Skip to main content
sharethis

ประมวลเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 64 ตั้งแต่ช่วง 10.00-15.00 น. กลุ่มคณะราษฎร เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยื่นหนังสือเปิดผนึกที่รัฐสภา ย้ำจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ข้อ หนึ่ง ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง สอง ยกเลิกกลไกสืบทอดอำนาจ อย่าง ส.ว. และองค์กรอิสระ และสาม รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ทุกมาตรา 

บรรยากาศก่อนเดินขบวนของกลุ่มคณะราษฎร

24 มิ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานวันนี้ (24 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประชาชนทยอยมารวมตัวกันที่จุดนัดพบที่บริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ฯ เพื่อตบเท้าไปยื่นหนังสือเปิดผนึกให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นัดรวมตัวโดยคณะราษฎร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ สืบสาน ต่อรอด รัฐธรรมนูญฉบับแรก ปี พ.ศ. 2475 พร้อมย้ำจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภา 

เวลา 10.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บอย-ธัชพงษ์ แกดำ ผู้นำขบวน ประกาศผ่านรถเครื่องเสียง สื่อสารกับประชาชนที่มารวมตัว เตรียมเดินเท้าไปที่รัฐสภา เพื่อย้ำจุดยืนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากประชาชน ส.ส.ร.ต้องมาจากเลือกตั้ง และปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว. ไม่มีอำนาจโหวตนายกฯ 

บอย ระบุว่า เส้นทางที่เดินเป็นไปตามแผนผังสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกแบบให้ทุกประการ หมายความว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับรองแล้ว ถ้ามีคดีตามหลัง ก็สามารถนำไปเป็นหลักฐานว่าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะว่าทำทุกอย่างตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

บอย กล่าวเพิ่มด้วยว่า การเดินขบวนจะเป็นไปอย่างสันติ “และถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้น เราจะใช้วิธีชูสามนิ้วเท่านั้น” 

ในการเดินขบวนครั้งนี้ มีนักกิจกรรมการเมืองหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มทะลุฟ้า เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นักเรียนเลว เฟมินิสต์ปลดแอก ราษฎร และอื่น ๆ  

เวลา 10.21 น. ขณะที่ทางทีมงานจัดกิจกรรมกำลังจัดขบวน ก่อนตบเท้าไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เผาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีตะกวดวางยู่บนพานแว่นฟ้า 

การทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เผาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกระดาษ ซึ่งมีตะกวดอยู่บนพานแว่นฟ้า
 

เวลา 10.36 น. ขบวนทะลุฟ้า-ราษฎร ออกสตาร์ท เดินขบวนไปที่รัฐสภา โดยเส้นทางที่ใช้ จะไปตามถนนราชดำเนินกลางขาเข้า มุ่งหน้าไปสะพานผ่านฟ้าลีลาศ 

เวลา 10.43 น. หัวขบวนเดินถึงแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และจะเข้าไปทางถนนราชดำเนินนอก กลับถูกสกัดโดยตำรวจ เมื่อไม่สามารถผ่านทางถนนราชดำเนินนอก ขบวนจึงจะเลี่ยงไปเดินเส้นทางถนนนครสวรรค์แทน 

ช่วงการเผชิญหน้าก่อนเข้าสู่ถนนราชดำเนินนอก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ในวันที่ 24 มิถุนายน เพื่อจัดกิจกรรมวันการเปลี่ยนการปกครองว่า ไม่อยากให้ชุมนุมเพราะกลัวเรื่องโควิด เพราะตอนนี้โควิดระบาดมาก อย่าเพิ่งชุมนุมเลยในช่วงนี้ ให้โควิดน้อยลงหน่อย เพราะรัฐบาลเป็นห่วงเรื่องนี้มาก

ด้านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า แกนนำกลุ่มราษฎรประสานมายังรัฐสภาว่าจะมายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน โดยรับปากว่าจะชุมนุมอย่างสงบ สันติ

บรรยากาศตอนเดินขบวน

ขณะที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กล่าวว่า เตรียมการทุกอย่างไว้แล้วในการดูแลผู้ชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ขอเตือนว่าขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายไม่อนุญาต ให้ชุมนุม ยืนยันว่าต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ชักชวนและผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกราย และพิจารณาตั้งเครื่องกีดขวางบริเวณทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา รวมถึงมอนิเตอร์แกนนำบางคนที่มีเงื่อนไขการประกันตัวของศาล

รองโฆษก สตช. เตือนแกนนำที่กำลังมารัฐสภา ตรวจสอบเงื่อนไขการประกันตัวให้ดี 

เวลา 12.50 น. พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง มีความเข้มข้นเป็นพิเศษ ไม่สามารถรวมตัวกันเกิน 50 คน การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศกรุงเทพมหานคร การจัดกิจกรรมช่วงเช้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐานเอาผิดกลุ่มแกนนำและผู้เข้าร่วม ความผิดหลักคือ ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศกรุงเทพมหานคร 

พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ (ซ้าย - แจ็คเก็ตเทา) รองโฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ
 

กฤษณะ กล่าวเพิ่มว่า การเรียกร้องอยากจะให้อยู่ในกรอบและกฎเกณฑ์ที่บ้านเมืองกำหนดไว้ ในการบังคับใช้กฎหมายจะบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ที่ชักชวน ยุยงให้มาชุมนุมในสื่อโซเชียลต่างๆ  ส่วนแกนนำที่ได้รับการประกันตัวและมาเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้อยากจะให้ตรวจสอบเงื่อนไขการประกันตัวให้ดี

การวางกำลังมีการเตรียมไว้จำนวนหนึ่งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนเป็นหลัก จะใช้การพูดคุยเจรจาเป็นหลัก อยากจะให้เชื่อฟังคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้พูดคุยเอาไว้

การชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามข้อกฎหมาย เช่น ข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรี, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของ ผบ.สส. และประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด หากผู้ชุมนุมยืนยันจะไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลจะต้องมีการพูดคุยและเจรจากัน ในทางการข่าวยังไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้รับแจ้งว่า เวลา 11.03 น. หน้าประตูทางเข้ารัฐสภา มีตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ผ้าพันคอม่วง ประจำการอยู่ประมาณ 20 คน พร้อมโล่ แต่ไม่มีหมวกและกระบอง 

ราษฎร เดินขบวนถึงประดิพัทธ์

ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้งว่า เวลา 13.12 น. กลุ่มราษฎร ขบวนเดินถึงแยกประดิพัทธ์ แล้วจะเลี้ยวซ้ายเพื่อตรงไปที่แยกเกียกกาย เพื่อยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ย้ำจุดยืน การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง และปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว. ไม่มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ นอกจากนี้ วันนี้ยังเป็นวันที่รัฐสภามีพิจารณา และโหวตลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราหลายฉบับ 
.
ทั้งนี้ ช่วงระหว่างการเดินของคณะราษฎรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และควบคุมฝูงชน ประจำการตลอดเส้นทางเดินไปรัฐสภา

คณะราษฎร มอบหมุดคณะราษฎร และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ถึง ส.ส.วิปฝ่ายค้าน 

ผู้สื่อข่าวรายงาน เวลา 13.35 น. กลุ่มคณะราษฎร พร้อมประชาชน เดินทางถึงรัฐสภา เตรียมยื่นหนังสือให้ตัวแทนประธานรัฐสภา 

ต่อมา เวลา 13.48 บริเวณด้านหน้าเวที มีมวลชนจำนวนเริ่ม ปักหลักนั่งรอการปราศรัย 

เวลา 14.01 น. ที่เวทีปราศรัย ตัวแทนคณะราษฎร พร้อม ส.ส.วิปฝ่ายค้าน เตรียมเข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนและยื่นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2475 หมุดหมายอันแรกที่พูดกับประชาชนว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน หนึ่งในตัวแทนคณะราษฎรที่เข้าไปยื่นหนังสือที่ด้านในรัฐสภากับ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวที มอบหมุดคณะราษฎร (พ.ศ.2563) จำลอง ขนาดใหญ่ ให้กับตัวแทน ส.ส.วิปฝ่ายค้าน 

เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
 

“เรามอบให้เป็นที่ระลึกว่า หวังว่าพวกท่านจะดำรงไว้ด้วยเจตนารมณ์ของคณะราษฎร สมกับที่ทุกท่านเป็นนักประชาธิปไตย” เพนกวิน กล่าว 

นอกจากนี้ เพนกวิน ยังมอบสำเนารัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร ฉบับแรก ให้แก่ตัวแทน ส.ส.วิปฝ่ายค้าน  

“น่าเสียดายที่หลักการประชาธิปไตยต่าง ๆ ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สำเร็จเป็นจริง ยังไม่บรรลุเป็นจริง วันนี้มีการประชุมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากจะฝากสมาชิกผู้ทรงเกียรติ นำสิ่งนี้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ตั้งต้นของประชาธิปไตย ไปมอบให้เพื่อนสมาชิกของท่านในสภา โดยเฉพาะ ส.ว.ได้อ่าน เพื่อให้เข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตย” เพนกวิน กล่าว  

หลังจากเพนกวิน กล่าวจบ ภาณุพงษ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง เป็นตัวแทนมอบรัฐธรรมนูญฉบับแรก ให้กับ ส.ส.ฝ่ายค้าน 

หลังจากนั้น เพนกวิน อ่านจดหมายเปิดผนึกที่จะนำมายื่นให้ ส.ส.วันนี้ มีขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งระบุว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นของราษฎรทั้งหลาย’ 

ตัวแทนคณะราษฎร มอบหมุดจำลองให้กับตัวแทน ส.ส.วิปฝ่ายค้าน

การแก้ไขหรือจัดทำร่าง รธน. จะต้องเป็นไปโดยให้ราษฎร เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น ราษฎร ขอแสดงจุดยืน ดังนี้

รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ต้องกระทำผ่าน ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด

รัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นเครื่องมือ ในการสืบทอดอำนาจ เช่น อำนาจ ส.ว. หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ ต้องถูกยกเลิก 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ได้ทุกหมวดทุกมาตรา ไม่มีข้อยกเว้น มากกว่านั้น รัฐธรรมนูญเป็นของปวงราษฎร์ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น การแก้ไข รธน. ต้องเป็นไปตามครรลองครองธรรม และเป็นไปตามเจตจำนงของราษฎรหมู่มาก หาก รธน.ฉบับใดไม่ยึดโยงอยู่กับราษฎร และไม่เคารพหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ถือว่าเป็นอันใช้ไม่ได้ ขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข รธน. จดจำหลักการของคณะราษฎรว่า ‘ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง’

จากนั้น ผู้ที่อยู่บนเวทีปราศรัยทุกคน ชูสามนิ้ว และกำหนดการต่อจากนั้น จะมีตัวแทนของคณะราษฎร (รุ่นใหม่) 5 คนเข้าไปในสภา เพื่อยื่นหนังสือให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.รัฐบาล  

ชลน่าน-ธวัชชัย ฝันอยากให้รัฐธรรมนูญ (ใหม่) สะท้อนประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ

ชลน่าน ศรีแก้ว ตัวแทนวิปฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย พร้อมชัยธวัช ตุลาธน เบญจา แสงจันทร์ รังสิมันต์ โรม และคณะ ส.ส. พรรคก้าวไกล มารับหนังสือและรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 จากผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร 

หลังรับของที่ระลึก และสำเนา รธน. แล้ว ชลน่าน เป็นตัวแทนฝ่ายค้าน กล่าวกับกลุ่มประชาชนที่มายื่นหนังสือที่รัฐสภาวันนี้ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ จะมีตัวแทนกลุ่มราษฎร 5 คน เข้าไปในสภาเพื่อพูดคุยกับตัวแทน ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านหรือรัฐบาลในรายละเอียดว่า ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ที่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ได้จาก ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชนเปนผู้ยกร่าง ตัดการสืบทอดอำนาจ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำได้ทุกอย่าง

ในฐานะตัวแทนประธานวิปฝ่ายค้าน จะนำเรื่องไปหารือว่าจะทำอย่างไรต่อ ที่ใหญ่ที่สุดคือการยกร่างรัญธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากนี้ก็ต้องรอกฎหมายประชามติที่เพิ่งผ่านการรับรองในสภามีผลบังคับใช้ ถ้าร่างของกลุ่มราษฎรมีการเข้าชื่อได้ถึง 5 หมื่นรายชื่อ ก็สามารถยื่นต่อสภา สภาจะรับฟังความเห็น และบรรจุเข้าไปในวาระประชุม ทั้งนี้ก่อนจะทำฉบับใหม่ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560 เสียก่อนตามขั้นตอน

ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน ตัวแทน ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นอีกหนึ่งตัวแทนฝ่ายค้าน กล่าวหลังได้รับมอบ รธน. และหมุดราษฎรว่า วันนี้มีความสำคัญที่ราษฎร มาร่วมตัวกัน วันนี้เป็นจุดกำเนินให้เกิดระบบรัฐสภา เขาเห็นหมุดจำลองขนาดใหญ่ วันหนึ่งถ้าเป็นแปลงการปกครองสำเร็จ หมุดจะปรากฏหน้าสภา การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนระบบเจ้าชีวิตให้เป็นระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบที่ทำงานอยู่บนหลังราษฎร รัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2475) มาตรา 1 แสดงให้เห็นว่า อำนาจเป็นของราษฎร (ฉบับคณะราษฎร) เขาฝันว่าจะทำให้ รธน.ที่แก้แล้วมีความเป็นในหมวด 1 เหมือนฉบับคณะราษฎร

ถึงคิวตัวแทนจากฝ่ายวิปรัฐบาล ขึ้นมารับรัฐธรรมนูญฉบับแรก  พ.ศ. 2475

ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่หน้ารัฐสภา เวลา 14.22 น. สิระ เจนจาคะ ในฐานะตัวแทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ออกมารับจดหมายจากราษฎร ก่อนมอบหนังสือ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ เป็นตัวแทนคณะราษฎร กล่าวกับวิปรัฐบาลว่า วันนี้เป็นครบรอบปีที่ 89 ของการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย หนังสือฉบับนี้คือรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ถือเป็นเจตนารมณ์... แต่พูดไม่ทันจบ มวลชนโห่ร้องไล่สิระ เพนกวินจึงขอให้เขายื่นรัฐธรรมนูญฉบับแรกปี พ.ศ. 2475 ให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นเขากล่าวต่อว่า เมื่อตัวแทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลรับรัฐธรรมนูญฉบับแรกไปแล้วก็จะได้ศึกษาถึงเจตนารมณ์ของคณะราษฎร พ.ศ. 2475 ว่าประชาธิปไตย คณะราษฎร 2475 เขาคาดหวัง เขามุ่งหวังอะไรอยู่ 

ทั้งนี้ เพนกวิน ได้มอบสำเนารัฐธรรมนูญฉบับแรก เพิ่มอีก 1 ฉบับ เพื่อให้สิระ นำไปให้ 250 ส.ว. อ่านและทำการศึกษาต่อไป

สิระ เจนจาคะ (ขวา) ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

เวลา 14.26 น. ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกรัฐสภา

เวลา 14.29 น. สิระ เจนจาคะ ในนามตัวแทนรัฐบาล กล่าวต่อประชาชนที่มายื่นหนังสือที่รัฐสภาวันนี้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงไหนเป็นอุปสรรคก็จะรับฟังและนำหนังสือยื่นต่อวิปรัฐบาล ระหว่างที่สิระพูดนั้น มีประชาชนตะโกนตลอดเวลา เมื่อกล่าวเสร็จจึงลงเวทีไปทันที เพนกวินประกาศขอให้มวลชนอยู่ในความสงบ สถานการณ์คลี่คลายลง เพนกวิน กล่าวอีกว่า ถึงเราจะชอบหรือไม่ชอบตัวแทนของรัฐบาลแต่เราก็ต้องฟังเขา เพื่อให้เห็นว่า เรา "ราษฎร" ใจใหญ่พอ จากนั้นจึงเรียกประชาชนที่ตามสิระ กลับมา ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก ช่วยพูดว่า พ่อแม่พี่น้องกลับมา ถ้าเรารู้ว่าเป็นขี้ เราจะตามทำไม

ผู้สื่อข่าวรายงานที่หน้ารัฐสภา เมื่อเวลา 14.39 น. ตัวแทนคณะราษฎร 5 คน เดินเข้าไปในสภา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึง ส.ส. ขณะที่ประชาชนที่อยู่ด้านนอกทยอยออกจากพื้นที่หน้ารัฐสภา 

คณะราษฎร ยื่นหนังสือย้ำจุดยืนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในอาคารรัฐสภา 

เวลา 15.30 น. ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานวันนี้ (24 มิ.ย.) ภายในอาคารรัฐสภา ฝั่ง ส.ส. ตัวแทนคณะราษฎร ทั้ง 5 คน ยื่นสำเนารัฐธรรมนูญคณะราษฎร ฉบับแรก ปี พ.ศ. 2475 พร้อมหนังสือเปิดผนึกถึง ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ย้ำจุดยืน การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเห็นประโยชน์ของราษฎร ผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นสำคัญ 

จากนั้น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และตัวแทนคณะราษฎร เข้ายื่นหนังสือถึง ส.ส.วันนี้ ออกมากล่าวถึงรายละเอียดของหนังสือ และข้อเรียกร้องจากกลุ่มคณะราษฎร 


จดหมายเปิดผนึกของราษฎรต่อรัฐสภา เนื่องในวันครบรอบ 89 ปี การอภิวัฒน์สยาม “รัฐธรรมนูญเผด็จการจงพินาศ รัฐธรรมนูญประชาราษฎร์จงเจริญ”

ถึง สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน 

เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันครบรอบ 89 ปีที่คณะราษฎรได้ก่อการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 ขึ้น เพื่อยุติการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เริ่มต้นการปกครองระบอบประชาธิปไตย และก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อประกาศว่า อำนาจสูงสุดในประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย จากเดิมที่ราษฎรไม่มีโอกาสสิทธิเสียง หรืออำนาจใด ๆ ในการเมืองการปกครอง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของราษฎรจากไพร่ข้าเป็นเจ้าของประเทศ มีสิทธิมีเสียงทางการเมือง และสามารถมีกระดูกสันหลังเหยียดตรง ไม่จำเป็นต้องหมอบกราบตามที่เป็นมาในระบอบเก่า 

ด้วยความสำคัญแห่งรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดขึ้น ผองราษฎรทั้งหลายจึงได้ร่วมกันยื่นหนังสือฉบับนี้เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดเจตนารมณ์คณะราษฎรที่ว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” การแก้ไขหรือจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปโดยให้ราษฎรเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มิใช่เพื่อผลประโยชน์ หรือความพึงพอใจของผู้มีอำนาจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยราษฎรขอแสดงจุดยืนดังต่อไปนี้ 

  1. รัฐธรรมนูญพึงเป็นของประชาชน การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้นจะต้องการกระทำผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด
  2. รัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของเผด็จการประยุทธ์ และคณะ บทบัญญัติใดที่เอื้อให้เกิดการสืบทอดอำนาจอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น อำนาจของวุฒิสภา และองค์กรอิสระต่าง ๆ จะต้องถูกยกเลิก
  3. การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่นั้น จะต้องร่างหรือแก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา ไม่มีข้อยกเว้น 

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พึงเป็นสมบัติของราษฎรทั่วไป มิใช่ของส่วนตัวที่สงวนให้ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง การแก้ไข ปรับปรุง หรือจัดทำขึ้นจะต้องเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย และเจตจำนงของราษฎรหมู่มาก หากรัฐธรรมนูญฉบับใดมิได้ยึดโยงอยู่กับราษฎร และมิได้เคารพหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ถือว่าเป็นอันใช้ไม่ได้ในฐานะรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญพึงจดจำถ้อยคำของคณะราษฎร ผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญที่ว่า 

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร มิใช่ของกษัติรย์ตามที่เขาหลอกลวง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net