Skip to main content
sharethis

ธนาคารโลก (World Bank) ชี้การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แค่ร้อยละ 2.2 ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งยังทำให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง การท่องเที่ยวทรุด คนตกงานมากขึ้น และอาจทำให้อัตราความยากจนสูงขึ้นทั้งในชนบทและเขตเมือง พร้อมแนะทางออกคือต้องเร่งฉีดวัคซีน

15 ก.ค. 2564 รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย "เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ที่เผยแพร่ในวันนี้ (15 ก.ค. 2564 ) ระบุว่าการให้ความช่วยเหลือคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานนอกระบบ ยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารโลกประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับมรสุมหนักต่อไปเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.2 ใน พ.ศ.2564 ซึ่งปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ธนาคารโลกเปิดเผยว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ซบเซาลงเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้การบริโภคภาคเอกชนและแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจนถึงสิ้นปีนี้มีจำนวนต่ำมาก อยู่ที่ 600,000 คนเท่านั้น จากเดิมที่เคยประเมินไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 4-5 ล้านคนในปีนี้ ก่อนหน้านี้ในปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไทยสูงถึง 40 ล้านคน

"ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนของรัฐบาลส่งผลเป็นที่น่าพอใจในการบรรเทาผลกระทบ” เบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว "พื้นที่การคลังของประเทศไทยยังคงมีเพียงพอสำหรับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนยากจนและผู้ที่ลำบากมากที่สุดในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า"

ประเทศไทยมีการดำเนินการที่ค่อนข้างดีในแง่ของระดับและความรวดเร็วในการรับมือด้านการคลัง รัฐบาลได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชน จากเดิมที่อยู่ในระดับไม่มากนักมาเป็นการให้เงินเยียวยาในระดับที่กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการจำลองสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ของธนาคารโลกซึ่งจัดทำขึ้นก่อนหน้านี้มีข้อบ่งชี้ว่าหากรัฐบาลไม่ได้เพิ่มความช่วยเหลือทางสังคม จะมีคนจนเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 780,000 คนใน พ.ศ.2563

"วิกฤตในปี 2563 แสดงให้เห็นถึงความสามารถของประเทศไทยในการใช้งานระบบเลขประจำตัวประชาชนดิจิทัลที่เข้มแข็งและครอบคลุม ระบบดิจิทัลที่รองรับการใช้งานได้ดีและทำงานข้ามแพลตฟอร์มได้ และฐานข้อมูลเพื่อการบริหารงานภาครัฐจำนวนมากในการคัดกรองผู้มีคุณสมบัติสำหรับมาตรการให้เงินเยียวยาที่ออกมาใหม่ ก้าวต่อไปของประเทศไทยจะต้องอาศัยการผนึกกำลังความพยายามต่างๆ เหล่านี้และการเตรียมพร้อมให้ดียิ่งขึ้นไปอีกเพื่อรับมือกับวิกฤต โดยการจัดตั้งระบบการลงทะเบียนทางสังคม" ฟรานเชสกา ลามานนา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าว

กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปจนกระทั่ พ.ศ.2565 โดยอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.1 อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการฟื้นตัวจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการดำเนินการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ประสิทธิผลของมาตรการสนับสนุนทางการคลัง และระดับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้าคาดว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยใน พ.ศ. 2564 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกสำหรับชิ้นส่วนยานยนตร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตผลทางการเกษตร ความเสี่ยงในด้านลบมีค่อนข้างมากเนื่องจากการฟื้นตัวอาจต้องล่าช้าออกไปเพราะมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น ทำให้การรักษาและวัคซีนที่มีอยู่ไม่เป็นผล

"มาตรการตรวจเชื้อ-สืบย้อน-กักตัวที่เหมาะสมและการดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงจะมีความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการล็อคดาวน์ กระตุ้นการเพิ่มการเคลื่อนย้ายและการบริโภคภายในประเทศให้ต่อเนื่อง และเพื่อให้ประเทศสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้" เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก กล่าว "ในระยะยาว การปฏิรูปเพื่อลดต้นทุนและอุปสรรคการค้าจะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก"

รายงานฉบับนี้ยังเสนอด้วยว่ารัฐบาลควรต้องลงทุนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศ สิ่งสำคัญอันดับแรกในอนาคตอันใกล้คือการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยดูแลให้มีการให้ความช่วยเหลือตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลเพื่อจำกัดภาระทางการคลังโดยรวม นอกจากนี้วิกฤตครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีระบบให้ความคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมภาคการทำงานนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ตลอดเวลาด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่ในช่วงวิกฤตเท่านั้น

รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย กรกฎาคม 2564: เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
โดยธนาคารโลก (World Bank) 

ข้อค้นพบสำคัญ 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดในช่วงครึ่งแรกของ พ.ศ. 2564 แต่การฟื้นตัวของ อุปสงค์โลกและมาตรการให้เงินเยียวยาขนานใหญ่ของไทยก็ช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสแรก ของปี 2564 หลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงร้อยละ 6.1 ใน พ.ศ.2563 ซึ่งทำให้ไทยเป็นหนึ่ง ในประเทศที่มีการหดตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในอาเซียน

  • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามในเดือน เม.ย.2564 มีความรุนแรงอย่างมากโดยรัฐบาลได้ออก มาตรการควบคุมและจำกัดการเคลื่อนย้าย ซึ่งส่งผลลบต่อการบริโภคและการดำเนินธุรกิจ
  • การส่งออกสินค้ามีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ของโลกที่กำลังฟื้นตัวสำหรับ ชิ้นส่วนยานยนตร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะไม่กลับมาอยู่ในระดับก่อนหน้าการแพร่ระบาดจนกระทั่ง พ.ศ.2565 และคาดว่าจะฟื้น ตัวอย่างช้าๆ และไม่สม่ำเสมอ 

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2564 คาดว่าน่าจะปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมีนาคม ลงมาเป็นร้อยละ 2.2 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ที่มีต่อการบริโภค ภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในจำนวนที่ต่ำมากจนถึงสิ้นปี 2564 
  • การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 2.4 โดยผลกระทบจากมาตรการลดและจำกัดการ เคลื่อนย้าย ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน และการสูญเสียรายได้แม้จะได้รับมาตรการช่วยเหลือทางสังคมบางส่วน แล้วก็ตาม
  • การฟื้นตัวน่าจะเร็วขึ้นในปี 2565 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 5.1 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ (1) ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนภายในประเทศ (2) สถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ที่ดีขึ้นทั้งโลกเพียงพอที่จะทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศสามารถฟื้นตัวได้บางส่วน และ (3) การ ใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่เพิ่งผ่านการอนุมัติอย่างเต็มประสิทธิภาพ 
  • รัฐบาลวางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรร้อยละ 70 (50 ล้านคน) ภายในสิ้นปี 2564 และความล่าช้าของ แผนการฉีดวัคซีนจะส่งผลลบต่อการเคลื่อนย้าย การบริโภค และการท่องเที่ยวของประเทศ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่มาตรการรับมือ อย่างทันท่วงทีของรัฐบาลช่วยบรรเทาผลกระทบลง 

  • อัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในไตรมาสแรกของปี 2564 โดยขยับสูงขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรกของปี 2563 กว่าครึ่งเป็นแรงงานที่เคยทำงานในภาคบริการ ในไตรมาสแรกของปี 2564 มี ตำแหน่งงานลดลงจากไตรมาสที่สี่ของปี 2563 ถึง 710,000 ตำแหน่ง 
  • การจ้างงานในภาคการเกษตรลดลงถึงร้อยละ 10.9 แต่การจ้างงานในภาคอื่นๆ ทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ซึ่ง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าส่งออกของโลก อุตสาหกรรมยานยนตร์และการก่อสร้างมีอัตราการ เติบโตของการจ้างงานรายไตรมาสสูงที่สุด คือ ร้อยละ 3.3 และ 7.5 ตามลำดับ 
  • การจำลองสถานการณ์ของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าหากปราศจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล อัตราความ ยากจนจะเพิ่มจากร้อยละ 6.2 ในปี 2562 เป็น 7.4 ในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 700,000 คน ก่อนที่จะลดลงเป็นร้อยละ 7.0 ในปี 2564 
  • อัตราความยากจนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในพื้นที่ชนบทและร้อยละ 1.0 ในพื้นที่เมือง โดยเพิ่มมากที่สุดในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภาคที่มีอัตราความยากจนสูงสุดของประเทศในปี 2562 
  • รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 1 ล้านล้านบาทสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือครัวเรือนที่ เปราะบางที่สุด ประมาณร้อยละ 70 ของการใช้จ่าย เป็นไปเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือน ส่วนมากผ่านทางมาตรการ ให้เงินเยียวยาและการอุดหนุนบางส่วน โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่งในสัดส่วนที่ย่อมลงจัดสรรเพื่อให้ความช่วยเหลือ การฟื้นตัวของภาคเอกชน 
  • ด้วยระบบการประกันสังคมและการให้ความช่วยเหลือทางสังคม ในขณะนี้คนไทยกว่า 44 ล้านคนได้รับประโยชน์ โดยตรงหรือได้รับการชดเชยในระดับหนึ่ง มีการประมาณการเบื้องต้นว่าครัวเรือนกว่าร้อยละ 80 ได้รับความ ช่วยเหลือทางสังคมในปี 2563 
  • เงินเยียวยาทั้งหมดในปี 2563 มีประมาณ 3.86 แสนล้านบาทหรือราวร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศ ทำให้การให้ความช่วยเหลือทางสังคมทั้งหมดอยู่ที่ราวร้อยละ 3.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศ เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าจากร้อยละ 0.77 ในปี 2562 เงินเยียวยาจำนวนมากส่งไปถึงแรงงานนอก ระบบและเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนกลุ่มนี้ไม่ถูกจัดเป็นกลุ่มเปราะบาง 
  • ในเดือน พ.ค. 2564 รัฐบาลเห็นชอบกับการกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาอุดหนุนช่วยเหลือ ครัวเรือนต่อไปอีกและอาจจะกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้ราว 1.5 จุดร้อยละในกรณี สมมติฐาน (Counterfactual Scenario)

ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือทางสังคมในการรับมือโควิด-19 เป็นที่น่าพอใจในหลายด้าน ประเทศไทยยังสามารถ สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบความคุ้มครองทางสังคมเพิ่มขึ้นได้อีก 

  • เจาะจงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลเพื่อให้แน่ใจว่าผู้รับประโยชน์กลุ่มเปราะบางได้รับความช่วยเหลือ อย่างพอเพียง 
  • กำหนดและติดตามชุดมาตรการให้ประโยชน์ขั้นต่ำสุดและสูงสุดที่ครัวเรือนอาจได้รับเพื่อจำกัดภาระทางการคลัง โดยรวม 
  • ครอบคลุมให้ถึงภาคนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ในระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศเพื่อให้ทุกคนสามารถ ได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นในทุกเวลาไม่ใช่เฉพาะแต่ในช่วงวิกฤตเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net