Skip to main content
sharethis

ถ้อยแถลงจากหน่วยงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) ระบุถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่กำลังมีความพยายามออกกฎหมายจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่มและการดำเนินงานของภาคประชาสังคม เช่น "ร่าง พรบ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร" และเรียกร้องให้ไทยปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนนานาชาติ โดยเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

10 มี.ค.2565 เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกถ้อยแถลงที่ระบุถึงสถานการณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ไว้ในรายงานประจำปีและการติดตามผลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากการประชุมรอบที่ 49 ของคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

บาเชเลต์ระบุในถ้อยแถลงว่า เขารู้สึกผิดหวังจากการที่ประเทศไทยมีพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมลดลงอย่างมาก รวมถึงมีการใช้กฎหมายอาญาดำเนินคดีต่อบุคคลต่างๆ รวมถึงที่เป็นเด็ก เพียงเพราะบุคคลเหล่านั้นใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติของตัวเอง ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือในโลกออฟไลน์  

ถ้อยแถลงระบุอีกว่ามีกฎหมายจำนวนหลายฉบับที่กำลังอยู่ภายใต้การพิจารณาที่อาจจะมีผลกระทบถึงสิทธิมนุษยชนและเป็นการบ่อนทำลายพื้นที่ของประชาสังคมมากขึ้น เช่น ร่าง พรบ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ให้อำนาจการตัดสินใจที่กินความกว้างเกินไปในการปฏิเสธไม่ให้องค์กรจดทะเบียน เป็นการจำกัดการทำกิจกรรม และเป็นการใช้การดำเนินคดีอาญาต่อองค์กรภาคประชาสังคมและต่อบุคคล

บาเชเลต์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำให้ร่างกฎหมายเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสิทธิมนุษยชนนานาชาติอย่างเต็มที่และรักษาพันธกรณีในการคุ้มครองเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมถึงในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ประชาชนยังต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องเรื่องต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยในทุกประเด็นที่เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ

นอกจากประเทศไทยแล้ว ถ้อยแถลงของยูเอ็นยังระบุถึงสถานการณ์สงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือนในยูเครนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ยูเอ็นแสดงความกังวลต่อพลเรือนในยูเครนที่ติดอยู่ในพื้นที่สู้รบและเรียกร้องให้มีปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพในการทำให้พลเรือนอพยพออกจากพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย

ขณะเดียวกันในรัสเซียก็มีการจำกัดสิทธิมนุษยชนในประเทศตัวเองด้วยการปิดกั้นไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะจากรัฐบาลรวมถึงห้ามวิจารณ์เรื่องการรุกรานยูเครน มีผู้คนประมาณ 12,700 ถูกจับกุมโดยพลการเพราะจัดการประท้วงอย่างสันติเพื่อแสดงออกต่อต้านสงคราม อีกทั้งสื่อยังถูกจำกัดให้ใช้แค่ข้อมูลของทางการและมีการใช้คำแบบของทางการเท่านั้น อีกเรื่องหนึ่งที่ยูเอ็นกังวลเกี่ยวกับรัสเซียคือการอ้างใช้กฎหมายโดยมีนิยามแบบคลุมเครือทำให้ตีความได้กว้างจนอาจนำมาใช้เอาผิดผู้เรียกร้องทางการเมืองตามสิทธิที่พวกเขามีได้

ถ้อยแถลงยูเอ็นยังระบุถึงกรณีการที่ตำรวจในสหรัฐฯ สังหารชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันไปถึง 266 รายในปี 2564 กรณีของจีนที่ปฏิบัติต่อผู้เรียกร้องประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วยการจำกัดเสรีภาพอย่างการคุมขังในบ้าน และระบุว่าในช่วงกลางปีนี้ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรวมถึงบาเชเลต์จะส่งทีมไปตรวจสอบเรื่องต่างๆ รวมถึงในซินเจียงที่จีนถูกกล่าวหาว่ามีค่ายกักกันชาวอุยกูร์

ยูเอ็นระบุถึงกรณีกัมพูชาที่มีการอ้างใช้ข้อจำกัดเกี่ยวกับ COVID-19 ในการทำลายพื้นที่ประชาธิปไตยและภาคประชาสังคม เช่น การอ้างใช้จับกุมคนทำงานคาสิโนที่ผละงานประท้วงอย่างถูกกฎหมาย

เรียบเรียงจาก

  • 49th session of the Human Rights Council - Statement by Michelle Bachelet, UN High Commissioner for Human Rights, UN, 07-03-2022 https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=28225&LangID=E

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net