Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความพยายามนำเสนอพุทธไทยสู่การเป็นพุทธโลก หรือเป็นพุทธศาสนาไทยที่นานาชาติยอมรับมีมานานแล้ว เช่น คณะสงฆ์มีโครงการส่งพระธรรมทูตไปเผยแพร่พุทธศาสนาในประเทศตะวันตก มีการสร้างวัดต่างๆ ในยุโรป อเมริกา และนำเสนอตัวเองว่าประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” มีการจัดงาน “วันวิสาขบูชาโลก” ที่พุทธมณฑล และนำเสนอความคิดท่ามกลางที่ประชุมของสมาชิกชาวพุทธนานาชาติว่า “พุทธศาสนามีแก่นคำสอนที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” เป็นต้น 

เมื่อเร็วๆ นี้มิตรสหายท่านหนึ่งเสนอว่าพุทธแบบไทยมีศักยภาพที่จะเป็น soft power ที่ดึงดูดความสนใจของนานาชาติ หรือทำให้นาชาชาติเห็นคุณค่าและยอมรับ และทำรายได้เข้าประเทศได้

หากพิจารณาความหมายของ soft power ซึ่งตรงข้ามกับ hard power ที่เป็นการใช้อำนาจบังคับ เช่น ใช้กองทัพ การบอยคอตทางเศรษบกิจเป็นต้น เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม soft power ก็คือการใช้อำนาจอีกแบบในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อำนาจที่เป็น soft power ได้ คืออำนาจที่มีพลังโน้มน้าวให้นานาชาติยอมรับ ให้ความร่วมมือ หรือทำตาม soft power มาจากสามแหล่งหลักๆ คือ

1. วัฒนธรรมของชาติ (national culture) ที่สามารถใช้ให้เกิด soft power ได้ เช่น ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ แฟชั่น เสื้อผ้า อาหาร และอื่นๆ ที่ถูกทำให้มีคุณค่าเป็นพลังดึงดูดความสนใจ การยอมรับ ความนิยมของนานาชาติได้

2. คุณค่าทางการเมือง (political values) เช่น ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ หรือคุณค่าด้านอื่นๆ เช่น ประสิทธิภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่นานาชาติยอมรับและสามารถแบ่งปันคุณค่าดังกล่าวร่วมกันได้ ให้ความร่วมือในความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศบนฐานของการสนับสนุนคุณค่าดังกล่าวร่วมกันได้ และเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

3. ในโยบายต่างประเทศ (foreign policies) ที่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย และมีอำนาจทางศีลธรรม (moral authority) เช่น ถ้ามีนโยบายใช้กองกำลังรุกรานประเทศอื่น ย่อมไม่ชอบธรรมทางกฎหมาย แต่กรณีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอิสราเอลในการถล่มปาเลสไตน์ แม้สหรัฐฯ จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่มี moral authority ให้นานาชาติ “ควร” ยอมรับได้ เพราะเป็นการสนับสนุนการกระทำที่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมอย่างรุนแรง เป็นต้น

ถามว่าพุทธศาสนาไทยจะเป็น soft power ที่มีพลังโน้มน้าวให้นานาชาติยอมรับ และให้ความร่วมมือในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางวัฒนธรรม คุณค่าทางการเมือง และนโยบายระหว่างประเทศได้อย่างไร 

เช่น การนำเสนอตนเองว่า “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” และนำเสนอความคิดต่อที่ประชุมชาวพุทธนานาชาติว่า “แก่นคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” แต่หลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแยกเป็นสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิทางสังคม สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางวัฒนธรรม ทว่าหลักการพื้นฐานดังกล่าวกลับไม่มีจริงแม้แต่ในพุทธไทยเอง เช่น ไม่มีความเสมอภาคทางศาสนาระหว่างภิกษุกับภิกษุณี เพราะรัฐ “เลือกปฏิบัติ” โดยการให้ความอุปถัมภ์คณะสงฆ์ แต่ไม่รับรองสถานะนักบวชของภิกษุณี และไม่รับรองเสรีภาพในการบวชภิกษุณีในไทย จะบวชภิกษุณีต้องไปบวชจากศรีลังกาหรือไต้หวันเป็นต้น ดังนั้น แม้ภิกษุณีจะมีตัวตนอยู่จริงในสังคมไทย แต่ก็ไม่มีสถานะทางศาสนา และสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับนักบวชเพศชาย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อคุณขายความคิดที่ว่า “แก่นคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” แก่นานาชาติ ขณะที่พุทธแบบไทยเองสนับสนุน hard power ของอำนาจรัฐในการกดปราบประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่น ศาสนจักรของรัฐออกคำสั่งให้พระทั่วราชอาณาจักรสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ห้ามอภิปราย บรรยาย ตีความพุทธศาสนานับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประชาชน แล้วคุณจะเอา moral authority อะไรมาให้นานาชาติยอมรับ เพราะความคิดที่พุทธไทยพยายามจะขายแก่ชาวโลกกับการทำหน้าที่อยู่จริงของพุทธไทยสวนทางกัน 

ต่างอย่างสิ้นเชิงกับการที่ทะไลลามะตีความพุทธภาวะ ปัญญา กรุณา คุณค่าทางจิตวิญญาณแบบพุทธสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และสันติภาพโลก เพราะทะไลลามะไม่ใช่แค่มุ่ง “ขายของ” แต่เขายอมรับคุณค่าของ “จริยธรรมโลกวิสัย” (secular ethics) ว่าเป็นจริยธรรมสากลที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชน เขาเห็นด้วยกับการแยกศาสนาจากรัฐ และชื่มชมรัฐโลกวิสัยที่ให้เสรีภาพทางศาสนาชัดเจน อีกทั้งเขายังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของชาวธิเบต มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก ดังนั้น เขาจึงมี moral authority ให้นานาชาติยอมรับได้ ทำให้เขาสามารถเริ่มบทสนทนาทางพุทธศาสนา/พุทธปรัชญากับนักคิดชั้นนำต่างๆ ของโลก ทั้งนี้เพราะคำสอนเรื่องพุทธภาวะ ปัญญา กรุณา คุณค่าทางจิตวิญญาณหรือความหลุดพ้นไม่ใช่แค่ “คำสอนในคัมภีร์” ที่ถูกนำเสนอขาย แต่มันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการปฏิบัติภาวนาและพิธีกรรมของพุทธแบบวัชรญาณที่นานาชาติมองเห็นและจับต้องได้ว่าสอดคล้องกับคุณค่าสมัยใหม่ผ่านการอ่านงานเขียน การบรรยายของทะไลลามะ และนักบวชทิเบตอื่นๆ และสัมผัสได้จากการไปทดลองฝึกปฏิบัติภาวนาในสำนักของทะไลลามะโดยตรง

นั่นคือการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนคุณค่าสมัยใหม่แบบทะไลลามะที่ “อาจจะ” มองได้ว่าเป็น soft power ที่มีพลังอำนาจโน้มน้าวให้นานาชาติยอมรับ และมีส่วนร่วมหรือร่วมมือกันเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลกได้ เพราะมันมี moral authority ในตัวมันเองที่เกิดจากพุทธศาสนาแบบนี้ฟังค์ชั่นอยู่จริงในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบวัชรญาณ แต่ที่พุทธไทยเสนอต่อนานาชาติว่า “แก่นคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” ถามว่า “แก่นคำสอน” ดังกล่าวฟังค์ชั่นอย่างไรในวัฒนธรรมพุทธไทย 

แน่นอนพุทธไทยแม้จะอ้างว่ายึด “คำสอนดั้งเดิม” ในไตรปิฎกเถรวาทมากกว่าวัชรญาณ หรือพุทธนิกายอื่นๆ แต่ที่จริงพุทธไทยก็เป็นพุทธแบบตีความคำสอนรับใช้บริบทของตนเองไม่ต่างจากพุทธนิกายอื่นๆ เลย เช่น ตีความยกกษัตริย์ให้เป็นธรรมราชา สมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ตีความพุทธสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตีความคติ “เอตทัคคะ” สนับสนุนระบบศักดินาพระ ที่เห็นชัดเจนในปัจจุบัน คือตีความปรัชญาการเมืองพุทธบวกพราหมณ์ฮินดูออกแบบสถาปัตยกรรม “สัปปายะสภาสถาน” หรืออาคารรัฐสภาหลังใหม่ที่มีหน้าตาเหมือนศาสนสถาน

ล่าสุดมีนักวิชาการพุทธตีความว่า “วรรณะกษัตริย์คือรากฐานของพุทธศาสนา” โดยอ้างหลักฐานจากไตรปิฎกว่า พุทธะมาจากวรรณะกษัตริย์ ซึ่งวรรณะกษัตริย์ก็คือนักรบหรือทหาร พุทธะเผยแพร่ศาสนาก็ใช้วิธีการแบบทหาร คือไปสอนกษัตริย์ให้หันมาถือพุทธก่อน เพราะถ้าเปลี่ยนความคิดระดับบนได้ ก็เปลี่ยนความคิดคนระดับล่างได้ไม่ยาก เป็นต้น 

การตีความดังกล่าวก็คือ “การเลือก” ข้อมูลบางส่วนในคัมภีร์พุทธมาให้เหตุผลสนับสนุน แต่ละเลยข้อมูลบางส่วน (เช่น เรื่องที่พุทธะสละวรรณะ และเรื่องที่พุทธะยืนยันว่าสังฆะตามธรรมวินัยไม่มีวรรณะ เป็นต้น) การเลือกตีความแบบนี้ย่อมมีนัยสำคัญสนับสนุนพุทธไทยกระแสหลักที่สนับสนุน hard power ของอำนาจรัฐดังกล่าวแล้ว 

ต่างอย่างสิ้นเชิงกับการตีความพุทธศาสนาของ ดร.อัมเบดการ์ยุคหลังอาณานิคมที่ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ สิทธิสตรี และบทบาทของเขาที่แสดงถึงการมี moral authority ก็คือการทำหน้าที่ประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดียที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยและรัฐโลกวิสัย และการนำชาวจัณฑาลประกาศตนเป็นพุทธมามกะร่วมรณรงค์ยกเลิกระบบวรรณะ เป็นต้น

ขณะที่พุทธไทยทั้งในเชิงสถาบัน และปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาสพยายามขายความคิดว่า “แก่นคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” แต่ในความขัดแย้งทางการเมืองร่วม 20 ปีมานี้ ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวของพุทธเชิงสถาบัน และการเสนอความคิดเห็นของปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาสที่เด่นชัดว่า เป็นการนำแก่นพุทธศาสนาที่ว่านั้นมานำเสนอ หรือเคลื่อนไหวทางสาธารณะเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนที่ถูกอำนาจรัฐสังหารกลางเมืองหลวง ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ถูกขังคุก และลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศจำนวนมาก 

วันนี้อานนท์ นำภา และเพื่อนๆ ที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยถูกขังคุก ด้วยการใช้ ม.112, 116 กดปราบมากขึ้นๆ ก็ไม่เห็นมีปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาสอ้าง “แก่นคำสอนพุทธศาสนาที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพโลก” มาเรียกร้องให้อำนาจรัฐคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพวกเขาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เรากลับได้เห็นการอ้างการเมืองเชิงศีลธรรม คนดี เผด็จการโดยธรรมตามการตีความของปราชญ์พุทธมาสนับสนุนรัฐประหาร และอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาตลอด

หากเทียบกับประวัติศาสตร์ตะวันตก แนวคิดมนุษยนิยม (humanism) เสรีนิยม (liberalism) และโลกวิสัย (secularism) ที่พัฒนาขึ้นช่วงศตวรรษที่ 16-18 สะท้อนการต่อสู้เพื่อให้ปัจเจกบุคคล สังคม และการเมืองมีอิสรภาพจากอำนาจครอบงำของศาสนาแบบยุคกลาง ที่ศูนย์กลางอำนาจคือ “อำนาจเทวสิทธิ์” ของศาสนจักร และอำนาจเทวสิทธิ์ของระบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ้งมีทั้งการตีความคริสต์ศาสนาสนับสนุนเสรีภาพแห่งมโนธรรมของปัจเจกบุคคล ความเสมอภาค และสิทธิตามธรรมชาติ โดยปฏิเสธอำนาจปกครองในนามพระเจ้าหรือศาสนา เสนอหลักการปกครองแบบโลกวิสัย และคุณค่าทางศีลธรรมแบบโลกวิสัยที่ปัจเจกบุคคลมีอิสรภาพทางศีลธรรม (moral autonomy) เป็นของตนเอง 

เช่นที่วอลแตร์ (Voltaire) กล่าวว่า “ถ้าพระเจ้าไม่มีจริงก็จำเป็นต้องสร้างพระองค์ขึ้นมา” (If God did not exist, it would be necessary to invent Him.) เพราะเขาคิด (ในบริบทยุคนั้น) ว่าศรัทธาในพระเจ้าคือรากฐานของการมีศีลธรรม แต่เขาปฏิเสธการปกครองแบบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการบังคับศรัทธาของศาสนจักรที่อ้าง “อำนาจเทวสิทธิ์” ของพระเจ้า และยืนยันเสรีภาพ และความอดกลั้น (tolerance) ทางศาสนา 

แต่พุทธไทยในศตวรรษที่ 21 ยังต่อต้านแนวคิดโลกวิสัย และปัญญาชนพุทธก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการที่ยังมีระบบศาสนจักรสนับสนุน hard power ของอำนาจรัฐที่ขัดหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน และเพิกเฉยต่อการใช้อำนาจรัฐเช่นนั้นกดปราบประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

ผมจึงมองไม่เห็นว่าพุทธแบบไทยจะสามารถเป็น soft power ที่มี moral authority เป็นพลังโน้มน้าวให้นานาชาติยอมรับ และให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และสันติภาพโลกได้อย่างไร 

 

ที่มาภาพ: https://protectdhamma.blogspot.com/2016/02/blog-post_15.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net