Skip to main content
sharethis

คุยกับ ศ.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถอดนัยเบื้องหลังการที่ไทยงดออกเสียงในเวที UN เรื่องการคว่ำบาตรการค้าอาวุธให้กองทัพพม่า ที่แม้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็สะท้อนมิตรภาพของเผด็จการและความกลัวว่าชัยชนะของประชาธิปไตยที่เนปิดอว์อาจส่งแรงกระเพื่อมถึงกรุงเทพฯ 

ตราสัญลักษณ์องค์การสหประชาชาติ

มติของที่ประชุมใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อ 19 มิ.ย. ที่เรียกร้องให้นานาประเทศยุติการขายอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่าเพื่อประณามการรัฐประหารและการเข่นฆ่าประชาชน จบลงด้วยเสียงเห็นชอบจาก 119 ประเทศ ไม่เห็นชอบ 1 ประเทศ (เบลารุส) และงดออกเสียง 36 ประเทศ ตัวอย่างของประเทศที่งดออกเสียงได้แก่ไทย กัมพูชา ลาว บรูไน จีน และรัสเซีย 

สองรายหลังคือผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ให้กองทัพพม่า บรูไนคือประธานอาเซียนที่อาจจะต้องคงไว้ซึ่งท่าทีที่เป็นกลาง แต่อะไรเป็นทำให้ไทยตัดสินใจ ‘แทงสวน’ เสียงส่วนใหญ่ของโลกครั้งนี้ โดยเฉพาะในโมงยามที่การลุกฮือของประชาชนทวีความรุนแรง การเข่นฆ่าและปราบปรามประชาชนยังดำเนินต่อไปในประเทศเพื่อนบ้านของเรา 

ประชาไทคุยกับ ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อหาคำอธิบายพฤติกรรมของไทยทั้งในมุมมองการทูตและความมั่นคง ที่ท้ายที่สุดลุกลามไปถึงปัญหาใจกลางของรัฐบาลเผด็จการไทย

เผด็จการเพื่อนกัน

สุรชาติมองการมีกระทู้คว่ำบาตรการซื้อขายอาวุธใน UN ว่ามีนัยสำคัญมาก แม้ไม่มีผลผูกพันในทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการส่งข้อความที่เวทีโลกใช้กันเวลาจะส่งสัญญาณถึงผู้นำทหารในประเทศต่างๆ ว่าโลกกำลังไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น มติเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2520 เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเรียกร้องให้นานาชาติไม่ค้าขายอาวุธและยุทธปัจจัยให้แอฟริกาใต้เพื่อต่อต้านการปราบปรามประชาชนในช่วงที่มีนโยบายแบ่งแยกเชื้อชาติ (Apartheid) และการคว่ำบาตรการซื้อขายอาวุธให้อิสราเอลและชาติอาหรับที่สู้รบกันในปี 2491

ศ.สุรชาติ บำรุงสุข

แต่การที่ประเทศเพื่อนบ้านและหนึ่งในสมาชิกอาเซียนอย่างไทยมีมติงดออกเสียงสนับสนุนการคว่ำบาตรนั้น ทำให้ตั้งคำถามได้ว่าเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารหรือการรัฐประหารในพม่า เมื่อประเมินร่วมกับท่าทีนิ่งเฉยของไทยต่อเรื่องพม่าในการประชุมอาเซียนวาระพิเศษเมื่อเดือน เม.ย. 2564 ย่อมหมายความได้ว่าการมีมติงดออกเสียงก็ไม่ต่างกับการไม่รับมติด้วยการใช้เทคนิคทางการทูตเท่านั้น 

"พอเป็นอย่างนี้ก็เหมือนกับรัฐบาลส่วนหนึ่งในอาเซียน ก็คงต้องใช้คำว่าแตกกันในปัญหาพม่า ที่เห็นชัดก็รัฐบาลกัมพูชา ไทย บรูไน ผมคิดว่าของบรูไนอาจจะบอกว่าเป็นประธานอาเซียนก็เลยจะรักษาท่าทีนิดหนึ่ง ก็อาจจะอธิบายได้ แต่ในกรณีไทย ในกรณีของกัมพูชา ผมว่ามันตอบชัด และมันยังถูกตีความว่าเป็นการสื่อสารของท่าทีของจีนหรือไม่ เพราะเนื่องจากประเทศทั้งสองมีความใกล้ชิดกับจีน และมีลักษณะออกเสียงในทางนโยบายไปในทิศทางเดียวกับจีน"

“เหมือนเราแทงกั๊กแล้วเรารอดตัวผมว่าไม่ใช่ งานนี้ต้องคิดว่าแทงกั๊กก็ไม่รอด เพราะมันมีมติของอาเซียนมาก่อน และผมเชื่อว่ากลุ่มประทเศยุโรปก็หวังมากว่าอาเซียนจะช่วย เอาเข้าจริงๆ อาจจะต้องยอมรับว่าโอกาสที่อาเซีนยนจะเป็นเสียงที่ไปในทำนองเดียวกันคงลำบาก เพราะอาเซียนส่วนหนึ่งก็เกรงใจจีน และอีกส่วนหนึ่งก็ยังรู้สึกว่าต้องแสดงท่าทีในลักษณะที่เห็นใจรัฐบาลทหารพม่า ในกรณีไทยคิดเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากแสดงไมตรีทหารไทยต่อผู้นำรัฐประหารที่เมียนมา เพราะมีพื้นฐานมาแบบเดียวกันคือยึดอำนาจมาด้วยกันทั้งคู่ ส่วนในกัมพูชาทุกคนก็รู้ว่านั่นไม่ใช่รัฐบาลเสรีนิยม" 

นโยบายการต่างประเทศในยุคตกต่ำ

ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงการงดออกเสียงของไทยว่าข้อมติดังกล่าวไม่ใช่การแก้ปัญหาในพม่าอย่างแท้จริง เพราะเป็นการชี้ว่าใครถูกหรือผิด การตัดสินใจของไทยที่มีชายแดนติดกับพม่ายาว 2,400 กม. และมีความสัมพันธ์กันมายาวนานในทุกระดับจึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ และยังสอนมวยประชาคมโลกด้วยว่าสิ่งที่ควรทำคือ “หาวิธีทางสันติสุขที่จะสยบการสู้รบให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยเร่งหาวิธีการหรือขบวนการที่จะฟื้นฟูและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของทุกฝ่ายในเมียนมา ให้กลับคืนมาให้ได้ในระดับหนึ่ง และเร่งสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับทุกฝ่าย” อย่างที่อาเซียนกำลังทำผ่านกระบวนการสร้างสันติภาพที่มีขึ้นหลังการประชุมที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

ซึ่งต้องบันทึกไว้ด้วยว่าในการประชุมนั้น ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลพลัดถิ่นที่ต่อต้านรัฐประหาร และได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยจำนวนมากเข้าร่วมในการหารือนั้นด้วย

สุรชาติมองว่าท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศไม่มีค่าใดๆ มากไปกว่าแสดงความเห็นใจรัฐเพื่อนเผด็จการด้วยกันเอง

"สำนวนพวกนี้ กระทรวงต่างประเทศเอาไว้เขียนหลอกเด็กที่เพิ่งเริ่มเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ผมคิดว่าประชาคมโลกไม่ใช่เด็กที่เพิ่งเรียนวิชาการเมืองโลก ที่จะไม่รู้ว่าสำนวนอย่างนี้มันไม่มีค่าในทางการทูต" 

"ผมคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศไทยเหมือนเด็กเล่นขายของในเวทีการทูต ส่วนหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศไทยทำหน้าที่หลักตั้งแต่หลังรัฐประหารคือเป็นทนายให้ทหารในเวทีโลก เพื่อที่จะบอกว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ดีในการเมืองไทย วันนี้กระทรวงการต่างประเทศด้านหนึ่งก็แสดงอาการเดียวกัน เป็นแต่เพียงเป็นรัฐประหารในเมียนมา"

"วันนี้กระทรวงต่างประเทศไทยไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหารทั้งในไทยและภูมิภาค ผมเชื่อว่าถ้ามีประเทศอื่นที่ทำรัฐประหาร กระทรวงต่างประเทศไทยก็จะมีท่าทีอย่างนี้แหละ เสียดายที่นักการทูตไทยเติบโตในประเทศที่เป็นเสรีนิยม แต่ผมคิดว่านักการทูตไทยหลายส่วนที่ฝักใฝ่กับรัฐประหาร พาภาพลักษณ์ที่ดีของกระทรวงต่างประเทศ พาภาพลักษณ์ของเสรีนิยมไทยไปสู่ความล่มสลาย"

นักวิชาการด้านความมั่นคงมองว่าท่าทีของไทย เวียดนาม กัมพูชาที่นิ่งเฉยต่อการรัฐประหารในพม่า เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักการไม่แทรกแซงในกิจการของประเทศสมาชิกในอาเซียนด้วยกันเอง เหมือนเป็นการส่งข้อความให้กันว่า ‘เมื่อเราไม่ยุ่งกับกิจการของท่าน เวลาเราแสดงออกซึ่งความเป็นอำนาจนิยมในประเทศของเรา ก็ขอให้ท่านไม่ยุ่งด้วยเช่นกัน’

ภาพผู้ลี้ภัยจากพม่ามายังฝั่งไทยเ(แฟ้มภาพ, สำนักข่าวชายขอบ)

"ผมอยากจะให้เราเปรียบเทียบในกรณีของรัฐประหารในมาลี ในเดือนมีนาคม มาลีก็รัฐประหาร องค์การระหว่างประเทศในภูมิภาคก็มีแรงต้านรัฐประหารในมาลี ผมอยากเห็นอาเซียนแสดงบทบาทอย่างนั้น ไม่ใช่มีลักษณะหลีกหนีปัญหา แล้วเชื่อว่าถ้าเราไม่ออกเสียงต่อต้านรัฐประหารในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านก็จะไม่ออกเสียงต่อต้านรัฐประหารในไทย"

“ผมคิดว่าถอยกลับไปก่อนรัฐประหารในมาลี เราก็จะเห็นการโหวตในองค์กรในภูมิภาคอย่างในกรณีแอฟริกาตะวันออกในปี 2015 ก็คือรัฐประหารในบูกินาร์ฟาโซ หลายปีที่ผ่านมา อาเซียนพัฒนาตัวเอง แต่ไม่กล้าโตในทางการเมืองที่จะมีจุดยืนว่าถ้าภูมิภาคเราต้องพัฒนาไปสู่การเป็นประชาธิปไตย หรือเดินหน้าไปสู่การสร้างระบบเสรีนิยมของภูมิภาค คำว่าไม่แทรกแซงกิจการภายในมันอาจเป็นวาทกรรมที่ใช้ไม่ได้”

"กระทรวงต่างประเทศต้องเลิกการสร้างคำหรูๆ สวยๆ ที่ไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ หรือเกิดผลที่เป็นคำตอบในตัวเองว่า กระทรวงต่างประเทศพูดแบบนี้เพื่อบอกว่าประเทศไทยจะไม่ทำอะไร เพราะก่อนการประชุมที่จาการ์ตา ท่าทีที่ชัดเจนคือไทยไม่แสดงท่าทีในทางบวกเท่าที่ควร ผมคิดว่าท่าทีของไทยในเวทีที่ต่างประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ทุกคนรู้ดีว่าผู้นำทหารที่มีอำนาจในรัฐบาลไทย รวมทั้งกระทรวงต่างประเทศไทย มีลักษณะเห็นอกเห็นใจผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะด้วยเหตุผลว่าถ้ารัฐบาลทหารที่เมียนมาพัง รัฐบาลที่มีผู้นำทหารในกรุงเทพฯ ก็จะพังตาม อันนั้นจริงหรือไม่ก็เป็นประเด็น แต่ก็เห็นชัดถึงความกังวลของฝ่ายไทย"

กองทัพในโหมดตั้งรับ หนึ่งในภาวะความกล้าหาญทางจริยธรรมขาดแคลน 

หากมองในมุมความมั่นคงก็อาจเข้าใจได้ว่าการงดออกเสียงเพื่อลดการเผชิญหน้ากับทหารพม่าบริเวณชายแดน แต่สุรชาติมองว่าเรื่องความมั่นคงสามารถถกเถียงได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการให้องค์กรทางความมั่นคงอย่างกองทัพไทยไปมีบทบาทในการลดความรุนแรงในพม่า หรือช่วยเหลือประชาชนในด้านมนุษยธรรม แต่เรื่องเหล่านี้ต้องการความกล้าหาญทางจริยธรรมที่สุรชาติมองว่าผู้กำหนดนโยบายในไทยไม่มี ทั้งๆ ที่มีสิทธิอันชอบธรรมในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบและปราบปรามประชาชน

พิธีสวนสนามของกองทัพพม่า เนื่องในวันกองทัพพม่า 27 มี.ค. 59 ที่กรุงเนปิดอ (ที่มา: แฟ้มภาพ/The Global New Light of Myanmar, 28 March 2016)

"ผมคิดว่าผู้นำทหารไทย ผู้นำที่มีอำนาจในกระทรวงการต่างประเทศขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม แล้วไม่สามารถทำให้ประเทศไทยมีฐานะที่สูงเด่นในเวทีภูมิภาค วันนี้ผมเชื่อว่าถ้าเราถอยตัวออกมานั่งมองประเทศไทยจากสายตาในเวทีโลก สถานะทางการทูต สถานะทางการเมืองระหว่างประเทศของไทยตกต่ำ ผมไม่อยากบอกว่าตกต่ำมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร แต่ผมคิดว่านับตั้งแต่รัฐประหารตกต่ำ และมาถึงเมียนมา ถ้าจะมีโอกาสสร้างบทบาทให้สถานะในรัฐไทย ก็เป็นโอกาส แต่โอกาสแบบนี้มันมาพร้อมกับความกล้าหาญทางจริยธรรมของผู้นำ มันมากับการที่ต้องกล้าที่จะแสดงบทบาททางมนุษยธรรม แต่ถ้าคิดแต่เพียงว่าการมีอำนาจแล้วต้องสนับสนุนรัฐบาลที่ใช้อำนาจนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยก็จะลงเสียงในเวที UN ในลักษณะอย่างที่เราเห็น หรือจะพูดอะไรที่ดูสวย แต่เป็นการพูดให้มีคำพูดหรูๆ ในทางการทูต แต่เป็นคำพูดหรูๆ ที่ไม่เกิดมรรคเกิดผล" 

"หรือทั้งหมดมันไม่ใช่กลัวว่าผู้นำทหารพม่าไม่พอใจเรา แต่ทั้งหมดคือความกลัวอย่างเดียวว่าถ้าไทยแสดงมาก แล้วจะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะชนะในเมียนมา แล้วจะมีผลกระทบต่อการเมืองไทยเอง ผมว่านั่นเป็นอีกประเด็นที่ซ้อนอยู่กับปะรเด็นปัญหาการเมืองไทย วันนี้ การเมืองไทยกับการเมืองเมียนมา มันเหมือนแยกจากกันไม่ออก"

จุดกลับตัวของรัฐบาลไทย

สุรชาติเล่าว่าสิ่งที่ต้องติดตามต่อในพม่าตอนนี้คือการยกระดับของการต่อสู้เมื่อประชาชนถึงขั้นเข้าป่าฝึกอาวุธกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกันแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือแรงกดดันจากนานาประเทศอย่างที่มีมติของ UN ออกมา ที่ต้องดูทิศทางผสมผสานไปกับท่าทีของพี่ใหญ่อย่างจีนและรัสเซียว่าจะมีแสดงออกอย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับพม่าในเวทีระหว่างประเทศ

แต่สำหรับไทย เขามองว่าจุดกลับตัวทางนโยบายจริงๆ ในเรื่องพม่าน่าจะเกิดหลังเปลี่ยนรัฐบาล

"คิดว่าการกลับตัวเหลืออย่างเดียว ในวิชารัฐศาสตร์มันตอบง่ายที่สุด การเปลี่ยนนโยบายเกิดได้เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ผมคิดว่าวิชารัฐศาสตร์สอนอย่างนั้น ไม่มีรัฐบาลไหนเปลี่ยนนโยบายของตัวเอง แปลว่า นั่นเป็นสิ่งที่เราเห็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็อาการเดียวกัน การเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศไทยหลายครั้งเกิดได้เพราะเปลี่ยนรัฐบาล"

สุรชาติมองว่าการปฏิรูปกองทัพก็เป็นอีกโจทย์ใหญ่หากมีการเปลี่ยนรัฐบาล หลังถูกละเลยมาตั้งแต่ชัยชนะของประชาชนในปี 2535 ไม่ว่าจะเป็นการทำให้กองทัพไทยเป็นทหารอาชีพไปจนถึงเป็นหนึ่งในขบวนการสร้างประชาธิปไตย และอีกจุดหนึ่งที่เขามองว่ามีความสำคัญในวันนี้คือการปฏิรูปการซื้ออาวุธให้มีความโปร่งใสและเหมาะสม

"เราเห็นปัญหาสังคมไทยมาหลายปี ในกรณีบทบาททหาร มันไปผูกไว้กับเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง คือกระบวนการใช้งบประมาณ "เราจะเห็นกงอทัพซื้ออาวุธหลังรัฐประหารซื้ออาวุธค่อนข้างมาก โดยเปรียบเทียบกับรัฐบาลในยุคที่อยู่กับระบบเลือกตั้ง การซื้ออาวุธไม่เยอะ สำหรับผมรัฐประหารเหมือนเป็นนาทีทองของผู้นำทหารในการซื้ออาวุธ เพราะไม่มีระบบตรวจสอบ ซื้ออะไรก็ได้ ซื้ออย่างไรก็ได้"

"ถ้าเราพูดถึงความโปร่งใส พูดถึงหลักการและเหตุผล มันก็จะไปตอบว่าอาวุธที่ควรซื้อคืออะไร ควรซื้อจากที่ไหน หรือแม้กระทั่งคำตอบที่ใหญ่ที่สุดคือควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ ยกตัวอย่างเช่นเรือดำน้ำ วันนี้มีความพยายามซื้อเรือดำน้ำลำที่สองให้ได้ คำถามก็คือประเทศไทยซื้อเรือดำน้ำไปเพืออะไร วันนี้ข้าศึกที่ใหญ่ที่สุด และผมยังไม่เห็นเลยว่าเราจะรบชนะคือข้าศึกที่เป็นเชื้อโรค ผมคิดว่าวันนี้รัฐทั่วโลกรวมทั้งรัฐไทยแลรัฐเพื่อนบ้านในอาเซียน เผชิญกับสงครามโรคระบาดที่เป็นสงครามที่ใหญ่ที่สุด ผมถึงบอกว่าอาวุธที่อยากซื้ออย่างเดียวคือวัคซีน"

"สิ่งที่วันนี้ต้องทำไม่ใช่การพัฒนากองทัพ สิ่งที่ต้องทำคือการพัฒนาชีวิตคนในสังคมให้ฟื้นกลับมา สังคมที่อ่อนแอสร้างกองทัพที่เข้มแข็งไม่ได้ ผู้นำทหารไทยที่หมกมุ่นอยู่กับการเมืองมีความคิดแบบเพ้อเจ้อที่เชื่อว่าเราอ่อนแออย่างไรก็จะซื้ออาวุธเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเราเอง ผมต้องขอใช้พื้นที่ของประชาไทพูดว่า เลิกเพ้อเจ้อกับชุดวิธีคิดแบบนี้ได้แล้ว สังคมไทยอ่อนแอและวันนี้ประสบปัญหาใหญ่ถึงขั้นเป็นวิกฤตที่เห็นการล้มละลายของเศรษฐกิจภายในรัฐ เรากำลังเห็นการล่มสลายของชีวิตผู้คนภายในรัฐ อาวุธที่ซื้อมาไม่มีค่าเลย ถ้าสุดท้ายสังคมล่มสลายไปกับการระบาดของโควิด"

หมายเหตุ: ประชาไทใช้คำเรียกสหภาพเมียนมาว่า "พม่า" ตามแนวปฏิบัติของกองบรรณาธิการ แต่ขอคงการใช้คำว่า "เมียนมา" ของ ศ.สุรชาติเอาไว้ในส่วนที่เป็นการอ้างอิงคำพูดของผู้ให้สัมภาษณ์โดยตรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net