Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่เราเรียกกันติดปากว่า “กฎหมายห้ามแต่งกายเลียนแบบสงฆ์” ที่จริงแล้วคือกฎหมายห้ามแต่งเครื่องแบบนักบวชทุกศาสนา ด้วยเจตนาหลอกลวงให้คนอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักบวชจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ความว่า

“ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ข้อความที่สะท้อนเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้คือ “เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น” แปลตรงไปตรงมาก็คือ แต่งเครื่องแบบนักบวชด้วย “เจตนาหลอกลวง” ให้คนอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักบวชจริง เช่น พวก “ปลอมบวช” เพื่อหลอกชาวบ้านหากิน เป็นต้น

ดังนั้น การแต่งเครื่องแบบพระ ฤาษี หรือนักบวชประเภทใดๆ แสดงภาพยนตร์ ลิเก หมอลำ ตลก ฯลฯ จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามเนื้อหาและเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ เพราะไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงให้คนอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักบวชจริง

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าบุคคลนั้นเป็น “นักบวชจริง” อยู่แล้ว คือเขาผ่านพิธีบวชถูกต้องตามหลักความเชื่อทางศาสนา และใช้ชีวิตเป็นนักบวชมายาวนาน เช่น กรณี “สมณะดาวดิน” ที่ใช้ชีวิตนักบวชจริงมายาวนานถึง 36 พรรษา แล้วเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายมาตรานี้ดำเนินคดีกับเขาเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายโดยมิชอบหรือไม่ หากเป็นการใช้กฎหมายโดยมิชอบ เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบอย่างไร

ข้อเท็จจริงแรก คือ “นักบวชจริง” ในพุทธศาสนาของบ้านเรานั้นมี 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มแรกสังกัด “คณะสงฆ์ไทย” อันเป็นคณะสงฆ์ตามนิยามของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้แก่ คณะสงฆ์ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการมหาเถรฯ กับ “คณะสงฆ์อื่น” คือบรรพชิตจีนนิกาย หรืออนัมนิกาย และกลุ่มหลัง คือนักบวชนอกสังกัดมหาเถรฯ หรือ “นอกกฎหมายคณะสงฆ์” ได้แก่ กลุ่มสมณะสันติอโศก และกลุ่มภิกษุณี 

ที่ว่านักบวชกลุ่มสันติอโศกและภิกษุณีเป็น “นักบวชนอกกฎหมายคณะส่งฆ์” นั้น ก็เพราะกฎหมายคณะสงฆ์ไม่ได้ถือว่านักบวชสองกลุ่มนี้เป็นนักบวชตามกฎหมายสงฆ์ และกฎหมายสงฆ์ก็ไม่ได้คุ้มครองสิทธิประโยชน์ใดๆ ของนักบวชสองกลุ่มนี้ อีกทั้ง มตรา 67 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่บัญญัติให้รัฐอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ก็ไม่นับรวมนักบวชหรือชาวพุทธสองกลุ่มนี้ด้วย ดังนั้น กฎหมายสงฆ์และรัฐธรรมนูญมาตรานี้จึงขัดหลักความเสมอภาคทางศาสนา เป็นกฎหมายแบ่งแยก และเลือกปฏิบัติกับชาวพุทธด้วยกันเอง

ข้อเท็จจริงอีกอย่างคือ ถ้ายึดตามหลักความเชื่อทางศาสนาและเสรีภาพทางศาสนา กลุ่มนักบวชนอกกฎหมายสงฆ์ หรือนักบวชที่ไม่ได้สังกัดคณะสงฆ์ภายใต้อำนาจปกครองของมหาเถรฯ ซึ่งเป็น “ศาสนจักรของรัฐ” คือ กลุ่มสมณะสันติอโศกและกลุ่มภิกษุณี (หรือกลุ่มอื่นใดที่อาจมีขึ้นใหม่) ก็คือ “นักบวชจริง” ไม่ใช่พวกปลอมบวช เขาเหล่านั้นย่อมมีเสรีภาพทางศาสนาที่จะใช้ชีวิตนักบวชตามความเชื่อของตน ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิพลเมือง

แต่ปัญหาคือ มีความพยายามจากฝ่ายที่ไม่เคารพความเชื่อที่แตกต่างทางศาสนา และไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนา กล่าวหาว่า กลุ่มสมณะสันติอโศกผิดที่ “แต่งกายเลียนแบบสงฆ์” และพยายามแจ้งความเอาผิดมานานแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ดำเนินการเอาผิด ซึ่งการไม่ดำเนินการเอาผิดก็เพราะที่จริงแล้วกฎหมายอาญา มาตรา 208 เอาผิดไม่ได้ เพราะเนื้อหาและเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งเอาผิดเฉพาะ “คนปลอมบวช” หรือคนที่แต่งเครื่องแบบนักบวชเพื่อหลอกลวงให้คนอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักบวชจริงโดยมีเจตนามุ่งผลประโยชน์มิชอบเท่านั้น จะใช้กฎหมายนี้ไปเอาผิดนักบวชจริงไม่ได้ แม้ว่านักบวชจริงเหล่านั้นจะไม่ได้สังกัดคณะสงฆ์ภายใต้ศาสนจักรของรัฐก็ตาม

แล้วทำไมถึงมีการใช้กฎหมายนี้เอาผิดสมณะดาวดินที่เป็นนักบวชจริงมายาวนานถึง 36 พรรษา เรื่องของเรื่องก็คือ สมณะดาวดินได้อำลาจากกลุ่มสันติอโศก เพราะความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกัน ต่อมาท่านได้มาร่วมชุมนุมกับ “ราษฎร” ร่วม “ขบวนเดินทะลุฟ้า” จากโคราชถึงกรุงเทพฯ ร่วมชุมนุมกับ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” เพื่อให้ปล่อยแกนนำที่โดน 112 ล่าสุดออกมาอดอาหารประท้วงที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการประกันตัวแก่แกนนำราษฎรที่โดน 112 สุดท้ายถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคดีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ดังที่เป็นข่าว

ถามว่า ทำไมกลุ่มสันติอโศกไม่โดนมาตรา 208 ก็เพราะสมณะสันติอโศกเป็น “นักบวชจริง” ไม่ได้ “ปลอมบวช” จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย แล้วทำไมสมณะดาวดินที่เป็นนักบวชจริงเหมือนกันถึงโดนมาตรานี้ คำตอบก็เพราะกฎหมายนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองขจัดคนเห็นต่าง 

ประเด็นสำคัญที่สังคมต้องช่วยกันตั้งคำถามคือ ในเมื่อ “เนื้อหาและเจตนารมณ์” ของมาตรา 208 ชัดเจนอยู่แล้วว่า มุ่งเอาผิด “คนปลอมบวช” เท่านั้น คนที่แต่งเครื่องแบบนักบวชแสดงหนัง เล่นละครและอื่นๆ ไม่เข้าเข่ายความผิดนี้ ยิ่ง “นักบวชจริง” อย่างสมณะดาวดินที่บวชมาตั้ง 36 พรรษา ยิ่งไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรานี้โดยเด็ดขาด เจ้าหน้าที่รัฐใช้ “ดุลยพินิจ” อย่างไรกันในการดำเนินคดีกับสมณะดาวดิน หากเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายโดยมิชอบ เขาต้องรับผิดชอบอย่างไร

และคำถามที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกคือ ควรมีกฎหมายห้ามแต่งกายเลียนแบบนักบวชหรือไม่ เพราะมันกลายเป็น “กฎหมายการเมือง” ที่มีไว้ให้คนที่เห็นต่างทางศาสนาและการเมืองใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานอีกฝ่ายได้อย่างไร้เหตุผล เป็นกฎหมายที่ถูกใช้ละเมิดเสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพทางการเมืองได้อย่างง่ายๆ
 

 

ที่มาภาพ: https://prachatai.com/journal/2021/04/92680

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net