Skip to main content
sharethis

'โซเฟีย หวง เสวี่ยฉิน' เป็นผู้ที่เคยเขียนเรื่องราวในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานของเธอมาก่อนในตอนที่เธอเป็นนักข่าวที่สำนักข่าวจีน ตอนที่โลกกำลังมีกระแสการเคลื่อนไหวเรื่อง #MeToo แต่ศาลของกวางโจวก็เพิ่งจะตัดสินเมื่อไม่นานนี้ให้เธอต้องโทษจำคุก 5 ปีจากข้อหา 'ยุยงให้เกิดการล้มล้างอำนาจรัฐ'

 

 

23 มิ.ย. 2567 สื่อต่างประเทศรายงานว่าศาลประชาชนชั้นกลางประจำมณฑลกวางโจวมีคำสั่งตัดสินให้ โซเฟีย หวง เสวี่ยฉิน นักข่าวและนักกิจกรรมขบวนการ #MeToo ต้องโทษจำคุก 5 ปี และ หวังเจียนปิง นักกิจกรรมแรงงาน ต้องโทษจำคุก 3 ปี กับอีก 6 เดือน ในข้อหา "ยุยงให้เกิดการล้มล้างอำนาจรัฐ"

มีการตั้งกลุ่มในโซเชียลมีเดียขึ้นมาในชื่อว่า "ปลดปล่อยเสวี่ยปิง" (Free Xuebing) ซึ่งเป็นการนำชื่อของนักกิจกรรมสองรายนี้มาผสมกัน เป็นการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้งสองคน หวงบอกว่าเธอจะยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินนี้

ก่อนหน้านี้หวงเคยเขียนประสบการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานมาก่อนผ่านทางโซเชียลมีเดีย ในช่วงที่โลกกำลังตื่นตัวกับขบวนการ #MeToo เธอระบุถึงเรื่องที่เธอเผชิญในตอนที่ทำงานเป็นนักข่าวในสำนักข่าวจีน นอกจากนี้ในปี 2561 หวงยังเคยเป็นผู้สื่อข่าวในประเด็นสิทธิสตรี ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหามลภาวะทางอุตสาหกรรม เธอได้ทำการสำรวจพบว่ามีปัญหาการล่วงละเมิดบนฐานของเพศสภาพเกิดขึ้นจำนวนมากในอุตสาหกรรมสื่อ

แต่ต่อมาในปี 2562 หวงก็ถูกจับกุมและถูกคุมขังเป็นเวลา 3 เดือน โดยอ้างข้อหา "ทะเลาะวิวาทและกระตุ้นให้เกิดความวุ่นวาย" จากการที่เธอไปทำข่าวการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ในขณะที่ผู้ถูกตัดสินอีกรายหนึ่งคือหวัง เป็นคนที่คอยจัดชุมนุมในตอนใต้ของกวางโจว ทั้งสองคนถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดีด้วยข้อหาล่าสุดคือ  'ยุยงให้เกิดการล้มล้างอำนาจรัฐ' มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว

ในตอนที่มีการเริ่มดำเนินคดีกับหวงและหวังในปี 2566 กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติได้แสดงความกังวลในเรื่องสุขภาพของทั้งสองคนในที่คุมขัง

ทางการจีนได้กล่าวหาว่าหวงได้ "เผยแพร่บทความและคำพูดโจมตีรัฐบาลแห่งชาติในเชิงบิดเบือนและกระตุ้นเร้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย" และ "รวมกลุ่มคณะผู้จัดงานจากนานาชาติให้เข้าร่วมการฝึกอบรมออนไลน์เพื่อ 'ปฏิบัติการสันติวิธี' "

ส่วนหวังถูกกล่าวหาว่าโพสต์เนื้อหา "บทความและคำพูดในเชิงโจมตีระบอบการเมืองและรัฐบาลจีนในแบบที่ไม่เป็นความจริง" และเข้าร่วม "กลุ่มชาวต่างชาติออนไลน์(ที่บ่อนทำลายชาติ)" รวมถึงเข้าร่วมพิธีการรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2532

ทางการจีนกล่าวหาจำเลยอีกว่า ในการประชุมที่กรุงกวางโจวเมื่อเดือน พ.ย. 2563 นั้นเป็นการ "ยุยงให้ผู้เข้าร่วมมีความไม่พอใจต่ออำนาจรัฐของจีนโดยซ่อนอยู่ภายใต้ข้ออ้างเรื่องการหารือกันในประเด็นสังคม"

ซาราห์ บรูคส์ ผู้อำนวยการฝ่ายจีนของแอมเนสตีอินเตอเนชันแนลวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินนี้ว่าเป็น "คำตัดสินที่มุ่งร้ายและไร้หลักฐานโดยสิ้นเชิง"

"โซเฟีย หวง เสวี่ยฉิน และหวังเจียนปิง ถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาเอง พวกเขาควรจะได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข" บรูคส์กล่าว

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่าในช่วงที่มีการคุมขังก่อนการพิจารณาคดี มีหลักฐานว่า หวง เผชิญกับการทารุณกรรม โดยที่เธอรู้สึกเจ็บแบบของมีคมทิ่มแทงที่ข้อมือเธอ ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกให้นั่งเก้าอี้ทรมานแบบที่มีการล็อคมือติดเอาไว้เป็นเวลานาน เก้าอี้ทรมานที่ว่านี้เรียกว่า "ไทเกอร์แชร์" เป็นเครื่องมือทารุณกรรมอันอื้อฉาวของตำรวจจีน

เซดริก อัลเวียนี ผู้อำนวยการสำนักงาน RSF เอเชียแปซิฟิก แถลงว่า "หวง เสวี่ยฉิน แค่รับใช้ประชาชนด้วยการส่องแสงให้เห็นประเด็นทางสังคม เธอไม่ควรจะต้องถูกคุมขัง และยิ่งไม่ควรที่จะถูกทารุณกรรมหรือถูกตัดสินลงโทษจำคุกยาวนานเช่นนี้ พวกเราเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันกดดันทางการจีนเพื่อให้มีการปล่อยตัวเธอรวมถึงนักข่าวและผู้ปกป้องเสรีภาพสื่อคนอื่นๆ อีก 118 ราย ที่ถูกคุมขังในประเทศจีน"

RSF ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีการคุมขังนักข่าวและผู้ปกป้องเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลก โดยถูกจัดอยู่ในอันดับท้ายตารางที่ 172 จากทั้งหมด 180 อันดับ ในดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2567 ของ RSF

 

เรียบเรียงจาก
China jails #MeToo journalist Sophia Huang for 5 years over ‘inciting subversion of state power’, Hong Kong Free Press, 14-06-2024
The journalist who sparked the #MeToo movement in China sentenced to 5 years for subversion, RSF, 14-06-2024
Tiger chair: Sick torture tactics in Chinese prisons, News.com.au, 17-05-2015
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net