ศาล รธน.วินิจฉัยประกาศ คสช. ที่กำหนดโทษคนฝ่าฝืนเรียกรายงานตัวว่าขัด รธน.60

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศ คสช.ที่กำหนดโทษจำคุกและปรับเงินคนไม่เข้ารายงานตัวกับ คสช. ขัดกับรัฐธรรมนูญแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 279 จะกำหนดให้ประกาศและคำสั่ง คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หลังวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีไม่รายงานตัวกับ คสช.และศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ 8 มิ.ย.64

แฟ้มภาพ วรเจตน์ ภาคีรัตน์(ซ้าย) วิญญัติ ชาติมนตรี(ขวา) ที่ศาลทหารเมื่อ 28 ก.พ.2562

26 เม.ย.2564 วิญญัต ชาติมนตรี ทนายความจากสมาพันธ์ นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เปิดเผยทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ที่ศาลแขวงดุสิต มีนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และ 29 หรือไม่

วิญญัตระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าประกาศทั้งสองฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตรา และศาลแขวงดุสิตได้นัฟังคำพิพากษาในส่วนของคดีที่วรเจตน์ถูก คสช.ดำเนินคดีในศาลทหารจากการไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคดีของผู้ที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ด้วย

นอกจากนั้นวิญญัติได้เผยแพร่คำวินิจฉัยตัวเต็มของศาลรัฐธรรมนูญที่สรุปได้ว่า ประกาศทั้งสองฉบับนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยเห็นว่าแม้ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจะออกมาหลังจาก คสช.เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองและได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้วและมีการอำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางประการเพื่อบ้านเมืองอยู่ในความสงบ คสช.จึงได้ออกประกาศกำหนดโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว แต่ในยามบ้านเมืองสงบสุขและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้วที่บัญญัติไว้ไม่ให้มีการลงโทษอาญาต่อบุคคลที่หนักกว่าโทษที่มีบัญญติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้นคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ที่ลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานอยู่แล้วที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 วันและปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งประกาศทั้งสองมีการกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วนและยังสูงกว่ากฎหมายที่มีการประกาศใช้อยู่แล้ว

นอกจากนั้นประกาศทั้งสองฉบับยังเป็นการกำหนดโทษย้อนหลัง เนื่องจากมีคำสั่งรายงานตัววรเจตน์ออกมาก่อนแล้วจึงมีประกาศกำหนดโทษต่อผู้ที่ขัดคำสั่งดังกล่าวตามออกมาทีหลัง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 เรื่องความได้สัดส่วนและ มาตรา 29 วรรค 1 ตามหลักนิติธรรมที่ว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย”

ศาล รธน.ประกาศ คสช. 2 ฉบับเรื่องเรียกรายงานตัวขัด รธน.60 'วรเจตน์' ชี้มีผลคดีอื่นด้วย

ก่อนหน้านี้วรเจตน์เคยให้สัมภาษณ์ว่าคำร้องที่ยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีทั้งประเด็น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับได้หรือไม่แม้จะมีมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ตาม และประเด็นเนื้อหาว่าประกาศทั้งสองฉบับเนื้อหาที่มีการกำหนดโทษนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งประเด็นแรกก็จะเห็นว่าศาลเข้าไปตรวจสอบแม้ว่าจะมีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม

วรเจตน์อธิบายว่าคดีของเขาเกิดขึ้นจากเหตุที่ คสช.มีคำสั่งเรียกรายงานตัวออกมาครั้งแรกตั้งแต่ 10.30 น.ของวันที่ 24 พ.ค.2557ก่อนที่จะมีประกาศกำหนดโทษออกมาซึ่งศาลก็วินิจัยออกมาว่าขัดกับรัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมาก และในเมื่อการกำหนดโทษทางอาญาไม่สามารถบังคับใช้ได้แล้วทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดียวกันนี้และคดียังค้างอยู่ก็จะได้ประโยชณ์จากคำวินิจฉัยนี้ด้วย

ทั้งนี้คดีของวรเจตน์มีการโอนย้ายจากศาลทหารกรุงเทพมาศาลแขวงดุสิตเนื่องจาก คสช.เคยออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 เรื่องยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น ส่งผลให้คดีของพลเรือนที่อยู่ในศาลทหารช่วงรัฐบาลทหารกลับมาพิจารณาในศาลยุติธรรม

คําวินิจฉัยที่ 30/2563

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องพิจารณาที่ 12/2563

วันที่ 2 เดือน ธันวาคม พุทธศักราช 2563

ระหว่าง ศาลแขวงดุสิต (ผู้ร้อง), - (ผู้ถูกร้อง)

เรื่อง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัว ตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ศาลแขวงดุสิตส่งคําโต้แย้งของจําเลย (นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์) ในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ 2047/2562 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ข้อเท็จจริงตามหนังสือส่งคําโต้แย้งของจำเลยและเอกสารประกอบ สรุปได้ดังนี้

อัยการศาลทหารกรุงเทพ กระทรวงกลาโหม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นจําเลยต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว

ตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 จําเลยเป็นผู้ถูกเรียกให้มารายงานตัวในลําดับที่ 6 และตามคําสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 57/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2557 จําเลยเป็นผู้ถูกเรียกให้มารายงานตัวในลําดับที่ 9 จําเลยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคล ให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติภายในวันเวลาที่กําหนด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 25557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ต่อมามีการโอนคดีไปยังศาลแขวงดุสิตตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับท่ีหมดความจําเป็น ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ข้อ 2 วรรคสอง

จําเลยโต้แย้งต่อศาลแขวงดุสิตว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําส่ังเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เป็นกฎหมายที่จํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ประกาศใช้บังคับหลังจากที่มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 จึงเป็นกฎหมายที่กําหนดโทษทางอาญาใช้บังคับย้อนหลังแก่จําเลย เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไป

และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กําหนดโทษทางอาญาเกินสมควรแก่เหตุ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 นอกจากนี้ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 ที่ระบุตัวบุคคล ตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียกให้บุคคลไปรายงานตัวและกําหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนคําสั่ง มีลักษณะเป็นการบังคับข่มขู่ ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ส่งผลให้บุคคลได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 27 อีกท้ังการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ท้ังสองฉบับดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในขณะที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอํานาจหรืออยู่ในอํานาจเท่านั้น เม่ือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สิ้นอํานาจไปแล้ว วัตถุประสงค์ของคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวจึงสิ้นสุดลงไปด้วย เน่ืองจาก การลงโทษทางอาญานั้น วัตถุประสงค์ของการกําหนดโทษในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิด จะต้องดํารงอยู่ในขณะที่มีการลงโทษ การดํารงอยู่ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29

ศาลแขวงดุสิตเห็นว่า จําเลยโต้แย้งว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 29 ซึ่งเป็นการโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายท่ีศาลแขวงดุสิตจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคําวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบัญญัติดังกล่าว ให้ส่งคําโต้แย้งของจําเลยต่อศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจรับหนังสือส่งคําโต้แย้งนี้ไว้ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ศาลแขวงดุสิตส่งคําโต้แย้งของจําเลย เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําส่ังเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 29 ซึ่งบทบัญญัติ แห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ศาลแขวงดุสิตจะใช้บังคับแก่คดี เมื่อจําเลยโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและยังไม่มีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้มาก่อน กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง จึงมีคําสั่งรับไว้พิจารณาวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคําโต้แย้งของจําเลยและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทําการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกําหนดประเด็น ที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคล มารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 เป็นบทบัญญัติในหมวด 1 บททั่วไป วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

โดยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การตรากฎหมาย ที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระ หรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย” และวรรคสอง บัญญัติว่า “กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกัน ในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” และวรรคสาม บัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้”

และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําน้ัน บัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติ ไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้”

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 บัญญัติรับรองสถานะของประกาศและคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้เป็นประกาศและคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมายและมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งดังกล่าวให้ทําเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคําสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อํานาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม ให้กระทําโดยคําสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

เมื่อรัฐธรรมนูญให้การรับรองสถานะการมีผลใช้บังคับต่อไปของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับดังกล่าวและยังมิได้มีการยกเลิก โดยการใช้อํานาจทางนิติบัญญัติหรืออํานาจทางบริหาร ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับ จึงยังมีผลเป็นกฎหมายต่อไปแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะสิ้นสภาพไปแล้วและรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอํานาจในการตรวจสอบความชอบด้วย รัฐธรรมนูญของกฎหมายซึ่งรวมถึงประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติท้ังสองฉบับด้วย

การพิจารณากฎหมายที่จํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้นั้น ย่อมต้องพิจารณาสภาพการณ์ของเหตุการณ์บ้านเมืองตลอดจนวิถีการดําเนินชีวิตของประชาชน ในขณะที่มีการตรากฎหมายและในขณะที่ใช้บังคับกฎหมายประกอบกัน เห็นได้ว่าในขณะที่ประกาศ ใช้บังคับกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ เป็นช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติกระทําการยึดอํานาจการปกครองแผ่นดินสําเร็จเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบขององค์กรที่ใช้อํานาจ โดยให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อํานาจทั้งในส่วนของอํานาจบริหารและอํานาจนิติบัญญัติในขณะเดียวกันเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในช่วงระหว่างเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติทําหน้าที่บริหารประเทศนั้น มีความต้องการให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงจําเป็นต้องจํากัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางประการ

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัว ตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ที่กําหนดให้บุคคล ที่มีรายชื่อตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 โดยปรากฏชื่อจําเลยในคดีนี้เป็นบุคคลที่ต้องมารายงานตัว แต่ไม่มารายงานตัวภายในวันเวลาที่กําหนดต้องรับโทษทางอาญา

และต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ข้อ 1 ที่กําหนดให้บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกตัวบุคคล ให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องรับโทษทางอาญา ซึ่งปรากฏชื่อจําเลยในคดีนี้เป็นบุคคลที่ต้องมารายงานตัวตามคําส่ังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2557

โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งสองฉบับกําหนดให้การไม่มารายงานตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เพื่อให้การปฏิบัติตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เกี่ยวกับการเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เห็นได้จากคําปรารภของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 จึงต้องกําหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลที่ฝ่าฝืนอันเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เพื่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐและความสงบสุขของบ้านเมือง ซึ่งเป็นกรณีจําเป็นในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงรัฐประหาร

อย่างไรก็ดี เมื่อยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจาก สถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง โดยบุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาน้ัน บัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษท่ีจะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติ ไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาท่ีกระทําความผิดมิได้ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นหลักการสากลที่บัญญัติรับรองไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และบัญญัติในลักษณะทํานองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

ทั้งนี้ การจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ ต้องเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 โดยการตรากฎหมายเพื่อจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลน้ัน ฝ่ายนิติบัญญัติหรือองค์กรที่ใช้อํานาจรัฐจะต้องคํานึงถึงหลักการพื้นฐานสําคัญประการหนึ่งคือ หลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณีอันเป็นหลักการสําคัญที่มีขึ้นเพื่อควบคุม ตรวจสอบ หรือจํากัดการใช้อํานาจรัฐเพื่อมิให้ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับแก่ประชาชนตามอําเภอใจ

การตรากฎหมายเพื่อจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนตามหลักการดังกล่าวน้ัน จะต้องมีความเหมาะสม มีความจําเป็น และได้สัดส่วนหรือมีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับกับสิทธิหรือเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากกฎหมายนั้น

แม้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับจะมีวัตถุประสงค์หรือความจําเป็น ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานะผู้ใช้อํานาจรัฏฐาธิปัตย์ในขณะนั้น เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยก็ตาม แต่เมื่อเป็นกฎหมายที่จํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การกําหนดโทษทางอาญาแก่ผู้กระทําความผิดจึงต้องพิจารณาว่ามีความเหมาะสม เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณีด้วย

แม้การกําหนดโทษทางอาญาดังกล่าวนั้นจะเป็นมาตรการที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการให้บุคคลที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประสงค์ให้มารายงานตัวโดยการระบุชื่อเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอันเป็นประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อเทียบเคียงกับกรณีการนําตัวบุคคลที่ยังมิได้มีการกระทําอันเป็นความผิด เพียงแต่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะก่อให้เกิดภัยอันตราย หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น มีการกําหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 46 แทนการกําหนดโทษทางอาญา

นอกจากนี้ เมื่อเทียบเคียงการไม่รายงานตัวอันเป็นการฝ่าฝืน คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติท่ีให้ต้องรับโทษทางอาญากับกรณีบุคคลกระทําความผิดฐานขัดคําสั่ง เจ้าพนักงานตามกฎหมายอื่น การกระทําอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กําหนดในประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับดังกล่าวยังมิใช่เป็นการกระทําอันมีผลร้ายแรงหรือกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองถึงขนาดต้องกําหนดโทษทางอาญา ให้ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

อีกทั้งยังมีมาตรการทางกฎหมายอื่นซึ่งให้อํานาจ แก่เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะรักษาความสงบ และการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ที่เป็นมาตรการลงโทษสําหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ อันเป็นความผิดลหุโทษที่เหมาะสมแก่การกระทําฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวซึ่งรัฐชอบที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อบังคับการให้ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานต้องมีภาระหรือความรับผิด เพียงเท่าที่จําเป็นและพอสมควรแก่กรณีเท่าน้ัน

ดังนั้น เมื่อพิจารณาการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้กับประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมตามวัตถุประสงค์ของประกาศทั้งสองฉบับแล้ว เห็นว่า การที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําส่ังของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคําส่ังเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา โดยไม่ได้แจ้งสาเหตุแห่งการเรียกให้มารายงานตัวและนํามาเป็นเหตุในการกําหนดโทษทางอาญาเพียงการไม่มารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่มีความเหมาะสมกับลักษณะของการกระทําผิด ไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี เป็นกฎหมายที่จํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และขัดต่อหลักนิติธรรม จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

นอกจากนี้ การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคําส่ังคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 กําหนดให้บุคคลมารายงานตัว ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 เวลา 13.00 น. โดยปรากฏชื่อจําเลยในคดีนี้ คําสั่งดังกล่าวไม่ได้กําหนดให้การไม่มารายงานตัวต้องรับโทษทางอาญา แต่ต่อมาในวันเดียวกันนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัว ตามคําส่ังของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 กําหนดให้บุคคล ที่มีรายชื่อตามคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ไม่มารายงานตัวภายในวันเวลาที่กําหนด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

เป็นการออกคําสั่งเรียกให้มารายงานตัวก่อนแล้วออกประกาศกําหนดโทษของการกระทําดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ทราบทั่วกันในภายหลัง (วันที่ 29 พฤษภาคม 2557) จึงเป็นการกําหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลังแก่บุคคลผู้ไม่มารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งเกิดขึ้นก่อน ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่ว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง

เมื่อวินิจฉัยว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติท้ังสองฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญดังวินิจฉัยแล้ว ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ไม่จําต้องวินิจฉัยว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แต่อย่างใด

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําส่ังเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และเฉพาะประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัว ตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ด้วย

(รายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท้ายคำวินิจฉัย)

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท