาบาล 40,524 เตียง ใช้แล้ว 19,386 เตียง เหลือเตียงว่าง 21,138 เตียง

กล่าวว่า ถึงกรณีเตียงไอซียูไม่เพียงพอว่า จากการหารือกับหน่วยงานต่างๆและโรงพยาบาลมีเตียงทั้งหมดทั่วประเทศทุกชนิด 40,524 เตียงแบ่งเป็นห้องความดันลบ 704 เตียงใช้แล้ว 409 เตียง เตียงว่าง 295 เตียง เตียงรวมและห้องความดันลบ 1,688 เตียง ใช้เล้ว 1,009 เตียง เตียงว่าง 673 เตียง ห้อง Modified Air 9,206 เตียง ใช้แล้ว 5,857 เตียง ใช้แล้ว 3,349 เตียง Cohort Ward 22,435 เตียง ใช้แล้ว 8,894 เตียง เหลือ 13,541 เตียง 

ส่วน Hospitel 158 เตียง ใช้แล้ว 88 เตียง เหลือ 70 เตียง ส่วน Cohort ICU 6,333 เตียง ใช้แล้ว 3,129 เตียง เหลือ 3,204 เตียง

“ภาพรวมมีเตียงในโรงพยาบาล 40,524 ใช้ไปแล้วทั้งหมด 19,386 เตียง เหลือเตียงว่าง 21,138 เตียง รวมอัตราครองเตียงร้อยละ 47.8 ดังนั้นจึงยังไม่ถึงวิกฤต เมื่อวานนี้เป็นภาพของกทม.และขออนุญาตปรับชุดข้อมูลว่ามีการจัดการอย่างไร”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนกรณีของกทม.มีการบริหารจัดการเตียงแล้ว แต่ยังพบอัตราครองเตียงสูง เช่น ห้องความดันลบ เหลือว่าง 74 เตียง Modified Air จาก 457 เหลือแค่ 72 เตียง

ปฏิเสธรับการรักษา-โทรกลับไม่ติด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีการโทรเข้าสายด่วนจากเดิมเป็นสีเขียวไม่มีอาการ และเป็นสีแดงจนเสียชีวิตว่า ข้อมูลของกรมการแพทย์ รายงานว่ามีตัวเลขผู้โทรเข้ารอเตียง 2,013 คน จากวันก่อน 1,400 คนจาก เพิ่มขึ้น 590 คน เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) จัดการคนที่รอเตียงเข้ารับการรักษา 724 คน

นอกจากนี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และอธิบดีกรมการแพทย์ หารือว่าจะจัดการกับ 2,013 คน โดยจัด Hospitel โรงพยาบาลสนาม 4 แห่งในกทม.และโทรกลับเพื่อนำทุกคนเข้าในระบบ และหากอาหารรุนแรงจะส่งเข้าโรงพยาบาล ซึ่งทางสพฉ.เป็นผู้ประสานงานในการนำผู้ป่วยเข้าระบบ ขอให้รอรับสาย

"ไม่สบายใจว่ามีบางสายปฏิเสธการแอดมิด และ 146 สายไม่รับสาย ทำให้ไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแล"

รอลุ้นยกมาตรการเข้มเฉพาะพื้นที่ 

คำถามถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงจะกำหนดมาตรการเข้มข้นเพื่อลดรายวันหรือไม่อย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) ท่านรับทราบข้อมูลใกล้ชิด และพูดว่าพร้อมที่จะยกระดับในการดูแลพี่น้องประชาชน แต่ในภาพรวมข้อมูลที่นำเข้ามาต้องวิเคราะห์แยกแยะว่ากลุ่มก่อนไหนที่เป็นปัญหา เช่นกรณีกทม.ที่ยังรอการบริหารจัดการ และถ้าบริหารได้ และลดกิจการ กิจกรรม เป็นมาตาการที่ละเอียดอ่อนมาก

“ขณะนี้ยังอยู่ในช่วง 2 สัปดาห์ หลังประกาศมาตรการ เมื่อ 18 เม.ย.นี้ ถ้าจะยกระดับคุม COVID-19 ต้องดูรายพื้นที่เฉพาะที่มีคนติดเชื้อมาก เพื่อควบคุมสูงสุด ขอให้รอทางฝ่ายยุทธศาสตร์จะเสนอมาตรการออกมาอีกครั้ง”

สมาคมอุรเวชฯ เรียกร้องความร่วมมือทุกฝ่ายฝ่าวิกฤตโควิด

สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกแถลงการระบุว่าด้วยสถานการณ์ที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ศักยภาพของภาคการแพทย์ที่ได้ขยายเพิ่ม (surge capacity) สำหรับเตรียมการรองรับทั้งในโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลเฉพาะกิจ (hospitel) และโรงพยาบาลสนาม กำลังจะหมดลงในเวลาอันสั้น การเร่งขยายศักยภาพเพิ่มเติมบนภาระที่หนักเกินตัวของบุคลากรทางการแพทย์ เท่ากับเร่งให้เกิดการล่มสลายของระบบการดูแลทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงการควบคุมโรคในระยะยาวและการเตรียมการฟื้นฟูประเทศ

ในยามนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและเร่งมือดำเนินการ คือ

1. ฝ่ายรัฐบาล ต้องมีมาตรการเด็ดขาดในการระงับการเคลื่อนย้ายของประชาชนให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อที่มีอยู่เดิมและผู้ที่เสี่ยงสูงเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษา และลดการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ให้น้ำหนักกับข้อมูลและข้อเสนอแนะจากภาคการแพทย์ มากกว่าจากภาคการเมืองที่ไม่สามารถบริหารจัดการวิกฤติสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ฝ่ายประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคโดยเคร่งครัด ให้ความร่วมมือตามคำแนะนำของภาคการแพทย์

3. ภาคการแพทย์ วางระบบการใช้ศักยภาพในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดขั้นตอนที่ทำให้ผู้ป่วยตกค้างอยู่ในโรงพยาบาลและในชุมชนโดยไม่จำเป็น และอดทนอดกลั้นต่อความคาดหวังของสังคม ต่อนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ทันการ และต่อคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์ของภาคการเมือง

เราจะร่วมกันฝ่าวิกฤติแห่งชาติครั้งนี้ไปให้ได้

นายกฯ เปิดทางผู้ว่าฯ ยกระดับมาตรการ - เคอร์ฟิวบางพื้นที่ เตรียมพิจารณาลดวันกักตัวผู้ไม่มีอาการใน รพ. เหลือ 10 วัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ในเพจ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศบค. ได้รับทราบปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้เรียกประชุมกับหน่วยงานต่างๆอย่างเร่งด่วน และผมได้สั่งการให้แก้ปัญหาทั้งหมด และได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้ครับ

1. เรื่องการดูแลผู้ป่วย ได้มีการสั่งการหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขดังนี้

1.1 ให้จัดเตรียมเตียงเพิ่มเติมที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทุกคน เร่งแก้ปัญหาเตียงเต็มของโรงพยาบาลในกรุงเทพ ด้วยการบูรณาการระบบส่งตัวผู้ป่วยกับหน่วยงานขนส่งต่างๆ เพื่อนำส่งไปยังโรงพยาบาลในปริมณฑล

1.2 โดยในวันนี้ผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่นอก รพ. จำนวน 1,423 คน จะเริ่มได้รับการติดต่อนัดหมายเพื่อนำส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามความเร่งด่วนของอาการ และทั้งหมดจะต้องใช้เวลาไม่เกิน 2-3 วันนับจากวันนี้

1.3 แก้ปัญหาการเชื่อมโยงเครือข่าย ด้วยการเพิ่มเติมคู่สายผู้รับโทรศัพท์ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

1.4 แก้ปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างสถานที่ตรวจของเอกชนกับระบบของรัฐให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยให้ปรับรูปแบบการคัดกรอง ให้ไปคัดกรองที่โรงพยาบาลสนามแทนโรงพยาบาลทั่วไปเพื่อลดการแออัด จากนั้นทางรัฐจะติดต่อเพื่อสอบถามอาการ ความรุนแรง และนัดเวลาไปรับมารักษา

1.5 เพิ่มบุคลากรอาสาทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ จากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจเอกชน มาช่วยงานในภารกิจต่างๆ

1.6 หากสถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น อาจพิจารณาลดเวลาในการกักตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จาก 14 วันลงเหลือ 10 วัน และให้กักตัวที่บ้านอย่างเคร่งครัดและมีระบบติดตามดูแล ซึ่งจะช่วยทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้น จะช่วยลดภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์

2. เรื่องการควบคุมสถานการณ์

2.1 สั่งการให้ทุกจังหวัด เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสถานการณ์ ตามกลุ่มที่ได้แบ่งไว้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณายกระดับมาตรการการป้องกันโรค ปิดสถานที่ต่างๆได้เพิ่มเติมที่จำเป็น

2.2 พิจารณาความจำเป็นในการออกประกาศปิดสถานที่หรือกำหนดเคอร์ฟิวในบางพื้นที่อย่างละเอียดรอบคอบถึงผลกระทบต่างๆ

โดยผมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.จะติดตามกำชับการดำเนินการทุกข้ออย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตครั้งนี้ให้ลุล่วงไปให้ได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นอันดับแรกครับ

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] [3] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท