Skip to main content
sharethis

ปชช.และเครือข่าย ‘nine2five fight4justice’ ยื่น จม.ถึง UN จับตากระบวนการยุติธรรม กดดันให้คืนสิทธิการประกันตัวให้ผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมือง ปฏิบัติตามหลัก ICCPR พร้อมกันนี้ 3 นักข่าว ‘สำนักข่าวราษฎร-เฟรนด์ทอล์ก-ประชาไท’ พบผู้แทน UN ปมถูกรัฐขึ้นบัญชีเฝ้าระวัง  

 

13 ก.ค. 2565 หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เวลา 12.30 น. ประชาชนและสมาชิกเครือข่าย ‘nine2five fight4justice’ ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ยืนหยุดการละเมิดสิทธิประกันตัว พร้อมเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN จับตารัฐบาลไทยละเมิดกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR โดยวันนี้เป็นวันที่ 3 ของการทำกิจกรรม

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ และหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม เคยให้สัมภาษณ์เมื่อ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันทำกิจกรรมวันแรกว่า เหตุที่ต้องมาทำกิจกรรมที่หน้า UN เนื่องจากปัจจุบัน ประชาชนไม่สามารถพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศได้อีกแล้ว ทำให้ต้องมาเรียกร้องความเป็นธรรมต่อองค์กรนานาชาติ 

ภัควดี ระบุต่อว่า สิ่งที่รัฐไทยกำลังทำต่อผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ถูกฝากขังอยู่จำนวน 23 คน และหลายคนได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจนั้น เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR

สำหรับ ICCPR คือ กติกาที่ว่าด้วยการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม การนับถือศาสนา รวมถึงการได้รับสิทธิการประกันตัวและการไต่สวนอย่างเป็นธรรม 

เมื่อเวลา 12.40 น. สำนักข่าว Voice TV ถ่ายทอดสดวันนี้ (13 ก.ค.) รายงานว่า กำหนดการทำกิจกรรมวันนี้ ประชาชนจะส่งตัวแทน 3 คนเข้าไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ‘เดวิด เมอร์ฟี’ เจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR เกี่ยวกับกรณีที่ทางการไทยละเมิดสิทธิการประกันตัว ให้นานาชาติช่วยกดดันรัฐบาลไทยให้คืนสิทธิ์การประกันตัวให้กับผู้ถูกคุมขังทางการเมือง 

สำหรับบรรยากาศการทำกิจกรรมวันนี้ มีประชาชนจำนวนมากมายืนชูป้ายที่หน้า UN เป็นข้อความต่างๆ เช่น ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ‘ICCPR is a joke?’ ‘ต่อต้านรัฐอำมหิต’ ‘Free our friends’ และอื่นๆ 

บรรยากาศการทำกิจกรรม ยืน หยุดการละเมิดสิทธิการประกันตัวนักกิจกรรมการเมืองหน้า UN

เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนยื่นจดหมายให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังออกมาจากสำนักงาน UN ว่า เบื้องต้น ทางตัวแทน OHCHR รับทราบข้อกังวลต่อกระบวนยุติธรรมไทย และนักกิจกรรมทางการเมืองที่ขณะนี้กำลังประท้วงด้วยวิธีอดอาหารในเรือนจำ 

ทาง OHCHR เน้นย้ำว่าจะมีการจับตาดูสถานการณ์ยุติธรรมของประเทศไทยต่อไป และจะพยายามสื่อสารต่อทางการไทยว่ามีข้อกังวลตรงนี้อยู่ 

ตัวแทน OHCHR ระบุด้วยว่าขณะนี้กำลังประสานงานไปยังกรมราชทัณฑ์ไทย เพื่อขอเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากทางการแต่อย่างใด ซึ่งทางภัควดี หนึ่งในตัวแทนเข้าไปยื่นจดหมาย ระบุว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจ เพราะว่าหลายครั้งทางการไทยใช้ข้ออ้างเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ไม่ให้เข้าเยี่ยมนักโทษการเมืองเรือนจำ อย่างไรก็ตาม ถ้าหาก UN ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมือง อาจมีท่าทีมากขึ้นต่อกรณีนี้  

ประชาชนยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ OHCHR

ตัวแทนยื่นจดหมาย ระบุว่า ทาง OHCHR เสนอแนะให้ลองประสานงานถึงหน่วยงานกลไกพิเศษต่างๆ ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งภัควดี ระบุว่า เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ และจะลองนำไปพิจารณาหารือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อวางแนวทางการเคลื่อนไหวในอนาคต

ทั้งนี้ หนึ่งในตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าไปยื่นจดหมายระบุว่า นอกจาก UN ทางกลุ่มมีการยื่นหนังสือหน่วยงานอื่นๆ ในประเทศไทยร่วมด้วย อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร 

ตัวแทนภาคยื่นจดหมาย มองว่าคงคาดหวังให้ UN สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันกดดันรัฐบาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และปฏิบัติตามกฎหมาย

“เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่า UN จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่เราประชาชนคนไทยต้องช่วยกันกดดันให้รัฐบาลของเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง …เราเรียกร้องให้ประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไทยออกมาเอง และรัฐธรรมนูญที่ไทยออกมาเอง กติกาที่ประเทศไทยไปให้สัตยาบัน เราต้องการเรื่องพื้นฐานมากๆ จริงๆ มันอาจจะไม่ใช่เฉพาะนักโทษการเมืองเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของคนทุกคน” ตัวแทนยื่นจดหมายทิ้งท้าย 

3 นักข่าวถก OHCHR ปมถูกรัฐขึ้นบัญชี 'เฝ้าระวัง'

วันเดียวกัน ‘สำนักข่าวราษฎร’ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ตัวแทนสื่อมวลชน 3 ราย ได้แก่ ณัฐพงศ์ มาลี จากสำนักข่าวราษฎร สุรเมธ น้อยอุบล ช่องเฟรนด์ทอล์ก และบุรภัทร จันทร์ประทัด จากสื่อประชาไท เดินทางเข้าพบนายเดวิด เมอร์ฟี ตัวแทนองค์การสหประชาชาติ และคณะ เพื่อชี้แจงสถานการณ์การบังคับใช้กระบวนการทางกฎหมาย และการขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนเป็นบุคลลและสื่อ 'เฝ้าระวัง' 

ในเอกสารดังกล่าวระบุบัญชีรายชื่อนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่รายงานข่าวในพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง โดยมีการจั่วหัวเอกสารข้อความว่า 'ลับมาก เฝ้าระวัง' โดยจำแนกเป็น 2 ชุด คือ ทั้ง 'บุคคลเฝ้าระวัง' และ 'เฝ้าระวังสื่ออิสระ' ในเอกสารระบุ ใบหน้าของบุคคลที่มีรายชื่อ ข้อมูลส่วนตัว เช่น บ้านเลขที่ บัญชีเฟซบุ๊ก ตลอดจนพฤติกรรม บางรายมีลักษณะการกล่าวหาความผิด เช่น ก่อกวนเจ้าหน้าที่ ร้องตะโกนขณะขบวนเสด็จฯ ผ่าน เขียนข้อความลักษณะเสียดสีการเมือง เป็นต้น 

(ซ้าย-ขวา) เดวิด เมอร์ฟี จนท. OHCHR บุรภัทร จันทร์ประทัด สื่อประชาไท สุรเมธ น้อยอุบล สื่อเฟรนด์ทอล์ก และ ณัฐพงศ์ มาลี สื่อสำนักข่าวราษฎร

ณัฐพงศ์ จากสำนักข่าวราษฎร กล่าวว่า ตนเองเป็นนักผู้สื่อข่าวอิสระมาแล้ว 2 ปี ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงอยู่บ่อยครั้ง และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ถูกดำเนินคดีจากกรณีขณะปฏิบัติหน้าที่ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ต่อมา ตนเองถูกเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลเฝ้าระวัง ประเภทสื่ออิสระ ซึ่งเป็นเหตุให้ทางเจ้าหน้าที่มักจับตา ถ่ายรูปขณะลงพื้นที่ และมีการไปเยี่ยมที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปัจจุบันนี้มีสื่อมวลชนอิสระถูกดำเนินคดีจากการลงพื้นที่ถ่ายทอดสด จำนวน 6 ราย และมี 2 ราย ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ด้วย

ณัฐพงศ์ กล่าวด้วยว่า การขึ้นบัญชีเป็นบุคคลเฝ้าระวังดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางของตน และถือเป็นการขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพ ในวันนี้ (13 ก.ค.) จึงนำเรียนผู้แทนองค์การสหประชาชาติให้ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว

สุรเมธ จากเฟรนด์ทอล์ก กล่าวว่า ตนเองถูกขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ได้ถ่ายภาพทะเบียนรถของตน และมีการไปพูดคุยกับพ่อแม่ที่หน้าบ้าน โดยเจ้าหน้าที่มีการกล่าวหาว่าตนเองไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งนี้ตนได้ข้อสังเกตว่า การขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวังนั้น เกิดภายหลังจากการเคลื่อนไหวในช่วง 2564-2565 ที่หน่วยงานจากทางรัฐบาลมีความเห็นให้สื่อมวลชนกระแสหลักระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

สุรเมธ กล่าวด้วยว่า มีนักข่าวอีกท่านหนึ่งที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ คือ ‘ยา’ ณัฐพล พันธ์พงศ์สานนท์ ซึ่งเป็นสื่อมีสังกัด ในช่วงวันที่ 23 เมษายน 2565 ถูกสมาชิกกลุ่มรักสถาบันทำร้ายได้รับบาดเจ็บ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งคดีความดังกล่าวยังไม่ได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด้าน บุรภัทร จากช่องประชาไท กล่าวว่า ตนเองเป็นนักข่าวที่ถ่ายทำสารคดีของการเคลื่อนไหวของนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งในวันนั้นตนเองได้ถ่ายคลิปวิดีโอและติดตามทานตะวันไปในพื้นที่ที่จะมีขบวนเสด็จ ตนจึงคิดว่าว่าการถูกขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวังดังกล่าวเกิดมาจากสาเหตุนั้น

ด้าน เดวิด เมอร์ฟี ตัวแทนองค์การสหประชาชาติ ได้รับฟังข้อร้องเรียนจากนักข่าวทั้ง 3 คน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net