Skip to main content
sharethis

ประเทศไทยถูกลดระดับไปอยู่ระดับการเฝ้าระวังที่ 2 (Tier 2 Watch List) ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ปี 2021 เนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการแรงงานบังคับในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ประเทศไทยถูกลดระดับไปอยู่ระดับการเฝ้าระวังที่ 2 (Tier 2 Watch List) ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ เนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการแรงงานบังคับในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
แฟ้มภาพ โดยวรรณา แต้มทอง 

3 ก.ค. 2564 คณะทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนไทยวา กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ (TIP) ปี 2021 เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการปรับลดระดับประเทศไทยไปอยู่ระดับการเฝ้าระวังที่ 2 (Tier 2 Watch List)  โดยพบว่ารัฐบาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยรวม ปัญหากับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และการแก้ไขแรงงานบังคับในกลุ่มแรงงานข้ามชาติก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ มีรายงานและการตรวจสอบจำนวนมากที่กล่าวถึงประเทศไทยในเรื่องการละเมิดแรงงานและการค้ามนุษย์ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในภาคประมง อาหารทะเล และเครื่องนุ่งห่ม ประเทศไทยเคยถูกจัดอยู่ในเทียร์ 2 เป็นเวลาสามปีมาก่อน และการตัดสินใจลดระดับครั้งนี้ถือเป็นการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวจากการแก้ไขปัญหานี้อย่างที่ควรจะเป็น

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะทำงานด้านอาหารทะเล ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรระดับโลกขององค์กรด้านแรงงาน สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม 30 องค์กร ได้ส่งความคิดเห็นไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยแนะนำการปรับลดระดับของประเทศไทยให้เป็นเทียร์ 2เผ้าระวัง ( Tier 2 Watch list) คณะทำงานฯ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติคุ้มครองเหยื่อจากการค้ามนุษย์แห่งสหรัฐอเมริกา ปี 2000

รายงาน TIP ของสหรัฐอเมริกาปี 2021 เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การลดระดับ ดังนี้:

· รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบการค้ามนุษย์ ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัย และตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ในปี 2020 น้อยลงกว่าปีก่อนหน้าอย่างชัดเจน

· แม้จะมีการรายงานในวงกว้างว่าแรงงานบังคับเกิดขึ้นมากในหมู่แรงงานข้ามชาติในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย รัฐบาลกลับระบุว่ามีเหยื่อจากการค้าแรงงานในจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา เจ้าหน้าที่มักขาดความเข้าใจเรื่องการค้าแรงงาน และรัฐบาลขาดขั้นตอนมาตรฐานให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานในการส่งต่อคดีที่มีมูลเหตุไปยังหน่วยงานทางกฎหมาย

· ทางการไทยไม่เคยรายงานการวินิจฉัยเลยว่ามีเหยื่อในการค้าแรงงานอันเป็นผลจากการตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือต่างๆ

· การทุจริต/คอรัปชั่นและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าพนักงานยังเป็นอุปสรรคในการต่อต้านการค้ามนุษย์

· กฎหมายแรงงานขัดขวางไม่ให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งสหภาพแรงงานซึ่งอาจทำให้เกิดการแสวงประโยชน์ต่อไปเรื่อยๆ

· กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาของประเทศไทยยังคงอนุญาตให้บริษัทต่างๆ ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อและผู้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อ รวมถึงการฟ้องร้องเชิงกลยุทธ์ต่อการมีส่วนร่วมของสาธารณะชน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ให้ความช่วยเหลือเหยื่อต้องเผชิญกับการคุกคามทางกฎหมายเป็นเวลาหลายปี

· แรงงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเลและการประมงต้องเผชิญกับการถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลามากขึ้น จากผลของความต้องการสะสมอาหารทะเลที่เพิ่มขึ้นในช่วงของโรคระบาด เช่นเดียวกันกับสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย โดยเจ้าของเรือ นายหน้า และหัวหน้าลูกเรือ กำหนดให้แรงงานชายและเด็กชาย ชาวไทย พม่า กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นแรงงานบังคับบนเรือประมงทั้งของชาวไทยและของชาวต่างประเทศ

จากการตัดสินใจปรับลดนี้ เจ เจ โรเซนบาวม์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การความยุติธรรมแรงงาน-สิทธิแรงงานสากล (JJ Rosenbaum: Global Labor Justice-International Labour Rights Forum GLJ-ILRF) ให้ความเห็นว่า

“การปรับลดระดับของประเทศไทยในรายงาน TIP ปี 2021 สะท้อนถึงแนวโน้มที่เกี่ยวข้องและการจัดทำเอกสารได้ดี สถานะที่ถูกลดระดับนี้สอดคล้องกับการเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ อันเนื่องจากการแสวงประโยชน์จากสิทธิของแรงงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการประมงและในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่จะส่งเสริมเสรีภาพของการสมาคม รวมถึงการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานบังคับและการค้าแรงงาน เสรีภาพในการคุ้มครองของสมาคมจะต้องถูกนำมาใช้ในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงสถานะการเป็นแรงงานข้ามชาติ”

 อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ให้ความเห็นว่า:“โควิด-19 เผยให้เห็นจุดอ่อนของโครงสร้างพื้นฐานในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการค้ามนุษย์กับการควบคุมแรงงานข้ามชาติ แทนที่จะเข้าใจว่าเหยื่อของการค้ามนุษย์เช่นแรงงานข้ามชาติจะยิ่งเปราะบางมากขึ้นในภาวะโรคระบาด รัฐบาลกลับเพิ่มความอ่อนแอของแรงงานด้วยการเร่งดำเนินการปราบปรามคนงานที่ไม่มีเอกสารและคนงานที่มีเอกสารที่ไม่ถูกต้อง เพื่อโอ้อวดความพยายามในการควบคุม COVID-19 ของรัฐ คนงานที่ถูกจับกุมถูกเนรเทศออกนอกประเทศโดยไม่ผ่านการคัดแยกตามกฎหมายว่าพวกเขาได้ตกอยู่ในภาวะแรงงานบังคับหรือไม่ ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ทวีความรุนแรงให้กับความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ในทางกลับกันพบว่ามีแนวโน้มว่าจะทำให้สิทธิมนุษยชนและการละเมิดสิทธิแรงงานแย่ลงไปอีก”

ปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มสพ. (HRDF) ให้ความเห็นว่า “การล่วงละเมิดและการแสวงประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติในภาคประมงยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ตามที่รายงาน TIP ได้เน้นถึง ชาวประมงที่ต้องเผชิญกับการโกงค่าจ้าง การทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง มีภาระหนี้กับนายหน้าและนายจ้าง การทำงานมากถึง 18 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ โดยมีอาหาร น้ำ หรือเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอ ทั้งยังเผชิญกับการคุกคามและการทำร้ายร่างกายโดยไต๋เรือ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับลดระดับอันสมเหตุสมผลนี้จะผลักดันให้รัฐบาลไทยหยุดเจ้าของเรือประมงจากการกระทำทารุณกรรมที่พวกเขากระทำอยู่ทุกวันกับแรงงานประมงข้ามชาติได้ในที่สุด”

ด้านนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (สงวนนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย) ระบุว่า “เมื่อพิจารณาถึงวิธีที่รัฐบาลไทยใช้จัดการกับแรงงานข้ามชาติโดยใช้กรอบความมั่นคงตามข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม COVID-19 เราเห็นเพียงความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นและสิทธิของแรงงานที่ลดลง ผักชีที่โรยไว้ให้เห็นการปรับปรุงที่นำไปสู่การปรับเพิ่มระดับในรายงาน TIP ก่อนหน้านี้ ได้ถูกตัดออกไปแล้ว และประเทศไทยก็กลับมาอยู่ในเทียร์ 2 ตามที่สมควร ประเด็นหลักที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หากเพียงนำมาแก้ไขปรับปรุง เช่น การอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน และระบบการขึ้นทะเบียนที่ปฏิรูปใหม่ ก็จะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติและป้องกันการค้ามนุษย์ได้"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net