'อำนาจนำในรั้วมหาลัย' คุยกับ นศ. ม.ศิลปากร ผู้คิดแคมเปญปรับ #ลดค่าเทอมให้นักศึกษา

คุยกับ 'โอ๊ต' นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรผู้ริเริ่มแคมเปญล่ารายชื่อ #ลดค่าเทอมให้นักศึกษา เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารลดค่าเทอมช่วงเรียนออนไลน์ลง 30-50% พร้อมลำดับเหตุการณ์ก่อนที่นายกสโมสรนักศึกษา ม.ศิลปากร จะประกาศลาออก เพราะได้รับแรงกดดันจาก 'ผู้มีอิทพลด้านกิจการนักศึกษา' จนตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์ในหมู่นักศึกษา ม.ศิลปากร

21 ก.ค. 2564 สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรออกแถลงการณ์ลงวันที่ 17 ก.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรพิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลง 50% ให้แก่นักศึกษาทุกวิทยาเขต เพราะนับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด มหาวิทยาลัยเปลี่ยนนโยบายการเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบออนไลน์ นักศึกษาจึงไม่ได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์การเรียน หรือพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และนโยบายช่วยเหลือเยียวยาจากทางมหาวิทยาลัย เช่น การลดค่าเทอมให้ 10% นั้นไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากแคมเปญล่ารายชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรที่ต้องการเรียกร้องให้ผู้บริหารปรับเปลี่ยนมาตรการเยียวยา โดยเปิดให้ลงชื่อตั้งแต่ วันที่ 9 มิ.ย.-17 ก.ค. 2564 ซึ่งรวบรวมรายชื่อได้ 10,322 คน คิดเป็น 42% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมดของมหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน หลังสิ้นสุดแคมเปญร่วมลงชื่อ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรได้รวบรวมรายชื่อนักศึกษาทั้งหมดและยื่นเรื่องต่ออธิการบดี รวมถึงคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ จากคณะผู้บริหาร

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรอีกกลุ่มหนึ่งได้จัดทำแคมเปญล่า 6,000 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนโยบายลดค่าเทอม 10% ให้เพิ่มเป็น 30-50% โดยเปิดให้ลงร่วมลงชื่อผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 13-19 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักศึกษาร่วมลงชื่อเกินจำนวนที่ผู้จัดทำตั้งเป้าไว้

หลังสิ้นสุดระยะเวลาร่วมลงชื่อ กลุ่มนักศึกษาผู้จัดทำโครงการได้นำรายชื่อนักศึกษากว่า 6,000 รายชื่อที่รวบรวมได้ เข้ายื่นต่อสโมสรนักศึกษาในวันที่ 19 ก.ค. 2564 เพื่อให้สโมสรฯ นำเรื่องส่งต่อไปยังผู้บริหารของมหาวิทยาลัย แต่ในวันถัดมา (20 ก.ค. 2564) กลับพบว่านายกสโมสรนักศึกษาได้ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าขอลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากได้รับแรงกดดันจาก 'ผู้มีอิทธิพลด้านกิจการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปากร' ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่เคยหาเสียงไว่ก่อนหน้านี้ได้

แถลงการณ์ลาออกจากตำแหน่งของนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 จากเฟซบุ๊ก Wuttichai Tiyafeil

โอ๊ต (นามสมมติ) นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้จัดทำแคมเปญล่า 6,000 รายชื่อ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทเมื่อวานนี้ (20 ก.ค. 2564) ว่า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ทางครอบครัวของนักศึกษาหลายคนลดลง ซึ่งครอบครัวของตนก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบ จึงได้เริ่มทำแคมเปญนี้ขึ้นมา

"โดยจำนวนรายชื่อที่รวบรวมได้ทะลุ 6,000 รายชื่อไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น่าสนใจมากๆ แต่เรื่องที่น่าผิดหวังมากๆ คือหลังจากได้ยื่นเรื่องไปให้ทางมหาวิทยาลัยผ่านทางสโมสรนักศึกษาแล้ว ผลที่ได้กลับมาคือผู้ที่เป็นกระบอกเสียงให้กับนักศึกษาอย่างนายกสโมสรนักศึกษาถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากช่วยในการผลักดันแคมเปญดังกล่าว และจากการร่วมลงนามในได้ลงแถลงการณ์ร่วมมหาวิทยาลัยที่ได้กล่าวไปข้างต้น" โอ๊ตกล่าว

มันยุติธรรมจริงๆ ใช่ไหมกับการที่ต้องจ่ายค่าเทอมถึง 90% แล้วต้องมานั่งเรียนออนไลน์ เพราะว่าหลายมหาวิทยาลัยก็ได้คืนค่าเทอมเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งมันไม่สามารถจุนเจือนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบได้จริงๆ มันไม่ได้เป็นการลดภาระให้นักศึกษาเลย ฉะนั้นผมมองว่าถ้าลดได้ถึง 50% จึงจะสามารถลดภาระให้นักศึกษาได้หลายๆ ครอบครัว

"สโมสรนักศึกษานั้นไม่ได้ต่างอะไรจากร่างทรงของมหาวิทยาลัย เพราะถ้ามหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับเรื่องอะไร ก็จะมาบีบให้สโมสรให้ทำตามที่ต้องการ จึงทำให้หลายๆ ฝ่ายบีบนายกสโมสรให้ลาออก เพราะไม่ต้องการให้เรื่องนี้รับรู้ในวงกว้าง ซึ่งผมอยากให้สังคมได้รับรู้ว่าผู้แทนของนักศึกษาได้ถูกบีบบังคับให้ลาออก โดยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ณ ปัจจุบันเขาคนนั้นได้พ้นสภาพจากการเป็นนายกสโมสรนักศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" โอ๊ตกล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ โอ๊ตยังระบุว่า ก่อนหน้านี้ นักศึกษาเคยรวบรวมรายชื่อส่งไปให้ทางมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ไร้ซึ่งคำชี้แจงใดๆ จากทางผู้บริหาร โอ๊ตจึงมองว่าการเรียกร้องในระดับมหาวิทยาลัยอาจไม่เพียงพออีกต่อไป และในขณะนี้ เขาได้ประสานกับกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นไว้แล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในอนาคตจะมีการรวมตัวกันเพื่อไปยื่นจดหมายถึงเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเรียกร้องให้มีการเยียวยานักศีกษา

"มันยุติธรรมจริงๆ ใช่ไหมกับการที่ต้องจ่ายค่าเทอมถึง 90% แล้วต้องมานั่งเรียนออนไลน์ เพราะว่าหลายมหาวิทยาลัยก็ได้คืนค่าเทอมเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งมันไม่สามารถจุนเจือนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบได้จริงๆ มันไม่ได้เป็นการลดภาระให้นักศึกษาเลย ฉะนั้นผมมองว่าถ้าลดได้ถึง 50% จึงจะสามารถลดภาระให้นักศึกษาได้หลายๆ ครอบครัว" โอ๊ตกล่าว

"ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจต่างรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดีแต่ทำไมถึงไม่มีการเยียวยาในเรื่องนี้เลย คือเขาให้เรามาแค่ 10% ซึ่งผมกล้าพูดเลยว่ามันไม่พอแน่นอน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยเยียวยาด้วยการให้เงินช่วยเหลือนักศึกษาคนละ 500 บาท แต่ก็ยังมีนักศึกษาหลายคนที่ไม่ได้รับเงินดังกล่าว อีกทั้งมันก็ไม่ได้ช่วยลดภาระอะไรให้นักศึกษาเลย"  โอ๊ตกล่าวทิ้งท้าย พร้อมบอกว่าแถลงการณ์ร่วมมหาวิทยาลัย 16 แห่งที่เพิ่งออกมาล่าสุดนั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก

แถลงการณ์ร่วม 16 มหาวิทยาลัย ขอลดค่าเทอม 30-50%

วานนี้ (20 ก.ค. 2564) เวลา 15.30 น. เพจสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรเผยแพร่แถลงการณ์ร่วมมหาวิทยาลัย 16 แห่ง เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้แทนนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั้งหมดมีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ดังนี้

  1. มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรมีการคืนเงินค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของนิสิตนักศึกษา ในอัตราร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50 ของค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาในภาคการศึกษานี้หรือจนกว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยตามปกติ
  2. เรียกร้องให้คณะกรรมการกองทุนเงินเพื่อการศึกษาพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ยืมเงินกองทุน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในขณะนี้
  3. เรียกร้องให้ผู้บริหารของแต่ละมหาวิทยาลัยรับฟังปัญหาที่นิสิตนักศึกษากำลังประสบและดำเนินการแก้ไขได้อย่างตรงจุด โดยคำนึงถึงนิสิตนักศึกษาเป็นหลัก

ทั้งนี้ทุกองค์กรนิสิตนักศึกษาหวังว่า หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จะร่วมหาแนวทางในการพิจารณาและแก้ไขปัญหากันอย่างตรงจุด และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนิสิตนักศึกษาได้

ปกกมล พิจิตรศิริ ผู้รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นนักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท