3 พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา จ่อยื่น 9 ร่าง แก้ รธน.รายมาตรา 250 ส.ว. ยังอยู่แต่ห้ามเลือกนายกฯ-ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแก้ได้ตามสถานการณ์ ด้านส.ว.ประกาศคว่ำร่าง รธน.ตัดอำนาจโหวตนายกฯ เล็งโหวตผ่านเฉพาะฉบับ พปชร.
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย นิกร จำนง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา และราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ร่วมกันแถลงภายหลังหารือ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในส่วนของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 9 ร่าง ประกอบด้วย ร่างแก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ 6 ประเด็น 6 ฉบับ ได้แก่
- เรื่องสิทธิเสรีภาพ ทั้งสิทธิทางกฎหมาย สิทธิชุมชน สิทธิส่วนบุคคล
- ระบบเลือกตั้ง ใช้ระบบบัตร 2ใบ แบ่งเขต 400 เขต บัญชีรายชื่อ 100 คน
- การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องจากบัญชีรายชื่อ ที่พรรคเสนอ หรือ จาก ส.ส. ในสภาได้ เพื่อให้นายกฯ ยึดหลักการยึดโยงกับการเลือกตั้ง
- แก้ มาตรา 256 โหวตเสียงเห็นชอบใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 450 เสียงแทน จาก เดิมใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา ที่จะต้องมีเสียง ส.ว. และฝ่ายค้านเห็นชอบด้วย
- แก้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้สามารถดำเนินคดีกับ คณะกรรมการ ปปช. ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ต้องยื่นให้ ประธานรัฐสภาวินิจฉัยก่อนส่งศาลฎีกา ดังนั้นห่วงว่าในอนาคตหากประธานรัฐสภาไม่ใช่ ชวน หลีกภัย แล้วอาจเป็นปัญหาผลต่อรองทางการเมืองได้ จึงจะแก้ให้ ประธานรัฐสภา มีหน้าที่เพียงส่งเรื่องเท่านั้น
- เรื่องกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ให้ ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ศุภชัย กล่าวว่า ทั้ง 3 พรรคได้แลกเปลี่ยน ความเห็นมาอย่างต่อเนื่อง และร่วมสนับสนุน ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาบ้านเมือง นอกจากนี้ยังได้ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ ที่ทั้ง 3 พรรคเห็นชอบด้วย ได้แก่
- อำนาจ ส.ว. ตามมาตรา 272 ไม่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
- การกำหนดหน้าที่ของรัฐ ที่รัฐต้องมีหน้าที่ในการดูแลปัญหาปากท้องของประชาชน มีหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าให้กับประชาชนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเส้นความยากจน และอย่างน้อยต้องมีรายได้ 36,000 บาท ต่อปีด้วย
- แก้ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี ที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตามสถานการณ์
ด้านนิกร จำนง ยืนยันว่า พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นด้วยกับทั้งหมด 9 ร่าง เพราะมีหลักการตรงกัน จึงได้ลงชื่อ เห็นชอบร่วมกันด้วย
สำหรับการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในส่วนของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล จะมีการยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมในวันนี้ (16 มิ.ย) เมื่อการพิจารณาดำเนินการพร้อมเพรียงกันกับพรรคอื่นๆ ที่เสนอเข้ามารวมกันประมาณ 15 ร่าง
ส.ว.ประกาศคว่ำร่าง รธน.ตัดอำนาจโหวตนายกฯ เล็งโหวตผ่านเฉพาะฉบับ พปชร.
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่มีเนื้อหาแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่ต้องมีเนื้อหาเหมาะสม ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ถ้าเป็นเช่นนี้ส.ว.ไม่ร่วมมือด้วยแน่นอน โดยเฉพาะการตัดอำนาจส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการลุแก่อำนาจ ไม่เห็นด้วย การโหวตเลือกนายกฯของส.ว. เป็นอำนาจตามบทเฉพาะกาล 5 ปี เพื่อมาแก้วิกฤตประเทศ เสียงส.ว.ไม่มีผลอะไรเลย ถ้ามีเสียงสนับสนุนจากส.ส.ไม่ถึงครึ่งในการโหวตนายกฯ การแก้มาตรา 272 ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันจึงจะสำเร็จ ถ้าส.ว.ไม่ร่วมมือด้วยก็ไม่มีทางสำเร็จ
“ขอเตือนสติให้รับรู้ว่าใครที่ทำเก่ง ทำกล้า เสนอแก้รัฐธรรมนูญที่ลุแก่อำนาจ เน้นแต่หาเสียง สนุกปากเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าพรรคใดเสนอมาจะไม่ผ่านแม้แต่ร่างเดียว ส.ว.จะไม่รับร่าง เพราะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา เป็นแค่การหาเสียง มุ่งแสดงอำนาจบาตรใหญ่”เสรี กล่าว
ด้านกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า การที่ฝ่ายค้านจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราทั้งการให้ตั้งส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการตัดอำนาจส.ว.ในการโหวตนายกฯนั้น โม้ได้แต่จะทำได้หรือไม่ เพราะจะต้องอาศัยเสียงส.ว.1ใน3 หรือ 84เสียงขึ้นไปสนับสนุน ดูแล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านโอกาสผ่านยาก เพราะเรื่องการตั้งส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ทำประชามติก่อน หรือการตัดอำนาจส.ว. โหวตนายกฯเป็นการทำเพื่อหาเสียง
“ขณะนี้เสียงส.ว.ตกผลึก เบื้องต้นจะให้ผ่านเฉพาะร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอโดยไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนร่างของฝ่ายค้านคงไม่ผ่าน ขณะที่ร่างพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนานั้น ถ้าเสนออยู่ในหลักการที่เป็นไปได้ ไม่สุดโต่ง หรือทำเพื่อหาเสียงให้ตัวเอง ส.ว.ก็ยินดีสนับสนุน แต่ถ้าสุดโต่งเกินไป ก็คงไม่ผ่าน ต้องไปหาเสียงสนับสนุนเอาเอง ยืนยันว่าส.ว.ไม่ใช่อุปสรรคในการแก้รัฐธรรมนูญ และเป็นที่พึ่งฝากความหวังได้ เห็นแก่บ้านเมืองมากกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ” กิตติศักดิ์ กล่าว