Skip to main content
sharethis

ศบค. แถลงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุด 2,012 คน เสียชีวิตเพิ่ม 15 คน กทม. ครองแชมป์พบผู้ติดเชื้อสูงสุด ด้านกระทรวงสาธารณสุขเตรียมเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านไลน์ 'หมอพร้อม' วันที่ 1 พ.ค. นี้

28 เม.ย. 2564 วันนี้ (28 เม.ย. 2564) เวลา 11.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน โดยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,012 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 61,699 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 178 ราย และมีผู้ที่รักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 851 ราย รวมผู้หายป่วยแล้วทั้งหมด 34,402 ราย

พญ.อภิสมัย ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษาตัว 27,119 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 21,008 ราย และโรงพยาบาลสนาม 6,111 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการหนักถึงขั้นปอดอักเสบ 695 ราย เพิ่มจากเมื่อวาน (27 เม.ย. 2564) 67 คน และมีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจรวม 119 ราย ขณะที่จำนวนผู้ฉีดวัคซีนประจำวันที่ 27 เม.ย. 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ทั้งสิ้น 26,572 ราย และมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 26,109 ราย

 

สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ประจำวันนี้ พบจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,893 ราย การตรวจค้นหาเชิงรุก 108 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 ราย ซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลในระบบกักตัวของรัฐ (State Quarantine) โดย กทม. พบยอดผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุดที่ 830 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสมเฉพาะใน กทม. 10,899 ราย, สมุทรปราการเพิ่มขึ้น 161 ราย สะสม 1,430 ราย, ชลบุรีเพิ่มขึ้น 108 ราย สะสม 2,151 ราย, นนทบุรีเพิ่มขึ้น 71 ราย สะสม 1,466 ราย และสมุทรสาครเพิ่มขึ้น 59 ราย สะสม 829 ราย

ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่า 9 จังหวัดได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ หนองบัวลำภู สกลนคร อ่างทอง สิงห์บุรี และสตูล มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 0 รายแล้วในวันนี้

นอกจากนี้ เว็บไซต์ทางการของ ศบค. ได้เผยแพร่ข้อมูลจังหวัดที่มีบทลงโทษกรณีประชาชนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า อัปเดตข้อมูลเมื่อวันที่ 28 เม.ย 2564 เวลา 12.00 น. มีทั้งสิ้น 65 จังหวัด (รวม กทม.) โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายควบคุมโรคติดต่อและตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด อัตราโทษปรับสูงสุดตั้งแต่ 6,000 บาท ไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนระเบียบการใส่หน้ากากอนามัยของแต่ละจังหวัด สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ http://www.moicovid.com/

สำนักข่าวมติชน รายงานว่า ที่ประชุม ศบค. ได้หารือกันว่าจะพยายามเพิ่มคู่สายสำหรับสายด่วน 1668 เพื่อจัดสรรเตียงให้แก่ผู้ป่วยที่รอเตียงอย่างเร็วที่สุด เบื้องต้นสรุปได้ว่า จะต้องโทรติดภายใน 1-2 นาที โดยจะมีเจ้าหน้าที่นำสายเข้าสู่ระบบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก สำหรับรับเรื่องประสานงาน และส่วนที่ 2 เพื่อคัดแยกอาการ พร้อมแนะนำให้ประชาชนทำแบบประเมินใน 'สบายดีบอต' ด้วยการแอดไลน์ @sabaideebot หรือ Bangkok COVID19 ก่อนโทรหาสายด่วน เมื่อคัดแยกตามกลุ่มอาการแล้ว เจ้าหน้าที่จะขอให้รอการติดต่อกลับเพื่อแจ้งเตียง คาดว่าใช้เวลา 1-2 วันจึงจะทราบผล พญ.อภิสมัย ยังกล่าวอีกว่า ระหว่างรอเตียง ขอให้ผู้ป่วยสังเกตอาการตัวเอง และกำชับให้ทางโรงพยาบาลโทรกลับไปติดตามอาการด้วย โดยทาง ศบค. จะพยายามจัดการสายที่ค้างอยู่ และจะเร่งทำงานให้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องรอเตียงนาน

ศูนย์เอราวัณเคลียร์สายครบ ผู้ป่วยตกค้างเป็นศูนย์

เฟซบุ๊กศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ รายงานว่า วันนี้ (28 เม.ย. 2564) ศูนย์เอราวัณได้ดำเนินการนำส่งผู้ป่วยโควิดเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยตกค้าง โดยเมื่อวานนี้ (27 เม.ย. 2564) ศูนย์เอราวัณ ร่วมกับเครือข่าย สามารถนำส่งผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 133 รายเข้าสู่ระบบการรักษาของโรงพยาบาล โดยเป็นผู้ป่วยตกค้างจากวันที่ 26 เม.ย. 2564 จำนวน 37 ราย และเป็นผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับแจ้งมาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. จำนวน 96 ราย ทำให้ขณะนี้ ศูนย์เอราวัณไม่มียอดผู้ป่วยตกค้างแล้ว จึงสามารถดำเนินการนำส่งผู้ป่วยได้แบบวันต่อวัน

สำหรับโรงพยาบาลสนาม กทม. ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 1,700 เตียง ประกอบด้วย โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน รองรับได้ 1,000 เตียง ครองเตียง 451 เตียง ยังว่างอยู่ 549 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ 200 เตียง ครองเตียง 230 เตียง (เสริม 30 เตียง) รพ.เอราวัณ 1(ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) 100 เตียง ครองเตียง 38 เตียง ยังว่างอยู่ 62 เตียง และรพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง ครองเตียง 287 ยังว่างอยู่ 113 เตียง และเข้า Hospitel 60 เตียง รวมครองเตียง 1,066 เตียง เตียงคงเหลือ 724 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เม.ย.64)

องค์กรเภสัชฯ เร่งเจรจาสิทธิบัตรผลิตยาฟาวิพิราเวียร์

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (28 เม.ย.64) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้สั่งยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 จากญี่ปุ่นเข้ามาให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ และกระจายยาต่อไปยังโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้ว พร้อมเผยว่าองค์การเภสัชกรรมกำลังเร่งเจรจาเรื่องสิทธิบัตรการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อให้สามารถผลิตยาชนิดนี้ได้เองในประเทศ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนยังสามารถนำเข้ายาชนิดนี้ได้เช่นเดิม

นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า แผนกระจายวัคซีนจะต้องเป็นไปตามที่วางแผนไว้ ให้ทั่วถึงและกระจายไปในทุกจังหวัด โดยจะให้โรงพยาบาลเอกชนช่วยกระจายวัคซีน เพื่อให้ระบบกระจายวัคซีนมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหาระบบล่ม

สธ.เปิดระบบ 'หมอพร้อม' จองคิวฉีดวัคซีน 1 พ.ค. นี้

กระทรวงสาธารณสุขจัดแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เรื่องการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ ปอดเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง มะเร็งทุกชนิด เบาหวาน และโรคอ้วน จำนวน 16 ล้านคนทั่วประเทศ ด้วยแอปพลิเคชันไลน์ "หมอพร้อม" ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 พ.ค. ที่จะถึงนี้ และเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป พร้อมระบุว่าได้วางแผนป้องกันระบบล่มด้วยการใช้ระบบคลาวด์รองรับมากถึง 3 คลาวด์ เพิ่มการรองรับจากเดิมถึง 5 เท่า โดยคาดว่าประชาชนจะเข้าลงทะเบียน 20,000 คน/วินาที

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าในเดือน มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาตามที่ตกลงไว้จำนวน 6 ล้านโดส และได้รับเพิ่มอีก 10 ล้านโดสในเดือน ก.ค. ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า แผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงฯ พุ่งเป้าไปที่คน 5 กลุ่ม ตามลำดับ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ 1.2 ล้านคน, บุคลากรด่านหน้า 1.8 ล้านคน ซึ่งกำลังเร่งฉีดให้เสร็จภายในเดือน พ.ค., ผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 4.3 ล้านคน, กลุ่มคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน และกลุ่มประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน

สำหรับประชาชนกลุ่มอายุ 18-59 ปี จะเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านไลน์ 'หมอพร้อม' ในวันที่ 1 ก.ค. และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ในเดือน ส.ค.-ก.ย. โดยขั้นตอนลงทะเบียน ต้องเพิ่มเพื่อนในไลน์หมอพร้อม กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ประวัติการรักษาพยาบาล เลือกสถานพยาบาล และวันเวลาที่ต้องการเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยสามารถติดตามผลการนัดรับวัคซีนเข็มที่ 2 และใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ผ่านไลน์หมอพร้อม ทั้งยังสามารถลงทะเบียนให้ผู้อื่นในครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน

 

แอสตราเซเนกามั่นใจพร้อมฉีด มิ.ย. นี้

สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สยามไบโอไซเอนซ์ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในไทยกำลังเร่งผลิตและมีความคืบหน้ามากแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาลอตแรกให้แก่รัฐบาลไทยได้ทันตามกำหนดเดิม คือ ช่วงเดือน มิ.ย. นี้

ด้าน ข่าวสดออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศรับรองสยามไบโอไซเอนซ์เป็นโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่งผลให้การผลิตวัคซีนคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วและเป็นไปตามแผน ขณะนี้ ทั้งสองบริษัทกำลังเร่งผลิตวัคซีนและจะทยอยส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยเพื่อนำไปดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net