Skip to main content
sharethis

‘ปีกแรงงาน ก้าวไกล’ อัด ‘รมว.แรงงาน’ ล้มเหลวในการปกป้องแรงงาน-เบียดเบียนเงินประกันสังคม-บริหารแรงงานข้ามชาติล้มเหลว-แถมยังเป็นตัวตั้งตัวตีจัดม็อบชนม็อบ ด้าน สุชาติ โต้ จัดจ๊อบเอ็กซ์โป ขอเม็ดเงิน 1.9 หมื่นล้าน ไม่ละลายหายไป แจงโครงการ ม.33 เรารักกัน ไม่ใช่เงินกองทุนประกันสังคม

 

17 ก.พ.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่สัปปายะสภาสถาน วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ปีกแรงงาน ร่วมอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยอภิปรายกล่าวหา สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในข้อหาบริหารราชการบกพร่องผิดพลาดร้ายแรง ปล่อยปะละเลยให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน ดำเนินนโยบายผิดพลาดจนเกิดทำให้มีการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายจำนวนมาก สร้างผลกระทบและเป็นเหตุทำให้เกิดการระบาดของโควิด 19 รอบที่สอง เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ ไม่ดูแลสวัสดิภาพและสวัสดิการของแรงงานอย่างทั่วถึง ผลาญเงินประกันสังคมซึ่งเป็นหลักประกันเพียงอย่างเดียวของแรงงานในระบบ และยังมีพฤติการณ์สร้างความปลุกปั่น แตกแยก เกลียดชังในหมู่ประชาชน ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง

อัดสองโครงการกระตุ้นการจ้างงานล้มไม่เป็นท่า แถมหนุนขูดรีดแรงงานโดยรัฐ

วรรณวิภา ระบุว่า ในวันที่ สุชาติเข้ารับตำแหน่งวันแรก มีการมอบนโยบายให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การแก้ไขปัญหาการว่างงาน และการเยียวยาพี่น้องแรงงาน อย่างไรก็ตาม แม้สุชาติเพิ่งรับตำแหน่งมาได้เพียง 6 เดือน แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการบริหารงานที่บกพร่อง หละหลวม ละเลยในการจัดการแรงงานข้ามชาติ จนเป็นสาเหตุให้ประเทศต้องเจอกับการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ และเมื่อมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นแล้ว สุชาติก็ยังแก้ปัญหาผิดๆถูกๆ จนต้นตอของปัญหาไม่ถูกนำมาแก้ไข

นับตั้งแต่มีมาตรการล็อกดาวน์ มีการสั่งหยุดงานทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ มีธุรกิจปิดกิจการไปแล้วกว่า 20,000 แห่ง ส่งผลให้มีการเลิกจ้างขนานใหญ่ ตัวเลขคนว่างงานสูงเป็น 2 เท่า หรือเกือบล้านคน ลูกจ้างหลายคนจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชย การร้องเรียนให้ได้สิทธิที่ควรได้รับจากที่ปกติดำเนินการล่าช้าอยู่แล้วยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก บางเรื่องค้างอยู่ที่ศาลก็ต้องเลื่อนต่อไปไม่มีกำหนด บางคนจนเกิดการระบาดเป็นรอบที่สองแล้วก็ยังไม่ได้กลับเข้าไปทำงาน

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดเฉพาะตัวแรงงานเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปจนถึงครอบครัว ความหวังเดียวที่อยากจะหวังพึ่ง ก็คือนโยบายของรัฐบาล และคนที่ควรจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเมื่อสุชาติรับตำแหน่งรัฐมนตรี ได้ริเริ่มโครงการของกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานจำนวน 2 โครงการ คือ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ หรือ Co Payment และ โครงการ Job Expo 

โครงการ Co Payment ตั้งเป้าหมายจ้างงาน 260,000 คน ใช้งบประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยรัฐช่วยออกคนละครึ่งกับนายจ้างแต่ก็เหมือนจะล้มเหลว เพราะจ้างงานได้แค่ประมาณ 7,000 คนเท่านั้น เมื่อโครงการไม่เป็นไปตามเป้า สุชาติก็แก้เงื่อนไข เอื้อให้มีการกดค่าแรงโดยยกเลิกการกำหนดเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา ให้ใช้การเจรจาต่อรองกันเอง โดยกำหนดเพียงว่าไม่ให้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัด ซึ่งค่าแรงตามวุฒิเดิมก็แทบจะไม่พอกินอยู่แล้ว สุชาติยังจะให้ลูกจ้างกับนายจ้างไปต่อรองกันเองแบบนี้อีก

ส่วนโครงการ Job Expo ที่จัดงานใหญ่โต ตั้งเป้าไว้ว่าจะจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง แต่พอไปดูเนื้อหาของตำแหน่งงานในเว็บไซต์ไทยมีงานทำ กลับมีตำแหน่งงานที่เปิดรับอยู่เพียงแค่ 600,000 กว่าตำแหน่ง และมีคนเข้าไปสมัครเพียง 134,716 ครั้งเท่านั้นเอง ทำให้สงสัยว่าสุดท้ายแล้ว มีคนที่ได้งานทำจากโครงนี้กี่คน เพราะจำนวนคนว่างงาน ณ เดือนตุลาคมมีมากถึง 800,000 คน แต่คนสมัครงานตามโครงการนี้เพียงแค่แสนกว่าคน คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานอย่างนั้นหรือ?

มิหนำซ้ำ งานภาครัฐที่มาประกาศจ้างงานใน Job Expo ดังกล่าวนี้ ยังกดขี่ค่าแรงเสียเอง จ้างงานเป็นหมื่นอัตรา ค่าตอบแทนเพียง 5,000 บาทต่อเดือน ทั้งๆที่ต้องทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน เรื่องนี้ชัดเจนว่าขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและค่าแรงขั้นต่ำที่ควรจะได้รับ สุชาติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแบบไหน นอกจากจะไม่ทักท้วงห้ามปรามแล้ว ยังสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐทำผิดกฎหมายและเอาเปรียบลูกจ้างได้ถึงเพียงนี้

นอกจากนี้ งานที่มีให้สมัครยังเป็นสัญญาจ้าง 12 เดือน ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ เคยคิดหรือไม่ว่าถ้าหมดสัญญาแล้วชีวิตคนงานจะเป็นอย่างไรต่อ สัญญาในลักษณะนี้สมัยที่ตนอยู่สหภาพแรงงานเรียกว่า “สัญญาทาส” เพราะปล่อยให้คนงานโดนเอาเปรียบ ไม่ได้สวัสดิการ สุดท้ายก็ต้องโดนให้ออกตอนครบปีพอดี กลายเป็นว่าต้องกลับไปหางานใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนั้น

“ถ้าท่านตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ จะรู้เลยว่าการมีงานมั่นคงระยะยาวมีคุณค่าต่อการใช้ชีวิตของประชาชนมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นงบประมาณที่จัดงานใหญ่โต แต่ถ้าแก้ปัญหาแบบขอไปทีไม่ตรงโจทย์และความต้องการของประชาชนที่เผชิญอยู่ ก็ดูเหมือนจะไร้ความหมาย ดิฉันคิดว่าหากมี Job Expo รอบหน้าท่านไม่ต้องเปิดเป็นล้านตำแห่งหรอก เปิดแค่ตำแหน่งเดียวก็พอ คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพราะอีกไม่นานต้องออกแล้ว ตำแหน่งนี้” วรรณวิภา กล่าว

เงินรัฐไม่ควักเยียวยาประชาชน มาเบียดเบียนกองทุนประกันสังคม แถมไม่มีแผนโปะคืนให้ - กองทุนถังแตกขึ้นมาจะรับผิดชอบอย่างไร

วรรณวิภายังอภิปรายต่อไป ว่านอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องคนว่างงาน คนตกงานแล้ว ยังผลักให้เป็นภาระของกองทุนประกันสังคมมาเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกันตนและนายจ้างอีก ซึ่งได้สร้างความเสียหายและความสูญเสียโอกาสให้กับกองทุนประกันสังคม ที่ถือเป็นเงินในอนาคตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ที่จ่ายสมทบร่วมกับนายจ้างทุกเดือน ทั้งๆที่รัฐบาลเป็นผู้จ่ายสมทบส่วนน้อย

ความเสียหายแรกที่สุชาติสร้าง คือการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งแม้จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของทั้งผู้ประกันตนและนายจ้าง ทำให้มีเงินสดในมือมากขึ้น ช่วยค่าครองชีพได้บ้าง แต่อย่าลืมว่ากองทุนประกันสังคมไม่ใช่เงินของรัฐ ไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นเงินที่ลูกจ้างและนายจ้างช่วยกันจ่าย มีรัฐบาลช่วยจ่ายมาสมทบเพียงประมาณ 2.75% ของรายได้

แต่พอมีปัญหากลับมาลดเงินสมทบแบบไม่ยอมโปะคืน สิ่งนี้กระทบกับความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคมโดยตรง พี่น้องแรงงานที่ออมเงินไว้หวังว่าจะได้บำนาญก็ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ โดยเฉพาะพี่น้องแรงงานที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ 

ก่อนหน้าสุชาติจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กระทรวงฯได้ลดอัตราสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคม โดยลูกจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 1 นายจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 4 ในงวดเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2563 ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้เข้ากองทุน 23,119 ล้านบาท หลังจากที่สุชาติมารับตำแหน่งรัฐมนตรีในเดือนกันยายน ก็ได้ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 2 ในงวดเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้ของกองทุน 24,313 ล้านบาท

ล่าสุด สุชาติยังได้ลดเงินสมทบเข้ากองทันประกันสังคมเป็นครั้งที่ 3 โดยลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบร้อยละ 3 ในงวดเดือนมกราคม 2564 ต่อมาหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ก็ได้ลดการสมทบในส่วนของลูกจ้างลงเหลือเพียงร้อยละ 0.5 งวดเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้ของกองทุนไปอีก 21,237 ล้านบาท

“การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้ง 3 ครั้ง ทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้จากการสมทบไปแล้วรวม 68,669 ล้านบาท เฉพาะในช่วงที่สุชาติเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการแรงงานก็ร่วม 50,000 ล้านบาท แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นสุชาติมีแผนงานหรือมีแนวทางในการคืนเงินสมทบชดเชยให้กองทุนประกันสังคมจากการจากออกนโยบายลดเงินสมทบของท่านเลย

“ท่านกำลังทำให้ผลประโยชน์ในอนาคตของผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย จากการลดเงินสมทบ ที่เป็นตัวเร่งทำให้กองทุนประสังคม โดยเฉพาะกองทุนชราภาพ ที่อนาคตจะต้องขาดทุนยิ่งทำให้ถังแตกเร็วขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ อย่างน้องๆที่เพิ่งเรียนจบใหม่ และมาเป็นผู้ประกันตน ถ้าอายุ 23 ปี และจ่ายสมทบกองทุนไปเรื่อยๆ  เมื่อเกษียณอายุหรืออายุครบ 55 ปี ก็จะไม่ได้ใช้เงินบำนาญที่ตัวเองจ่ายสมทบไปเลยแม้แต่บาทเดียว ถ้าถึงวันนั้นขอให้ทุกท่านจำไว้เลย ว่าเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ เป็นผลงานของรัฐมนตรีที่ชื่อสุชาติ ชมกลิ่น” วรรณวิภา กล่าว

วรรณวิภาอภิปรายต่อไป ว่าความเสียหายที่สองที่สุชาติสร้างไว้กับกองทุนประกันสังคม คือการที่ท่านเอาเงินของกองทุนว่างงานไปเยียวยาผู้ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดจากคำสั่งรัฐ เช่นเคย กองทุนนี้ได้เงินมาจากการสมทบระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รัฐบาลสมทบน้อยมาก แต่พอเกิดเรื่อง ก็มาควักเงินจากกองทุนนี้ ทั้งๆที่เหตุเกิดจากความผิดของรัฐบาลแท้ๆ ที่ทำให้กิจการต่างๆโดนสั่งปิด

โดยในรอบนี้สุชาติ ได้ใช้เงินจากกองทุนนี้ไปแล้วประมาณ 2,800 ล้านบาท รวมกับยอดเก่าในระลอกแรกก็ประมาณ 11,400 ล้านบาท แทนที่ท่านจะใช้เงินของรัฐบาลจาก พ.ร.ก.กู้เงิน หรืองบกลางสำหรับการเยียวยาในสถานการณ์โควิด 19 มาจ่ายเยียวยาผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานประกอบการจากรัฐ สุชาติไม่สมควรมาทำแบบนี้ เพราะเงินก้อนนี้ไม่ใช่เงินของท่านหรือของรัฐบาล สรุปแล้วกระทรวงแรงงานที่มีสุชาติ บิหาร ได้นำเงินประกันสังคมมาใช้เยียวยาผู้ประกันตนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไปแล้วราว 80,000 ล้านบาท โดยที่ไม่คิดที่จะคืนเงินหรือชดเชยให้กองทุนประกันสังคม หรือคิดที่จะเพิ่มสมทบในส่วนของรัฐบาลแต่อย่างใด จึงเหมือนเป็นการกำลังซ้ำเติมกองทุนประกันสังคมอยู่ เพราะปกติรัฐบาลเองก็มีหนี้ค้างจ่ายสมทบอยู่เกือบๆ 88,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 รวมๆแล้วท่านควรที่จะต้องจ่ายคืนทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ให้กองทุนประกันสังคมประมาณ 168,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ แต่จนป่านนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีนโยบายใดๆในการคืนเลย

“นอกจากท่านจะไม่คืนเงินกองทุนประกันสังคมแล้ว ท่านยังหน้าด้านที่จะเอาเงินก้อนนี้ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ประกันตนตอนว่างงาน มาสร้าง PR ให้กับตัวเองและหัวหน้าพรรคของท่าน จัดพิธีรีตรองมอบเงินเอาหน้าเสียใหญ่โตให้เปลืองงบประมาณ ทั้งๆที่มันเป็นเงินของคนงานที่สะสมมา ไม่ใช่เงินของท่านหรือรัฐบาล”

วรรณวิภาอภิปรายต่อไปว่า ต่อมาหลังจากที่รัฐบาลได้ออกนโยบายเราชนะ วงเงิน 7,000 บาทให้เป็นเครดิตในแอพเป๋าตัง ไม่เป็นเงินสดแบบครั้งก่อน และแน่นอนว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 ก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้เหมือนเดิม ตนก็คิดเอาเองว่าสุชาติก็คงจะใช้เงินประกันสังคมไปจ่ายเหมือนรอบแรก คงจะไม่ไปควักเงินจากรัฐบาล

แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าจะด้วยเสียงประนามสาบแช่งหรือด้วยใกล้ถึงวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุชาติก็ได้ปล่อยโครงการ ม.33 เรารักกันออกมา โดยจ่ายให้เป็นเครดิตในแอพเป๋าตัง ที่สุดท้ายก็ทำได้เพียงเอาไว้ซื้อน้ำปลาข้าวสารอาหารแห้งประทังชีวิต เพราะเอาไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนรถผ่อนบ้านไม่ได้ แถมให้อย่างแสนเค็มเพียงแค่ 4,000 บาท

“นโยบายนี้ไม่รู้จะช่วยกู้หน้าหรือขายหน้ากันแน่ เพราะนอกจากจะเค็มในการแจกเงินแล้ว ยังมิวายใส่เกณฑ์เงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาทเข้าไปอีก ทำให้แรงงานตั้งคำถามว่าทำงานมาเป็นสิบๆปีจะไม่ให้มีเงินเก็บบ้างเลยหรือไง ขนาดนายทหารนายพล รัฐมนตรีบางคน ทำงานไม่กี่ปียังมีเงินเก็บเป็นร้อยล้านพันล้านเลย สิ่งนี้ทำให้แรงงานชักไม่แน่ใจเสียแล้ว ว่านโบาย ม.33 เรารักกันที่เกิดขึ้นเป็นเพราะท่านรักแรงงาน หรือรักษาเก้าอี้ตนเองไว้กันแน่” วรรณวิภากล่าว

สร้างเงื่อนไขยุ่งยาก จัดการความต้องการแรงงานข้ามชาติไม่ได้ สุดท้ายเอื้อขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ทำโควิดระบาดรอบสอง

จากนั้น วรรณวิภาได้อภิปรายต่อไป ว่าที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนยกการ์ดสูงเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค แต่การแพร่ระบาดก็กลับมารุนแรงกว่าเดิม เพราะเป็นรัฐบาลที่การ์ดตกเสียเอง ทั้งเรื่องการลักลอบเข้าเมืองของคนไทยที่ไปทำงานที่พม่า การปล่อยให้มีบ่อนการพนันผิดกฎหมาย ปล่อยให้มีการค้ามนุษย์แรงงานข้ามชาติ จนทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ครั้งใหญ่

แรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมือง ถูกชี้นิ้วตีตราด่าทอว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดในรอบนี้ แต่สาเหตุที่แท้จริงก็คือ สุชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ทำงานบกพร่อง หละหลวม ไม่สนใจการแก้ปัญหาอย่างจริงจังในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ นำไปสู่ธุรกิจค้ามนุษย์ที่นำเข้าแรงงานเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จนทำให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ถูกตรวจโรค ไม่ได้กักตัว ทะลักเข้ามาจนเป็น super spreader ที่ตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร

สาเหตุที่ทำให้กิจการค้ามนุษย์ของบริษัทนายหน้าแรงงานเถื่อนมาเฟื่องฟูในช่วงนี้เป็นพิเศษ มาจากการที่สุชาติดำเนินนโยบายแรงงานข้ามชาติที่ผิดพลาด ประมาทในเรื่องของการคาดการณ์ความต้องการแรงงานข้ามชาติ จนปล่อยให้สถานประกอบการต้องขาดแคลนแรงงาน ถ้าอยากได้คนทำงานก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูง ขั้นตอนยุ่งยาก และใช้เวลานาน 

ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดระลอกแรก เป็นช่วงที่แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งเริ่มทยอยกลับบ้าน พอดีกับมีการล็อกดาวน์ ก็มีแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งต้องตกงาน ถูกเลิกจ้าง ส่วนนี้ก็มุ่งหน้ากลับบ้านก่อนที่จะมีการปิดด่านวันที่ 18 เมษายน แน่นอนว่ามีแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งยังคงตกค้างอยู่ในประเทศไทย แต่ก็มีสถานะเป็นแรงงานเถื่อน เนื่องจากพอไม่มีงานทำ ก็ไม่มีนายจ้าง เมื่อไม่มีนายจ้างเกิน 30 วัน ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อ ต้องกลับไปที่ประเทศต้นทาง

หลังการคลายล็อกดาวน์ เศรษฐกิจที่กำลังจะโงหัวขึ้นมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลังการแพร่ระบาดในระลอกแรก มีแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบสูงถึง 600,000 คน จาก 3 ล้านคน ในช่วงปลายปี 2562 พอมาเดือนสิงหาคม 2563 เหลืออยู่เพียง 2.4 ล้านคนเท่านั้น

มีนายจ้างและสถานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติพุ่งสูงไปถึง 1,266,351 คน แต่กลับอนุมัติแค่เพียง 69,235 คน และมีกลุ่มที่นายจ้างยื่นขอไปที่ประเทศต้นทาง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้อีก 42,168 คน รวมแล้วสามารถนำแรงงานกลับมาเข้ามาแบบถูกกฎหมายได้แสนกว่าคนเท่านั้นเอง โดยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และอนุญาตให้นำเข้าแรงงานข้ามชาติเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ผ่าน MOU เท่านั้น

ตั้งแต่สุชาติเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตนก็ไม่เห็นว่าจะมีการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างแต่อย่างใด จะมีก็แค่การเซ็นต่อใบอนุญาตให้แรงงานที่ยังอยู่ในประเทศไทยสามารถทำงานต่อได้เป็นระยะ แต่ก็เหมือนลืมบอกให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศต่อวีซ่าให้ด้วย ส่วนผู้ประกอบการที่อยากจะนำเข้าแรงงานให้ถูกกฎหมาย ก็ต้องเผชิญกับขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมายและมีค่าใช้จ่ายที่สูง ลำพังก่อนโควิดก็แพงมากอยู่แล้ว พอมีสถานการณ์โควิดค่าใช้จ่ายก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก แรงงานข้ามชาติต้องได้รับหนังสือรับรองว่าเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ มีใบรับรองแพทย์ มีวีซ่า มีประกันสุขภาพหรือทำประกันสังคม ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่ด่านควบคุมโรค และต้องกักตัว 14 วัน ทั้งหมดนี้มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 19,580 – 28,180 บาทต่อแรงงานข้ามชาติ 1 คน

แค่ค่าตรวจเชื้อและกักตัวก็ปาเข้าไปแล้ว 13,200 – 19,000 บาทต่อหัว โดยที่นายจ้างต้องเป็นคนแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้นายจ้างคิดหนักเพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากต้องการนำเข้าแรงงานเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ ขั้นตอนนำเข้าก็ยุ่งยาก ต้องใช้เอกสารมากมายจนต้องหานายหน้ามาดำเนินการให้ ทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มอีก 10 – 25 % ของค่าจ้างรายเดือนที่ต้องให้แรงงานข้ามชาติ

ภาระของผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับที่มากขึ้นรวมทั้งต้องจ่ายค่ากักตัวในช่วงสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ สุชาติกลับไม่คิดที่จะมีมาตรการแบ่งเบาภาระนายจ้างแม้แต่บาทเดียว ตัวอย่างดีๆ ก็อย่างเช่นประเทศไต้หวัน มีค่าใช้จ่ายกักตัว 21,000 ดอลลาร์ไต้หวัน รัฐบาลไต้หวันยังช่วยนายจ้าง 14,000 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือช่วย 2 ใน 3 ของค่ากักตัวทั้งหมด แต่สุชาติก็ไม่คิดที่จะดูเป็นแบบอย่าง จึงไม่แปลกใจเลย ที่นายจ้างเลือกใช้บริการนายหน้าลักลอบค้ามนุษย์ ค้าแรงงานผิดกฎหมาย นายจ้างเพียงจ่ายเงินให้นายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐในการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมายเพียงแค่ 13,000 บาทต่อคน โดยทำเป็นกระบวนการ มีบริษัทนายหน้าจัดหา กินค่าหัวคิวกันทั้งแบบจ่ายสดและผ่อนชำระ และเมื่อมาถึงประเทศไทยก็มีการจัดหางานให้ทำ และให้ผ่อนเป็นระบบรายเดือน ในยุคก่อนโควิดตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อคน หลายธุรกิจยอมจ่ายเงินค่าหัวคิวและเงินใต้โต๊ะให้แก่ผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับการได้แรงงานเถื่อนมาใช้งาน

“อดคิดไม่ได้ว่าความยุ่งยากทั้งหมดที่เกิดขึ้นและไม่มีการแก้ไขปรับปรุงใดๆเลย เป็นเพราะต้องการให้บริษัทนายหน้ายังทำมาหากินได้ต่อไปหรือเปล่า เพราะถ้าขั้นตอนทุกอย่างมันง่าย ทำออนไลน์ได้คลิกเดียวเสร็จแล้วบริษัทนายหน้าจะหากินกันอย่างไร? แน่นอนว่านายหน้าค้าแรงงานเถื่อนไม่ได้ทำคนเดียว แต่เป็นขบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ล้วนแล้วแต่มีการจ่ายส่วยกันตลอดทาง” วรรณวิภากล่าว

วรรณวิภายังอภิปรายต่อไปว่า ที่ต้องมาย้ำเรื่องนี้อีกรอบ เพราะขบวนการนี้นอกจากเอื้อให้นายหน้าค้าแรงงานแล้ว ยังทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง ซึ่งถ้าเลือกได้ก็คงไม่ได้อยากเป็นแรงงานเถื่อน ค่าใช้จ่ายค่าหัวคิวที่นายจ้างต้องจ่าย ก็ไปหักเงินจากค่าแรงในแต่ละงวดที่ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติได้รับ ปกติก็ค่าแรงน้อยอยู่แล้วยังถูกหักอีกแบบนี้ โดนกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานถึงจะมารับตำแหน่งได้เพียงไม่นาน แต่ความผิดพลาดของท่านในการบริหารแผ่นดิน ปล่อยให้แรงงานขาดแคลน แถมไม่ช่วยแบ่งเบาภาระการกักตัว สุดท้ายเมื่อเขาแอบลักลอบเข้ามาโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเก็บส่วยเก็บใต้โต๊ะ จนสุดท้ายโควิดแพร่ระบาดอีกรอบ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมแย่เกินกว่าที่ตนจะไว้วางใจให้สุชาติทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีต่อไปได้

มองแรงงานข้ามชาติเหมือนไม่ใช่คน จับขังรวม-ล้อมลวดหนาม แถมเก็บเงินค่าตรวจโควิด แต่สุดท้ายก็คุมการระบาดไม่ได้

วรรณวิภาอภิปรายต่อไป ว่าแม้สุชาติจะได้พยายามจะควบคุมการแพร่ระบาดของแรงงานข้ามชาติ  พยายามดึงแรงงานผิดกฎหมายให้กล้าออกมาเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยการประกาศนิรโทษกรรมแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ในวันที่ 29 ธันวาคม 2563 แต่มาตรการนี้ก็ทำให้นายจ้างที่กลัวความผิด ออกมาลอยแพลูกจ้างที่ผิดกฎหมาย เลิกจ้างกลางคัน หรือแม้กระทั่งพาไปทิ้ง มีให้เห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆว่าหลอกลูกจ้างขึ้นรถบอกว่าจะไปทำงาน แต่ไปปล่อยเขาทิ้งไว้กลางทางแทน

ต้นทุนในการลงทะเบียนวันนี้ยังแพงเหมือนเดิม โดยรอบนี้ต้องจ่ายเกือบหมื่นบาทต่อแรงงานข้ามชาติ 1 คน ท่านตั้งเป้าว่าจะมีคนมาลงทะเบียน 500,000 ราย ตอนนี้ก็คงน่าจะถึงเป้าแล้ว แต่ถามจริงๆว่าตัวเลขที่ท่านอ้างว่ามีแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายอยู่กว่า 500,000 ราย ท่านไปเอามาจากไหน

ทั้งๆที่ตอนนี้กระทรวงแรงงานของท่านเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีจำนวนเท่าไร ตามที่ท่านได้ให้เหตุผลไว้ในประกาศผ่อนผันแรงงาน 4 สัญชาติของท่านเอง สุดท้ายแล้ว ถ้าจะคุมการระบาดของโควิด 19 ก็ต้องไล่ตรวจให้หมด แต่ท่านกลับไม่ได้ให้เขาตรวจฟรี มีค่าตรวจ ตอนแรก 3,000 บาท แล้วเพิ่งมาลดให้เหลือ 2,300 บาท เหตุใดถึงไม่ให้ตรวจฟรี แล้วยังให้ส่งผลตรวจได้ถึงวันที่ 16 เมษายน 2563 ซึ่งถือว่าช้ามาก แล้วแบบนี้จะควบคุมได้จริงหรือ?

หลังจากการระบาดใหญ่ที่สมุทรสาคร ที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ สุชาติในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กลับไม่ดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติอย่างไร้มนุษยธรรม ดังที่เห็นได้จากการกักตัวแรงงานข้ามชาติโดยเอารั้วลวดหนามมาล้อมตลาดกลางกุ้งและชุมชนแรงงานข้ามชาติไว้ หากพบว่าใครติดโควิด ก็ให้กักตัวอยู่ในที่พักที่ล้อมรั้วลวดหนาม ไม่ได้ส่งตัวเข้าโรงพยาบาล รัฐเองก็ไม่ได้ส่งข้าวส่งน้ำให้กิน จนนายจ้างต้องไปส่งข้ามลวดหนามให้ลูกจ้างเอง ในจังหวัดอื่นๆ ก็เช่นกัน การควบคุมตัวแรงงานข้ามชาติระหว่างรอผลตรวจไวรัสโควิด 19 มีการนำแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายไปขังไว้รวมกันอย่างแออัดที่ จ.ระนอง กับ จ.ประจวบคีรีขันธ์

“การกระทำแบบนี้ใครเห็นก็คงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ท่านไม่เคยเห็นคนเท่ากัน แรงงานก็ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม สำหรับพวกเรา แรงงานทุกคนคือพี่น้อง สิ่งที่แรงงานไทยต้องเจอ แรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะเป็นแรงงานพม่า กัมพูชา หรือลาว ก็เจอกับความเดือดร้อนไม่ต่างกัน และน่าจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลไทยไม่เคยแยแส ไม่เคยเยียวยาใดๆเลย  ยังจะกระทำกับพวกเค้าเหมือนไม่ใช่คน ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีแรงงาน ยิ่งต้องเข้าใจว่าแรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน ในภาวะที่ประเทศขาดแคลนกำลังแรงงานแบบนี้ และเขาก็เป็นคนเหมือนกับเรา ต้องการการปฏิบัติที่เท่าเทียมเช่นเดียวกัน” วรรณวิภากล่าว

ตัวตั้งตัวตีจัดม๊อบชนม๊อบ แฉโฉมหน้าอันธพาลทำร้าย “ราษฎร” เด็ก “สุชาติ” ทั้งนั้น

วรรณวิภาอภิปรายต่อไปอีกถึงกรณีที่ สุชาติเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน มาปะทะกันที่หน้ารัฐสภา โดยระบุว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2563 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ต่อมาเมื่อการชุมนุมขยายตัว รัฐบาลทำท่าจะเอาไม่อยู่ จึงเกิดกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มที่สอง ที่แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาล หลายครั้งมีการชุมนุมในบริเวณใกล้เคียงกันจนเกิดการยั่วยุถึงขั้นปะทะ ส่วนในโลกออนไลน์ ก็มีการโจมตีกันด้วยวาทะสร้างความเกลียดชัง ข่าวปลอม ทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะฝั่งที่ต่อต้านรัฐบาล

ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองแบบนี้ สุชาติที่ฐานะที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แทนที่จะตั้งอกตั้งใจทำงานของตนเอง กลับใช้ความเป็น ส.ส.ความเป็นรัฐมนตรี ยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกในสังคม อยู่เบื้องหลังในการขนคนในเครือข่ายของตัวเองมาสร้างบรรยากาศความรุนแรงในการชุมนุมในลักษณะม็อบชนม็อบ

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภา ในวันที่มีการปะทะกันระหว่างม็อบราษฎรและม็อบเสื้อเหลือง จะพบว่ามีคนในเครือข่ายของสุชาติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และคงไม่เป็นการแปลกอะไรถ้าการชุมนุมในครั้งนั้นไม่เกินเลยไปสู่การใช้ความรุนแรง แต่ประชาชนที่มาชุมนุมวันนั้นนอกจากโดนทั้งการใช้กำลังควบคุมฝูงชนโดยตำรวจแล้วยังจะโดนขว้างปา สิ่งของ เข้าทำร้ายร่างกายโดยกลุ่มคนที่ใส่เสื้อเหลืองจนเป็นการปะทะกัน พอตกค่ำก็ถึงขั้นใช้อาวุธปืนยิงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คน มีคนถูกยิง 6 คน พบปลอกกระสุนตกอยู่ทางฝั่งของม็อบเสื้อเหลืองเต็มไปหมด ซึ่งผู้ก่อเหตุก็เป็นทีมงานของสุชาติที่จังหวัดชลบุรี มีภาพปรากฏว่า คนที่กำลังถือก้อนหินปาใส่ผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้าม คือ ‘ทิดหมึก’ หรือ สมชาย แน่นิ่ง ซึ่งเมื่อไปส่องเฟซบุ๊คดู ปรากฏภาพบุคคลนี้ทั้งเฟซบุ๊คของสุชาติและเฟซบุ๊คของทิดหมึก ที่ยังทำงานให้กับ สุชาติ โดยใส่ชุด PPE ไปพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด 19 อยู่ เมื่อเดือนที่แล้ว

ภาพที่ปรากฏคนต่อมาคือคนข้างๆทิดหมึก บุคคลนี้ทำหน้าขึงขังและเป็นคนชี้เป้าให้ทิดหมึกปาหินใส่ คือ ‘บังทอง’ หรือหน่อง หลังเพชร ซึ่งตนมีหลักฐานว่าอยู่ในกลุ่มผู้ก่อเหตุทำร้ายม็อบราษฎรที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 บังทองคนนี้เป็นทีมงานในสำนักงาน ส.ส.สุชาติ ชมกลิ่น และยังคงทำงานให้อย่างเปิดเผยหลังจากเหตุปะทะดังกล่าว

สิ่งที่ยืนยันได้ว่าทั้งสองคนเป็นคนในเครือข่ายของสุชาติ ปรากฏอยู่ในเฟซบุ๊คของสุชาติเอง ในรูปภาพกิจกรรมพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด 19 ปรากฎรูปของบังทองและแก๊งหลังเพชรซอยเก้า ถ่ายรูปร่วมกับ ‘สจ.ตี๋’ สุรพงศ์ นำชัยรุจิพงษ์ โดยคนกลุ่มเหล่านี้ก็คือลูกน้องของ สจ.ตี๋  ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสุชาตินั่นเอง

คนต่อมาในรูปนี้ที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าม็อบเสื้อเหลืองได้อภิสิทธิ์ สามารถใช้พื้นที่ในหน่วยงานทหารได้ด้วย คนนี้ใช้ชื่อว่า ‘เต้ซ่า ซอยเก้า’ กลุ่มหลังเพชรซอยเก้า ในภาพเห็นได้ว่าเคยไปร่วมงานถ่ายภาพกับสุชาติ ให้กระเช้า ‘กำนันเผือก’ คนสนิทและผู้ติดตามของสุชาติ ซึ่งก็เป็นแกนนำม็อบรักสถาบันที่ชลบุรี

เมื่อตนขุดคุ้ยลึกเข้าไปอีก ก็พบว่า เต้ซ่า ซอยเก้า ก็มีสายสัมพันธ์อันดีกับ ‘กำนันเข็ก’ ขวัญชัย เดชชีวะ ที่มีความสนิทสนมกับสุชาติ ถ่ายรูปกันอย่างใกล้ชิด ถึงกับให้สุชาติมาประดับขีดกำนันให้

คดีทำร้ายและยิงผู้ชุมนุมราษฎรบาดเจ็บที่หน้ารัฐสภาจนถึงบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการหาตัวผู้กระทำผิด ทั้งๆที่ผู้เสียหายก็ได้ออกมาแจ้งความไว้แล้ว ปลอกกระสุนตกเกลื่อนพื้นถนน และตำรวจก็เก็บหลักฐานไปหมดแล้ว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า นั่นเป็นเพราะว่าที่ผู้ต้องสงสัยเป็นคนของรัฐมนตรี คือสุชาติใช่หรือไม่?

“จากหลักฐานที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่าท่านมัวแต่ไปใช้คนและเครือข่ายของตัวเองสนับสนุนการสร้างความขัดแย้ง สนับสนุนการใช้ความรุนแรง โดยที่ท่านไม่ทำหน้าที่ของตัวเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำไปสู่การจัดการแรงงานที่ล้มเหลว สร้างความเสียหายกับกองทุนประกันสังคม พูดง่ายๆ ท่านเป็นรัฐมนตรีแรงงาน แต่ท่านมัวแต่เอาเวลาไปสนับสนุนม็อบ จัดม็อบชนม็อบ จนงานการในหน้าที่ตัวเองเละเทะ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องแรงงานทั่วประเทศไทย ท่านไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีของพี่น้องแรงงานทุกคนได้ ท่านบกพร่องต่อหน้าที่ในการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ล้มเหลว ดิฉันจึงไม่สามารถไว้วางใจให้นายสุชาติ ชมกลิ่น ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ต่อไปแม้แต่วินาทีเดียว” วรรณวิภากล่าวทิ้งท้ายการอภิปราย

'สุชาติ' โต้ จัดจ๊อบเอ็กซ์โป ขอเม็ดเงิน 1.9 หมื่นล้าน ไม่ละลายหายไป แจงโครงการ ม.33 เรารักกัน ไม่ใช่เงินกองทุนประกันสังคม

สำนักข่าวไทย รายงาน การชี้แจงข้อสงสัยการอภิปรายเรื่องกองทุนประกันสังคมของ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า แม้ตนจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่นาน แต่ทราบถึงปัญหาเงินกองทุนประกันสังคมทุกรัฐบาลได้ติดค้งไว้เป็นแสนล้าน มีรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเพียงรัฐบาลเดียวที่คืนให้สมทบปีละกว่า 40,000 ล้าน ขณะนี้เงินกองทุนที่รัฐบาลที่ผ่านมาค้างอยู่ 1.6 หมื่นล้าน

สุชาติ ยอมรับว่าได้ใช้เงินประกันสังคมในการช่วยเหลือเยียวยา แต่หากไม่ช่วยเหลือเยียวยา แล้วใครจะช่วยเหลือ จะนำเงินรัฐบาลในวันนั้นมาช่วยก็ไม่มีเงินกู้ สาเหตุการว่างงานครั้งที่ 1 ซึ่งรัฐบาลได้จ่ายเงินช่วยเหลือ หลังรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์คนละ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน ทางประกันสังคมได้มีการช่วยเหลือเยียวยาเหตุสุดวิสัย 50% ทุกเหตุการณ์ แต่ที่จำเป็นต้องปรับมาเป็น 62% เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 313 บาท โดยจะได้รับเงิน 5,043 บาทเป็นขั้นต่ำ พร้อมกับระบุว่าหากให้นายจ้างหรือลูกจ้างส่งเงินสมทบเต็ม ก็จะทำให้มีความเดือดร้อน ซึ่งเงินเหล่านี้จะถูกส่งเข้าในระบบรากหญ้า

ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อการจ้างงาน 30,000 ล้าน ดอกเบี้ยต่ำ ยืนยันว่าไม่ใช่การเอาใจผู้ประกอบการ แต่มีข้อตกลงในการรักษาการจ้างงานเป็นระยะเวลา 3 ปี

สุชาติ ยังกล่าวว่า ในช่วงที่ตนมารับตำแหน่งมีคนตกงานจำนวนมาก ตนจึงจัดงานจ๊อบเอ็กซ์โป โดยใช้งบประมาณไม่กี่ล้าน เสนอ ครม. นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน การจัดงานล้านคน ล้านตำแหน่ง เป็นสิ่งที่ดูเหมือนยาก แต่มีเอกชนจ้างงาน 1 ไตรมาส และอีก 1 เดือน มีการจ้างงานในภาคเอกชน 329,103 แหน่ง งานภาครัฐกว่า 600,000 ตำแหน่ง การที่ตนขออัตรา 260,000 เม็ดเงิน 19,000 กว่าล้าน ยืนยันว่าเม็ดเงินที่พูดใช้ไปตามความเป็นจริงไม่ได้เอาเงิน 19,000 ล้านบาทไปละลายหายไป จ้างเท่าไหร่จ่ายเท่านั้นนี่คือความจริง พร้อมชี้แจงว่าการจ้างงาน Co-payment ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากช่วงที่จัดงานปลายเดือนกันยายนต้นเดือนตุลาคม ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเดือนนักศึกษาจบใหม่ในช่วงเดือนเมษายน และเจ้าของเอกชนไม่ได้ต้องการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ต้องการให้คนเข้ามาเรียนรู้และอยู่ไปนานๆ

ส่วนการชดเชยผู้ประกันตนในมาตร 33 ที่ได้รับผลกระทบ กว่า 11 ล้านคน ตนทราบว่าหากโครงการเราชนะออกมา หากไม่มีโครงการ ม.33 เรารักกัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาจต่อว่าตนมากกว่านี้ แต่ตนยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ได้ใช่โครงการเงินกองทุนประกันสังคม แต่เป็นเงินกู้

ส่วนกรณีการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลแรงงานต่างด้าว ตนได้ถกปัญหาร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากบุกจับก็เหมือนฝีที่จะแตก ต้องให้อยู่กับที่ จึงต้องเสนอเข้าครม.นำคนนอกระบบเข้าสู่ระบบ หากไม่ควบคุมแรงงานให้อยู่กับที่ ก็จะมีการนำแรงงานออกจากพื้นที่เนื่องจากกลัวความผิด

สุชาติ ยังได้ชี้แจงในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ยุยงปลุกปั่น ว่า ต้นมีเพื่อนทุกพรรค และไม่อยากพูดในสิ่งที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวหาตน บ่นไม่อยากให้เอาเรื่องความจงรักภักดี ของคนไทยทั้งชาติหรือความจงรักภักดีของประชาชนชาวชลบุรี ซึ่งตนเป็นผู้แทนชาวชลบุรีไม่ควรเอามาอภิปรายในเวทีแห่งนี้ ถ้าตนจะพูดหรือไม่พูดออกไปในสิ่งที่เห็นแต่เหรียญด้านเดียวคงไม่ได้ ระหว่างนั้น นายสุชาติ ได้เปิดคลิปวีดีโอ ที่ระบุว่าเป็นคลิปที่ไม่มีใครอยากเห็นซึ่งเป็นเหตุการณ์ปะทะระหว่างม็อบราษฎรและม็อบเสื้อเหลือง ทำให้นายศุภชัย โพธิ์สุ ประธานในที่ประชุม ได้ถามกับนายสุชาติ ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเปิดคลิปดังกล่าว นายสุชาติ จึงพยายามอธิบายว่าไม่ได้เป็นผู้มาทะเลาะ แต่อยู่ในที่ตั้ง ตนไม่ต้องการทะเลาะกับใครทั้งสิ้น และเคารพสิทธิ์ทุกคน จึงอยากให้ทุกคนเคารพสิทธิ์ ไม่อยากให้พูดเรื่องเหล่านี้ในสภา ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องแก้ข้อกล่าวหาตน ขอพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าตนไม่มีความคิดให้คนไทยมาทะเลาะกัน แต่ไม่อยากให้ก้าวล่วงในสิ่งที่คนไทยรัก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net