Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีของจอร์เจียใช้สิทธิวีโต ร่างกฎหมายสกัดกั้นอิทธิพลต่างชาติที่มีการโหวตในรัฐสภา หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการประท้วงต่อต้านกฎหมายนี้เพราะมองว่ากฎหมายนี้คล้ายกับกฎหมายของรัสเซียที่อ้างใช้ปราบปรามคนเห็นต่างกับรัฐบาล และอาจจะเป็นตัวขัดขวางจอร์เจียในการเข้าเป็นสมาชิกอียู อย่างไรก็ตามการวีโตในครั้งนี้อาจเป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เนื่องจากรัฐสภาจอร์เจียยังมีอำนาจดันกฎหมายนี้อยู่ในมือ

 

ประธานาธิบดี ซาโลเม่ ซูฮาบิชวิลี ของจอร์เจีย

ภาพโดย George Abdaladze - Own work, CC BY-SA 4.0

ประธานาธิบดี ซาโลเม่ ซูฮาบิชวิลี ของจอร์เจีย ได้ใช้สิทธิวีโตเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านกฎหมายว่าด้วยการสกัดกั้น "อิทธิพลจากต่างชาติ" ที่ทำให้เกิดการประท้วงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีคำเตือนจากสหภาพยุโรปว่ามาตรการเหล่านี้จะเป็นการขัดขวางความต้องการเป็นสมาชิกอียูของจอร์เจีย

ส.ส.พรรครัฐบาลจอร์เจียนดรีมยังคงโหวตร่างกฎหมายสกัดกั้นอิทธิพลจากต่างชาติต่อไปโดยไม่สนใจว่าจะมีผู้ประท้วงต่อต้าน

การพยายามออกกฎหมายสกัดกั้นอิทธิพลต่างชาติเป็นเหตุเกิดกระแสการประท้วงในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในจอร์เจีย สาเหตุที่ประท้วงกฎหมายนี้เพราะกลัวว่าประเทศจอร์เจียที่ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน จะเปลี่ยนแนวทางจากการสนับสนุนชาติตะวันตกหันกลับมาสนับสนุนรัสเซีย

ผลการสำรวจโพลความคิดเห็นระบุว่ามีประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ที่ต้องการให้จอร์เจียเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปและนาโต รวมถึงเป็นผู้ต่อต้านรัสเซียอย่างแข็งขัน

ซูฮาบิชวิลี ได้แถลงทางโทรทัศน์โดยพูดถึงกฎหมาย "อิทธิพลจากต่างชาติ" ที่นักวิจารณ์ระบุว่าคล้ายกับการออกกฎหมายแบบที่รัฐบาลรัสเซียอ้างนำมาใช้ปิดปากคนที่ต่อต้านรัฐบาล ความว่า "วันนี้ข้าพเจ้าได้ทำการวีโต...กฎหมายที่มีความเป็นแบบรัสเซียอยู่ในตัว และเป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญของพวกเรา"

สหภาพยุโรปเคยกล่าวไว้ว่ากฎหมายสกัดกั้นอิทธิพลต่างชาติของจอร์เจียนั้น "ไปกันไม่ได้" กับการที่จอร์เจียขอเป็นสมาชิกอียู ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ

ชาร์ล มีแชล ประธานคณะมนตรียุโรประบุในโซเชียลมีเดียว่าการวีโตกฎหมายนี้ทำให้เกิด "ช่วงระยะเวลาให่ไตร่ตรองเพิ่มเติม"

มีแชล ยังเรียกร้องให้ ส.ส. "ใช้ช่วงเวลาที่เป็นโอกาสนี้ให้ดี" ในการทำให้จอร์เจียยังคงอยู่ในแนวทางสู่อียู

ในทางการเมืองแล้ว ถึงแม้ประธานาธิบดีจอร์เจียคนปัจจุบันจะได้รับการส่งเสริมจากพรรครัฐบาลในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ก็ไม่ได้ขึ้นตรงกับพรรครัฐบาลโดยตรง และถึงแม้ว่าประธานาธิบดีจะวีโตได้ แต่ก็อาจจะกลายเป็นการวีโตในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะพรรครัฐบาลจอร์เจียนดรีมมี ส.ส. มากพอในสภาที่จะลบล้างการวีโตของประธานาธิบดีได้ อีกทั้งซูฮาบิชวิลียังเริ่มมีความหมางเมินกับพรรครัฐบาลจอร์เจียมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตการเมืองปี 2563-2564

นายกรัฐมนตรี อิรากลี โคบากิดเซ ได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าพรรคการเมืองของเขามีความพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอของซูฮาบิชวิลีในการแก้ไขร่างกฎหมาย ถ้าหากเธอได้เสนอการแก้ไขผ่านทางเอกสารวีโต แต่ซูฮาบิชวิลีที่มีความขัดแย้งกันอยู่กับพรรครัฐบาลก็แสดงออกว่าเธอจะไม่ร่วม "เจรจาแบบปลอมเปลือก, ไม่จริงใจ, ชวนให้ไขว้เขว" กับพรรคจอร์เจียนดรีม

กฎหมายดังกล่าวนี้ระบุให้เอ็นจีโอและสื่อที่ได้รับเงินทุนจากต่างชาติมากกว่าร้อยละ 20 ต้องจดทะเบียนในฐานะกลุ่มที่ "ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของต่างชาติ"

 

เรียบเรียงจาก:

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net