Skip to main content
sharethis

ไม่บ่อยที่วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจะแสดงทัศนะผ่านสื่อ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีธรรมนัสที่ตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงอีกครั้ง เขากลับมองต่างออกไปว่าหากยึดตามหลักการและระบบกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ถูกต้องในทางนิติศาสตร์ และต้องแยกให้ขาดระหว่างความรู้สึกทางศีลธรรมและการเมืองกับหลักการทางกฎหมาย

  • กรณีธรรมนัสไม่ควรมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ แต่ควรจบในชั้นของการเมือง แต่โครงสร้างรัฐธรรมนูญทำให้ฝ่ายการเมืองไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อเสียงของสังคมจนทำให้เป็นประเด็นทางกฎหมาย
  • หัวใจของคำร้องของผู้ร้องคือมาตรา 98 (10) ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าคำว่า คำพิพากษาถึงที่สุด ในมาตรานี้หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย
  • วรเจตน์เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีธรรมนัสถูกต้องแล้วในเชิงหลักการทางกฎหมาย เนื่องจากคำพิพากษาถึงที่สุดย่อมหมายถึงเฉพาะกฎหมายไทยเท่านั้น หากจะรวมเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วยต้องมีการเขียนไว้อย่างชัดเจน
  • การนับรวมคำพิพากษาของศาลต่างประเทศทั้งที่ไม่ได้มีกฎหมายเขียนไว้จะกระทบกระเทือนต่อระบบกฎหมายไทยทั้งระบบ
  • ในอดีตคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมักตีความแบบขยายความ ทำให้เกิดความไม่คงเส้นคงวา แต่ในกรณีนี้ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญตีความตรงตามตัวบทและมีฐานทางกฎหมายรองรับ
  • ไม่ควรนำศีลธรรมและกฎหมายมาปะปนกันจนทำให้เกิดการใช้ศีลธรรมเป็นกฎหมาย เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบกฎหมาย
  • อย่าให้อำนาจศาลในการตีความกฎหมายแบบขยายความกระทั่งละเลยตัวบทเพราะอาจทำให้ศาลเป็นอำนาจที่อันตรายมากที่สุดซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป

คลิปฉบับสั้น

คลิปฉบับเต็ม

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมดังหลายครั้งที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า คำพิพากษาถึงที่สุด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) หมายถึงเฉพาะคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น แม้ว่าธรรมนัสจะเคยถูกคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลล์ให้จำคุกในฐานรู้เห็นการนำเข้ายาเสพติดก็ไม่ใช่เหตุให้พ้นสภาพ ส.ส. และจึงไม่พ้นตำแหน่งรัฐมนตรี

เสียงวิจารณ์อื้ออึงตามมา เช่น ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโดยยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ คดียาเสพติดมีลักษณะเป็นสากลที่ทั่วโลกยอมรับว่าผิด เป็นต้น

ในมุมมองของนักกฎหมายมหาชนที่ชื่อวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง กลับเห็นว่าคำวินิจฉัยครั้งนี้ อย่างน้อยในความเห็นของเขาถือว่า ‘ถูกต้องแล้วในเชิงหลักการทางนิติศาสตร์’

ผู้ที่ติดตามแนวคิดทางกฎหมายของวรเจตน์น่าจะทราบดีประมาณหนึ่งว่าเขาให้ความสำคัญยิ่งยวดต่อหลักการทางกฎหมาย และคงกังขาว่าทำไมนักวิชาการคนนี้จึงเห็นต่างออกไป

‘ประชาไท’ ชวนละวางความรู้สึกลงก่อน แล้วฟังมุมมองของวรเจตน์ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีธรรมนัส

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (แฟ้มภาพ)

เพราะรัฐธรรมนูญทำให้นายกฯ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกรณีธรรมนัส

กรณีคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีและการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของธรรมนัสเกี่ยวพันกันระหว่างเรื่องในทางการเมืองกับกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงทางกฎหมายถือเป็นข้อยุติ แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องเช่นนี้ไม่ควรมาถึงศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก วรเจตน์ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจึงตั้งบุคคลซึ่งอาจมีประวัติแบบนี้เป็นรัฐมนตรี

“แน่นอนว่าแม้เขาจะกระทำความผิด แต่ก็ถูกลงโทษไปและพ้นโทษมา 20 กว่าปีแล้ว เราต้องไม่ลืมตรงนี้ แต่ว่าการมาเป็นรัฐมนตรีก็ควรมีคุณสมบัติบางอย่างที่อาจจะมากกว่าคนอื่นไหมในทางการเมือง แต่ทำไมถึงไม่มีการรู้ร้อนรู้หนาว ใครเป็นคนตั้งคุณธรรมนัสเป็นรัฐมนตรี ในทางแบบพิธีเราบอกว่าคนตั้งรัฐมนตรีคือพระมหากษัตริย์ ในทางเนื้อหารัฐมนตรีถูกตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเสนอชื่อแล้วพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยตั้งรัฐมนตรี ซึ่งนายกต้องรับผิดชอบในความเหมาะสมต่อตำแหน่งด้วย

“ถ้าเราดูในทางการเมืองมักจะมีคนบอกว่าในเคสนี้อย่าไปโทษรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนมาดีแล้ว แต่ว่าอยู่ที่คนใช้ แต่ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดของคดีคุณธรรมนัสกลับอยู่ที่รัฐธรรมนูญมากกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป รัฐธรรมนูญต่างหากที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่รู้ร้อนรู้หนาวกรณีคุณธรรมนัส”

สภาวะไม่รู้ร้อนรู้หนาวของฝ่ายการเมืองมาจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่ต้องฟังเสียงสังคม เขากล่าวว่านายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำการยึดอำนาจในปี 2557 ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเองมีกลไก ส.ว. 250 คนคอยค้ำจุน หมายความว่าไม่มีใครทำอะไรฝ่ายบริหารได้ในทางการเมือง มันจึงทำให้รัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชาขาดความรู้ร้อนรู้หนาวต่อความรู้สึกของสังคม

“เพราะฉะนั้นปัญหาคดีของคุณธรรมนัสมันจึงมากกว่าเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่เราทุกคนควรจะมองทะลุออกไปให้เห็นถึงโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี 2560 ถ้ารัฐธรรมนูญมีโครงสร้างเป็นประชาธิปไตยกว่านี้ รัฐบาลมาและไปโดยวิถีทางทางการเมืองกว่านี้ โดยสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ ไม่ต้องมี ส.ว. มาค้ำจุนตำแหน่งนายกฯ คิดว่ารัฐบาลจะมีปฏิกิริยาต่อผู้คนมากกว่านี้ไหม ผมคิดว่ามีมากกว่านี้ เขาจะฟังเสียง ฟังความรู้สึกคนในสังคมมากกว่านี้ และต้องตัดสินใจมากกว่านี้

“ผมคิดว่านี่คือสาเหตุที่แท้จริงที่ถึงที่สุดแล้วมันต้องนำมาสู่ข้อถกเถียงทางกฎหมาย ทั้งที่ความจริงเรื่องนี้ควรจะแก้ด้วยหนทางทางการเมืองด้วย moral ด้วย ethics ทางการเมืองมากกว่าที่จะวัดกันด้วยการวินิจฉัยทางนิติศาสตร์เพราะการวินิจฉัยทางกฎหมายมีข้อจำกัดมากกว่าอย่างแน่นอน มันมีตัวบท มันต้องมีการตีความ ด้วยเหตุนี้ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญปี 2560 หรือยังเป็นอย่างนี้ต่ออย่างน้อยในช่วง 5 ปีแรกมันก็จะเป็นแบบนี้ เขาก็จะขาดความรู้ร้อนรู้หนาวแบบที่เราเห็นกันอยู่”

 ธรรมนัส พรหมเผ่า

ความไม่คงเส้นคงวาของศาลรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์ตั้งข้อสังเกตถึงปฏิกิริยาทางสังคมต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีคุณธรรมนัสที่ค่อนข้างแรง ในวงการกฎหมายเองเสียงที่ปรากฏในสื่อก็เป็นไปในทางเดียวกัน คงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากประวัติการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่สั่งสมมา ตั้งแต่กรณีชิมไปบ่นไปของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช กรณียุบพรรคพลังประชาชน กรณีการตีความเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตัวบทไม่เปิดช่อง แต่ก็ตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง กรณีการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติ และล่าสุดกรณียุบพรรคอนาคตใหม่

“ถ้าเราดูการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา มันมีแนวโน้มตีความถ้อยคำขยายความหมายออกไปแล้วก็ได้ผลอย่างหนึ่ง เช่น ตีความคำว่าลูกจ้างในรัฐธรรมนูญกว้างเป็นมหาสมุทร ใช้พจนานุกรมในการตีความด้วย ผมยังเคยพูดว่าถ้าเอาเคสของคุณสมัครเป็นบรรทัดฐานและตีความคำว่าลูกจ้างแบบนั้นจะต้องมีอีกหลายคนพ้นจากตำแหน่งในองค์กรของรัฐ

“แต่พอมาถึงเคสของคุณธรรมนัส คนทั่วไปก็ดูว่าถ้าเอาตามแนวที่คุณตัดสินในอดีต คุณธรรมนัสต้องพ้นจากตำแหน่ง ชัดเจนว่าพัวพันกับคดียาเสพติดในออสเตรเลีย ยิ่งถ้าอ้างเรื่องศีลธรรม จริยธรรมมาจับต้องพ้นแน่ๆ ผมคิดว่าเข้าใจประชาชนส่วนใหญ่ได้ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมายและมองปรากฏการณ์ทางสังคมไม่ใช่เรื่องซึ่งผิดไปจากความคาดหมาย คุณก็รู้สึกว่าถ้าชื่อของผู้ถูกร้องเป็นคนนี้ ผลจะเป็นแบบนี้ หมายความว่าเคสแบบเดียวกันถ้าผู้ถูกร้องเป็นอีกชื่อหนึ่งผลจะเป็นแบบเดิมที่เคยเป็นมาตลอดหรือเปล่า ผมคิดว่าในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะแปลกใจเพราะเขาก็ตีความกฎหมายค่อนข้างเคร่งครัดอยู่พอสมควร ทำไมถึงโดนถล่มเยอะขนาดนี้”

มาตรา 98 (10)

“คดีคุณธรรมนัสที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า คำพิพากษาถึงที่สุด ในรัฐธรรมนูญที่หมายถึงคำพิพากษาของศาลในระบบกฎหมายไทยเท่านั้น โดยผลในทางนิติศาสตร์ในความเห็นของผมคิดว่าถูกต้อง ไม่เกี่ยวกับเรื่องตัวคุณธรรมนัสหรือความเหมาะสมซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน แต่เฉพาะการตีความตรงนี้ผมคิดว่าเรื่องนี้ถูกแล้ว”

จากคำร้องมีการอ้างถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามลงรับสมัครเลือกตั้ง โดยยกเอามาตรา 98 (10) เป็นหัวใจ มีเนื้อหาว่า

‘เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน’

ผู้ร้องระบุว่าผู้ถูกร้องต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่เกี่ยวพันกับยาเสพติดความผิดฐานผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า และอ้างคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ แม้จะเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ตาม ย่อมเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และก็เป็นเหตุให้ตำแหน่งรัฐมนตรีสิ้นสุดลงด้วย

“เพราะฉะนั้นหัวใจของคำร้องของผู้ร้องอยู่ตรงที่คำว่า แม้เป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ตาม คือผู้ร้องมองว่าเรื่องนี้คดีถึงที่สุดแล้วแม้คำพิพากษาไม่ใช่ของศาลไทยก็ต้องปรับตัวบทในมาตรา 98 วงเล็บ 10 ที่จะทำให้คุณธรรมนัสต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี สังเกตว่าประเด็นหลักอยู่ที่อันนี้อันเดียว เขาไม่ได้ร้องว่าคุณธรรมนัสขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามอนุมาตราอื่นอีก”

“ผมคิดว่าเราต้องดูเกณฑ์ที่เป็นวัตถุของการตีความก่อน ข้อสังเกตของผมก็คือว่าบทบัญญัติแบบมาตรา 98 วงเล็บ 10 เท่าที่ผมตรวจสอบเจอไม่เคยมีบัญญัติเอาไว้ก่อนในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะบทบัญญัตินี้เป็นบทบัญญัติที่เราเรียกว่าเป็นการตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ของเดิมที่มีอยู่และรับกันมาคืออยู่ที่วงเล็บ 7”

‘เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิด อันได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ’

“แต่ว่าในวงเล็บ 10 คือไม่สนเลย คุณจบเลย คุณลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ บทบัญญัตินี้เกิดขึ้นในบริบทอะไร ทำไมจึงเกิดการตัดสินตลอดชีวิต ความผิดพวกนี้ก็คือความผิดบางส่วนที่เกิดขึ้นจากการพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มันคือความผิดที่เกิดการฟ้องร้องกันเริ่มคดีตอนปี 2549 คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ส่งเรื่องฟ้องหรือจากหลังปี 2557 บางส่วนมันพัวพันกับทางการเมือง นักการเมืองกลุ่มนี้ถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต เราต้องเห็นประเด็นเหล่านี้ด้วย

“ในทางกฎหมายเราควรจะตัดสิทธิ์ใครคนหนึ่งตลอดชีวิตหรือไม่ หรือคุณติดคุกไปแล้ว เว้นช่วงไป 10 ปีแล้ว ถ้าคุณจะลงเลือกตั้งก็ให้ประชาชนว่ากันไป มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเอาแบบไหน มันต้องเขียน บังเอิญอำนาจในการเขียนรัฐธรรมนูญอยู่ที่ผู้ทำรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจในปี 2557 เพราะฉะนั้นถ้าเคสคุณธรรมนัสเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีปัญหาทางกฎหมายเลยเพราะไม่มีตัวบทแบบนี้”

วรเจตน์กล่าวว่า บุคคลจะมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (10) ต้องเข้าองค์ประกอบ 2 ส่วน ส่วนแรกคือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนที่ 2 คือฐานความผิดต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้

คำถามคือธรรมนัสกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า หรือไม่ เพราะแม้ธรรมนัสจะยอมรับว่าเกี่ยวพันจริง แต่เป็นฐานรู้เห็นการนำเข้า ซึ่งไม่เข้ากับ 4 ฐานข้างต้น ซึ่งวรเจตน์สันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้ เพราะหากธรรมนัสกระทำความผิดฐานผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า โทษที่ได้รับจากศาลรัฐนิวเซาท์เวลล์น่าจะมากกว่า 6 ปี

ดังนั้น ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่า คำพิพากษาถึงที่สุดรวมถึงของศาลต่างประเทศด้วยก็ยังต้องกลับมาพิจารณาว่าความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ธรรมนัสถูกกล่าวหาเข้าใน 4 ฐานนี้หรือไม่ ถ้าไม่เข้าย่อมถือว่าไม่ครบองค์ประกอบของตัวบทนี้ ก็ไม่มีเหตุให้พ้นสมาชิกภาพ

แฟ้มภาพ

ย้อนดูคำวินิจฉัยกฤษฎีกากรณีคำพิพากษาต่างประเทศปี 2525

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ากรณีคำว่า คำพิพากษาถึงที่สุด ไม่นับรวมคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศตามมาตรา 98 (10) ทำให้ธรรมนัสไม่ขาดคุณสมบัติ ซึ่งการจะพิจารณาว่า คำพิพากษาถึงที่สุด ตามมาตรา 98 (10) หมายถึงศาลต่างประเทศด้วยหรือไม่ วรเจตน์พาย้อนกลับไปดูข้อถกเถียงเรื่องนี้ในสถานะกฎหมายไทยซึ่งเคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น ดังในความเห็นของกฤษฎีกาปี 2525 เรื่องเสร็จที่ 276/2525 มีการหารือบุคคลต้องห้ามไม่ให้รับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการตีความรัฐธรรมนูญปี 2521 มาตรา 96 (5) ที่ระบุว่าบุคคลที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ความผิดได้กระทำโดยประมาท ห้ามไม่ให้มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง

“บังเอิญว่าความเห็นนี้ที่ออกมาในปี 2525 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นคนจัดเลือกตั้งเห็นว่าน่าจะหมายถึงจำคุกในประเทศไทยและในต่างประเทศด้วย โดยอ้างเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าที่ห้ามบุคคลที่ต้องคำพิพากษาน่าจะมาจากคนที่เคยถูกจำคุกนั้น ความรู้สึกของคนทั่วไปในสังคมไม่ยอมรับนับถือโดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็น ส.ส. ต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง เพราะฉะนั้นการที่บุคคลใดเคยต้องคำพิพากษาจำคุกจึงต้องให้พ้นโทษเกินกว่า 5 ปี และถ้าตีความให้หมายถึงการจำคุกในประเทศจะทำให้คนที่เคยถูกจำคุกในต่างประเทศใช้สิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยอาศัยช่องว่างกฎหมายเป็นประโยชน์ซึ่งจะเป็นผลทำให้สภาพบังคับไม่เกิดขึ้นจริง อันนี้ก็คล้ายกับที่มีคนพูดว่ามันทำให้เกิดการลักลั่นที่ว่าถ้าติดคุกในต่างประเทศมาลงสมัครรับเลือกตั้งในไทยได้ แต่ติดคุกในไทยลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ ก็พอเข้าใจเหตุผลของกระทรวงมหาดไทยอยู่

“เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยในปี 2525 ตามความเห็นของกระทรวงมหาดไทยคือเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกของศาลในประเทศใด และอ้างด้วยว่าที่ต้องห้ามเพราะเป็นบุคคลที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม ถ้าต้องอ้างเฉพาะการทำผิดในประเทศไม่เกี่ยวกับการทำผิดในต่างประเทศก็จะเกิดการลักลั่น ไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผล อันนี้ก็เป็นเหตุผลที่ในยุคหลังหลายคนนำมาอ้างเหมือนกันที่จะโต้แย้งศาลรัฐธรรมนูญในคดีของคุณธรรมนัส”

อย่างไรก็ตาม ความเห็นกฤษฎีกาในปี 2525 มีบันทึกแนบท้ายของอมร จันทรสมบูรณ์ เลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา ที่ไม่เห็นพ้องกับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้เหตุผลว่าการที่ให้คำพิพากษาของศาลรวมถึงศาลต่างประเทศด้วยเป็นการตีความขยายความ ขัดต่อหลักกฎหมายเรื่องขอบเขตการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ สถาบันของรัฐไม่ว่าจะเป็นองค์กรฝ่ายบริหารหรือองค์กรระบบศาลย่อมใช้อำนาจที่จำกัดภายในเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศเท่านั้น ฉะนั้น ในการตีความถ้อยคำในกฎหมายหรือตัวบทกฎหมายอ้างถึงคำวินิจฉัยหรือคำชี้ขาดขององค์กรใดของรัฐย่อมหมายถึงองค์กรของรัฐตามกฎหมายประเทศนั้นเท่านั้น

“ผมเห็นว่าเรื่องนี้ความเห็นของอาจารย์อมรมีความหนักแน่นอยู่มาก อาจารย์อมรยังบอกว่านอกจากจะรับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเพียงใดต้องคำนึงข้อเท็จจริงด้วยว่าองค์ประกอบของรัฐต่างประเทศและเงื่อนไขย่อมแตกต่างกัน การตีความแบบขยายความให้ยอมรับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรรัฐต่างประเทศโดยยังมิอาจทราบข้อเท็จจริงในรายละเอียดเหล่านั้นเพียงพอย่อมก่อให้เกิดการโต้แย้ง และก็อ้างว่าถ้าระบบกฎหมายไทยต้องการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศด้วยต้องเขียนเอาไว้ เช่น กฎหมายคนเข้าเมือง”

คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยกลับในปี 2554

ความเห็นแย้งของอมรทำให้เมื่อมีกรณีเรื่องเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2554 คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้กลับแนวคําวินิจฉัยของปี 2525 โดยมีความเห็นว่า โดยปกติการตรากฎหมายเพื่อใช้บังคับในประเทศใดย่อมอยู่ภายในขอบเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐ เว้นแต่ผู้ตรากฎหมายประสงค์จะยอมรับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศให้มีผลต้องอยู่ในสภาพบังคับของกฎหมายนั้นด้วยย่อมต้องบัญญัติไว้ชัดเจน เช่น กฎหมายคนเข้าเมือง

“จะเห็นว่ามันมีข้อโต้แย้งกันอยู่แล้ว เราจะใช้ความเห็นปี 2525 หรือปี 2554 ถ้าผมเป็นผู้ร้องและเห็นว่ามีการโต้เถียงกันแบบนี้ ผมจะต้องเขียนคำร้องหักความเห็นปี 2554 ไว้เพราะเป็นไปได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบความเห็นปี 2554 ไปใช้เป็นฐานในการตัดสินซึ่งสุดท้ายก็ใช้จริงๆ และศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นเพิ่มเติมอยู่ในบางประเด็น ทำไมมาตรา 98 (10) ที่ใช้คำว่าคำพิพากษาถึงที่สุดจะต้องตีความให้หมายถึงของศาลต่างประเทศด้วย ผู้ร้องควรต้องอธิบายและหักเรื่องนี้หรืออย่างน้อยควรต้องพูดถึงเรื่องอำนาจอธิปไตยด้วย ซึ่งจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องหาเหตุผลมาหักล้างตัวคำร้อง ถ้าหักไม่ได้คนอ่านก็จะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลไม่หนักแน่นพอ”

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้กลับแนวคำวินิจฉัยปี 2554 อีกครั้งในปี 2563 กรณีกระทรวงกลาโหมสั่งพักนายทหารยศพลตรีนายหนึ่งจากการถูกจับที่ฮ่องกงปี 2537 และถูกกล่าวหาว่ามีเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายและนำเฮโรอีนเข้าสหรัฐอเมริกา ต่อมาศาลสหรัฐอเมริกาพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ให้จำคุก 365 เดือน แต่ได้รับการปล่อยตัวในปี 2558 โดยนายทหารคนนี้ต้องการขอรับบำเหน็จบำนาญเพราะยังไม่ได้ถูกสั่งให้ออกจากราชการ กระทรวงกลาโหมจึงส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้วินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลสหรัฐถือเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ.2528 หรือไม่

“คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับหลังจากไปดูอนุสัญญาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอเมริกาแล้วก็บอกว่าการตีความคำว่าคดีถึงที่สุด เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อหารือในคดีอาญาแต่เป็นเรื่องวินัยทหาร การพิจารณาให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นการใช้ผลคำพิพากษาจากต่างประเทศมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริงในการดำเนินการทางวินัยกับราชการทหารซึ่งเป็นการรับฟังคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะข้อเท็จจริงมิใช่การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้บังคับโทษประเทศไทย ดังนั้น ข้อความว่าเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วตามข้อ 7 วรรค 2 จึงรวมคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอเมริกาด้วย ผลก็คือเมื่อเป็นแบบนี้ก็สามารถสั่งให้ออกจากราชการได้ย้อนหลังกลับไปถึงปี 2537

“ประเด็นคือตอนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกรณีนี้ เขาตีความคำว่าคดีถึงที่สุดแล้วหมายถึงของศาลต่างประเทศด้วยโดยบอกว่าเป็นการใช้ผลของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟังในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการทหาร ผมไม่เข้าใจว่ามันเป็นข้อเท็จจริงอย่างไร ข้อเท็จจริงคือพลตรีท่านนี้ถูกลงโทษและถูกจำคุกที่อเมริกา ถ้ารับเอามาเป็นข้อเท็จจริงในความเห็นผมก็คือรับมาว่าพลตรีท่านนี้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและถูกลงโทษหรือผิดจริงแล้วนำมาเป็นฐานในการดำเนินการเพื่อเอาออกจากราชการ โดยจะถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งมันน่าจะเข้าได้ อย่างนี้คือรับเอามาเป็นข้อเท็จจริง

“แต่การบอกว่า ตีความคำว่าคดีถึงที่สุดแล้วตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมหมายถึงการฟังเป็นข้อเท็จจริง ผมว่าไม่สนิทใจหรอก คำว่าคดีถึงที่สุดแล้วเป็นถ้อยคำในกฎหมาย ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแบบนี้แปลว่าคดีถึงที่สุดในอเมริกาคือคดีถึงที่สุดแล้วตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมด้วย อันนี้เป็นการให้ความหมายข้อกฎหมายคำว่าคดีถึงที่สุดในข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ไม่ใช่รับเป็นข้อเท็จจริง สำหรับผมรับเป็นข้อเท็จจริงหมายถึงว่ามีการทำผิดในต่างประเทศจริง พอรับเข้ามาในประเทศไทยแล้วมันจะมีผลอย่างไรตามกฎหมายไทย คุณว่าต่อไป ดังนั้น ข้อความว่าเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วตามข้อ 7 วรรค 2 จึงรวมถึงคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอเมริกาด้วย ผมว่าอันนี้มันไม่เข้ากันในแง่ของการรับกันทางเหตุผล

“มีคนอ้างแบบนี้เหมือนกันว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญไม่อ่านตามแนวกฤษฎีกาปี 2563 แล้วก็รับมาเป็นข้อเท็จจริง แต่ผมว่ามันไม่ใช่ข้อเท็จจริง ถ้าเป็นการรับข้อเท็จจริงคือคุณธรรมนัสกระทำความผิดฐานนี้แล้วมันไปเข้าเรื่องอื่นอย่างไรในเรื่องของคุณสมบัติในการลงรับสมัครเลือกตั้ง ผมว่าแบบนั้นได้ แต่ถ้ารับเข้ามาตรงๆ เลยตามความเห็นกฤษฎีกาปี 2563 ผมเห็นว่าเป็นการรับเข้ามาเพื่อให้ความหมายของถ้อยคำในระบบกฎหมายไทย แล้วคุณหมายถึงของศาลต่างประเทศด้วยซึ่งคุณจะเผชิญกับปัญหาที่เลขาฯ กฤษฎีกาในปี 2525 ให้ผลเอาไว้ ซึ่งมันจะกระทบกระเทือนต่ออื่นๆ ด้วย”

แฟ้มภาพ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถูกต้องแล้วในเชิงนิติศาสตร์

ในคดีธรรมนัสศาลรัฐธรรมนูญให้ความหมายคำว่า คำพิพากษาถึงที่สุด ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย คำพิพากษาของรัฐใดย่อมมีผลในรัฐนั้น ไม่นับรวมคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ซึ่งตรงกับคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2554 ที่ได้วางหลักเอาไว้

“ทีนี้มีข้อโต้แย้งอะไรบ้างจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่รวบรวมมาได้เท่าที่ผมได้ยินได้ฟังในทางสังคม อันแรกอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่ามาตรา 98 (10) มีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้คนที่มีมลทินมัวหมอง คนไม่ดีเข้าสู่การเมือง ซึ่งเจตนารมณ์นี้บางส่วนผมคิดว่ามันพันกับคุณธรรมนัส อีกอันมีคนบอกว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นการตีความที่มีลักษณะชาตินิยมไม่รับกับ globalization บางคนก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาเสพติดซึ่งเป็นความผิดสากลเพราะฉะนั้นการตีความไม่ควรจะฟิกซ์ไปตามถ้อยคำแบบนี้

“บางคนก็อ้างว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญให้ความหมายแบบนี้ก็จะเกิดความลักลั่นซึ่งคล้ายกับเหตุผลในปี 2525 ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนอันสุดท้ายคืออ้างว่าอันนี้รับเป็นข้อเท็จจริงได้ มีบางท่านอ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 10 เป็นเครื่องสันนิษฐานว่าจริงๆ เรารับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศได้ ทำไมศาลรัฐธรรมนูญไม่ดูมาตรา 10 และนำไปใช้เป็นเครื่องช่วยในการตีความตามบทบัญญัติในมาตรา 98 (10) ของรัฐธรรมนูญ”

จากจุดนี้วรเจตน์เริ่มต้นให้เหตุผลว่า ทำไมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีธรรมนัสถือว่าถูกต้องแล้วในทางหลักการกฎหมาย

“ปกติเวลาตีความกฎหมายเราต้องเริ่มที่ตัวบทก่อน ที่เราเถียงกันคือคำว่าคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นของไทยหรือของต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีถ้อยคำอื่นที่เราควรสนใจ เช่นกฎหมาย ความผิดตามกฎหมายในมาตรานี้มันหมายถึงความผิดตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ ผมอ่าน ผมเข้าใจว่าความผิดพวกนี้และกฎหมายพวกนี้คือกฎหมายไทย เราไม่รู้ว่าคำพิพากษาถึงที่สุดนี้หมายถึงอันไหน แต่กฎหมายเหล่านี้คนเขียนไม่ได้นึกถึงกฎหมายต่างประเทศ ถ้าเราอ่านมาตรา 98 (10) ทั้งมาตราคุณจะไม่เห็นเซ้นส์ของการนึกถึงกฎหมายต่างประเทศเลย เพราะถ้าเขาคิดของต่างประเทศเขาจะไม่เขียนแบบนี้ อย่างน้อยองค์ประกอบส่วนที่ 2 จะไม่เขียนแบบนี้ เพราะฉะนั้นกฎหมายตรงนี้น่าจะหมายถึงกฎหมายไทย

“เวลาตีความถ้อยคำในกฎหมาย เราก็คำนึงถึงตัวถ้อยคำประกอบกับเจตนารมณ์ มักมีคนอ้างถึงเจตนารมณ์ คำถามคือแล้วเจตนารมณ์อยู่ที่ไหน เจตนารมณ์จะปรากฏให้เราเห็นได้อย่างไร ผมคิดว่ามันอาจเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะก็คือเกิดขึ้นจากตัวบทนั้นเองที่เป็นภววิสัยที่เราเห็นได้จากการอ่านว่าถ้าเขียนแบบนี้ก็อาจจะมุ่งหมายแบบนี้ อีกลักษณะหนึ่งคือไปดูที่ตัวคนเขียนว่าเขียนอย่างไรซึ่งผมเข้าใจว่ามาตรานี้เขาไม่ได้เขียนไปถึงต่างประเทศ ดูจากตัวบทก็ไม่ถึง เพราะฉะนั้นเวลาเราอ้างเจตนารมณ์อาจจะอ้างยาก ทีนี้ก็มีบางท่านอ้างเจตนารมณ์โดยเอาคำปรารภในรัฐธรรมนูญมาอ้าง นี่มันกว้างเป็นมหาสมุทรถ้าอ้างแบบนี้

“ถ้าอ้างเจตนารมณ์แบบนี้ทำไมไม่เขียนลงไปเป็นตัวบทให้มันชัดๆ โอเคอาจจะพอมองได้เหมือนกันว่าต้องการคนมีคุณธรรม จริยธรรม แต่มันยังเป็นนามธรรมอยู่มาก เพราะฉะนั้นเวลาอ้างเจตนารมณ์บางทีต้องระวัง ไม่ใช่ว่าอ้างไม่ได้ แต่การจะอ้างเจตนารมณ์ต้องไปดูในชั้นยกร่างว่าผู้ยกร่างมุ่งหมายอย่างไร ตัวคำปรารภอาจจะบอกได้นิดหน่อย แต่คำปรารภในรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกเขียนขึ้นและมีการแก้ด้วยหลังประชามติ คือตอนที่มีการเขียนคำปรารภแบบนี้ เราต้องเข้าใจว่ามันเขียนขึ้นในบริบทการต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในระบบกฎหมายไทย ระบบการเมืองการปกครองไทยยังไม่จบ เอาเป็นหลักเป็นฐานให้ถึงที่สุดอาจจะไม่ได้ ที่ใกล้ที่สุดคือไปดูประวัติความเป็นมาของตัวบทว่ามีความเป็นมาอย่างไรซึ่งเราบอกได้อย่างเดียวว่ามันเกิดขึ้นครั้งแรกในตัวรัฐธรรมนูญนี้”

ต้องคำนึงถึงระบบกฎหมาย

“การตีความสำคัญอันหนึ่งที่ผมคิดว่าแทบจะไม่ได้พูดกันคือการตีความตามระบบที่เรียกกันว่า systematic interpretation เวลาที่มีปัญหาแบบนี้คุณต้องดูระบบ เวลาให้ความหมายอะไรไปมันจะหมายความว่าอย่างไร รวมทั้งดูอำนาจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกอบกันด้วย ทัศนะของผมในแง่การให้ความหมายตัวบทในรัฐธรรมนูญในหลายเรื่องถ้าเราให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ลองนึกถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องสัญญากรณีเขาพระวิหารที่พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ศาลรัฐธรรมนูญมีคำว่า อาจ ลงไปแล้วผมก็วิจารณ์ว่าคุณไปเติมคำนี้ได้อย่างไร ในตัวบทไม่ได้เขียน เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วไปแก้รัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งจริงๆ การตีความของศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่องก็มีสภาพแบบนั้น

“ผมคิดว่าถ้าเราต้องการให้ตัวกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายเป็นรากฐานมั่นคงหนักแน่น เพื่อให้มีคุณค่าอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในสังคมมันต้องมีความสม่ำเสมอและความเป็นภววิสัย และถ้าอะไรที่มันไม่ถูกเราไม่ควรเอาสิ่งที่ไม่ถูกมาใช้เป็นฐานในการทำมันต่อไป”

วรเจตน์กล่าวว่า ถ้าดูจากตัวระบบ คำว่า คำพิพากษาของศาล ถือเป็นการใช้อำนาจในทางมหาชนของรัฐชนิดหนึ่ง ดังนั้น โดยระบบเมื่อมีการอ้างอิงตัวกฎหมายก็คือการอ้างอิงถึงอำนาจมหาชนหรือผลิตผลของการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษา คำสั่งทางปกครอง กฎหมาย เป็นการอ้างอิงไปถึงแหล่งที่มาของอำนาจมหาชนซึ่งคืออำนาจของรัฐไทย จุดนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ คำปรารภในรัฐธรรมนูญเองก็หมายถึงกฎหมายไทย ไม่ได้หมายถึงกฎหมายต่างประเทศ

“ปัญหาคือเราอาจจะตีความคำพิพากษาว่าหมายถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วยโดยเหตุผลที่ว่าไม่อย่างนั้นจะเกิดความลักลั่นกัน ซึ่งถ้าคุณตีความคำพิพากษารวมถึงคำพิพากษาต่างประเทศ การที่คุณถูกจำคุกตามวงเล็บอื่นก็เป็นไปตามคำพิพากษาอยู่แล้ว มันก็ต้องหมายถึงต่างประเทศด้วยได้ ถ้าตีความอย่างนั้นมันจะไม่มีความสม่ำเสมอในเรื่องที่ควรจะมีความสม่ำเสมอแบบเดียวกัน แล้วเราต้องไม่ลืมว่านี่เป็นการตีความของศาลรัฐธรรมนูญมันมีผลอันไพศาลพอสมควร

“มีคนบอกว่าถ้าไม่ตีความคำว่าคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นศาลต่างประเทศด้วยจะเกิดความลักลั่น เรารู้ได้อย่างไรว่าถ้าตีความรวมถึงคำพิพากษาศาลต่างประเทศด้วยจะไม่ลักลั่น เพราะกรณีต่างประเทศที่ปรากฏต่อหน้าเราในกรณีนี้คือศาลของออสเตรเลีย รัฐนิวเซาท์เวลส์ เพราะเราตีความว่าเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ มันจะรวมถึงศาลทุกประเทศในโลก แล้วตัวกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย กระบวนการพิจารณาของศาล คุณแน่ใจได้อย่างไรว่ามันเป็นแบบเดียวกัน แล้วจะไม่ลักลั่น เพราะของต่างประเทศไม่ได้เป็นระบบเดียว ระบบกฎหมายในโลกนี้มีตั้งเยอะแยะ แล้วการตัดสินใจแบบนี้ถ้าเราจะยอมรับมันต้องมีข้อจำกัดและต้องผ่านการครุ่นคิดไตร่ตรองโดยกระบวนการทางนิติบัญญัติหรือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากยิ่งกว่าให้ตัวศาล 9 คนให้ความหมาย”

นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 10 ว่าหมายถึงศาลต่างประเทศ วรเจตน์มีความเห็นว่าไม่เกี่ยวกับมาตรา 98 (10) ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เนื่องจากมาตรา 10 ของประมวลกฎหมายอาญาเขียนขึ้นเพื่อไม่ให้มีการลงโทษคนซ้ำซ้อนตามหลักที่เรียกว่า Ne Bis in Idem หมายถึงความผิดเดียวกันไม่ควรถูกลงโทษ 2 ครั้ง เป็นการเขียนขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของบุคคล ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการให้ความหมายของมาตรา 98 (10) ได้

“ในมาตรา 10 ของประมวลกฎหมายอาญาพูดถึงศาลต่างประเทศชัดเจน แล้วมาตรา 98 (10) ในรัฐธรรมนูญพูดถึงศาลต่างประเทศเหรอ ไม่ได้พูด การนำมาตรา 10 โอนมากับการตีความเรื่องคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่าฟังไม่ขึ้น มันเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งถ้ามาตรา 98 (10) จะทำ ในความเห็นผมต้องเขียนครับ คุณต้องคิด ต้องเขียน และต้องเขียนด้วยว่าเรื่องอะไร ฐานไหนบ้าง ถ้าไม่เขียนมันตีความไปไม่ถึงถ้าดูในแง่การตีความตามระบบ”

แฟ้มภาพ

ต้องไม่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญขยายความตัวบท

“มีคนบอกว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องสากลที่ทุกคนต่อต้าน แต่สมมติว่าถ้ามันไม่ใช่เรื่องยาเสพติดจะตีความแบบเดียวกันไหม และในกรณียาเสพติดไม่ใช่ทุกฐาน แต่ต้องเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า จะตีความอันนี้ให้หมายถึงทุกอันไม่ได้

“กรณีคุณธรรมนัสเขาก็ปฏิเสธเรื่องเข้าฐานนี้ เขายอมรับว่าเขาพัวพันซึ่งผมคิดว่าตรงนี้ก็เพียงพอในแง่ความเหมาะสม แต่ถ้าพูดถึงในทางกฎหมาย คุณต้องเอาตัวบท ตัวบทเขียนอย่างนี้คุณต้องมีองค์ประกอบ 2 อย่างคือคำพิพากษาถึงที่สุดและฐานความผิด ไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุดในทุกเรื่อง ถ้าอ้างเฉพาะกฎหมายโดยไม่มีฐานเลยมันจะกว้างขวางมาก และต้องไม่ลืมว่ามันเป็นการตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต ในอดีตจึงไม่มีอันนี้ ผมเห็นว่าเราไม่ควรเห็นดีเห็นงามกับการตัดสิทธิ์บุคคลตลอดชีวิตในทุกเรื่องหรอก

“ถ้าคุณบอกว่ากรณียาเสพติดเป็นข้อยกเว้นที่ยอม เป็น double criminality มันจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมคือเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ว่าคำพิพากษาสูงสุดรวมถึงศาลของต่างประเทศ สอง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะบอกว่ากฎหมายเรื่องยาเสพติดหมายถึงของต่างประเทศด้วย และสมมติต่อไปอีกบังเอิญในกรณีนี้ไม่มีคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่คุณธรรมนัสอ้างว่าไม่ได้ผิดในฐานเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องรู้เห็นการนำเข้า แล้วคุณจะบอกว่าการรู้เห็นการนำเข้าก็ต้องตีความด้วยเพราะเกี่ยวพันกับยาเสพติด ก็เท่ากับคุณต้องให้ตีความฐานผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก และผู้ค้าขยายไปถึงความผิดรู้เห็นการนำเข้าซึ่งไม่มีในกฎหมายไทย

“เราจะให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความถึงที่สุดไปแล้ว แล้วก็ให้มาถึงเรื่องยาเสพติด กฎหมายนี้ไม่ได้หมายถึงกฎหมายไทยเท่านั้น จะหมายถึงกฎหมายต่างประเทศด้วยเพราะมันเป็น double criminality เสร็จแล้วก็ไปอีก สเต็ปหนึ่งคือนอกจาก 4 ฐานนี้ยังไปรวมถึงฐานรู้เห็นการนำเข้าด้วย มันก้าวไปหลายอันเลย

“ผมไม่รู้ว่าต้นทุนที่ลงทุนไปมันจะคุ้มไหม ราคาที่ต้องจ่ายในเชิงระบบมันอาจจะสูงไปไหม ทั้งที่ความจริงเรื่องนี้มันเป็นเรื่องง่ายมากเลยก็คือว่าในทางการเมืองนายกรัฐมนตรีก็เปลี่ยนตัวบุคคลหรือไม่ก็ทำให้ตัวโครงสร้างรัฐธรรมนูญเป็นโครงสร้างที่ดี ไม่ใช่โครงสร้างแบบนี้ ก็จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นประเด็นมันจะไม่เลยมาถึงแบบนี้เลย

“มีบางท่านบอกว่าอันนี้ไม่ใช่บทกฎหมายอาญาไม่ต้องเคร่งครัดหรอก บทบัญญัติที่ตัดสิทธิคน คุณอยากจะตัดสิทธิ์ใคร ยังไง คุณต้องเขียนให้เคลียร์ ผมถือว่าเป็นหลัก หลักนี้ก็เป็นหลักที่ผมใช้ในการวิจารณ์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ หลังรัฐประหารปี 2549 ที่เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังตอนที่มีการยุบพรรคไทยรักไทยแล้วตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 111 คน แล้วมีบางท่านเถียงกับผมว่าอันนี้ไม่ใช่โทษทางอาญามันย้อนหลังได้ ผมบอกว่าไม่เกี่ยวกับอาญาหรือไม่อาญา มันเกี่ยวกับว่าบทบัญญัตินั้นมันตัดสิทธิ์คนไหม มันเป็นผลร้ายกับบุคคลแล้วย้อนกลับไปถึงไม่ใช่กฎหมายอาญาก็ทำไม่ได้

“ถ้าคุณขยายไปถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเหมือนกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาปี 2525 ในมาตรา 98 วงเล็บ 7 ก็จะหมายถึงของศาลต่างประเทศด้วย มันจะไปกันหมด แล้วคุณทำผิดฐานอะไร ความผิดบางฐาน บางประเทศเป็นความผิดอาญา บางประเทศอาจจะเป็นการปรับทางปกครอง ไม่ดำเนินคดีอาญา ไม่ติดคุก ถ้าคนทำแบบเดียวกัน อยู่กันคนละประเทศ อันหนึ่งต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเลย อีกอันหนึ่งไม่ต้องห้ามแล้วจะเรียกว่ายุติธรรมไหมในเซ้นส์นี้ คือมันมีเงื่อนแง่อยู่ในเชิงการตีความที่ผมรู้สึกว่าไม่อยากให้เอากรณีของคุณธรรมนัส ในทางการเมืองผมบอกไปแล้ว แต่ในทางกฎหมายเราต้องเคร่งครัดเพราะถึงที่สุดถ้าคุณรู้สึกเห็นพ้องต้องกันว่ากรณีแบบนี้ควรจะตัดออกไป คุณต้องเขียนและเอาให้ชัด

“ผมคิดว่าไม่ระบุไม่ได้ อันนี้ต้องถือว่าเป็นข้อยกเว้น เรื่องของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศที่จะมีผลโดยตรงต่อระบบกฎหมายไทย มีผลเสมือนหนึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลไทย มีค่าในทางกฎหมายเท่ากันเลย ต้องเขียน ผมคิดว่าอำนาจในการตีความของศาลรัฐธรรมนูญยุติไปแล้ว มันไปไม่ได้ แล้วผมไม่สนับสนุนอำนาจในการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไปแบบนี้ด้วย ออกแบบนี้ก็เท่ากับที่ศาลตีความเรื่องอื่นๆ ขยายออกไปก็ถูกทั้งนั้น ซึ่งผมเห็นว่าไม่ใช่ เรื่องนี้เฉพาะในประเด็นกฎหมาย ถ้าเราไม่ดูเรื่องตัวคุณธรรมนัส ดูตัวบทประกอบกัน พูดอย่างถึงที่สุดคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญนี้ไม่ถึงกับไม่มีเหตุผล มีพื้นทางกฎหมายพอที่จะยืนได้ ไม่เหมือนกับหลายคดีก่อนหน้านั้น”

วรเจตน์ยังเห็นว่าการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญจะหนักแน่นกว่านี้ถ้าอ้างในเชิงระบบมากกว่าการอ้างโดยใช้เรื่องอธิปไตยนำ

“จริงๆ มันก็คล้ายเรื่องอำนาจอธิปไตยแต่การให้เหตุผลจะเป็นอีกวิธีหนึ่งคือตัวคำพิพากษาเป็นการใช้อำนาจในทางมหาชนอย่างหนึ่ง ไม่ต่างกับตัวกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครอง เมื่อตัวบทกฎหมายหรือระบบกฎหมายไทยอ้างอิงคำพิพากษา คำสั่งทางปกครอง หรือกฎหมาย โดยสภาพมันต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลไทย กฎหมายไทย หรือคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย เมื่อใดก็ตามที่ตัวกฎหมายนั้นเองหรือผู้ร่างกฎหมายมุ่งประสงค์จะให้หมายถึงศาลอื่นจะต้องเขียนยอมรับเอาไว้ชัดเจน ถ้าไม่ตีความแบบนี้มันก็จะกระเทือนถึงถ้อยคำแบบเดียวกันที่ปรากฏในมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญและอาจจะถึงขนาดในกฎหมายอื่นๆ ด้วย ผมคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ศาลให้คือให้เหตุผลในเชิงระบบซึ่งผมคิดว่าน่าจะชัดกว่า”

วรเจตน์เสนอด้วยว่า เมื่อใดที่ระบบกฎหมายไทยจะยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเข้ามาในระบบ เขาเห็นว่าอาจจะมีได้ 3 กรณี หนึ่งคือกรณีที่กฎหมายบัญญัติยอมรับเอาไว้ชัดแจ้ง เช่น กฎหมายคนเข้าเมืองหรือกรณีของประมวลกฎหมายอาญา กรณีที่มีสนธิสัญญาระหว่างกัน และสามคือการรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริง หมายถึงมีการกระทำบางอย่างเกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งข้อเท็จจริงนั้นจะกลายเป็นฐานในการดำเนินการต่อไปในระบบกฎหมายไทย พ้นไปจากนี้แล้วเมื่อตัวบทกฎหมายเขียนว่าคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำพิพากษาก็ดีจะต้องหมายถึงของไทยเท่านั้น รวมทั้งคำว่ากฎหมายและคำสั่งทางปกครองด้วย

แฟ้มภาพ

อันตรายของการทำให้ศีลธรรมเป็นกฎหมาย

ในทัศนะของวรเจตน์ คุณสมบัติต่างๆ ของ ส.ส. หรือรัฐมนตรีไม่ควรเขียนในรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้รัฐธรรมนูญมีความยืดยาว แต่ควรอยู่ในกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติรัฐมนตรีซึ่งยังไม่มีในไทย

“ถ้าตัวบทเขียนว่ารัฐมนตรีต้องเป็นคนดี รัฐมนตรีต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามดังต่อไปนี้ ต้องไม่เป็นคนชั่ว ถ้าเขียนแบบนี้ศาลก็อาจวินิจฉัยไปได้ว่าคนคนนี้เป็นคนชั่วไม่ควรเป็นรัฐมนตรี หรือตัวบทอาจจะเขียนถึงคุณสมบัติที่เราไม่พึงปรารถนา เช่นรัฐมนตรีต้องไม่เป็นคนกร่าง แต่เวลาที่เราเขียนเป็นตัวบทเราไม่ได้เขียนแบบนั้น อันนี้เราปล่อยให้เป็นเรื่องในทางการเมืองไป ตัวบทจะต้องเขียนอะไรบางอย่างซึ่งมันจะกลายเป็นกฎหมายขึ้นมาที่มีความชัดเจนพอสมควรเพื่อเป็นมาตรฐานในทางกฎหมายและอันนี้คือปัญหาที่เราต้องมาชี้กันว่า เมื่อมันเกิดข้อเท็จจริงขึ้นมาอันหนึ่ง ความหมายของตัวบทกฎหมายบทนั้นควรจะหมายความว่าอย่างไร มันเป็นปัญหาเรื่องการตีความกฎหมาย เป็นปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายซึ่งมีเกณฑ์ของมันอยู่”

และจุดตัดนี้ทำให้กฎหมายกับศีลธรรมไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่การพยายามทำให้เป็นเรื่องเดียวกันหรือการนำศีลธรรมมาเป็นกฎหมาย (moralization of law) จะยิ่งส่งผลเสียต่อตัวระบบกฎหมาย วรเจตน์อธิบายว่า

“ปัญหา moralization of law คือการเอาศีลธรรมเป็นกฎหมาย กรณีที่สุดโต่งมากๆ มันก็จะกลายเป็นกฎหมายบังคับให้ทำความดี กฎหมายมันกำหนดมาถึงจุดหนึ่งและมีกลไก มีกระบวนการ มีระบบ มีวิธีการใช้การตีความ บางอันที่เป็นเรื่องยุ่งยากนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญก็เห็นต่างกัน มันก็จบไปในห้วงเวลาหนึ่ง และเป็นเครื่องบันทึกว่าเขาสม่ำเสมอไหมในแต่ละคราว

“แต่การทำให้ศีลธรรมเป็นกฎหมายมันอันตราย ผมว่าเรื่องศีลธรรมมันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เป็นเรื่องของแต่ละคน กฎหมายมันวางมาตรฐานขั้นต่ำโดยทั่วไปในการอยู่ด้วยกันซึ่งผมไม่ได้บอกว่ากฎหมายเท่านั้นจะเพียงพอ ในทางการเมือง กฎหมายเท่านั้นมันไม่พอหรอก มันจะต้องมีเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่เคสแบบนี้ถ้าคุณรู้สึกว่าโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหามันแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วเราจะยกประเด็นแบบนี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องเข้ามาและใช้เหตุผลทางศีลธรรมจริยธรรมเข้าจัดการ เราจะเผชิญกับอันตรายอีกแบบหนึ่ง

“ศีลธรรมไม่มีตัวสถาบันที่จะมาตัดสิน มันเป็นเรื่องที่สังคมว่ากัน ความรู้สึกในทางศีลธรรม สังคมจะเป็นตัวบอก แต่ถ้าคุณจะเอามาทำเป็นกฎหมาย มันจะต้องเขียนเป็นตัวองค์ประกอบของกฎหมาย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวระบบกฎหมาย เวลาเราใช้กฎหมายสักมาตราหนึ่ง ความจริงมันไม่ได้ใช้กฎหมายมาตราเดียว เวลาคุณอ่านกฎหมายมาตราหนึ่งเพื่อจะค้นว่ามันหมายความว่าอะไรให้มันเป็นภาวะวิสัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพราะมนุษย์ทุกคนมีความโน้มเอียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คุณต้องอ่านอื่นๆ ประกอบ คุณต้องคำนึงถึงผลของการตีความประกอบ จะเอาเฉพาะผลเฉพาะหน้าในทางคดีบางอันมันไม่ได้

“เราต้องไม่ลืมว่าแม้ศาลจะตัดสิน ศาลจะมองไปยังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีต แต่คำตัดสินจะมีผลต่อไปในอนาคต คุณต้องมี perspective บางอย่างแบบมองไปข้างหน้าด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่มองไปในอดีตตลอดเวลา คุณต้องคำนึงว่าคำตัดสินของคุณอันนี้จะมีผลยังไงต่อไปซึ่งศาลจะต้องคิดเยอะขึ้น”

ถ้าไม่ระวังอำนาจศาลอาจจะอันตรายมากที่สุด

การใช้กฎหมายจึงต้องยึดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นหลักอย่างเคร่งครัด ไม่ควรเปิดช่องให้ศาลตีความแบบขยายความเพื่อตอบสนองความรู้สึกในทางการเมืองหรือศีลธรรม

“ความรู้สึกที่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญควรต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผมก็เห็นว่าควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ใช่เฉพาะจากกรณีนี้ มันคือการวิพากษ์วิจารณ์ในภาพรวม การที่ผมพูดวันนี้ไม่ควรจะเป็นตัวตัดสินว่าศาลรัฐธรรมนูญดีแล้วหรือถูกต้องแล้วที่เป็นแบบนี้ ผมแค่แสดงทัศนะของผมว่าเฉพาะเรื่องนี้ผมเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ผิด แต่ไม่ได้บอกว่าระบบทุกอย่างที่เป็นอยู่มันถูกต้องหรือศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรถูกปรับเปลี่ยนหรือแม้แต่ตัวรัฐธรรมนูญ ผมคิดในทางกลับกันว่ากลับเป็นเรื่องจำเป็นด้วยซ้ำที่ต้องมีการปรับปรุงตัวรัฐธรรมนูญ โครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การดำรงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

“ในคดีคุณธรรมนัสจะทำให้เราเห็นอะไรอีกหลายๆ อย่างว่า ถ้าเราไม่ระมัดระวังให้ดีสุดท้ายจะเป็นการทำให้กฎหมายกลายเป็นศีลธรรม เป็นการ moralization of law ซึ่งมันจะนำมาสู่ปัญหาอีกอันหนึ่ง มันจะพันกับเรื่องตุลาการภิวัฒน์ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งผมเห็นว่าในรัฐที่จะใช้กฎหมายเป็นหลักเป็นฐานในการปกครอง กำลังอำนาจทางกฎหมายจะต้องมีจุดหยุด แล้วที่เหลือทั้งหมดเป็นเรื่องของ moral เป็นเรื่องของจริยธรรม เป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องจัดการเอา คุณต้องเปิดให้การเมืองมีความเข้มแข็งในทางศีลธรรมมากพอที่จะจัดการเรื่องนี้กันได้ แล้วหลายเรื่องมันทำได้มากกว่ากฎหมายที่มีตัวบท มีการตีความ มีระบบ ไม่สามารถตัดสินใจตามความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งได้และมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้นด้วย

“การเพิ่มพูนขึ้นของอำนาจของศาลในช่วงสิบกว่าปีมานี้ ตัดสินคดีหลายเรื่องที่ขยายอำนาจออกไปแล้วมันเป็นปัญหา ปัญหาที่ทำๆ กันมามันไม่ได้แก้ได้เร็วๆ มันเป็นเจเนอเรชั่น จากการที่เราต้องการทำการเมืองแบบหนึ่ง เปลี่ยนการเมืองเป็นแบบหนึ่ง เราทำลายวัฒนธรรมในทางกฎหมายหลายอย่างทิ้งไป ระบบกฎหมายบ้านเราก็ไม่ได้ถึงกับสมบูรณ์เลอเลิศ แต่มันก็มีเกณฑ์ของมันอยู่ระดับหนึ่ง การจำกัดอำนาจของตัวเอง มันก็มีเหตุผลของมันอยู่ แต่ถ้าเราจะบอกว่าก็ศาลรัฐธรรมนูญตีความแบบนี้มาโดยตลอด กรณีของคุณธรรมนัสต้องตีความแบบนี้ด้วยก็จะหมายความโดยนัยว่าที่ตีความมาทั้งหมดนั้นมันถูกแล้ว แล้วก็ถูกต่อไป แล้วก็อยู่กันแบบนี้ต่อไปกระนั้นหรือ ศาลเป็นอำนาจที่อันตรายน้อยที่สุดใน 3 อำนาจ แต่ในบางกรณีถ้าไม่ระวังศาลอาจจะอันตรายมากที่สุดเหมือนกัน”

แฟ้มภาพ

ปัญหาการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์กล่าวเพิ่มเติมถึงกระบวนการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าควรปรับปรุง

“การทำคำวินิจฉัยและการอ่านคำวินิจฉัย อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ปัญหาแรกๆ ที่ผมเคยวิจารณ์เอาไว้คือศาลรัฐธรรมนูญไทยสามารถตัดสินคดีให้มีผลในทางกฎหมายไปก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยตัวเต็มได้ โดยระบบที่เขาทำเมื่อเขามีการประชุมคณะตุลาการและมีมติแล้ว เขาจะประกาศมติ ในอดีตเขาจะให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญประกาศมติ แต่ยังไม่มีตัวคำวินิจฉัย

“ผมก็วิจารณ์ตั้งแต่แรกว่ากระบวนการทำคำวินิจฉัยแบบนี้ มันไม่น่าจะถูก คือถ้ามีการประกาศคำวินิจฉัยแล้ว ตัวคำวินิจฉัยต้องพร้อมแสดงต่อสาธารณะให้คนได้เห็นและตรวจสอบกระบวนการให้เหตุผล ตรวจสอบกระบวนการทำงานศาลได้ เพราะเราไม่มีวิธีการตรวจสอบศาลนอกจากระบบการวิพากษ์วิจารณ์ การพูดกันด้วยเหตุด้วยผล ถ้าคุณออกมติมาก่อนแต่คำวินิจฉัยยังไม่มา การวิจารณ์ก็จะทำได้ในแง่มุมจำกัดเพราะไม่เห็นเหตุผลทั้งหมด

“ในปี 2546 ผมทำรายงานการวิจัยให้กับศาลรัฐธรรมนูญซึ่งต่อมามีการพิมพ์เป็นหนังสือในคำนำของหนังสือเล่มนั้นเรื่องการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ผมเขียนไว้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยสามารถวินิจฉัยคดีให้มีผลในทางกฎหมายไปก่อนที่จะมีตัวคำวินิจฉัยจริงๆ เสียอีกซึ่งไม่น่าจะถูก

“ผมก็พยายามคิดว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงมีแนวทางทำคำวินิจฉัยแบบนี้ อันหนึ่งที่ผมสันนิษฐานคือระบบการทำคำวินิจฉัยของเราเป็นระบบที่มีการลงมติแล้วก็ประกาศมติ เป็นไปได้ไหมที่เขารู้สึกว่าถ้าลงมติแล้วไม่ประกาศ มติมันจะรั่ว ซึ่งปกติตุลาการต้องรักษาความลับจนกว่าตัวคำพิพากษาจะออกมาถึงจะประกาศคำวินิจฉัยออกมา แต่เป็นไปได้ไหมว่าด้วยความที่ศาลรัฐธรรมนูญสัมพันธ์กับการเมืองอย่างมากอาจทำให้พอมีมติออกมาแล้วมติมันหลุด วิธีแก้ปัญหาคือต้องจำกัดคนที่อยู่ในห้องพิจารณาให้แคบที่สุดแล้วรักษาความลับตรงนั้น ทำคำวินิจฉัยให้เสร็จ ลงนามให้เรียบร้อย แล้วอ่าน มันจะดีกว่าไหมในการสะท้อนให้เห็นความเป็นมืออาชีพในแง่การทำคำวินิจฉัย

“ศาลต่างประเทศก็จะเป็นแบบนี้คือเขาต้องทำให้เสร็จก่อน เรารับเอาสถาบันศาลรัฐธรรมนูญมาจากต่างประเทศ และนี่คือปัญหาใหญ่ของระบบกฎหมายไทยคือเรารับในแง่ของตัวสถาบันมา แต่แบบแผน กระบวนการทำงาน จิตวิญญาณ วิธีคิดต่างๆ บางทีเราเอามาทำเป็นแบบของเราเองแล้วมันก็มีปัญหาแบบนี้

“ในเคสยุบพรรคอนาคตใหม่ก็มีตอนที่ศาลอ่านบนบัลลังก์กับคำวินิจฉัยตัวจริงที่คำมันเหลื่อมกันอยู่ อย่างตอนอ่านบอกว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน แต่ในคำวินิจฉัยเป็นพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน ก็มีการวิจารณ์ประเด็นเรื่องการปรับคำซึ่งจริงๆ ทำไม่ได้ เคสของคุณธรรมนัสก็เหมือนกัน คำวินิจฉัยที่อ่านกับที่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรมีบางส่วนที่ไม่ตรงกันทั้งหมด ปกติต้องตรงกันจะเพิ่มอะไรไม่ได้ นอกจากผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย

“ถ้าการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญดี หนึ่ง มันช่วยจำกัดอำนาจของศาล สอง ทำให้คนเกิดความเชื่อถือว่าคำวินิจฉัยเกิดจากกระบวนการผลิตที่เป็นขั้นเป็นตอนที่ได้เกณฑ์มาตรฐานทั่วไป”

หมายเหตุ : ประชาไท สัมภาษณ์ วรเจตน์ วันที่ 26 พ.ค.64 ก่อนศาลแขวงดุสิตจะมีคำพิพากษายกฟ้องเขาในคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกเรียกรายงานตัว คสช. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net