#คืนค่าเทอมให้นักศึกษา เสียงสะท้อนจากนักล่าปริญญาในวิกฤต COVID-19 และการแก้ปัญหาด้วยรัฐสวัสดิการ

ฟังเสียงตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 5 แห่งทั่วประเทศถึงมาตรการเยียวยา 'ผู้เรียน' ของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด พร้อมสะท้อนภาพสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ รวมถึงความต้องการที่แท้จริงของนิสิตนักศึกษาที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเรียนออนไลน์ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดรุนแรงในไทยมานานนับปี แต่กลับไร้การจัดการที่มีประสิทธิภาพจากรัฐบาล พร้อมฟังข้อเสนอแก้ปัญหาการศึกษาในระยะสั้นและระยะยาวด้วย 'รัฐสวัสดิการ' จาก รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

สืบเนื่องจากวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 5 แห่งทั่วประเทศ ร่วมกันยื่นหนังสือให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเรียกร้องให้มีการเยียวยานักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างถ้วนหน้า และขอให้เร่งแก้ปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระบทต่อการใช้ชีวิตการเรียนของนักศึกษาและชีวิตประชาชน โดยทาง สนท. และตัวแทนนักศึกษาได้ยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ดังนี้

  1. รัฐจะต้องอุหนุน ช่วยเหลือ หรือเยียวยาภาระค่าใช้จ่ายค่าเทอมของนักศึกเรียน นิสิต นักศึกษาที่เรียนออนไลน์ทั่งหมดทั่วประเทศ เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของจำนวนค่าเทอมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาแต่ละบุคคล
  2. เพื่อให้มหาวิทยาลัยและบ้านเมืองคลี่คลายสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด รัฐบาลจำเป็นจะต้องจัดหาวัคซีนหลากหลายทางเลือกในปริมาณที่เพียงพอกับประชาชน สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนโดยทั่ว เพื่อสร้างความมั่นใจ และกู้สภาวะปกติของบ้านเมือง

ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้มุ่งหวังเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชาติ เพราะความมั่นคงของรัฐคือความมั่นคงของประชาชน หากรัฐสร้างภาระ และไม่ให้ช่วยเหลือกับนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เป็นความหวัง และอนาคตของชาติ มิต่างจากการตัดอนาคตของชาติด้วยน้ำมือของรัฐบาลเอง

ภาพการยื่นหนังสือที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา
 

ด้วยเหตุนี้ ประชาไทจึงชวนตัวแทน สนท. และตัวแทนนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มาร่วมพูดคุยเรื่องผล
กระทบที่พวกเขาได้รับจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงส่งเสียงสะท้อนถึงมาตรการเยียวยาที่พวกเขาและนักศึกษาคนอื่นๆ ได้รับจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดว่าส่งผลดีหรือผลเสียต่อผู้เรียนอย่างไรบ้าง

ณัฐชนน ไพโรจน์ ตัวแทน สนท.

 

ณัฐชนน ไพโรจน์ หรือนัท นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทน สนท. กล่าวว่า โควิด-19 นั้นเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องเผชิญ และแต่ละประเทศนั้นมีวิธีการแก้ไขที่จะไม่ให้ประชาชนได้ผลกระทบจากความเสียหายทางเศรษฐกิจ หลายประเทศก็สามารถที่แก้ไขปัญหาตรงส่วนนี้ได้ แต่ตัดภาพมาที่ประเทศไทย โควิด-19 ระบาดมาแล้วหนึ่งปีเต็มแต่รัฐบาลไม่มีท่าทีว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เลย จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ซึ่งหากมีการล็อกดาวน์ก็จะกระทบต่อผู้คนที่หารายได้ตอนกลางคืนไปด้วย อย่างกลุ่มนักดนตรี พ่อค้า-แม่ค้า รวมถึงนักศึกษาซึ่งไม่สามารถไปเรียนที่สถานศึกษา และไม่สามารถทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยาภาพต่างๆ ได้ หรือแม้แต่กิจกรรมอย่างการชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพก็ไม่สามารถทำได้

"สำหรับการเยียวยาจากมหาวิทยาลัย จากที่ทราบ หลายๆ ที่มีการเยียวยาบางอย่าง เช่น การแจกซิมอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงโปรมแกรมที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และการให้ทุนการศึกษาช่วงโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งแน่นอนเป็นสิ่งที่ควรมี แต่สำหรับเราแค่นี้อาจยังไม่พอและไม่ถ้วนหน้า เพราะนักศึกษาไม่ได้เข้าไปใช้พื้นที่หรืออุปกรณ์ของมหาวิทยาลัย แต่ยังต้องจ่ายค่าเทอมที่แพง และสิ่งเหล่านี้ได้ไปกระทบต่อครอบครัวของนักศึกษาเหมือนกัน" ณัฐชนน กล่าว

ส่วนเหตุผลว่าทำไม สนท. และตัวแทนนักศึกษาต้องไปเรียกร้องต่อรัฐบาล ณัฐชนน ให้เหตุผลว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตนเห็นว่านิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยเรียกร้องให้คืนค่าเทอม บางแห่งขอคืนเงิน 20% บางแห่งก็ 30% ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐบาลซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยไม่มีศักยาภาพพอที่จะบริหารได้ อีกทั้งไม่มีวี่แววว่าจะเปิดประเทศได้ แม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศไปว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน แต่กลับไม่มีความน่าเชื่อถือ ฉะนั้น รัฐบาลจึงเป็นตัวแสดงที่ต้องลงมาช่วยเหลือเยียวยาภาระค่าใช้จ่ายของนักศึกษา และต้องจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนมากกว่านี้ เพื่อให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

"โดยส่วนตัวแล้ว การเรียนมหาวิทลัยไม่ใช่เรียนแค่ทฤษฎี แต่รวมไปถึงการใช้ชีวิตและการทำกิจกรรม แต่พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ทุกอย่างติดขัดไปหมด จึงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ" ณัฐชนน กล่าว

ณัฐชนน ทิ้งท้ายไว้ว่า "ช่วยเหลือประชาชนคือหน้าที่ของคุณ แต่ถ้าคุณไม่ทำประชาชนจะตัดสินหน้าที่ของคุณเอง"

วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ตัวแทนพรรคปฏิวัติมอดินแดง

 

วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง หรือเซฟ นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และตัวแทนพรรคปฏิวัติมอดินแดง กล่าวโดยภาพรวมว่า ผลกระทบที่ได้รับหลักๆ เป็นเรื่องอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ และครอบครัวของนักศึกษาหลายครอบครัวมีรายได้ลดลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม หรืออาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้ลดค่าเทอมแต่เป็นการจ่ายคืนกลับมา สุดท้ายนักศึกษาก็ต้องจ่ายค่าเทอมเท่าเดิม และนี่ยังไม่รวมถึงนักศึกษาที่จ่ายสัญญาค่าเช่าหอพักไปแล้ว แต่กลับเจอการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แน่นอนว่าการเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ยิ่งอยู่ในสภาวะที่เศรษฐกิจการเมืองของประเทศต่ำตกสภาพจิตใจจึงยิ่งแย่กว่าเดิม "แต่มีอย่างเดียวที่ไม่แย่ลงเลยคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น"

วชิรวิทย์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยที่ตนเรียนอยู่นั้นมีมาตรการเยียวยานักศึกษา 4 มาตรการ ได้แก่ คืนค่าเทอมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 10 % ให้แก่นักศึกษาทุกคณะ, ให้ยืมอุปกรณ์การเรียน, ให้ทุนการศีกษาเป็นเงิน 5,000 บาท จำนวน 2,000 ทุน และผ่อนผันชำระค่าทำเนียมการศึกษา โดยมาตรการทั้งหมดนี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2563 และยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนใดๆ แต่วชิรวิทย์คิดว่ามาตรการเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะเยียวยานักศึกษาอย่างครอบคลุม เช่น การคืนค่าเทอม 10% เพราะในสภาพภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ นักศึกษาควรได้รับการเยียวยาที่ดีกว่านี้ ส่วนในเรื่องของทุนนั้นก็ไม่พอกับจำนวนนักศึกษาที่มีถึง 30,000 คนโดยประมาณ อีกทั้งวิธีการพิจารณาให้ทุนของทางมหาวิทยาลัย คือ การ "แข่งกันประมาณความจน" ซึ่งวชิรวิทย์คิดว่ามหาวิทยาลัยควรจัดการเยียวยาแบบถ้วนหน้า อย่างน้อย คือลดค่าเทอมให้นักศึกษาทุกคน 30% แต่มหาวิทยาลัยกลับให้เหตุผลว่าทำไม่ได้เพราะติดข้อบังคับของกระทรวงฯ หรือข้อสัญญาที่ทำไว้กับผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย ทั้งที่สถานการณ์เช่นนี้ มหาวิทยาลัยควรสามารถต่อรองกับผู้รับเหมาเพื่อนำเงินส่วนดังกล่าวมาเยียวยานักศึกษา

"โดยในส่วนที่ต้องออกมาเรียกร้องต่อกระทรวง อว. หรือรัฐบาล ควรพูดด้วยว่ามหาวิทยาลัยมีทั้งในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะที่อยู่นอกระบบปฏิเสธไม่ได้ว่า[มหาวิทยาลัย]ต้องหาเลี้ยงชีพตนเอง ทั้งๆ ที่ มหาวิทยาลัยนอกระบบก็เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่รัฐหรือกระทรวง อว. กลับให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้แบกรับสิ่งเหล่านี้ไว้ฝ่ายเดียว ซึ่งสำหรับเรามหาวิทยาลัยควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องทำอยู่แล้วในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ และหากถามว่าเราคาดหวังอะไรกับรัฐบาลชุดนี้ไหม เราก็ไม่ได้คาดหวัง แต่มันจำเป็นที่ต้องเรียกร้อง" วชิรวิทย์กล่าว

"ถ้าจะฝากให้ผู้บริหารประเทศแก้ไขปัญหา เราก็คงฝากอะไรไม่ได้เพราะรัฐบาลชุดนี้มีผลพวงมาจากการทำรัฐประหาร ซึ่งก็ไม่ได้เห็นหัวประชาชนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ฝากจริงๆ รัฐบาลชุดนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ ฉะนั้นรัฐบาลควรคืนอำนาจให้กับประชาชน และให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศนี้เอง" วชิรวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

สูฮัยมี ลือเเบซา ประธานสภานักศึกษา มอ. ปัตตานี

 

สูฮัยมี ลือแบซา หรือมีน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในด้านการทำงานสภานักศึกษา จากเดิมที่สามารถใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยได้ แต่พอเกิดโรคระบาด รูปแบบการทำงานจึงเปลี่ยนไป ขณะเดียวกัน สูฮัยมี ก็เผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจ คือ รายได้ที่เคยรับเป็นปกติจากทางบ้านลดลง เพราะโควิค-19 ส่งผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว จึงทำให้รายได้ขาดหายไปพอสมควร รวมถึงรายได้จากการทำงานฟรีแลนซ์ของตนเองก็ลดน้อยลง นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านสภาพจิตใจ เพราะการทำงานสภานักศึกษาเพราะต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่เกือบทั้งหมด อีกทั้งยังต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ตนรู้สึกมีความเครียดและรู้สึกกดดันมากขึ้น

สูฮัยมี กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานสภานักศึกษา จึงได้เปิดช่องทางรับฟังปัญหาของนักศึกษาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ ซึ่งสรุปความต้องการได้ 5 ข้อ ได้แก่ อยากให้ลดค่าเทอม 50%, ขอให้จัดหาซิมอินเทอร์เน็ตจากหลายๆ เครือข่าย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักศึกษา, เพิ่มการยืมอุปกรณ์การเรียนจากโน้ตบุ๊ก 35 เครื่อง เป็น 100 เครื่อง, ปรับรูปแบบการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ และเร่งฉีดวัคซีนให้กับนักศึกษา อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยตอบรับข้อเสนอเพียง 3 ข้อเท่านั้น ได้แก่ เรื่องการจัดหาซิมอินเทอร์เน็ต การให้ยืมอุปกรณ์การเรียน และการปรับรูปแบบการสอน ส่วนเรื่องค่าเทอมนั้น จากที่สภานักศึกษาเสนอไปว่าให้ลด 50% แต่มหาวิทยาลัยยืนยันว่าจะลดให้แค่ 20% ในขณะที่เรื่องการฉีดวัคซีนนั้น มหาวิทลัยยังให้คำตอบไม่ได้ว่านักศึกษาจะได้ฉีดเมื่อไร เพราะวัคซีนที่จังหวัดได้รับมามีจำนวนไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ สูฮัยมีจึงคิดว่าการผลักดันในระดับมหาวิทยาลัยคงไม่เพียงพออีกต่อไป ทำให้ตนมาเข้าร่วมกับ สนท. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เร่งแก่ปัญหาโดยเร็ว ทั้งเรื่องการเยียวยาค่าเทอมและการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อนักศึกษาและประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาระดับสถาบัน แต่เป็นปัญหาระดับชาติ

สุดท้าย สูฮัยมี ขอฝากถึงรัฐบาลว่า "ถ้าบริหารไม่เป็นก็ลาออกไปซะ และจัดการเลือกตั้งเปิดโอกาสให้คนอื่นที่บริหารเก่งเข้ามาทำงานตรงนี้ เพราะที่ผ่านมาตลอด 7 ปี พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการบริหารของรัฐบาลชุดนนี้เป็นอย่างไร" 

กิตติพศ พุกจันทร์ สมาชิก NU-Movement

 

กิตติพศ พุกจันทร์ หรือเอ็ม นิสิตคณะสังคมศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาชิกกลุ่ม NU-Movement ผู้ทำงานในฐานะสมาชิกสภานิสิต กล่าวว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัดเยียวยาให้กับนิสิตในตอนนี้ คือ การลดค่าเทอม 10% ให้กับนิสิตระดับปริญญาตรีปี พ.ศ. 2564 เท่านั้น ผ่อนผันการชำระค่าเทอมโดยไม่มีค่าปรับ และลดค่าธรรมเนียมหอพักมหาวิทยาลัยให้ 10% ซึ่งกิตตพศ มองว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการเยียวยา เพราะการลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของนิสิตเพียง 10% นั้นน้อยเกินไปกับสถานการณ์แบบนี้ เนื่องจากโควิด-19 ระบาดมานานแล้วแต่รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้จัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชน รวมไปถึงการจัดหาวัคซีนที่ช้าและไร้คุณภาพ

"ถ้าพูดถึงผลกระทบจากโควิด-19 ในด้านการเรียนเราคิดว่าประสิทธิภาพลดลง เนื่องด้วยไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์ หรือบรรยายกาศในการเรียนมีแต่ผู้สอนพูดอยู่คนดียว ส่วนผลกระทบโดยรวม แน่นอนว่าสภาวะทางเศรษฐกิจเช่นนี้ต้องส่งผลกระทบทั้งทางครอบครัวและตัวนิสิตด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้" กิตติพศ กล่าว

"การแก้ปัญหาเหล่านี้ในระดับมหาวิทยาลัย เราเคยเข้าไปคุยกับที่ปรึกษาสภานิสิตเพื่อหาทางแก้ไข คำตอบที่ได้คือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมีมติให้ลดค่าเทอม 10% ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่ากระทรวง อว. มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงสร้างนี้หรือไม่ อีกทั้งยังไม่สนกระแสการตั้งคำถามจากนิสิตที่เรียนซัมเมอร์ (ภาคฤดูร้อน) ในช่วงโควิด-19 ว่า 'ทำไมถึงไม่เยียวยาพวกเขาด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน' อีกทั้งการเรียกร้องสิทธิการเยียวยาในระดับมหาวิทยาลัยเองก็มีปัญหาเพราะโครงสร้าการงานทำของสภานิสิตไม่มีประสิทธิภาพพอในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่างด้วยตนเอง ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นว่าสภานิสิตไม่ได้มีความเป็นรัฐสภา แต่มีความเป็นข้าราชการมากกว่า" กิตติพศ กล่าว

กิตติพศ กล่าวด้วยว่า "รัฐบาลควรเร่งหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ประชาชนและนิสิตนักศึกษาได้ฉีดโดยเร็ว เพราะการเรียนออนไลน์นั้นเพิ่มความเครียดให้กับนักศึกษา อีกทั้งยังต้องเผชิญสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำยิ่งเพิ่มความเครียดให้มากขึ้น จะเห็นได้จากข่าวการฆ่าตัวตายรายวันของทั้งประชาชน และนักศึกษา"

"ถ้ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ ก็ควรจะลาออกไป เพราะการที่จะมาบริหารประเทศงูๆ ปลาๆ แบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องตลก เพราะมันส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในระยะยาว" กิตติพศ กล่าวทิ้งท้าย

ธนาธร วิทยาเบญจางค์ ตัวแทนพรรคอนุรักษ์นิยมพัฒนา

 

ธนาธร วิทยาเบญจางค์ หรือฮ่องเต้ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนพรรคอนุรักษ์นิยมก้าวหน้า กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ตนมีรายได้เสริมลดลง เพราะหางานทำยาก จะขายของเล็กๆ น้อยๆ ก็ดูติดขัดไปหมด อีกทั้งการเดินทางไปคุยงานที่ต่างจังหวัดก็ไม่ค่อยสะดวก

ในส่วนของการเรียน ธนาธร กล่าวว่า เขารู้สึกหงุดหงิดมากกับการใช้แอปพลิเคชัน โดยล่าสุด มีการสั่งงานให้ไปคุยกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ซึ่งแอปพลิเคชันไม่สามารถตอบโจทย์ในการติดต่อเพื่อนๆ อีกทั้งจะเดินทางไปคุยงานกับเพื่อนๆ ก็ทำได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าจะไปตามเพื่อนได้ทางไหน เนื่องจากไม่รู้จักหน้ากันด้วยซ้ำ ยิ่งการให้ไปหาเพื่อนต่างคณะยิ่งยากกว่าเดิม

"ส่วนการเยียวยาจากมหาวิทยาลัยได้ลดค่าเทอมและค่าหอ 10% รวมไปถึงการให้ทุน 'ยากไร้' ซึ่งสำหรับเราไม่ค่อยถูกใจสักเท่าไร แต่มหาวิทยาลัยกลับให้เหตุผลว่าไม่อยากให้เงินนักศึกษาฟรีๆ แต่อยากให้ทำงานแลกกับทุนแทน" ธนาธร กล่าว

"แต่เราในฐานะที่ทำงานเป็นตัวแทนนักศึกษาก็ได้เข้าไปพูดในที่ประชุมว่า การเยียวยาของมหาลัยนั้นไม่เพียงพอ เพราะจำนวนมันน้อยมาก และแทบไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญสักเท่าไร อย่างขั้นต่ำของคณะที่เราเรียนอยู่ จากค่าเทอม 15,000 บาท ได้คืนมาแค่ 1,500 บาท ซึ่งไม่สามารถช่วยเยียวยาได้จริง นอกจากนี้ เรายังได้สะท้อนต่อที่ประชุมว่าการเข้าถึงเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเข้าถึงได้ยาก ทั้งเว็บพัง เว็บล่ม ส่วนในเรื่องวัคซีน ทางมหาลัยพูดว่าอยากให้นักศึกษามาฉีดกันเยอะๆ โดยส่วนใหญ่เป็นแอสตราเซเนกา (Astra Zeneca) ซึ่งเราก็ได้เสนอในที่ประชุมว่าควรเปิดการจองล่วงหน้า ถ้า (ผู้สื่อข่าว - วัคซีน) ตัวไหนที่นักศึกษาอยากได้เข้ามาก็ให้นักศึกษาไปฉีด เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักศึกษา ส่วนการเรียกร้องนอกห้องประชุม เราอยากให้มหาวิทยาลัยเปิดเผยข้อมูลวัคซีนที่จะให้นักศึกษาฉีดอย่างตรงไปตรงมา และพูดถึงข้อดีข้อเสียอย่างเปิดเผย ไม่ใช่ให้นักศึกษาฉีดเพื่อให้มันครบๆ" ธนาธร กล่าว

ส่วนสาเหตุที่ต้องไปเรียกร้องกับทางกระทรวง อว. หรือรัฐบาล ธนาธร ระบุว่าเป็นเพราะมหาวิทยาลัยบอกว่ามีงบไม่พอสำหรับการเยียวยา ซึ่งก็ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลได้ไม่ให้งบในส่วนนี้มา ธนาธร จึงคิดว่าถ้ารัฐบาลตั้งใจและมีความจริงใจที่จะเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะนักศึกษาหรือระบบการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานของประเทศ รัฐบาลควรจะมีท่าทีในการเยียวยามากกว่านี้ ซึ่งทุกวันนี้ตนก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำอะไร การเยียวยานักศึกษาและครอบครัวเป็นหน้าที่ของรัฐที่ควรจะจัดการได้ แต่ทุกวันนี้การศึกษากลับมีปัญหาจากการเรียนออนไลน์ อีกทั้งอุปกรณ์การเรียนที่ไม่พร้อม ระบบเรียนไม่พร้อม ก็ยังจะดึงดันให้มีการเรียนออนไลน์ โดยไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ 

สุดท้าย ธนาธร ฝากถึงรัฐบาลชุดนี้ว่า "ถ้าบริหารไม่ได้ก็ออกไป ปล่อยให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นผู้ร่าง ให้คนที่มีความสามารถจริงๆ มาบริหาร"

ภาพสะท้อนจากประเทศรัฐสวัสดิการในวิกฤตโควิด-19 โดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำภาควิชา​ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับทางผู้สื่อข่าวว่า หัวใจใหญ่ที่ต้องรักษาไว้ให้ได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มี 3 อย่าง คือ สุขภาพของประชาชน สวัสดิการรายได้ และการพยายามรักษางาน

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (ภาพจาก www.humanonstreet.org)
 

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศซึ่งมีรัฐสวัสดิการให้ความสนใจน้อย คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้ได้คือชีวิตของผู้คน ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการได้พยายามทำให้คนในประเทศไม่สูญเสียงาน เพราะหากสูญเสียงานไปแล้ว โอกาสที่จะกลับมาทำงานและมีรายได้แบบเดิมนั้นจะยิ่งน้อยลง อีกสิ่งที่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการพยายามทำ คือ การเยียวยาที่เน้นระบบถ้วนหน้าในระยะสั้น ส่วนระยะกลางและระยะยาวจะเป็นเรื่องการรักษาและการจัดหาวัคซีน

ในเรื่องของการเยียวยาระบบการศึกษานั้น ษัษฐรัมย์ ระบุว่า ค่อนข้างแตกต่างกันในหลายประเทศ เช่น ประเทศแถบนอร์ดิก ให้ความสำคัญกับเด็กเล็กชั้นประถมศึกษาหรือชั้นอุนบาล และโรงเรียนของเด็กวัยนี้เป็นส่วนท้ายที่จะถูกปิด เพราะว่าการเรียนออนไลน์สำหรับของเด็กช่วงวัยนี้เป็นไปได้ยาก หรือแม้กระทั่งการเรียนออนไลน์ในระดับมัธยมก็ยากด้วยเช่นกัน แต่สำหรับระดับมหาวิทยาลัยยังมีการใช้ระบบออนไลน์ รวมไปถึงในช่วงที่มีการระบาดหนักก็มีการใช้ระบบผสม ไม่ได้บังคับว่าต้องเรียนออนไลน์ 100% เพราะประเทศแถบนอร์ดิกถือว่าเป็นเรื่องสิทธิ ส่วนประเด็นที่สองที่ประเทศกลุ่มนอร์ดิกมีความแตกจากประเทศอื่น คือ ประเทศกลุ่มนี้จัดให้มีการศึกษาฟรีและประชาชนทุกคนได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐาน (UBI) ดังนั้น การเกิดวิกฤตจึงชี้ชัดว่าการมีรัฐสวัสดิการจึงไม่ได้ดูน่ากลัวไปเสียหมด

ในความเห็นของ ษัษฐรัมย์ การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ควรให้มหาวิทยาลัยมีการเรียนฟรีพร้อมให้เงินเดือน โดยปรับเปลี่ยนกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้เป็นเหมือนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รัฐบาลใช้กองทุนดังกล่าวเข้าไปอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอน ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ทันทีถ้าเราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ควรทำ หรืออย่างน้อยที่สุดรัฐบาลหรือกระทรวง อว. ควรประกาศเลยว่า "เด็กสามารถค้างค่าเทอมได้ โดยที่ไม่ต้องทำเรื่องผ่อนผันจบกระทั่งจบปี 4" และหลังจากจบปี 4 ค่อยคุยว่าต้องทำสัญญาในรูปแบบใด เพราะถ้าเช่นนั้นจะเกิดความกังวลกันขึ้น

ษัษฐรัมย์ ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า "ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยไม่มีทางเจ๊งแน่นอน และพูดให้ถึงที่สุดเลยว่าถ้านักศึกษาเรียนไปจนจบจริงๆ ก็ให้ยกหนี้ไปเสีย อย่าทำอะไรอยู่บนฐานของตัวเลข เพราะประเทศที่มีรัฐสวัสดิการได้พิสูจน์แล้วว่าเรื่องตัวเลขเป็นเรื่องเล็กน้อย มนุษย์อยู่ข้างหน้าตัวเลข"

ปกกมล พิจิตรศิริ ผู้รายงานบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เป็นนักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท