'พิธา' ย้ำ งบปี 65 'ไร้สามัญสำนึก' พร้อมรับหนังสือกลุ่ม We Fair หนุนสร้างรัฐสวัสดิการ

เครือข่าย We Fair เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อกรรมาธิการวิสามัญฯ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้กรรมาธิการจัดลำดับความสำคัญในนโยบายสวัสดิการสังคม และปรับลดหรือตัดงบประมาณที่ไม่ใช่ลำดับความสำคัญ ด้าน 'พิธา' ฉะงบประมาณปี 2565 'ไร้สามัญสำนึก' พร้อมสู้เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน

4 มิ.ย. 2564 วันนี้ (4 มิ.ย. 2564) เวลาประมาณ 9.30 น. นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือขาย เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair), ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาคและคณะ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อกรรมาธิการวิสามัญฯ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 สภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา โดยมี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านจากพรรคก้าวไกล พรรคพื่อไทย และพรรคประชาชาติ เป็นผู้แทนรับหนังสือ

ธนพร กล่าวว่า พวกเราเครือข่าย We Fair ได้ติดตามการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศในตอนนี้ จากการอภิปรายงบประมาณ ปี 2565 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป เราเห็นถึงนโยบายของรัฐที่ประสบปัญหา ยิ่งมาเจอกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ประชาชนอย่างพวกเราได้รับผลกระทบมากขึ้น เราจึงมายื่นหนังสือต่อกรรมาธิการฯ งบประมาณ เพื่อให้นำไปพูดคุย ปรึกษาหารือ และปรับงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งทางเครือข่าย We Fair ต้องการให้นำงบประมาณที่ปรับลดในส่วนอื่นมาสนับสนุนในส่วนของเงินบำนาญหรือเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า เราเข้าใจว่าคณะกรรมาธิการในชั้น ส.ส. ค่อนข้างมีข้อจำกัดภายใต้กรอบกฎหมาย ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีต้องทบทวนว่าจะจัดสรรรัฐสวัสดิการอย่างไรให้กับประชาชนโดยเฉพาะในช่วงนี้

ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
 

นิติรัตน์ กล่าวว่า เครือข่าย We Fair ไม่เห็นด้วยกับการรับรองร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ในวาระ 1 แต่เมื่อผ่านมาจนถึงวาระ 2 แล้ว ทางกลุ่มจึงเตรียมข้อเสนอมายื่นต่อกรรมาธิการเพื่อให้ช่วยพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเพราะพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ไม่ตอบโจทย์ใน 3 ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาโควิด-19 แม้จะมี พรก.กู้เงินฉบับใหม่ วิกฤติการณ์ความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยทางกลุ่ม We Fair ได้ทวงถามไปยังรัฐบาลผ่านกรรมาธิการว่าเหตุใดงบสวัสดิการของประชาชนจึงลดลงถึง 10% ขณะที่งบสวัสดิการของข้าราชการเพิ่มสูงขึ้น และงบของกระทรวงกลาโหมที่สูงเป็นอันดับ 4

"ผมยกตัวอย่าง ประกันสังคมลดลงกว่า 20,000 ล้านบาท แม้แต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ลดลงกว่า 20,000 ล้านบาท รัฐมนตรี พม. บอกว่าจะดูแลผู้สูงอายุด้วยการออม แต่กองทุนการออมแห่งชาติปรับลดลงถึง 300 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง แล้วก็รัฐมนตรี พม. บอกว่าจะดูแลผู้สูงอายุโดยการจัดสร้างที่อยู่อาศัย แต่งบของการเคหะฯ ลดลง 53% กอช. ลดลง 300 ล้านบาท ยังไม่รวมถึง สปสช. ที่มีการอภิปรายไปบ้างแล้วซึ่งลดลง 1,800 ล้านบาท ผมคิดว่าการปรับลดนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราจึงมีข้อกังวลว่า[งบประมาณ]จะถูกปรับลดลงไปอีกในวาระ 2" นิติรัตน์ กล่าว

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือขาย เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair)
 

นิติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า งบประมาณเงินเงินอุดหนุนเด็ก 600 บาทเป็นการอุดหนุนแบบสงเคราะห์ ประเทศไทยมีเด็กประมาณ 4,000,000 คน แต่มีเพียง 2,000,000 คนเท่านั้นที่เข้าถึงเงินอุดหนุนส่วนนี้ และ พ.ร.บ.งบฯ ปี 2565 ก็ยังไม่พูดถึงสวัสดิการในส่วนนี้ ต่อมาคือเบี้ยสูงอายุ 600-1,000 บาท ซึ่งใช้มา 10 ปีแล้ว และเกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่กลับไม่มีการปรับเพิ่มจำนวนเงินเบี้ยผู้สูงอายุใน พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ ในขณะเดียวกัน เงินบำนาญปรับเพิ่มขึ้นกว่า 310,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของรายจ่ายใน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ส่วนเบี้ยความพิการยังเท่าเดิม

"ในเงินภาษีประชาชน 100 บาทจะเป็นเงินสวัสดิการของข้าราชการถึง 15 บาท เป็นเงินเดือนของข้าราชการถึง 25 บาท ดังนั้นผมคิดว่าโจทย์สำคัญที่ต้องพูดถึงการปฏิรูประบบข้าราชการก็ต้องมีสูงขึ้น เพราะว่า 40% [ใน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565]เป็นสวัสดิการและเงินเดือนของข้าราชการ" นิติรัตน์ กล่าว

We Fair ไม่รับหลักการ พ.ร.บ.งบฯ 65 ชี้ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญในการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ

นอกจากนี้ นิติรัตน์ ยังกล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณกว่า 200,000 ล้านบาทให้แก่กระทรวงกลาโหมใน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 ถือเป็นความบิดเบี้ยวและผิดพลาดอันใหญ่หลวง เพราะเกิน 50% ของเงินจำนวนนี้เป็นเงินเดือนของข้าราชการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่งบรายจ่ายเงินเดือนของข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขถูกปรับลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการถูกปรับลดอีกกว่า 10,000 ล้านบาท จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใด พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้จึงให้ความสำคัญต่อกำลังพลของกองทัพมากกว่าข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขและศึกษาธิการ

 

กรรมาธิการงบฯ ฝ่ายค้านให้คำมั่นจะแบ่งงบใหม่ สร้างรัฐสวัสดิการ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่างบประมาณที่รัฐบาลจัดสสรมาในปีนี้ ไม่สอดคล้องกับการบริหารงานบ้านเมืองโดยแม้แต่น้อย เป็นงบประมาณที่ "ไร้สามัญสำนึก" เป็นการจัดงบประมาณแบ่งแยกระหว่างอภิสิทธิ์ชนกับประชาชนให้ยามที่ประเทศกำลังดิ่งเหว และสะท้อนให้เห็นว่าประเทศและสังคมไทยให้คุณค่ากับสิ่งใด

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล
 

"ในการทำงานด้านงบประมาณ เรามีหน้าที่ต้องปกป้องสวัสดิการของพี่น้องประชาชนใน 2-3 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกที่เราให้สัญญากับพี่น้องชาว We Fair ตรงนี้ คือ 'การรีดไขมัน' ตอนนี้ประชาชนต้องการวัคซีนไม่ได้ต้องการกระสุน งบประมาณของอภิสิทธิ์ชน งบประมาณของทหาร ก็จะรีบรีดออกมาเป็นกองกลางให้มากที่สุด อย่างที่สอง เพื่อรีดก้อนไขมันพวกนี้ออกมาแล้ว เราก็จะมาหั่นและกระจายคืนให้กับหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม บัตรทอง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ถูกตัดไปในช่วงวิกฤตินี้ และเป็นอะไรที่รับไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะผมที่เป็นพ่อและลูกยังเล็กอยู่ และการศึกษาในช่วงโควิดนี้ก็มีปัญหา อย่างที่สาม ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือการพูดคุยกับคนในกรรมาธิการและรัฐบาลถึงความสำคัญของรัฐสวัสดิการที่ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย" พิธา กล่าว พร้อมบอกว่าตนต้องการชี้ให้เห็นพลวัตของรัฐสวัสดิการ หากเด็กและผู้สูงอายุได้รับการดูแลจากรัฐจะช่วยแบ่งเบาภาระคนวัยทำงาน และคนวัยทำงานจะมีพลังในการผลักดันเศรษฐกิจ รวมถึงสิทธิมนุษยชนให้กลับคืนมาสู่ประเทศ ต้องวางอิฐก้อนแรกใหม่อีกครั้งให้กับรัฐสวัสดิการ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของต้นทุน แต่ให้คิดถึงพลวัตที่เกิดขึ้นกับสังคมในภายภาคหน้า โดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้เป็นกฎหมาย เราจะต้องทำกฎหมายให้เกิดประโยชน์กับคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศเผชิญวิกฤต ชีวิตมนุษย์ย่อมสำคัญกว่าวัตถุ แต่การจัดสรรงบประมาณปี 2565 กลับให้ความสำคัญกับวัตถุ เช่น การก่อสร้าง การจัดซื้ออาวุธร มากกว่าชีวิตของประชาชน ตนในฐานะของกรรมาธิการจึงจำเป็นต้องพยายามเปลี่ยนวิธีคิดของกรรมาธิการคนอื่นๆ ไปจนถึงรัฐบาลให้เห็นว่า "ประชาชนไม่ใช่ลูกหนี้ ไม่ใช่ผู้รับใช้รัฐบาล แต่รัฐบาลและข้าราชการต่างหากที่เป็นหนี้ประชาชน เพราะเงินเดือน ค่าใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์เป็นเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งสิ้น"

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ
 

พร้อมกันนี้ พ.ต.อ.ทวี ยังฝากถึงข้าราชการที่บอกว่าการจัดสรรงบประมาณฉบับนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อยุทธศาสตร์ชาติไม่ตอบสนองความเป็นจริงในสังคม และคำว่าชาติตามที่ยกมากล่าวอ้างเป็นชาติของ คสช. ไม่ใช่ชาติของประชาชน

"สิทธิสวัสดิการถ้วนหน้าได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่าเป็นวิธีการเดียวที่จะแก้ความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นทำ ทำให้คนมีโอกาสเท่ากัน แต่วันนี้[รัฐบาล]กลับทำลายสิทธิความเป็นมนุษย์ด้วยการพิจารณาข้อมูลว่าคุณน่าสงสาร คุณเป็นคนลำบาก แล้วฉันจะหยิบยื่นเงินให้เป็นการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดอย่างยิ่ง" พ.ต.ท.ทวี กล่าว

ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และประธานอนุกรรมาการด้านสวัสดิการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่รัฐบาลไม่เคยฟังเสียงของเราเลย รัฐบาลยังคงจัดงบประมาณแบบไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของพี่น้องของประชาชน แม้ในวาระแรก เราจะเห็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอภิปรายกันอย่างดุเดือด ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ แต่กลับลงคะแนนสนับสนุน แล้วอ้างว่าให้ไปพิจารณาต่อในวาระ 2 เราคงต้องมาติดตามกันว่า ส.ส. พรรครัฐบาลจะทำตามที่ให้สัญญากับประชาชนได้หรือไม่ และเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่จะต้องตรวจสอบต่อไป

ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย
 

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลและคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเริ่มต้นจากจุดนี้ที่ให้ประชาชนและสื่อมวลชนมายืนรอและแถลงข่าวที่หน้าอาคารรัฐสภา ทั้งๆ ที่ห้องแถลงข่าวและสถานที่ต้อนรับประชาชนด้านในอาคารก็มี

"อย่าลืมว่าที่อาคารรัฐสภาแห่งนี้เป็นที่ของประชาชน เพราะฉะนั้นทำอะไรจงให้เกียรติเท่าๆ กัน" วรรณวิภา กล่าว

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล
 

นอกจากนี้ วรรณวิภา ยังกล่าวว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563-2565 ตนอภิปรายเรื่องงบสวัสดิการมาตลอด แต่น่าแปลกใจว่าเหตุใดงบสวัสดิการถึงลดลงทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และวางไว้เป้นนโยบายหลักของพรรคมาตั้งแต่แรก ดังนั้น ภารกิจหลักที่ตนเข้ามาเป็นกรรมาธิการงบประมาณในครั้งนี้ เพื่อที่จะทวงสิทธิและสวัสดิการทุกอย่างให้คืนสู่พี่น้องประชาชน

หนังสือถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ พ.ศ.2565

วันที่ 4 มิถุนายน 2564

เรื่อง ขอให้จัดลำดับความสำคัญนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ

สืบเนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ พ.ศ.2565 ในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 นั้น

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ในฐานะเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ติดตามขับเคลื่อนนโยบายด้านสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ มีความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการจัดสรรงบประมาณอันไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขาดการจัดลำดับความสำคัญในการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ ข้าราชการได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้น สวนทางกับงบประมาณประเทศที่ปรับลดลง 5.7% และสวัสดิการประชาชนถูกปรับลดลง 10.2% ไม่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนผลกระทบความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจนเรื้อรัง

เครือข่าย We Fair จึงมีข้อกังวลต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ดังต่อไปนี้

1) งบประมาณสวัสดิการสังคมประชาชนลดลง

งบประมาณสวัสดิการสังคมประชาชนในปี 2565 จำนวน 325,490.9 ล้านบาท ถูกปรับลดลง จำนวน 36,913.4 ล้านบาท คิดเป็น 10.2%

1.1) งบประมาณสวัสดิการประชาชนถูกปรับลด อาทิ เงินสมทบประกันสังคม 44,091.07 ล้านบาท ปรับลด 19,519.82 ล้านบาท คิดเป็น 30.7% เงินกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 30,000 ล้านบาท ปรับลด 19,500 ล้านบาท คิดเป็น 39.4% กองทุนการออมแห่งชาติ 300 ล้านบาท ปรับลด 305.78 คิดเป็น 50.5% การเคหะแห่งชาติ 731.44 ล้านบาท ปรับลด 829.8282 ล้านบาท คิดเป็น 53.2% กองทุน สปสช. 140,550 ล้านบาท ปรับลดลง 1,814 ล้านบาท คิดเป็น 1.2%

1.2) งบประมาณกระทรวงดูแลสวัสดิการสังคมถูกปรับลด อาทิ กระทรวงแรงงาน 49,742.82 ล้านบาท ปรับลด 19,977.49 ล้านบาท คิดเป็น 28.65% กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท ปรับลด 24,051.1 ล้านบาท คิดเป็น 6.7% กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น 219,948.56 ล้านบาท ปรับลด 14,676.77 ล้านบาท คิดเป็น 6.26% กระทรวงอุดมศึกษาฯ 124,182.83 ล้านบาท ปรับลด 3,944.18 ล้านบาท คิดเป็น 3.08%. กระทรวงสาธารณสุข 153,940.47 ล้านบาท ปรับลด 4,338.12 ล้านบาท คิดเป็น 2.74%

1.3) งบประมาณสวัสดิการเงินอุดหนุน ไม่มีการปรับเพิ่มและไม่ครอบคลุมระบบถ้วนหน้าทุกประเภท มาจากฐานคิดระบบสงเคราะห์ จึงเป็นสวัสดิการเพียงยังชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน อาทิ (1) เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี 600 บาท/เดือน เป็นการอุดหนุนเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ไม่พัฒนาเป็นเงินอุดหนุนเด็กระบบถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้เด็กจำนวน 4.2 ล้านคน เข้าถึงสิทธิ์อย่างทั่วถึง (2) เบี้ยผู้สูงอายุ 60-100 ปี ได้รับ 600-1000 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ แต่ไม่มีการปรับเพิ่มจำนวนเงิน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ปฏิเสธการพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นระบบบำนาญพื้นฐานของประชาชน (3) เบี้ยความพิการ 800 บาท/เดือน คนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับเพิ่มขึ้น 200 บาท

2) งบประมาณสวัสดิการข้าราชการเพิ่ม

ในขณะที่งบประมาณสวัสดิการประชาชนและงบประมาณประเทศถูกปรับลดลง แต่งบประมาณสวัสดิการข้าราชการ จำนวน 473,447.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,156.71 ล้านบาท คิดเป็น 1.76% ซึ่งมีงบประมาณบำเหน็จ/บำนาญสูงถึง 310,600 ล้านบาท งบประมาณในส่วนนี้ คิดเป็นสัดส่วน 15.27% ของงบประมาณประเทศ และเมื่อรวมกับงบประมาณบุคลากรข้าราชการ จำนวน 770,160.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.84% รวมงบประมาณสวัสดิการและเงินเดือนข้าราชการเท่ากับ 1,243,607.3 ล้านบาท คิดเป็น 40.11%

3) งบประมาณกระทรวงกลาโหมสูงเป็นอันดับ 4

รูปธรรมที่สะท้อนถึงความผิดพลาด ในการจัดลำดับความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณกระทรวงกลาโหมด้วยวงเงินงบประมาณ 203,282 ล้านบาท คิดเป็น 6.6% ของงบประมาณประเทศ ซึ่งเป็นงบประมาณบุคลากร 105,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,741 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบงบบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ลดลง 1,549.4 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 1.33 งบบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ลดลง 13,557 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 6 จึงแสดงถึงความสำคัญของกำลังพลกองทัพ มากกว่ากำลังคนภาคสาธารณสุขและการศึกษา

เครือข่าย We Fair ได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จึงใคร่ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาจัดลำดับความสำคัญนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา ประกันสังคม แรงงาน ที่อยู่อาศัย เงินอุดหนุนเด็ก ระบบบำนาญประชาชน เบี้ยความพิการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงและให้สัญญาประชาคมต่อประชาชน อันจะเป็นการสร้างโอกาสในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางทางสังคม เพื่อสร้างสังคมไทยเสมอหน้าสู่รัฐสวัสดิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท