Skip to main content
sharethis

พนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน ประสานทนายความ ยังไม่ส่งฟ้องศาลจังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 28 พ.ค. 64 กรณีชาวบ้านบางกลอย 28 ราย ถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่าตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ อัยการสั่งให้สอบพยานนักวิชาการเพิ่ม 7 คน ด้านภาคี Save บางกลอย ไม่นิ่งนอนใจ พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แม้ธรรมนัส รับปากจะช่วย

ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงมารับหนังสือข้อเรียกร้องชะลอดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอย 28 คน เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 64

กรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 64 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก่งกระจาน (สภ.แก่งกระจาน) แจ้งข้อหาต่อชาวบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 28 คน เพิ่มอีก 2 ข้อหา ได้แก่ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จากเดิมที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดี บุกรุกป่าตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านถูกดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 3 คดี

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน แจ้งด้วยว่าให้ชาวบ้านทั้ง 28 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการในวันที่ 28 พ.ค. 64 

27 พ.ค. 64 ทีมสื่อภาคี Save บางกลอย ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 64 จากทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ถึงความคืบหน้ากรณีคดีชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ว่า พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีจาก สภ.แก่งกระจาน ติดต่อทนายความของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน แจ้งว่า กรณีชาวบ้านบางกลอยที่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 24 พ.ค.นั้น พนักงานอัยการแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติม ตามที่ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ทำให้คดีไม่อาจจะดำเนินการส่งฟ้องคดีต่อศาลได้ทัน ภายในกำหนดวันรับฝากขังที่จะครบในวันที่ 27 พ.ค.นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางกลอยทั้ง 28 คน ยังจะต้องไปศาลจังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 28 พ.ค. เวลา 9.00 น. ตามนัดที่ศาลนัดไว้เพื่อรับทราบผลการสั่งฟ้องคดี

กรณีสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ผู้ต้องหา พร้อมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี และอัยการสูงสุด เพื่อขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อสั่งไม่ฟ้องคดี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายสิทธิของผู้ต้องหาในการร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ 

ในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว ชี้แจงถึงกระบวนการสอบสวนที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการจับกุมดำเนินคดีกับเยาวชนอายุ 16 ปีเศษ แต่กลับไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายเด็กและเยาวชน ทั้งยังถูกนำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำร่วมกับผู้ใหญ่ก่อนที่ศาลจะปล่อยตัวออกมาพร้อมกัน และในหนังสือดังกล่าว ยังได้ขอให้พนักงานอัยการสอบสวนพยานนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมรวม 7 คน เพื่อประกอบการพิจารณามีคำสั่งของพนักงานอัยการ 

โดยได้ขอให้พนักงานอัยการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ประกอบ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554 

และยังได้ขอพนักงานอัยการได้นำเอามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง “แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” ซึ่งข้อเสนอหนึ่งคือ “ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม” มาพิจารณาประกอบการดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ประกอบกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 24 พ.ค. ซึ่งเป็นวันรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ผู้ต้องหาก็ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมและขอแก้ไขคำให้การไว้ และได้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมพยานบุคคลฝ่ายผู้ต้องหาจำนวน 7 คน แต่กลับไม่มีคำตอบจากพนักงานสอบสวน ทำให้ผู้ต้องหาต้องไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากพนักงานอัยการ จนในที่สุดพนักงานอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนต้องสอบสวนพยานบุคคลของผู้ต้องหาเพิ่มเติมตามที่ได้ร้องขอความเป็นธรรม 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มภาคี save บางกลอย และพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อยื่นหนังสือถึง ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่​อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย เพื่อให้ช่วยดำเนินชะลอการดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอย 28 คน และไม่ให้มีการดำเนินคดีกับชาวบ้านเพิ่ม จนกว่าคณะอนุกรรมฯ ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาชาวบ้านบางกลอย ซึ่งมีธรรมนัส เป็นประธาน จะทำงานเสร็จสิ้น

ในวันดังกล่าว ธรรมนัส รับปากช่วยดำเนินเรื่องตามข้อเสนอของภาคี Save บางกลอย พร้อมกับมีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อย่างไรก็ตาม ทางภาคีฯ ระบุว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าสิ่งที่ธรรมนัสรับปาก จะมีผลในทางปฏิบัติหรือไม่
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาคี#SAVEบางกลอยยื่นหนังสือชะลอคดี 28 ชาวบ้าน ธรรมนัสสั่งชะลอคดี ขอ 10 วันได้ข้อยุติ

แผ่นดินในหัวใจ : ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยบนเส้นทางยาวไกลสู่แผ่นดินเกิด

ภาคีSaveบางกลอย สรุปสถานการณ์คดี 28 กะเหรี่ยง กับอนุ กก.คดี-กฎหมายที่ยังไม่คืบหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net