Skip to main content
sharethis

คุยกับแรงงานข้ามชาติผู้ประกันตนตาม ม.33 เจ้าของหนังสือร้องนายกฯ ขอให้เงื่อนไขเยียวยา โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติด้วย เนื่องจากเป็นผู้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม แถมได้รับผลกระทบในการจ้างงานหลัง COVID-19 ระบาดเหมือนกัน

 

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขคุณสมบัติการมีสัญชาติไทยของผู้ได้รับสิทธิตามโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่กีดกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เช่นกัน ไม่อาจเข้าถึงเยียวยาตามโครงการเรารักกันได้ ทั้งที่แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ก็ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเหมือนกับคนไทย และได้รับผลกระทบในการจ้างงานหลัง COVID-19 แพร่ระบาดเช่นกัน

พร้อมทั้งแนบหนังสือจาก Saw Naung แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้าไม่ถึงโครงการเรารักกัน

ในหนังสือของคุณ Saw ระบุเหตุผลว่า

“แรงงานข้ามชาติจำนวนนับล้านคน ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นเดียวกันกับคนไทยหรือยิ่งกว่า การตัดสิทธิแรงงานข้ามชาติไม่ให้รับเงินเยียวยาโดยอ้างเหตุว่าไม่มีสัญชาติไทย เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” และมาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้” จึงขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกเงื่อนไขที่ตัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงเงินเยียวยาดังกล่าว”

สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในแม่สอด

จากการพูดคุยกับ Saw Naung เจ้าของหนังสือร้องเรียนที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่มูลนิธิ HRDF แม่สอด โดย Saw ระบุว่าเหตุผลที่เขาตัดสินใจเขียนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพราะแรงงานข้ามชาติก็เป็นหนึ่งในผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ส่งเงินเข้าประกันสังคมเหมือนกับคนไทย แล้วเหตุใดโครงการเรารักกันที่มีวัตถุประสงค์ออกมาเพื่อเยียวยาผู้ประกันตนตาม ม.33 ถึงได้ตัดสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยไม่แม้แต่จะพูดถึงสิทธิของพวกเขา

“ผมส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมมาได้ 6 ปีแล้ว พอเห็นคนไทยได้สิทธิเรารักกัน แต่เราไม่ได้ เรารู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม เวลาที่หักเงินก็หักกันง่ายๆ นายจ้างหักจากค่าจ้างของเราไปเลย แต่เวลาที่เราจะเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามสิทธิประกันสังคมทำไมมันถึงยากนัก แล้วทำไมในการเยียวยาช่วยเหลือต้องมีการบังคับว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น เพื่ออะไร” เจ้าของหนังสือร้องเรียนที่ส่งถึงนายกฯ กล่าว

Saw กล่าวว่าสถานการณ์แรงงานในแม่สอดตอนนี้แรงงานข้ามชาติที่ยังทำงานอยู่ในโรงงานหลายคนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างมาก เนื่องจากบริษัทเย็บผ้าและทำกระเป๋าบางบริษัทไม่อนุญาตให้แรงงานออกนอกโรงงาน ต้องกินอยู่ในโรงงาน เพราะนายจ้างกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นับตั้งแต่พม่ามีการระบาดหนักของ COVID-19 ในเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา การที่แม่สอดอยู่ติดกับชายแดนพม่าจึงยิ่งทำให้นายจ้างมีมาตรการที่เข้มงวดกับคนงานมากขึ้น

การที่นายจ้างบังคับให้แรงงานกินอยู่ภายในโรงงานยิ่งเป็นการเพิ่มภาระเรื่องค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงาน เนื่องจากแรงงานบางคนทำงานได้วันละ 330 บาท แต่ถูกหักเป็นค่าอาหารและค่าที่พักไปในโรงงานไปแล้ววันละ 110 บาท ยิ่งไปกว่านั้นแรงงานที่มีครอบครัวต้องเสียค่าที่พัก 2 ที่ เนื่องจากครอบครัวเช่าหอพักหรือบ้านพักอีกแหล่งหนึ่งอยู่นอกโรงงาน ใน 1 เดือนแรงงานจะได้รับอนุญาตให้ออกมานอกโรงงานได้เพียง 1 วัน ซึ่งในระหว่างนี้หากแรงงานต้องการข้าวสารอาหารแห้งหรือของใช้จำเป็นก็ต้องบอกให้ญาติพี่น้องที่อยู่ข้างนอกโรงงานนำมาส่งให้ แต่ตัวแรงงานไม่สามารถออกไปซื้อข้างนอกเองได้ และในบางบริษัทกำหนดให้ลูกจ้างคนไทยสามารถเดินทางไปเช้าเย็นกลับได้ แต่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติถูกบังคับให้พักอยู่ในโรงงาน ส่วนแรงงานข้างชาติในบริษัทอื่นที่ไม่ถูกบังคับให้อยู่ในโรงงานก็อาจถูกลดวันทำงานลง จากทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน (จันทร์ – เสาร์) ก็เหลืออาทิตย์ละ 4 วัน (จันทร์ - พฤหัสบดี)

รวีพร ดอกไม้ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ HRDF ประจำแม่สอดอีกท่านหนึ่งเสริมว่า ตอนนี้กรณีร้องเรียนของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งถูกตัดสิทธิจากโครงการเรารักกันยังมีเข้ามาน้อย ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่แรงงานถูกบังคับให้อยู่ในโรงงาน ทำให้ออกมาร้องเรียนไม่ได้ และนอกจากนี้แรงงานข้ามชาติในแม่สอดหลายคนถูกจ้างงานตาม ม.64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับ 2 พ.ศ. 2561) ซึ่งเป็นการจ้างงานชายแดนในลักษณะชั่วคราวแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือเข้ามาทำงานตามฤดูกาลได้ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องการเข้าสู่ระบบประกันสังคม เนื่องจากกฎหมายยังเปิดช่องให้นายจ้างตาม ม.64 มีสิทธิเลือกได้ว่าจะนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคมหรือซื้อบัตรประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้างตามพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการหรือลูกจ้างอื่นที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม พ.ศ. 2560 ม.3 (6) (7) ดังนั้น นายจ้างจึงมักเลือกซื้อบัตรประกันสุขภาพครั้งเดียวจบ และไม่ต้องยุ่งยากส่งเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมให้แรงงานทุกเดือน แม้ว่าแรงงานหลายคนจะอยู่ในสภาพการจ้างงานชั่วคราวแบบถาวร ทำงานอยู่ในแม่สอดตลอด ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net