กสม.กังวลรัฐใช้ กม.ปิดปาก-แหล่งข่าว บช.น. ชี้ยังไม่มีคดีศิลปิน call out

23 ก.ค. 2564 กสม. กังวลรัฐใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของบุคคลสาธารณะและประชาชนทั่วไป แนะรับฟังเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการปัญหาให้ดีขึ้น ด้านแหล่งข่าว บช.น. เผยยังไม่มีการตั้งคณะทำงานดำเนินคดีศิลปิน-ดารา ตามที่สนธิญาชงเรื่อง เหตุไม่มีผู้เสียหายมาแจ้งความ ครป. ระบุ แรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงต้องมีเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

กสม. เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ตามที่ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีนักแสดง นักร้อง และบุคคลสาธารณะออกมาแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องผ่านสื่อสังคมออนไลน์ นำมาซึ่งการร้องทุกข์และการแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลสาธารณะหลายราย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ติดตามสถานการณ์การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงกังวลต่อการใช้กลไกทางกฎหมายมาปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

แม้การใช้สิทธิเสรีภาพแห่งการแสดงออกข้างต้นอาจมีข้อจำกัดได้ เพื่อการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อความมั่นคงของรัฐ การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน แต่ข้อจำกัดดังกล่าวต้องทำเท่าที่จำเป็น

กสม. เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นของบุคคลสาธารณะและประชาชนทั่วไป ต่อการบริหารจัดการของรัฐเพื่อควบคุมและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประชาชนรวมทั้งทุกภาคส่วนในสังคมกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก และต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารพร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหาร เป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริต แม้อาจมีถ้อยคำที่สื่อสารด้วยอารมณ์ความรู้สึกตามยุคสมัย แต่มิได้ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ เสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับสังคมประชาธิปไตย และจำเป็นต่อการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในข้อ 25 ของกติกา ICCPR รัฐบาลจึงพึงรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนและนำมาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ให้เกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้ กสม. ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ด้วยการไม่ใช้ถ้อยคำหรือข้อความที่สร้างความเกลียดชังโดยควรตรวจสอบข้อมูลที่อาจเป็นเท็จก่อนเผยแพร่ และขอให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลรับฟังความเห็นที่แตกต่างรวมทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์ และงดเว้นการใช้กลไกทางกฎหมายที่มีผลเป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต เพื่อนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันจะทำให้สังคมประชาธิปไตยขับเคลื่อนและฝ่าฟันปัญหาไปได้บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ขณะที่สำนักข่าวไทยรายงานว่า จากกรณีมีกระแสข่าวว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล สั่งการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสนธิญา สวัสดี นำรายชื่อศิลปินและนักแสดงกว่า 20 คน มาร้องทุกข์ให้พิจารณาว่ามีความผิดหรือเข้าข่ายความผิดใดหรือไม่ หลังกล่าวพาดพิงเกี่ยวกับบุคคลทางการเมืองและรัฐบาล หรือ call out  เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ใน​ปัจจุบัน และมีกระแสข่าว​ออกไปในลักษณะ​ว่า ผู้บัญชาการ​ตำรวจนครบาล​ได้สั่งตั้งคณะกรรมการ​ขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพื่อเตรียมเอาผิดกลุ่มดารา อย่างน้อย 5 คน

นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในกองบัญชาการนครบาล เปิดเผยกับทีมข่าวของสำนักข่าวไทยว่า ไม่เป็นความจริง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไม่ได้มีการสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้แต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มดาราเหล่านี้ หากเป็นการกระทำหรือการวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มศิลปิน ดารา เป็นความผิดส่วนตัว ก็ต้องอยู่ที่ตัวผู้เสียหายว่าต้องการแจ้งความร้องทุกข์หรือไม่ ถ้ามาร้องทุกข์ตำรวจก็ต้องรับเป็นคดี ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย

ด้านคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฉบับที่ 5/2564 ระบุ แรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงต้องมีเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เรียกร้องรัฐบาลหยุดคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (คตส.) โดยทันที และคุ้มครองสิทธิแรงงานบุคคลในวงการบันเทิง

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฉบับที่ 5/2564

แรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงต้องมีเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

สืบเนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวทั้งด้านเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดระบาด จนเกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของรัฐบาล นำไปสู่การแสดงออกของประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพเพื่อต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อย่างกว้างขวาง รวมถึงประชาชนในแวดวงบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง นายแบบ นางแบบ พิธีกร พรีเซนเตอร์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือพริตตี้ ที่ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับผลงานของรัฐบาลในเวลานี้จำนวนมาก จนกระทั่งมีการแสดงท่าทีข่มขู่คุกคามเสรีภาพของประชาชนในแวดวงบันเทิงผ่านกลไกการคุกคามทางกฎหมาย โดยบุคคลในรัฐบาล รวมถึงความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (คตส.) ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 32/2563 ได้ดำเนินการแจ้งความฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีต่อนางสาวดนุภา คณาธีรกุล หรือ Milli ศิลปินเพลงชื่อดังวัย 18 ปี ในข้อหาดูหมิ่นโดยการโฆษณา จากการที่นางสาวดนุภาได้โพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมถึงได้ประกาศว่าจะมีการฟ้องร้องบุคคลในวงการคนอื่นๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพิ่มเติมอีกด้วย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิญา สวัสดี ประธาน คตส. ได้ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ บุคคลในวงการบันเทิงอีก20 กว่าราย ที่ได้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เห็นว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการคุกคามเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิพลเมืองของประชาชนซึ่งสามารถแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างเสรี หรือการชุมนุมทางการเมืองได้ตามกฎหมายและตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ การคุกคามดังกล่าวนอกจากขัดกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว ยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) อันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ราชอาณาจักรไทยเป็นภาคีอยู่ ครป. จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

1) รัฐบาลไทยจะต้องไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการคุกคามเสรีภาพของบุคคลในวงการบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยผู้ใดก็ตาม โดยให้มีการออกนโยบายที่ชัดเจนในการกำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือในการใช้คุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งบุคคลในวงการบันเทิงและบุคคลทุกภาคส่วนในสังคม เนื่องจากการใช้กระบวนการทางกฎหมายปิดปากประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น เป็นภารกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นภาระให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสมควรเอาเวลาอันมีค่าไปช่วยหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนการจัดการที่บกพร่องของรัฐบาลมากกว่า

2) รัฐบาลไทยต้องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและดำเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (คตส.) โดยทันที เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ และละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการคุกคามโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย (Judicial Harassment and SLAPP) อย่างเป็นระบบเพื่อฟ้องร้องปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง

3) รัฐบาลไทยต้องร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิง ในการปกป้องคุ้มครองและรับรองสิทธิแรงงานของบุคคลในวงการบันเทิง เพื่อไม่ให้มีการไล่ศิลปินออกจากต้นสังกัด หรือยกเลิกสัญญาจ้าง ปฏิเสธการว่าจ้างงาน หรือเอาเรื่องการจ้างงานมาเป็นข้อข่มขู่ต่อรองต่อบุคคลในวงการบันเทิงที่ออกมา Call out หรือแสดงความเห็นทางการเมืองในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล

เชื่อมั่นในเสรีภาพและประชาธิปไตย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)
23 กรกฎาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท