นิธิ เอียวศรีวงศ์: ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยบอกผมนานมาแล้วว่า ชื่อชนชาติ “ไท-ไต” ไม่เคยเป็นชื่อของชนชาติไทยมาก่อน แต่เพราะการศึกษาของฝรั่งในปลายศตวรรษทั่วไปที่ 19 และต้น 20 ต่างหากที่ได้รวมเอากลุ่มคนหลากหลายกลุ่มที่พูดภาษาอันเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดให้มาอยู่ในชาติพันธุ์เดียวกัน แล้วจัดให้เป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งเดียว ที่ฝรั่งให้ชื่อว่าไทหรือไต

ชื่อนี้ก็เอามาจากคนในประเทศสยามซึ่งเรียกตัวเองว่า “ไทย” รวมทั้งคนในรัฐชานและสิบสองจุไท ซึ่งเรียกตนเองว่า “ไต” เพราะเป็นกลุ่มคนที่ฝรั่งซึ่งศึกษาเรื่องนี้รู้จักดีที่สุด

ผมก็ฟังหูไว้หู คือเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งตลอดมา เพราะกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ไท-ไต” ซึ่งผมได้เคยพบปะพูดคุยด้วย ก็มีแค่สองกลุ่มคือในรัฐชานและสิบสองจุไทนี่เท่านั้น (หากไม่นับคนไทยสยาม) ใจที่ไม่เชื่อคุณสุจิตต์จึงคิดว่า ก็มีคนที่เรียกตัวเองอย่างนี้จริงนี่หว่า และน่าจะเรียกตัวเองอย่างนี้มาก่อนงานศึกษาของฝรั่งนานแล้วด้วย

คนในรัฐชานคงเรียกตนเองว่า “ไตโหลง” ซึ่งก็คือไทยใหญ่มานานแล้ว เช่นเดียวกับชาวไตดำไตขาวในสิบสองจุไทก็น่าจะเรียกตนเองว่า “ไต” มานานแล้วเหมือนกัน

แต่ในช่วงหลังมานี้ เกิดความจำเป็นแก่ผมที่จะต้องหันไปศึกษากลุ่มคนที่พูดภาษาไท-ไตนอกประเทศมากขึ้น ความไม่เชื่อครึ่งของผมจึงหายไป เหลือแต่ครึ่งที่เชื่อคุณสุจิตต์จนหมดตัวไปเลย

Sir James George Scott กล่าวว่า พวกเขินและลื้อในรัฐเชียงตุง รวมทั้งเลยไปถึงเชียงรุ่ง ต่างเรียกตนเองว่าเขินและลื้อ โดยปฏิเสธอย่างหนักแน่นเสมอว่าพวกตนไม่ใช่ “ไต” (ซึ่งในทัศนะของพวกเขาคงหมายถึง “ไตโหลง” หรือไทยใหญ่นั่นเอง)

ยิ่งกว่านี้ เมื่อดูจากรายงานของหมอดอดด์ เมื่อเดินทางออกจากสิบสองปันนาเรื่อยไปทางตะวันออก ก็ได้พบคนที่เรียกตนเองเป็นชื่อนั้นชื่อนี้อีกหลายกลุ่ม โดยไม่ได้ใช้ชื่อว่า “ไต” หรือ “ไท” เลย แม้ต่างพูดภาษาไท-ไตทั้งสิ้น ถึงขนาดที่หมอดอดด์เองซึ่งใช้คำเมืองก็สามารถสื่อสารกันได้ (มากบ้างน้อยบ้าง) เช่น “คนใหญ่”, ลุง, นุง และอื่นๆ นับเป็นสิบชื่อ หมอดอดด์เองต่างหากที่ไปใส่ชื่อไทหรือไตลงหน้าชื่อของเขา เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่ากำลังพูดถึงกลุ่มคนที่หมอดอดด์ (และนักวิชาการอังกฤษ, ฝรั่งเศส) จัดเป็นชาติพันธุ์ไท-ไต

ในภาษากลุ่มไท-ไตหลายกลุ่ม (หรืออาจจะทุกกลุ่ม… ผมไม่ทราบแน่) ก็ดังที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ ไทหรือไตแปลว่า “คน” ดังนั้น จะเรียกชาวลื้อว่า “ไตลื้อ” เขาก็รู้เรื่องและไม่ผิดอะไร เพราะเขาก็เป็น “คน” ลื้อจริงๆ

กลับมาสู่ประเทศไทยสยาม อันที่จริงผมหรือคนไทยอื่นๆ ก็ได้พบคนที่พูดภาษาไท-ไต แต่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าไท-ไตมานักต่อนักแล้ว แต่ชื่อสมมุติว่าชาติพันธุ์ไทยที่ฝรั่งสมมุติขึ้นแล้วรัฐไทยรับเอามาใช้ฝังหัวเราจนมองไม่เห็นเอง

เมื่อผมเป็นหนุ่ม เพื่อนชาวอีสานของผมบางคนมักแย้งทีเล่นทีจริงเสมอว่า “กูไม่ใช่ไทย กูเป็นลาว” เพราะเอาเข้าจริง “ลาว” เป็นคนพูดไท-ไตอีกกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ชื่อไท-ไตเรียกตัวเอง ชื่อชาติพันธุ์ที่แท้จริงของเขาคือ “ลาว” นั่นแหละ และคงเรียกตัวเองอย่างนี้มาแต่โบราณนานไกลแล้ว (ดังที่พบในเอกสารจีน, เวียดนาม และฝรั่ง)

เมื่อนักประวัติศาสตร์ลาวของประเทศลาวบอกว่า เขาคือคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับพวกไท-ไต เขาไม่ได้หมายถึงไทยสยาม แต่เขาหมายถึงชื่อชาติพันธุ์สมมุติที่นักวิชาการฝรั่งตั้งไว้ต่างหาก

คนพูดไท-ไตอีกกลุ่มที่ไม่เคยเรียกตัวเองว่าไท-ไตเลยคือพวกยวนหรือโยน เมื่อผมมาอยู่เชียงใหม่แรกๆ ผมแปลกใจว่าคนที่นี่ใช้คำว่า “ไทย” เหมือนเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่พวกเขา เช่น “เดี๋ยวนี้มีคนไทยเข้ามาอยู่เชียงใหม่มาก” ซึ่งคือคนจากภาคกลาง, ภาคใต้ (และรวมภาคอีสานด้วย) ผมคงเข้าใจไม่ผิดว่า ในเอกสารโบราณของภาคเหนือ ก็ล้วนเรียกตนเองว่ายวนหรือโยนเสมอ ไม่เคยเรียกตนเองว่าเป็นไทหรือไตเลย

ในจารึกสุโขทัย ยังเรียกคนที่อยู่แถบเมืองน่าน (และคงจะแพร่ด้วย) ว่า “กาว” หากตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่เป็นต้นมา ก็ถูกพวกยวนหรือโยนกลืนทางวัฒนธรรมไปมาก จนแยกระหว่าง “กาว” และ “ยวน” ในแพร่-น่านออกจากกันไม่ได้ ทำให้ในสมัยหนึ่งกรุงเทพฯ ไปเรียกพวกกาวว่า “ลาวกาว” ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่ลาว แต่กรุงเทพฯ แยกลาวและยวนออกจากกันไม่ได้ เพราะในสมัยหนึ่งเคยรวมเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน “ผู้ดี” กรุงเทพฯ จึงไปเข้าใจผิดว่าคนเหนือเป็น “ลาว” อย่างเดียวกับคนอีสาน

ดังนั้น ประเทศไทยจึงประกอบด้วยประชากรส่วนใหญ่ซึ่งไม่เคยเรียกตัวเองว่า “ไทย” มาก่อน แต่ผมก็ไม่ได้เห็นความขัดข้องอะไรนะครับ ประเทศที่ใช้ชื่อชาติพันธุ์แล้วอ้างว่าเป็นดินแดนของชาติพันธุ์นั้นก็มีถมถืดไปทั้งโลก เพียงแต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ชื่อ “ไทย” ในชื่อประเทศนั้น เป็นนามสมมุติที่นักวิชาการตะวันตกเพิ่งตั้งขึ้นไม่นานมานี้เอง เพื่อรวมประชาชนหลากหลายกลุ่ม (และคงจะหลากหลายเผ่าพันธุ์ด้วย) ซึ่งพูดภาษาไท-ไตไว้ภายใต้กลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเท่านั้น

ไม่มีความเป็น “ไทย” ที่ถือกำเนิดมาแต่ดึกดำบรรพ์ และเป็นสมบัติร่วมกันของประชากรของประเทศอย่างไม่เสื่อมคลาย ไว้ให้ยึดถือบูชาแต่อย่างไรทั้งสิ้น

ไม่น่าแปลกอะไรนัก ที่คนพูดภาษาไท-ไตไม่มีชื่อเรียกตนเองเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน ทั้งนี้เพราะพวกเขากระจายตัวในอาณาบริเวณกว้างขวางมาก่อนที่จะสร้างหน่วยการเมืองระดับรัฐของตนเองขึ้น ต่างเรียกตนเองหรือถูกคนใกล้เคียงเรียกด้วยคำที่แตกต่างกันไปหลายคำ

จนกระทั่งเมื่อเกิดรัฐของคนพูดภาษาไท-ไตขึ้นแล้ว โดยเฉพาะรัฐที่ขยายอำนาจไปได้กว้างขวางสักหน่อย จึงใช้ชื่อชาติพันธุ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคำว่าไทหรือไตเสมอไป ดังเช่นคนส่วนใหญ่ของสิบสองปันนาเรียกตนเองว่า “ลื้อ” เชียงราย-เชียงใหม่เรียก “ยวน” หลวงพระบางเรียกว่า “ลาว” กลุ่มของหนงจื้อเกาในกวางสีเรียกตนเองว่านง, นุงหรือลุง ตามแซ่ของหัวหน้า มีเฉพาะสี่รัฐใหญ่ในตอนใต้ คืออาณาจักรเมืองมาว-ฆ้อง, อาหม, สุพรรณบุรี-ลพบุรี-อยุธยา และสิบสองจุไท เท่านั้น ที่ประชากรเรียกชื่อชนชาติของตนว่าไตหรือไท

อย่างไรก็ตาม จะพูดว่าไต-ไทเป็นชื่อชาติพันธุ์ในรัฐทั้งสี่ก็กระไรอยู่ เพราะเอาเข้าจริงเป็นชื่อสถานะทางสังคมต่างหาก มีหลักฐานให้เห็นได้ชัดเจนว่า อย่างน้อยในสิบสองจุไทและอาหม คนที่เรียกตนเองว่าไต-ไทได้อภิสิทธิ์เหนือคนที่ไม่ได้เรียกตนเองอย่างนั้น และเพราะอภิสิทธิ์ตั้งอยู่บนทรัพยากรซึ่งต้องมีจำกัด (เช่นที่ดิน) จึงให้น่าสงสัยว่าพวกไต-ไทอาจเป็นคนส่วนน้อย เพียงแต่มีการจัดตั้งทางสังคมและการเมืองที่เหนือกว่าชนพื้นเมืองที่ไม่ใช่ไต-ไท จึงมีอำนาจเหนือกว่า

แม้ไม่มีหลักฐานชัดเช่นนั้นในสองรัฐที่เหลือ แต่ก็มีเค้าบางอย่างที่ส่อให้เห็นไปในทางเดียวกัน ดังมีคำกล่าวโบราณในรัฐสุพรรณบุรี-ลพบุรี-อยุธยาว่า “เป็นไทยไม่ใช่ทาส” (หรือ “แทตย์”)

สังเกตนะครับว่า ชาติพันธุ์กับอภิสิทธิ์แยกออกจากกันไม่ได้ในรัฐโบราณทั่วไป และนี่จะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกง่ายๆ ในรัฐประชาชาติซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่

เมื่อเริ่มแบ่งประเทศออกเป็นมณฑลใน ร.5 ตอนแรกยังใช้ชื่อมณฑลตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลาวกาว, ลาวเฉียง, หัวเมืองมลายู ฯลฯ แต่ในเวลาต่อมาก็เห็นว่าเป็นการแบ่งแยกข้าราษฎรออกเป็นกลุ่มๆ มากเกินไป จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์แทน เช่น มณฑลพายัพ, อุดร, อีสาน หรือใช้ชื่อหัวเมืองใหญ่เช่นนครศรีธรรมราช, ภูเก็ต ฯลฯ พร้อมทั้งพยายามยืนยันว่าประชากรในมณฑลต่างๆ นั้นล้วนเป็น “ไทย” ด้วยกัน

แต่ปัญหาของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามก็คือ แม้ทำให้ประชากรทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความเป็นไทยแล้ว แต่ไม่สามารถทำให้ประชากรกลายเป็น “พลเมือง” ได้ (ยกเว้นแต่ในความหมายตามตัวอักษรคือเป็น “กำลังของเมือง”) เพราะความหมายที่แท้จริงของคำว่า “พลเมือง” ก็คือเป็นเจ้าของ “ชาติ” ร่วมกัน พวกเขาทั้งหมดยังเป็นเพียง “ข้าราษฎร”

ลำดับขั้น (hierarchy) ของอภิสิทธิ์ยังมีความสำคัญสูงสุดในราชอาณาจักรสยาม ชื่อของชาติพันธุ์ร่วมไม่อาจลบล้างไปได้

อันที่จริงเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็น “ไทย” แม้เป็นการปลูกฝังชาตินิยมชาติพันธุ์ (ethno-nationalism) อันเป็นกระแสของรัฐยุโรปในสมัยนั้น ก็เดินตามรอยของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง และตามอย่างใกล้ชิดด้วย เพราะก็ยังคงรักษาลำดับขั้นของอภิสิทธิ์ไว้เหมือนเดิม (แม้จะเปลี่ยนกลุ่มชนชั้นนำจากเจ้ามาเป็นสามัญชน) ดังจะเห็นได้ว่าความเป็นไทยของท่านก็หาได้เน้นความสำคัญของความเสมอภาคไม่

(ราชการไทยยังยืนยันใช้คำว่า “ราษฎร” แทนคำว่า “ประชาชน” สืบต่อมาอีกนาน)

สิ่งที่จอมพล ป.เพิ่มเข้ามาก็คือ ขยายลำดับขั้นของอภิสิทธิ์มารวมเอากลุ่มชาติพันธุ์ไว้ด้วย ราษฎรที่เป็น “ไทย” ได้รับสิทธิที่ระบอบปกครองของท่านมอบให้อย่างครบถ้วน แต่ราษฎรที่ไม่ใช่ “ไทย” ย่อมได้สิทธิลดหลั่นลงมา ทั้งโดยกฎหมายและการปฏิบัติของราชการ

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ใช่ “ไทย” แท้นั้นเป็นคนต่างด้าว ซึ่งย่อมมีสิทธิ์น้อยกว่าพลเมืองเป็นธรรมดา แต่คนเหล่านั้นไม่ “ไทย” ด้วยเหตุอื่นๆ เช่น ไม่ได้นับถือพุทธ, มีพ่อเป็นจีนหรือชาติอื่น, พูดภาษาไทยกลางไม่ชัด ฯลฯ

คำร้องของราชการที่ยังใช้สืบมาจนเมื่อผมเป็นหนุ่มแล้ว นอกจากผู้เขียนคำร้องต้องระบุว่าเขามี “สัญชาติ” อะไรแล้ว ยังต้องระบุด้วยว่ามี “เชื้อชาติ” อะไรด้วย เชื้อชาติเกิดจากสัญชาติของบิดา ดังนั้น ผู้มีบิดาเป็นต่างด้าว แม้ตัวเขาเป็นไทย ก็เป็นไทยแค่ครึ่งเดียว เป็นลำดับขั้นทางสิทธิที่ไม่เท่าเทียมทางกฎหมายและการปฏิบัติ คงจำได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งในนับสิบฉบับของไทย ระบุชัดเจนเลยว่า สิทธิทางการเมืองของผู้มีบิดาเป็นต่างด้าวต้องถูกจำกัดลง เช่น ไม่อาจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้

อย่างไรก็ตาม สังคมการเมืองไทยเปลี่ยนไปในระยะสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา การจัดลำดับขั้นของสิทธิพลเมืองไม่เป็นที่ยอมรับของคนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่ “ราษฎรเต็มขั้น” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติ สิทธิเลือกตั้งของพลเมืองมีความแน่นอนมั่นคงขึ้น และกลายเป็นเครื่องมือให้ราษฎรเหล่านี้ใช้ต่อรองเพื่อความเท่าเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เปลี่ยนไปสู่การแลกเปลี่ยนในตลาดแบบซ่อนรูป “ราษฎรเต็มขั้น” จึงเปลี่ยนไปเป็น “พลเมืองเต็มขั้น” มากขึ้นทุกที

ในบรรดาการต่อรองของราษฎรไทยเหล่านี้ ผมคิดว่าการต่อรองของคนไทยเพียงครึ่งเดียวน่าสนใจเป็นพิเศษ ลูกจีน, ลูกแขก, ลูกฝรั่ง, ลูกญวน ฯลฯ ต่างบรรลุความเป็นไทยเต็มขั้นด้วยการแสดงความภักดีต่อชาติ แต่ชาติที่เขารู้จักคุ้นเคยประกอบด้วยสถาบันเก่าที่เป็นตัวแทนของชาติมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั่นคือชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ ดังนั้น เราจึงได้เห็นคนเชื้อสายอินเดียเป็นแกนนำพันธมิตรฯ เห็นกลุ่ม “ลูกจีนรักชาติ” ในหมู่พันธมิตรฯ และเห็นลูกฝรั่งที่แสดงความภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างสุดโต่ง

ในขณะเดียวกัน ชาติในความหมายถึงสถาบันเก่าเหล่านี้ก็กีดกันพลเมืองบางกลุ่มออกไป โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้นับถือพุทธ และโดยเฉพาะไม่นับถือพุทธแล้วยังอยากรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของตนไว้สืบไปด้วย การต่อรองของคนเหล่านี้มีอยู่สองแนวทาง คือแสดงความภักดีต่อสถาบันชาติและพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป หรือมิฉะนั้นก็รณรงค์นิยามความหมายของชาติและพระมหากษัตริย์ใหม่ ชาติอาจหมายถึงองค์ประกอบของพลเมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม หรือชาติอาจหมายถึงการแยกออกจากรัฐไทยในระดับใดระดับหนึ่ง ส่วนพระมหากษัตริย์หมายถึงบุคคลผู้มีอำนาจ ซึ่งอาจปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการคุกคามของรัฐไทย (ดังที่เรียกกันว่า “นายหลวง”)

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_438539

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท