เปิดมุมแรงงานข้ามชาติ-บุคคลซี่งไม่มีสัญชาติ ปมโครงการ 'เรารักกัน' ม.33 เลือกปฎิบัติ หลังร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

ฟังเสียงแรงงานข้ามชาติและบุคคลซี่งไม่มีสัญชาติไทย หลังส่งหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีโครงการ 'เรารักกัน' ม.33 เลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ ที่เปิดโครงการมา 4 เดือน แต่พวกเขาแม้เป็นผู้ประกันตน กลับไม่สามารถเข้าถึงโครงการนี้ได้

ผ่านมาแล้วเกือบ 4 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.2564 ที่กระทรวงแรงงานได้เปิดให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 สามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ตามโครงการ 'เรารักกัน' มาตรา 33 ได้ โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าผู้ประกันตนที่สิทธิได้รับความช่วยเหลือตามโครงการ 'เรารักกัน' จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติและบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมไม่สามารถเข้าถึงโครงการเรารักกันได้

วันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา สายทิพย์ อาวัน และ จำมน ไม่มีนามสกุล ซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จึงได้ส่งหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องเรียนความไม่เป็นธรรมกรณีโครงการ 'เรารักกัน' มาตรา 33 เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติอันก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและความเดือดร้อนแก่ชีวิตแรงงานข้ามชาติและบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมเช่นเดียวกับคนไทย

จำมน ไม่มีนามสกุล : 11 ปี ที่ส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม แต่เข้าไม่ถึงโครงการเรารักกัน

จำมนเป็นแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2539 ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอทำบัตรบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยพอดี เธอจึงได้ไปลงทะเบียนและได้รับบัตรอีก 3 ปีถัดมา ปัจจุบันจำมนเป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ประเทศไทยโดยถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

จำมนทำงานเป็นแม่บ้านร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เธอเข้าส่งเงินเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาแล้วเป็นระยะเวลา 11 ปี ทุกวันนี้จำมนจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมเดือนละ 610 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนที่เธอได้รับ จำมนระบุว่า สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิเพียงอย่างเดียวของประกันสังคมที่เธอได้ใช้ นอกจากนี้เธอแทบไม่เคยได้ใช้สิทธิประโยชน์อย่างอื่นของประกันสังคมเลย

หลังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำมนไม่ได้ถูกพักงานหรือถูกเลิกจ้าง เธอยังคงทำงานได้ต่อไป แต่ลูกสาวที่เป็นแม่บ้านโรงแรมตกงานอย่างกะทันหันอยู่ร่วม 3 เดือน ทำให้ครอบครัวของจำมนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง เนื่องจากลูกสาวเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถือพาสปอร์ตและต้องหาเงินหลักหมื่นมาจ่ายค่าต่อใบอนุญาตทำงานทุกปี ความเดือดร้อนที่ได้รับทำให้จำมนเกิดคำถามว่า เหตุใดโครงการเรารักกันของประกันสังคมจึงเลือกช่วยแต่ผู้ประกันตนที่เป็นคนไทย ทั้งที่ในสถานการณ์โควิด-19 แรงงานข้ามชาติและบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหลายคนก็ตกงานและได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่เลข 13 หลักบนบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยของจำมนไม่สามารถใช้ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิเยียวยาตามโครงการ 'เรารักกัน' ม.33 ได้ โดยติดที่เงื่อนไขของการมีสัญชาติไทย

“เราก็จ่ายประกันสังคมเหมือนกัน ทำไมเราถึงไม่ได้เหมือนเขา เราจ่ายเงินสมทบเหมือนกับพี่น้องคนไทย แต่เวลาแจกเขาไม่แจกเรา มาแยกแยะคนไหนคนไทย ทำไมบัตรคนบนพื้นที่สูง บัตรหัว 6 อย่างเราไม่ได้สิทธิ เราไม่เคยเรียกร้องอะไร เราก็อยากมีสิทธิได้อะไรเล็กๆ น้อยๆ กับเขาบ้าง” จำมน กล่าว

สายทิพย์ อาวัน : ประกันสังคมควรจะปรับระบบให้สอดคล้องกับชีวิตแรงงานข้ามชาติบ้าง

สายทิพย์ อาวัน ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและสิทธิแก่แรงงานข้ามชาติ เขาเป็นคนหนึ่งที่ส่งหนังสือร้องเรียนความไม่เป็นธรรมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นกัน โดยสายทิพย์ส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตั้งแต่พ.ศ. 2554 หรือกว่า 10 ปี การไม่ได้รับสิทธิเยียวยาตามโครงการ 'เรารักกัน' ม.33 ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นการถูกเลือกปฏิบัติ

“ถ้าไม่อยากช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติก็ไม่จำเป็นต้องมาอ้างสิทธิตามประกันสังคมมาตรา 33 กระทรวงการคลังแจกเงินให้คนไทยไปเลยก็ได้ แต่ในเมื่ออ้างว่าเป็นสิทธิช่วยเหลือสำหรับผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกของประกันสังคม คนที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 ก็ควรจะต้องได้สิทธิทุกคน แต่ปรากฎว่ามีการเลือกปฏิบัติที่ให้แต่คนไทยอย่างเดียว ทำให้เกำลังใจในการจ่ายเงินเข้าประกันสังคมของเราหมดไปด้วย จ่ายไปเราก็ไม่รู้ว่าจะได้ความช่วยเหลือส่วนนี้กับเขาไหม

และเงินชราภาพในมาตรา 33 เราก็ไม่รู้ว่าจะได้รับสิทธิหรือไม่ เราไม่รู้ว่าเราจะอยู่ไทยถึงอายุ 55 ปีไหม ถ้าเรากลับบ้านไปการจะเบิกเงินก้อนนี้ได้มีเงื่อนไขว่ารัฐบาลพม่าต้องมี MOU กับทางการไทยก่อน ซึ่งมันเกี่ยวอะไรด้วยในเมื่อแรงงานเป็นคนจ่ายเงินสมทบ เงินก้อนนี้ควรจะคืนกลับมาให้แรงงานแบบไม่ยุ่งยาก ยิ่งทำให้เราคิดว่าเราจ่ายเงินเข้าประกันสังคมไปแล้วเราไม่ได้อะไรกลับมาเท่าไหร่

เจ้าหน้าที่ประกันสังคมบอกแรงงานบางคนที่จะกลับประเทศว่า ถ้าอายุครบ 55 ปี ก็ให้กลับมาเอาเงินชราภาพ ซึ่งการเดินทางมันไม่ใช่เรื่องง่าย แรงงานจะต้องเสียค่าเดินทาง ค่าวีซ่า เพื่อกลับเข้ามาในไทยอีก เป็นการสร้างภาระให้แก่แรงงานที่จะข้ามกลับบ้านเพิ่มขึ้นไปอีก เหมือนกับเป็นการกีดกันไม่ให้แรงงานเข้าถึงสิทธิที่ตัวเองจ่ายไปด้วย”

สายทิพย์พยายามสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่เพียงโครงการ 'เรารักกัน' แต่สิทธิอื่นๆ ในระบบประกันสังคมแรงงานข้ามชาติก็รู้สึกว่าตัวเองถูกเลือกปฏิบัติ เช่น เงินสังเคราะห์กรณีชราภาพเป็นสิทธิประโยชน์อีกประการหนึ่งที่แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมมักไม่ได้ใช้หรือเข้าไม่ถึงสิทธิส่วนนี้ หากมีการเดินทางกลับประเทศไปก่อนอายุครบ 55 ปี ซึ่งเงินที่แรงงานส่งไว้ส่วนนี้ก็จะตกเป็นของประกันสังคม

“ที่เราคิดแบบนี้เพราะขั้นตอนที่เขากำหนดให้เราเข้าถึงสิทธิเขากำหนดไว้ยาก ถ้าประกันสังคมอยากให้สิทธิเราจริงๆ เขาไม่ควรจะกำหนดกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากสำหรับแรงงานข้ามชาติ เช่นถ้าแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ต้องการลาออกหรือกลับประเทศต้นทาง ก็ควรจะเบิกเงินชราภาพที่ตัวเองสะสมไว้ออกไปได้เลย โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ 55 ปี แบบนี้น่าจะแฟร์กับแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนมากกว่า”

เหตุผลที่สายทิพย์เลือกส่งหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเนื่องจากแสดงให้ประกันสังคมและหน่วยงานภาครัฐรับรู้ถึงความไม่เห็นด้วยกับการออกนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ

“การทำเรื่องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินผมก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยๆ เราก็ได้ทำเรื่องให้ชัดเจนว่าเราไม่เห็นด้วย จะมาทำแบบนี้กับเราไม่ได้ เราก็จ่ายเงินเข้าประกันสังคมเหมือนกัน ถ้าจะมีการเยียวยาโดยอ้างม.33 ของประกันสังคม ผู้ประกันตนตามม.33 ก็ต้องได้รับการดูแลทุกคน ถ้าคิดว่าจะให้แค่คนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นทำไมไม่ใช่เหตุผลอื่นในการให้สิทธิ ทำไมต้องมาอ้างประกันสังคมม.33

ตอนประกันสังคมให้ลงทะเบียนออนไลน์รับสิทธิ เราไปลงบ้าง เราก็ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลักที่จะลงได้ พอใส่เลขอื่นเข้าไประบบก็บอกไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่เลขของคนไทย”

มุมมองจาก จนท.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จ.เชียงใหม่

ปสุตา ชื้นขจร เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เชียงใหม่

ถาม : ในมุมมองเจ้าหน้าที่ที่ทำงานช่วยเหลือแรงงาน ทำไมถึงเลือกส่งหนังสือไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน?

ปสุตา : เราเคยพยายามส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องขอให้ยกเลิกเงื่อนไขคุณสมบัติการมีสัญชาติไทยของผู้ได้รับสิทธิตามโครงการ “ม.33 เรารักกัน” มาแล้ว เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เข้าถึงสิทธิ ซึ่งตอนนั้นกระทรวงแรงงานมอบหมายให้สำนักงานประสังคมชี้แจงกลับมาว่า เงินช่วยเหลือส่วนนี้ไม่เกี่ยวกับประกันสังคม เราเข้าใจว่าเป็นเงินจากกระทรวงการคลัง แต่ในเมื่อคุณอาศัยคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกันตนในระบบประสังคมเข้ามาให้สิทธิ คุณก็น่าจะมีคำตอบว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ การไม่มีคำตอบในส่วนนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ได้ให้ความสำคัญกับชีวิตของแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้การเอาเชื้อชาติมาเป็นตัวกำหนดสิทธิของคนยังเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 27 วรรค 3 และไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคของบุคคลตามมาตรา 4 วรรค 1 อีกด้วย การที่สำนักงานประกันสังคมอ้างว่ากระทรวงการคลังกู้เงินมาช่วยเหลือประชาชน เราต้องถามกลับว่าประชาชนคือใคร ถ้าประชาชนก็คือคนที่อยู่ในประเทศนี้ ก็ควรมองเห็นถึงชีวิตของแรงงานชาติและคนอื่นที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย ไม่เช่นนั้นประเทศอื่นหลายๆ ประเทศก็จ่ายเงินช่วยเหลือแค่คนประเทศตัวเองแล้ว แต่ทำไมเขาถึงจ่ายเงินให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศได้ แรงงานข้ามชาติและบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยก็เป็นกำลังผลิตที่ขับเคลื่อนประเทศไทยเช่นกัน แต่เรากลับไม่ให้ความช่วยเหลือพวกเขาเลย

วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งในการส่งหนังสือครั้งนี้ เราต้องการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากเราไม่สามารถร้องกับศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้ จึงต้องยื่นเรื่องเข้าไปที่ผู้การแผ่นดินก่อน แต่ถ้าผู้ตรวจการไม่มีการตอบกลับมาก็อาจต้องมีการเดินทางไปยื่นหนังสือด้วยตัวเองถึงที่

หากยังไม่มีความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคมออกมาจะส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาอย่างไรบ้าง?

ปสุตา : กรณีของคุณจำมนและคุณสายทิพย์โชคดีที่เขาไม่ตกงาน แต่ในความเป็นจริงยังมีแรงงานข้ามชาติและบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยคนอื่นที่อยู่ในประกันสังคมและเดือดร้อนยิ่งกว่านี้ แต่เขาไม่มีแม้กระทั่งเวลาจะมาเรียกร้องสิทธิให้ตนเอง เนื่องจากเขาต้องทำงานหาเลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัว คนกลุ่มนี้มีความเปราะบางทั้งทางสถานะและเศรษฐกิจ และโควิด-19 ก็กระทบต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติและบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยมาก เนื่องจากหลายคนถูกเลิกจ้าง ไม่เหลือเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และแทบไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการดูแลตัวเองได้ การละเลยไม่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติยังอาจส่งผลกระทบไปถึงการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานในรอบนี้ด้วย แรงงานที่เป็นผู้ประกันเดิมและบัตรเขาขาดอายุด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น นายจ้างไม่เข้าให้ จ้างเข้าไม่ทันบ้าง ทำให้แรงงานหลายคนเป็นคนผิดกฎหมาย และตอนนี้ประกันสังคมระบุว่า แรงงานที่ไม่มีพาสปอร์ตจะเข้าเป็นผู้ประกันตนต่อไม่ได้ ทำให้เขาโดนตัดสิทธิ ทั้งที่จริงเขาเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมา 10 ปีแล้ว แต่บัตรมาหลุดตอนนี้

ตอนนี้เราคาดหวังว่าเราจะกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมาให้แรงงานก่อน ประกันสังคมไม่ควรมีนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ออกมาอีก ประกันสังคมควรจะดูแลทุกคนที่เป็นผู้ประกันตนในระบบ คุณต้องคุมครองแรงงานข้ามชาติด้วย การเลือกช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกันตนคนไทยเป็นการไม่ยุติธรรมกับผู้ประกันตนคนอื่นๆ อย่างมาก

หนังสือร้องเรียนความไม่เป็นธรรมกรณีโครงการ ม.33 เรารักกัน เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท