Skip to main content
sharethis

สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้นายกฯ สนับสนุนองค์การเภสัชกรรมผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ป้องกันการขาดแคลนในช่วงโควิด - 19 และลดการนำเข้ายา

วานนี้ (26 เมษายน 2564) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครายงานว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในประเทศไทยขณะนี้ จนทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันเกินหนึ่งพันคนติดต่อกันมามากกว่า 1 สัปดาห์ รวมถึงยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่มีแนวโน้มที่ลดลง

ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และ รัฐมนตรีทั้ง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศนโยบายสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมเดินหน้าผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันการขาดแคลนและลดการนำเข้ายาดังกล่าวจากต่างประเทศ ดังที่เกิดขึ้นในช่วง 1 - 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สภาองค์กรของผู้บริโภคให้เหตุผลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลสนับสนุนองค์การเภสัชกรรมผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาสำคัญในการรักษาโควิด - 19 โดยเฉพาะในคนไข้ที่เริ่มมีสัญญาณของปอดอักเสบ ยาดังกล่าวไม่เคยมีคำขอสิทธิบัตรโครงสร้างหลักของยาที่ยื่นในประเทศไทย แต่มีสิทธิบัตรในต่างประเทศและสิทธิบัตรหมดอายุไปตั้งแต่ปี 2562 เป็นเหตุผลที่ทำให้จีนสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ ขณะเดียวกันในประเทศไทยกลับมีคำขอเลขที่ 1101001988 ของบริษัทฟูจิฟิล์ม ที่ขอรับสิทธิบัตรเรื่องสูตรเม็ดยาแบนและผงกรานูเลทต์ ซึ่งเป็นเพียงการตอกอัดเม็ดให้ขนาดเล็กเพื่อสะดวกแก่การกินเท่านั้น อีกทั้งยังเขียนคำขอสิทธิบัตรไว้อย่างกว้างและครอบคลุมไปหมดเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้อื่นผลิตได้ ถือเป็นลักษณะของคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening (สิทธิบัตรยาที่ไม่มีวันหมดอายุ) ซึ่งไม่ควรได้รับสิทธิบัตร เนื่องจากไม่มีความใหม่และไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น

ในปัจจุบัน กรมควบคุมโรคสั่งซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ เม็ดละ 125 บาท ผู้ป่วยโควิดหนึ่งรายต้องใช้ยานี้เป็นจำนวน 40 ถึง 70 เม็ด ขึ้นอยู่กับสภาพความรุนแรงของอาการ แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ที่องค์การเภสัชกรรมจะผลิตนี้จะมีราคาถูกเกินกว่าครึ่งหนึ่ง จากราคา 5,000 - 8,750 บาทต่อราย จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2,500 - 4,375 บาทต่อราย

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคประชาสังคมและนักวิชาการก็ได้แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 และเข้าพบอธิบดีกรมทรัพย์สินฯ อีกครั้งในวันที่ 26 มกราคม 2564 เพื่อให้เร่งพิจารณายกเลิกคำขอสิทธิบัตรดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้กรมทรัพย์สินฯ ยังอนุญาตให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรแก้ไขเอกสาร เท่ากับยืดระยะเวลาออกไปและขัดขวางการผลิตยาของภาคส่วนอื่น ๆ ในขณะที่องค์การเภสัชกรรมมีศักยภาพในการผลิตยาดังกล่าวได้ อีกทั้ง นักวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ยังสามารถพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมของประเทศ หรือ API (Active Pharmaceutical Ingredients) สำหรับใช้เป็นสารตั้งต้นผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้แล้ว

ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคและทีมนักวิชาการพร้อมจะให้การสนับสนุนนโยบายอย่างเต็มที่ รวมทั้งมีความพร้อมที่จะสนับสนุนด้านกฎหมายไทยและต่างประเทศเพื่อยืนยันความชอบธรรมของการประกาศนโยบายเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขครั้งนี้ นอกจากนี้ ในวันที่ 28 เมษายน 2564 เรื่องการบริหารและกระจายและนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด - 19 เพิ่มเติม ที่จะมีการจัดหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) 3 สถาบัน เรื่องการบริหารและกระจายและนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด - 19 เพิ่มเติม ขอให้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการมีผู้แทนของผู้บริโภคร่วมให้ข้อคิดเห็น โดยการเชิญประธานสภาองค์กรของผู้บริโภคหรือผู้แทนเข้าร่วม เพื่อให้การหารือเป็นไปอย่างรอบคอบรอบด้านและคำนึงถึงความเป็นธรรมในการกระจายวัคซีน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net