Skip to main content
sharethis

สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ออกแถลงการณ์เน้นย้ำให้ภาคเอกชนยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจและต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารในพม่า

13 พ.ค. 2564 แถลงการณ์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า โดย OHCHR เรียกร้องให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทุกภาคส่วนต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน และร่วมกดดันรัฐบาลทหารของพม่าให้ยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่ง OHCHR ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในพม่าเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา บริษัทเอกชนบางรายประกาศยุติการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อประชาชนชาวพม่าตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ยังมีภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่เดินหน้าทำธุรกิจกับกองทัพพม่า แม้จะทราบดีว่าสถานการณ์ความรุนแรงที่กองทัพพม่ากระทำต่อประชาชนนั้นเลวร้ายลงเรื่อยๆ

สุริยะ เทวา (Surya Deva) รองประธานกลุ่มงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของ OHCHR กล่าวว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงในพม่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้น การยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนจึงมีความสำคัญอย่างมาก ภาคเอกชนรวมถึงนักลงทุนควรแสดงออกต่อเรื่องนี้อย่างจริงจังและรวดเร็ว ด้าน ทอม แอนดรูวส์ ผู้แทนองค์การสหประชาชาติที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ระบุว่า ภาคเอกชนที่เข้าไปลงทุนในพม่าควรยกระดับการกดดันรัฐบาลทหารขั้นสูงสุด เพราะการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า ถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามที่ OHCHR เคยชี้แจงไว้ก่อนหน้านี้

“ผลประกอบการที่กองทัพพม่าได้รับล้วนมาจากกลุ่มธุรกิจพม่าและต่างชาติที่เข้ามาร่วมลงทุนในพม่า ซึ่งเงินเหล่านั้นจะนำไปสู่อาวุธและเทคโนโลยีที่กองทัพสามารถนำมาใช้โจมตีและก่อความรุนแรงแก่ประชาชน” แอนดรูวส์ กล่าว ในขณะที่ เทวา แนะนำว่าภาคธุรกิจควรยุติการดำเนินงานชั่วคราวหรือถอนการลงทุนออกจากพม่า เพื่อปกป้องพนักงานในสังกัดของตนและแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนชาวพม่า แต่หากจำเป็นต้องประกอบธุรกิจในพม่าต่อ ก็สามารถแสดงออกในรูปแบบอื่นได้ เช่น สนับสนุนกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของชาวพม่า ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงอย่างสันติ หรือแถลงต่อสาธารณะว่าจะปกป้องสิทธิพลเมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ OHCHR ยังระบุว่า ผู้นำชาติอาเซียน และกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ควรร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งและเด็ดขาดเพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจในประเทศของตนมีความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพม่า และเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายหนักไปกว่าเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net