Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนทุกรูปแบบ

20 พ.ค. 2564 นักกิจกรรมจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และตัวแทนเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี พร้อมครอบครัวร่วมทำกิจกรรม “การใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของเด็กและเยาวชนไม่ใช่อาชญากรรม” บริเวณหน้าพระแม่ธรณีบีบมวยผม ตรงข้ามสนามหลวง ฝั่งโรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องทางการไทยยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อเด็กเเละเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกเเละการชุมนุมโดยสงบ โดยมีการนำหุ่นเด็กจำนวน 41 ตัวตั้งไว้พร้อมคำบรรยายข้อกล่าวหา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

ภาพกิจกรรมจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์
 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าข้อมูลจากการบันทึกและสังเกตสถานการณ์การใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมและการเเสดงออกแสดงพบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมและแสดงออกมากถึง 41 คน ใน 39 คดี ในจำนวนนี้ มี 5 คนใน 6 คดี ที่มีอายุต่ำสุดเพียง 14 ปี

“ปัจจุบันมีเด็กและเยาชนถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริยและความผิดร้ายแรงอื่น เช่น ความผิดฐานเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่  รวมทั้งความผิดอันมุ่งจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมชุมนุมโดยตรง เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เเละข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการดำเนินคดีกับเด็กในที่ชุมนุมภายใต้การบังคับใช้มาตรา 112

เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีจากที่ชุมนุมมักถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่รัฐมีเเนวโน้มที่จะใช้กำลังในการควบคุมตัวบุคคลในที่ชุมนุมและนำไปควบคุมตัวในสถานที่ซึ่งมิได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เด็กและเยาวชนจึงถูกปฏิเสธสิทธิในการพบผู้ปกครอง เเละทนายความ รวมถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที” ปิยนุช กล่าว

ภาพกิจกรรมจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์
 

พร้อมกันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง เเละอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรับรองสิทธิในการแสดงออกเเละการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบไว้ตามมาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

แถลงการณ์

20 พฤษภาคม 2564

ทางการไทยดำเนินคดีทางการเมืองต่อเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบแรกในปี 2563 จนถึงวันนี้ ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร มีการรวบอำนาจศูนย์กลางและใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อลดจำนวนการแพร่กระจายของโควิด-19ในประเทศ สิทธิเสรีภาพบางส่วนถูกริดถอนไปเพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตและเพื่อป้องกันโรคระบาด อย่างไรก็ตาม การจำกัดสิทธิต้องปฏิบัติิให้สอดคล้องกับเหตุที่ใช้ มีเหตุผลที่เพียงพอและรับได้ ตามความจำเป็นและความได้สัดส่วน ทั้งยังต้องกำหนดระยะเวลาในการบังคับใช้แน่นอน บังคับใช้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานการจับกุมและการดำเนินคดีต่อผู้ที่เห็นต่าง โดยเฉพาะจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาซึ่งเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้คนที่ถูกกดขี่ โดยเฉพาะคนชายขอบในสังคม และการเรียกร้องให้รัฐบาลพร้อมทั้งสถาบันต่างๆ ในประเทศ ดำเนินการปฏิรูประบบโครงสร้างทางอำนาจ ให้สามารถตรวจสอบได้และรับผิดชอบต่อประชาชน โดยใช้หลักสิทธิมนุษยชนและปฏิรูปกฎหมายสูงสุด กลับพบจากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่ามีการดำเนินคดีต่อผู้ที่แสดงออกทางการเมืองหรือเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 650 คน ใน 300 คดี รวมถึงเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วย

ข้อมูลจากการบันทึกและสังเกตการณ์สถานการณ์การใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมและการเเสดงออกแสดงให้เห็นว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมและแสดงออกมากถึง 41 คน ใน 37 คดี ในจำนวนนี้ มี 5 คนใน 6 คดี ที่อายุต่ำสุดเพียง 14 ปี ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ และความผิดร้ายแรงอื่น เช่น ความผิดฐานเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ รวมทั้งความผิดอันมุ่งจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมชุมนุมโดยตรง เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ ความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เเละข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการดำเนินคดีกับเด็กในที่ชุมนุมภายใต้การบังคับใช้มาตรา 112

นอกจากการดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนลยังพบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีจากที่ชุมนุม มักถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ เจ้าหน้าที่รัฐมีเเนวโน้มที่จะใช้กำลังในการควบคุมตัวบุคคลในที่ชุมนุมและนำไปควบคุมตัวในสถานที่ซึ่งมิได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เด็กและเยาวชนจึงถูกปฏิเสธสิทธิในการพบผู้ปกครอง เเละทนายความ รวมถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที

การดำเนินคดีเเละการใช้กำลังเข้าจับกุมเเละควบคุม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเเละไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลเเนล จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง เเละอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรับรองสิทธิในการแสดงออกเเละการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบไว้ตามมาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้

• ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อเด็กเเละเยาวชนซึ่งออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการเเสดงออกเเละการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ รัฐไทยต้องลดทอนความเป็นอาชญากรรมและนำเด็กตลอดทั้งเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

• ยุติการใช้ความรุนเเรงต่อเด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในที่ชุมนุมและภายหลังออกจากที่ชุมนุม รัฐไทยต้องประกันว่าการจับกุมเเละควบคุมตัวต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ กระทำการเท่าที่จำเป็นเเละได้สัดส่วน เด็กหรือเยาวชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำอันไม่สอดคล้องต่อหลักการนั้น ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

• รัฐต้องเร่งดำเนินนโยบายคุ้มครองเด็กเเละเยาวชนซึ่งออกมาเเสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ทั้งการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ตระหนักถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิที่จะได้รับการรับฟัง เเละสิทธิที่จะเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบของเด็ก  ตรวจสอบเเละทบทวนเเนวปฏิบัติในการควบคุมการชุมนุมให้สอดคล้องกับหลักการสากลอย่างเเท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net